20 “ผักกินยอด” รสชาติเยี่ยม เปี่ยมสารอาหาร

ผักพื้นบ้าน นอกจากจะสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู และอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว ยังสามารถปลูกได้ง่าย เพียงแค่เก็บยอด ดอก ใบ มารับประทาน ก็จะแตกหน่อชูช่อใบขึ้นมาใหม่ให้เก็บทานได้เรื่อยๆ โดยเฉพาะบริเวณยอดอ่อนที่จะสามารถหมุนเวียนรับประทานกันได้ตลอดทั้งปีแบบไม่ต้องรอฤดูกาล ผักกินยอด

วันนี้ my home จึงได้รวบรวม ผักกินยอด 20 ชนิด ที่มีรสชาติเยี่ยม พร้อมคุณประโยชน์มาฝากกันค่ะ

ผักกินยอด

1.สะเดา

ไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงประมาณ 20 – 25 เมตร ลักษณะของต้นเป็นทรงเรือนยอดพุ่มหนา ใบมีสีเขียวเข้มเป็นรูปใบหอกกึ่งรูปเคียวโค้ง ผลิใบมากในช่วงเดือนมีนาคมจนถึงเดือนเมษายน ดอกมีขนาดเล็กสีขาวหรือสีเทา นิยมนำยอดอ่อนหรือดอกมาลวกจิ้มทานกับน้ำพริก นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณช่วยรักษาโรครำมะนาด เหงือกอักเสบ อาการปวดท้อง และ ช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดทำงานได้ดีขึ้นอีกด้วย ผักกินยอด

2.มะขาม

ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ทรงพุ่มสูงโปร่ง บริเวณยอดอ่อนมีสีชมพูปนเขียว กลิ่นหอม และ รสเปรี้ยว จึงสามารถนำมาใช้แทนรสเปรี้ยวในอาหาร อย่าง ต้มโคล้ง แกงส้ม ต้มข่าไก่ หรือ ยำ ได้ดี แถมยังอุดมไปด้วยวิตามินซีและฟอสฟอรัส ช่วยแก้หวัด ขับเสมหะ บำรุงสายตา ขับเหงื่อ บำรุงผิวพรรณ ช่วยสร้างเม็ดเลือด รวมถึงเป็นยาระบายและแก้ท้องผูก

3.มะรุม

ไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 1- 4 เมตร ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก มีรสชาติหวานมัน นิยมนำยอด ใบ ดอก และ ฝักมาปรุงอาหาร อย่าง แกงส้ม หรือ ทานคู่กับน้ำพริก ซึ่งสำหรับใบจะนิยมทานใบที่ไม่แก่หรืออ่อน และ ไม่ผ่านความร้อนนานเกินไป เพื่อให้ได้ประโยชน์ของสารอาหารอย่างเต็มที่ โดยจะมีสรรพคุณช่วยลดความดันโลหิต ใช้ถอนพิษไข้ แก้เลือดออกตามไรฟัน และ แก้อักเสบ

4.มะกอกไทยหรือมะกอกป่า

โดยทั่วไปแล้วมะกอกจะมีอยู่ด้วยกัน 3-4 ชนิด ซึ่งมะกอกไทยหรือมะกอกป่า เป็นไม้ยืนต้น สูงประมาณ 15 – 25 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลม แตกกิ่งก้านโปร่ง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว ยอดอ่อนจะมีรสเปรี้ยวและฝาดเล็กน้อย นิยมนำมาทานเป็นผักสดคู่กับน้ำพริก ขนมจีน ส้มตำ ลาบ น้ำตก และ ใส่ในอาหารประเภทยำที่มีรสจัด ซึ่งจะช่วยให้รสชาติดี อีกทั้งยังมีสรรพคุณแก้โรคบิด แก้โรคธาตุพิการ และ แก้อาการท้องเสีย

