creative crews

CREATIVE CREWS กลุ่มนักออกแบบที่มุ่งสร้างสถาปัตยกรรมเพื่อส่งมอบความสุขแก่ผู้ใช้

creative crews
creative crews

แท้จริงแล้วจุดมุ่งหมายในการออกแบบสถาปัตยกรรมของ Creative Crews คืออะไร

เอกฉันท์ : “เราพยายามไม่จำกัดอยู่ที่งานรีโนเวต มันยังมีความท้ายในงานที่อยากทำและไม่เคยทำอยู่เหมือนกัน อย่างเช่นโรงพยาบาล เราก็อยากทำ”

ปุยฝ้าย : “เราอยากทำงานทุกอย่างที่รู้สึกว่ามันสำคัญต่อชีวิตคน อย่างที่แบงค์ (เอกฉันท์) พูดมาคืออย่างโรงพยาบาล เราคิดว่าโรงพยาบาลเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อชีวิต แต่ว่าโรงพยาบาลที่มันมีอยู่ตอนนี้มันก็ขยายไปเรื่อย ๆ มันก็เป็นรูปแบบโรงพยาบาลในแบบเดิม มันค่อนข้างซับซ้อน ออกแบบยาก แล้วต้องการผู้เชี่ยวชาญ แต่สิ่งที่เราสนใจคือ เรื่องสุขภาพของคน อาหารการกิน หรือปัจจัย 4 พื้นฐานที่มันอยู่ในชีวิต

“จริง ๆ แล้วเมืองที่ดี หรือความเป็นอยู่ที่ดี จะมีคนบอกว่ามันไม่ได้ขึ้นอยู่กับตึก แต่เราไม่เชื่อ! เราเชื่อว่าตึกมันทำให้ชีวิตเราดีขึ้นได้ แต่มันไม่ใช่แค่เราออกแบบรูปร่างหน้าตาอาคาร เราต้องเข้าใจว่าจริง ๆ แล้วการจัดวางโปรแกรม ทำให้มันมีความสอดคล้องกันของฟังก์ชันหลาย ๆ อย่างในโครงการ และสภาพแวดล้อม เพื่อให้มันเกิดขึ้นมาอย่างไร

“อย่างที่แบงค์บอกว่าอยากทำโรงพยาบาล แต่จริง ๆ เราก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่นั้น เราอยากทำโรงพยาบาล โรงเรียน ห้องสมุด ศูนย์เรียนรู้ ที่ทำงาน คือทำให้คนอยู่ได้ในที่ใดที่หนึ่ง หรือในชุมชนหนึ่ง หรือในเมืองหนึ่งให้มีความสุข ให้มีสุขภาพที่ดี มีชีวิตที่ดี หลัก ๆ คือเราอยากทำงาน หรือช่วยทำสถาปัตยกรรมให้มันทำให้คนอยู่แล้วมีความสุข ซึ่งมันอาจจะไม่ใช่ used เดียว หรือประเภทอาคารประเภทใดประเภทหนึ่ง จริง ๆ เราอยากออกแบบเก้าอี้สวนสาธารณะ ทางระบายน้ำ เราก็อยากทำ”

ในมุมมองของคุณ อะไรคือปัญหาในเชิงผังเมืองที่บ้านเราควรแก้ไข หรือพัฒนาด้วยการออกแบบหรือโดยคนที่ประกอบวิชาชีพนักออกแบบ

เอกฉันท์ : “หลังจากไปเรียน (Urban Design ที่ ETH Zurich) แล้วทำให้เราเข้าใจว่า จริง ๆ ชุมชนแออัดเป็นอะไรที่น่าสนใจ อย่างผมไปเวิร์กช้อปที่มุมไบ อินเดีย ก็น่าสนใจมาก คนอื่นเขาอาจจะมองว่าเป็นเมืองที่คุณภาพชีวิตไม่ดี ยิ่งเป็นสลัมเขาก็พยายามจะรื้อแล้วสร้างตึกสูงขึ้นมา พอคนเข้าไปอยู่มันก็เงียบเหงา จริง ๆ แล้วมันเป็นออแกนิกมากว่า สิ่งที่มันดู Random จริง ๆ มันมีระบบของมันที่ดูเชื่อมโยงกันแล้วเขาใช้พื้นที่หน้าบ้านให้เป็นประโยชน์ พื้นที่หน้าบ้านที่เขาทำอุตสาหกรรมครัวเรือน อย่างตึกแถวในเมืองไทยก็ใช้พื้นที่หน้าบ้านทำเป็นที่ทำงาน ซึ่งจริง ๆ มันก็เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความน่าสนใจของเมือง มันเป็นการ Safety ด้วย เพราะมีการ Active ตลอดเวลา”

