บ้านริมคลองกับความสุขที่รายล้อมด้วยนิเวศสุดสุนทรี

“ ผมอยู่กับวัฒนธรรมข้าวที่ปลูกข้าว ปลูกผักกินเองใน บ้านริมคลอง หลังเล็ก ๆ อยู่กับแสงและลมธรรมชาติ มีความช่วยเหลือเกื้อกูลจากชาวบ้าน นี่คือความสุนทรีของวิถีชีวิตไทย ”

 

จากความทรงจำเมื่อครั้งยังเด็กที่แม้จะไม่ใช่ลูกชาวนา แต่ก็คุ้นเคยอยู่กับเพื่อน ๆ ครอบครัวชาวนามาตลอด ทำให้เด็กชายคนหนึ่งได้ใช้ชีวิตได้วิ่งเล่นอยู่ตามคันนา ไล่จับปลา กระทั่งตักน้ำในทุ่งนากิน ตามวิถีชนบทที่แสนเรียบง่ายและธรรมดา จนรู้สึกผูกพันและรักในผืนนาเหล่านี้ แม้เมื่อเติบโตและได้เข้ามาเรียนศิลปะที่มหาวิทยาลัยศิลปากร เขาก็ได้นำเรื่องราวธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ฝังอยู่ในใจมาบอกเล่าผ่านงานศิลปะมาโดยตลอด แล้วเริ่มขยายมาสู่พื้นที่สาธารณะด้วยรูปแบบของวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอก ที่วิจัยเรื่องนาข้าวนิเวศ สร้างผลต่อเนื่องมาสู่การใช้ชีวิตภายในบ้านริมคลองมหาสวัสดิ์ของ อาจารย์วิจิตร  อภิชาติเกรียงไกร  บ้านหลังที่เขาเรียกว่า “ กระท่อมเล็ก ๆ ” แต่อุดมไปด้วยนิเวศสุนทร  ซึ่ง my home ได้พามาเยือนในครั้งนี้

บ้านริมคลอง บ้านหลังเล็ก บ้านสวนริมคลอง บ้านสวน

บ้านริมคลอง บ้านหลังเล็ก บ้านสวนริมคลอง บ้านสวน

“ บังเอิญชาวบ้านที่ผมเช่าที่นาของเขาเพื่อทำงานวิจัยพาเข้ามาเดินดูชุมชนริมคลองมหาสวัสดิ์  ก็มาเจอกับบ้านกึ่งโกดังหลังนี้ที่ปิดร้างไว้  ผมเห็นว่าทำเลดี  มีน้ำ  มีทุ่งกว้างของวัดอยู่ใกล้รถไฟที่ผมรัก พอดีเจ้าของขายสิทธิ์ให้  ผมเลยลงมือปรับปรุงบ้านใหม่  ทาสี  ปะรอยร้าวอุดรอยรั่ว  โดยมีชาวบ้านชาวนามาช่วยด้วย  ส่วนพื้นที่ด้านข้างก็ทำนาปลูกข้าว  ทำให้ที่นี่เป็นสตูดิโอศิลปะที่มีนาบ้านอยู่ข้าง ๆ บนพื้นที่แค่แปลงเล็ก ๆ แต่ก็สามารถปลูกข้าวเพื่อกินกันในครัวเรือนได้ ที่มากกว่านั้นคือเรื่องสุนทรียภาพที่ได้จาก กำแพงสีเขียวของต้นข้าวเต็มผืนนา ตามมาด้วยสุขภาพที่ดีจากอาหารที่ผลิตเองในแบบ Slow Food ”

บ้านริมคลอง บ้านหลังเล็ก บ้านสวนริมคลอง บ้านสวน

บ้านริมคลอง บ้านหลังเล็ก บ้านสวนริมคลอง บ้านสวน

ตัวบ้านเป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูนที่ยกเพดานไว้สูงพอประมาณ พร้อมช่องหน้าต่าง ช่องลม และช่องแสงจากบล็อกแก้วไว้อยู่แล้ว อาจารย์วิจิตร จึงไม่ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างหลักนอกเหนือไปจาก ทาสีผนังใหม่ แล้วนำเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่มีจากบ้านเดิม เข้ามาจัดวางเพื่อใช้งานและกำหนดพื้นที่ใช้งานภายใน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสตูดิโอทำงานศิลปะ ทั้งมุมจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ และศิลปะสื่อผสม พอดีกับที่ภายในมีการยกสเต็ปของพื้นที่ไว้สองระดับ อาจารย์วิจิตรจึงใช้พื้นที่ยกสูงนี้เป็นเหมือนเวทีเล็ก ๆ แขวนฉากผ้าใบที่ตอนนี้เป็นภาพของทุ่งนาเขียวขจี ซึ่งเพิ่งใช้เป็นฉากหลังของการเสวนาเล่าเรื่องงานวิจัยนานิเวศสุนทรีให้กลุ่มผู้สนใจฟัง “ นึกถึงฉากลิเกตอนเด็ก ๆ ก็เลยทำตรงนี้ไว้และมีฉากภาพเขียนอื่นที่ยกขึ้นเปลี่ยนเพื่อใช้เล่าเรื่องได้หลากหลาย  มีเพื่อนมาเล่นดนตรีบ้าง แต่เราไม่ใช่นักดนตรี เลยใช้มุมนี้เป็นเวทีพูดคุยเรื่องโรงนาและสิ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาจากวัฒนธรรมข้าว ซึ่งเป็นวิถีไทยใหม่ ”