5.ผักแพว

ไม้ล้มลุกขนาดเล็ก ลำต้นตั้งตรงหรือทอดเลื้อยที่ปลายยอด กิ่งก้านอ่อนมีสีเขียว กิ่งก้านแก่มีสีน้ำตาล ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว นิยมใช้รับประทานเป็นผักสดแกล้มกับอาหารที่มีรสจัด หรือ นำไปคลุกเป็นเครื่องปรุงอาหารประเภทลาบ ก้อย ลู่ ตำซั่ว หรือ แกงส้ม อีกทั้งยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุ ที่ช่วยเพิ่มการเผาผลาญไขมันในเลือด ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทาน ชะลอวัย และ ป้องกันโรคหัวใจ

6.กระถิน

ไม้ยืนต้นตระกูลถั่ว สูงประมาณ 1.5 – 5 เมตร ทั้งใบอ่อน ฝักอ่อน เมล็ดอ่อน และ ยอดอ่อนของต้นกระถิน สามารถนำมาจิ้มกับน้ำพริกกินเป็นผักสดได้ โดยส่วนยอดอ่อนจะประกอบด้วยฟอสฟอรัส วิตามินเอสูง ซึ่งจะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยบำรุงกระดูก และ ช่วยรักษาความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ยังช่วยให้เจริญอาหารอีกด้วย

7.ส้มป่อย

ไม้ยืนต้นขนาดเล็กหรือไม้พุ่มรอเลื้อย สูงประมาณ 3 – 6 เมตร ใบย่อยเป็นรูปขอบขนานขนาดเล็ก ลักษณะคล้ายกับชะอม แต่มีรสเปรี้ยวแหลม นิยมนำยอดอ่อนมาใส่ต้มยำ หรือ นำมาต้มทานคู่กับข้าวต้ม เพื่อเป็นยาแก้ไข้ แก้อาการท้องอืด ขับปัสสาวะ ล้างเมือกมันในลำไส้ และ แก้บิด

ผักกินยอด

8.ผักปลัง

ไม้เถาเลื้อยล้มลุก ลำต้นอวบน้ำ ยาวประมาณ 2 – 6 เมตร ใบเป็นรูปไข่หรือรูปหัวใจ สามารถทานได้ทั้งยอดอ่อน ใบอ่อนและดอกอ่อน รสชาติหวานกรอบ มีกลิ่นเฉพาะตัว นิยมทานคู่กับน้ำพริก อย่าง น้ำพริกอ่อง พริกตาแดง น้ำพริกดำ และ นำไปแกงส้ม ผัดผักไฟแดงหรือผัดน้ำมันหอย และ อุดมไปด้วยวิตามินเอ บี ซี และ สารเบตาแคโรทีน ที่ช่วยบำรุงดวงตา ช่วยป้องกันมะเร็ง เป็นยาระบายอ่อนๆ และ ช่วยบำรุงเลือดลม

9.มะตูม

ไม้ทรงพุ่มขนาดเล็ก ยอดอ่อนมีส้มอมแดง ขอบใบมีลักษณะเป็นหยักหนาม รสชาติเผ็ดร้อน อมฝาด กลิ่นหอมเฉพาะตัว นิยมนำมาทานเป็นผักสดกับลาบ ก้อย น้ำพริก ผัดไทย หรือ ขนมจีน อีกทั้งยังมีสรรพคุณเป็นยา มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ช่วยให้เจริญอาหาร บำรุงธาตุ ขับลม ควบคุมการเต้นของหัวใจ  ลดอาการซึมเศร้า และ ช่วยรักษาโรคความดันต่ำ

ผักกินยอด

10.ผักกูด

พืชตระกูลเฟินที่มีเหง้าตั้งตรง  ใบมีสีเขียวอ่อน รสชาติจืดอมหวานและกรอบ นิยมนำลวกจิ้มทานคู่กับน้ำหริก และ นำมาปรุงเป็นอาหาร อย่าง ยำ ผัด แกงจืด แกงเลียง แกงส้ม ส่วนชาวอีสานจะรับประทานยอดสดร่วมกับลาบ ก้อย ยำ ส้มตำ หรือ ปลาป่น แต่ไม่ควรทานแบบสดจำนวนมาก เพราะ ผักกูดมีสารออกซาเลตในปริมาณที่สูง จึงอาจทำให้ไตอักเสบและทำให้เป็นนิ่วได้