ปุยฝ้าย : “เราคิดว่าคนที่อยู่ในเมืองหรือในพื้นที่มันต้องมีความหลากหลาย เมืองมันไม่สามารถพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้มีแต่ที่พักอาศัยราคาแพงได้ เสร็จแล้วใครจะมาทำงานหละ การอยู่ด้วยกันมันต้องมีการจัดสรรที่มันเหมาะสม ไม่ใช่ว่าเราพูดถึงลักษณะของชุมชน พื้นที่ หรือว่าการใช้สอย หรือการอยู่อาศัยของคนที่มีรายได้ปานกลาง

“ที่เราทำโครงการตอนนี้มันก็มีที่พักอาศัยที่หรูหราสำหรับคนที่รายได้สูง แต่โดยภาพรวมมันต้องมีระบบคมนาคม หรือสาธารณูปโภคที่มันซัพพอร์ตกัน คนที่พักอาศัยอยู่ในที่พักที่หรูหราหรือมีรายได้สูง จริง ๆ เขาอยู่เองด้วยการทำอาหารกินเองทุกมื้อตลอดเวลาไม่ได้ เนื้อเมืองมันต้องซัพพอร์ตกัน มันต้องทำให้คนอื่น หรือคนที่มีรายได้แตกต่างกันสามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยดี หรือคนที่ทำงานด้วยกันมันก็ต้องมีคนที่เป็นผู้บริหารกับคนที่เป็นแรงงาน มันไม่สามารถอยู่ได้แบบเดี่ยว ๆ

“การพัฒนาในประเทศเรามันไม่จำเป็นต้องบนลงล่าง มันก็มีจากล่างขึ้นไปด้วยเหมือนกัน มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะนำเสนอหรือทำให้คนเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นว่า การมีชีวิตที่ดีมันทำได้ยังไง และที่สำคัญก็คือ เราเองในฐานะที่เป็นสถาปนิก หรือเป็นคนที่อยู่ในเมือง หรือไม่จำเป็นต้องเป็นสถาปนิกอย่างเดียวนะ เราเคยคิดขึ้นมาว่าจะอยู่อย่างไรให้มันดี เป็นใครก็ได้ เป็นแม่ค้า หรือทำงานอื่น ๆ มีคนอีกเยอะมากนะที่ตื่นตัวอยากจะทำนู่นทำนี่ มันต้องสร้างเน็ตเวิร์กขึ้นมา

“ที่สำคัญส่วนตัวหรือส่วนของออฟฟิศคิดว่า ต้องเตรียมความพร้อม เวลาเรามีโอกาส เราต้องพร้อมที่จะเสนอ เราต้องหาความรู้แล้วพัฒนาความสามารถของเรา เพื่อที่จะทำอะไรแบบนี้ให้ประสบความสำเร็จ เช่น สมมติว่าเราอยากจะออกแบบพื้นที่สาธาณะที่มีขนาดเล็ก ออกแบบวินมอเตอร์ไซต์ ซึ่งมีอยู่หลาย ๆ ที่ของเมือง ถ้ามีเวลา มีโอกาส มีคนที่เขาอยากให้เราออกแบบ หรือเราไปเสนอให้ลูกค้าสนับสนุนการทำอะไรแบบนี้กับกทม.ได้ เสร็จแล้วเราไม่พร้อม หรือไม่มีความสามารถที่จะออกแบบตรงนั้น มันก็จะเสียโอกาสตรงนั้นไป เราก็ไม่อยากจะทำแบบห่วย ๆ ไปให้เขา ฉะนั้นสิ่งที่พอจะทำได้ก็คือฝึกฝน หาข้อมูล และเตรียมพร้อมที่จะทำอะไรแบบนี้ที่เราอยากจะทำจนกว่าจะมีโอกาสเหมาะสม”

Creative Crews Office
บรรยากาศภายในห้องทำงานบนชั้น 4 โดย Creative Crews แบ่งส่วนของสำนักงานกระจายพื้นที่อยู่บนชั้น 3-5 เพื่อรองรับพนักงานกว่า 30 ชีวิตได้อย่างไม่อึดอัด และชั้น 6 ชั้นบนสุดของตึกปรับปรุงเป็นส่วนห้องพักสำหรับพนักงานประจำ และดาดฟ้า

นอกจากเรื่องงาน มีวิธีการบริหารจัดการเรื่องคนอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีพนักงานจำนวนมาก ๆ กว่า 30 ชีวิตแบบ Creative Crews 

ปุยฝ้าย : “จริง ๆ มันเป็นธรรมชาติมากเลยนะ รู้สึกว่าเราไม่ต้องใช้พละกำลังเป็นพิเศษที่จะบริหารทีมงาน เพราะว่าจริง ๆ แล้วทีมงานที่เรามีอยู่ตอนนี้ทำงานกันหนักมาก มีความตั้งใจมาก จริง ๆ ตั้งแต่ตอนสัมภาษณ์งานเลยนะ”

เอกฉันท์ : “เราบอกก่อนเลยว่าทำงานหนักนะ แต่ทุกคนมีจุดมุ่งหมายเดียวกันแหละ คืออยากทำงาน ที่ดี ๆ”

ปุยฝ้าย : “เราให้โอกาสตั้งแต่ตอนสัมภาษณ์เลยว่า ยังอยากจะทำอยู่หรือเปล่า (หัวเราะ)”

เอกฉันท์ : “ก็มีคนเงียบ ๆ ไปหลายคน”

ปุยฝ้าย : “แต่ก็มีคนที่มา แล้วคนที่มาก็คงเลือกแล้ว”

เอกฉันท์ : “ว่าจะกลับบ้านดึก (หัวเราะ)”

ปุยฝ้าย : “เราว่ามันสำคัญที่จะต้องพูดอย่างจริงใจ เมื่อก่อนตอนเริ่มทำงานใหม่ ๆ เปิดออฟฟิศใหม่ ๆ เราก็ไม่แน่ใจว่าจะบอกเขาดีไหม ตอนนี้มั่นใจแล้วว่าบอกไปเลย ด้วยความสัจจริงว่า พี่ทำงานหนักนะ ถ้าเรามาทำงานด้วยกันเราต้องตั้งใจ ไม่อย่างนั้นมันจะทรมาน”

พอจะบอกได้ไหมว่า Creative Crews ถือโปรเจ็กต์ในมือต่อปีจำนวนเท่าไร

ปุยฝ้าย : “ถ้านับจำนวนมันจะเยอะมาก เพราะมันจะมีโปรเจ็กต์เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราทำในระยะเวลาอันสั้นด้วย ซึ่งจริง ๆ พวกโปรเจ็กต์เล็ก ๆ น้อย ๆ มันก็สำคัญกับการพัฒนาออฟฟิศนะ อย่างตอนนี้ที่ทำอยู่ก็มี โรงเรียนสอนคนตาบอด”

โรงเรียนสอนคนตาบอด ในจังหวัดชลบุรี ส่วนหนึ่งในโครงการ Classroom Make Over โดย Goldenland
โรงเรียนสอนคนตาบอด ในจังหวัดชลบุรี ส่วนหนึ่งในโครงการ Classroom Make Over โดย Goldenland (ภาพจาก Creative Crews)

มีวิธีการออกแบบพื้นที่อย่างไร สื่อสารด้วยสิ่งใดเมื่อผู้ใช้งานไม่สามารถมองเห็นสิ่งที่เราออกแบบได้

เอกฉันท์ : “เรามองว่าคนตาบอดก็เป็นประชากรปกติเหมือนเรา ที่เราต้องสนใจคือคุณภาพชีวิตของเขา และหลักสูตรของโรงเรียนสอนคนตาบอด หรือห้องเรียนที่เขามีมันเป็นปกติอย่างไร อันนี้ก็เป็นข้อดีที่ลูกค้าอยากลองสร้างห้องเรียนแบบใหม่ หรือหลักสูตรแบบใหม่ที่จะทำให้เด็กที่เรียนหนังสือนั้นได้รับการพัฒนามากขึ้น แล้วก็มีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงศึกษาธิการที่เป็นเจ้าหน้าที่สอนคนตาบอดชื่อพี่สา ให้คำแนะนำเราอยู่”

ปุยฝ้าย : “พอเราได้ทำงานแบบนี้มันก็ดีต่อในแง่ออฟฟิศของเราเอง หรือของทีมงานเอง คือมันไม่ใช่สิ่งที่เคยทำก่อน ถ้าเราอยากจะรู้ศักยภาพของเราในเวลาที่ต้องทำงานในเวลาจำกัด เราจะทำได้ดีแค่ไหน การเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ตลอดเวลามันเป็นการฝึก สำหรับตัวเราเอง คือไม่ให้แก่ตายไว (หัวเราะ) หรือไม่สามารถใช้ Interface ใหม่ ๆ ได้ กับน้อง ๆ ในทีมก็ไม่เคยเรียนรู้มาก่อนเลยว่า ถ้าเกิดว่าเด็กสายตาไม่ปกติเขาจะเรียนรู้หรือทำอะไรได้บ้าง เรามีสิ่งที่อยากนำเสนอเขาเพื่อช่วยให้เขาเรียนรู้ได้ดีขึ้นยังไงบ้าง ซึ่งตรงนี้ถ้าเราไปศึกษาหรือทำโปรเจ็กต์อื่น ๆ เราก็จะมีความสามารถในการนำเสนอสิ่งที่มันมีประโยชน์ต่อคนอื่น ๆ ได้ มันก็เหมือนเป็นการฝึก”

เอกฉันท์ : “ตอนพรีเซ้นต์เราต้องพรีเซ้นต์ให้ผอ. และพี่สาที่เป็นคนตาบอดฟัง เราใช้วิธีการอธิบายเหมือนเข้าไปอยู่ในห้อง ซ้ายมือคืออะไร ขวามือคืออะไร จริง ๆ แล้วเขาเข้าใจง่ายกว่าที่เราคิดเยอะมากครับ มีศักยภาพสูงมาก”

ปุยฝ้าย : “เซ้นส์ในการเรียนรู้หรือว่าเข้าใจในคนที่ตามองไม่เห็นนั้นดีกว่าเรามาก”

โรงเรียนสอนคนตาบอด ในจังหวัดชลบุรี ส่วนหนึ่งในโครงการ Classroom Make Over โดย Goldenland
โรงเรียนสอนคนตาบอดพระมหาไถ่พัทยา ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในจังหวัดชลบุรี ส่วนหนึ่งในโครงการ Classroom Make Over โดย Goldenland (ภาพจาก Creative Crews)
โรงเรียนสอนคนตาบอด ในจังหวัดชลบุรี ส่วนหนึ่งในโครงการ Classroom Make Over โดย Goldenland
โรงเรียนสอนคนตาบอดพระมหาไถ่พัทยา ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ส่วนหนึ่งในโครงการ Classroom Make Over โดย Goldenland (ภาพจาก Creative Crews)
Creative Crews
คุณเอกฉันท์ เอี่ยมอนันต์วัฒนะ และคุณปุยฝ้าย คุณาวัฒน์

/ ความตื่นเต้นหรือความอยาก
ที่จะทำอะไรในช่วงระยะเวลาอันสั้น
มันไม่ทำให้เกิดผลงานที่ยิ่งใหญ่
หรืออยู่ได้จริง
มันต้องเป็นความอดทนในระยะยาว /

อะไรคือจุดแข็งที่ทำให้ Creative Crews ได้เปรียบเมื่อต้องทำงานที่ท้าทาย

ปุยฝ้าย : “เรามีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะทำอะไรให้น่าสนใจ หรือพยายามจะแก้ปัญหา จริง ๆ แล้วความตื่นเต้นหรือความอยากที่จะทำอะไร ในช่วงระยะเวลาอันสั้นมันไม่ทำให้เกิดผลงานที่ยิ่งใหญ่หรืออยู่ได้จริง มันต้องเป็นความอดทนในระยะยาว เหมือนกับกัดไม่ปล่อย เพราะจริง ๆ แล้วการทำงานมันเหนื่อย โดยเฉพาะเวลาที่เราชอบทำอะไรที่มันท้ายทาย หรือไม่ปกติ หรือเราไม่ใช้วิธีการแก้ปัญหาเดิมๆ ไม่ใช่เพราะว่ามันใช้ไม่ได้นะ

“จริง ๆ แล้ววิธีการแก้ปัญหามันต้องประกอบไปด้วยวิธีหลายอย่างที่นำมารวมกัน แต่ว่าโดยข้อจำกัดที่มันมีอยู่ ถ้าหาเราใช้วิธีแก้ปัญหาแบบเดิม ๆ คนเรามันก็ไม่ดีขึ้น ในการที่จะสร้างวิธีการแก้ปัญหาใหม่ ๆ หรือคิดวิธีการแก้ปัญหาใหม่ ๆ ขึ้นมา มันก็ต้องมีการทำงานหนัก เพื่อจะการันตีว่า มันจะแก้ปัญหาได้ และเราพร้อมโดยที่ไม่ประมาทที่จะแก้ปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จะตามมา ทำให้มันสมบูรณ์แล้วก็ใช้งานได้ มันเป็นความรับผิดที่จะตั้งใจทำให้มันดี”


เรื่อง : นวภัทร
ภาพ : นันทิยา
อ่านต่อบทความแนะนำ

รวมรายชื่อ สถาปนิก นักออกแบบ นักจัดสวน

Creative Crews Office
อ่านต่อ: CC Office ผลลัพธ์เชิงทดลองจากประสบการณ์บนตึกแถวเก่าย่านตลาดน้อย

BOT Learning Center ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย
อ่านต่อ: BOT Learning Center ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

AHSA FARMSTAY
อ่านต่อ: AHSA FARMSTAY ฟาร์มสเตย์ไม้เก่า คลุกเคล้าวัฒนธรรมล้านนา

Did you know? 

AHSA FARMSTAY หนึ่งในผลงานที่ได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมรุ่นใหม่ที่สมควรเผยแพร่ สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ในโครงการ ASA Emerging Architecture Award 2019


Studio Visit: สถาปัตยกรรมที่รัก ความสุขที่ไม่มีวันเกษียณของจีรเวช หงสกุล แห่ง IDIN ARCHITECTS