บ้านริมคลอง บ้านหลังเล็ก บ้านสวนริมคลอง บ้านสวน
เพิงไม้ไผ่หลังคามุงจากที่สร้างเพิ่มไว้ตรงพื้นที่ติดริมคลอง  จัดวางโต๊ะเก้าอี้ไม้ง่ายๆ เพื่อให้เป็นลานอเนกประสงค์ที่เป็นทั้งห้องรับประทานอาหาร  ห้องนั่งเล่น  และ ห้องประชุม  เหมือนวันนี้ที่เพื่อนๆนัดหมายมาคุยเรื่องงานกันในบรรยากาศสบายๆ

บ้านริมคลอง บ้านหลังเล็ก บ้านสวนริมคลอง บ้านสวน

นั่นคือแนวทางการใช้ชีวิตที่อาจารย์วิจิตรได้พบหลังจากลงพื้นที่สร้างสรรค์งานวิจัยอยู่สองปี เป็นวิถีชีวิตแบบไทยที่ไม่จำเป็นต้องยึดติดอยู่กับบ้านทรงไทย แต่ปรับให้เหมาะสมกับชีวิตจริงในปัจจุบันมากขึ้น และเข้ากับบริบทของชนบทที่เรียบง่าย อาจารย์วิจิตรจึงเพิ่มพื้นที่ลานครัวเปิดโล่งไว้นอกบ้าน ใช้เตาฟืนเพื่อหุงต้มปรุงอาหาร สร้างเพิงไม้ไผ่มุงจากไว้เป็นลานอเนกประสงค์อยู่ริมคลอง แล้วจัดวางโต๊ะเก้าอี้ไม้ ที่บางตัวก็ประกอบขึ้นมาเองอย่างง่าย ๆ และพร้อมที่จะยกย้ายปรับเปลี่ยนให้เป็นทั้งมุมรับประทานอาหาร ห้องประชุม เวิร์คชอป ห้องนั่งเล่นรับลมธรรมชาติ และพื้นที่แยกเมล็ดข้าวหลังจากเก็บเกี่ยวแล้ว วันนี้ก็ได้กลายเป็นห้องอาหาร กลางวันของพวกเรา ที่มีลุงป้ามาช่วยกันหุงข้าว ปรุงแกงหอมกรุ่นมาจากครัวเตาฟืน ก้นหม้อสีดำสนิทแต่อาหารที่อยู่ภายในนั้นปลอดพิษ และรสชาติอร่อยจนต้องขอเติมข้าว แถมยังมีมะม่วงและส้มโอจากสวนเพื่อนบ้านใส่ตะกร้ามารอปิดท้าย

บ้านริมคลอง บ้านหลังเล็ก บ้านสวนริมคลอง บ้านสวน

“ เพราะวัฒนธรรมข้าวคือวิถีชีวิตที่เป็นเสน่ห์ เมื่อเราปลูกข้าวแล้วก็ตามมาด้วยพิธีกรรม การไหว้แม่โพสพ การหว่านข้าว คนที่ลงไปทำนา ก็ต้องออกแรงได้เหงื่อเป็นกิจกรรมร่วมของครอบครัวที่ทำให้ร่างกายสดชื่นแข็งแรงและนอนหลับสบาย เรายังปลูกพืชผักไว้รอบ ๆ กระเจี๊ยบ ถั่วฝักยาว ถั่วพู มะเขือ มะเขือเทศ พริก ที่แบ่งปันให้เพื่อนบ้านด้วย เราใช้เครื่องจักสานในชีวิตประจำวันได้อย่างกลมกลืนและทำให้รู้สึกว่าพลาสติกเป็นสิ่งที่ไม่เข้ากับชีวิตเลย แถมบรรยากาศแบบนี้ฟังเพลงลูกทุ่งจะยิ่งรู้สึกว่าไพเราะเป็นพิเศษ  ที่ตามมาคือความเกื้อกูลของคนในชุมชน  แบ่งปันและแลกเปลี่ยนตามวิถีแบบไทย ๆ ”

บ้านริมคลอง บ้านหลังเล็ก บ้านสวนริมคลอง บ้านสวน

ไม่เพียงแต่เพื่อนบ้าน เพื่อนศิลปินก็ยังมาปรึกษาหารือเรื่องงานกันอยู่บ่อย ๆ เหมือนวันนี้ที่คุณเป้สีน้ำเข้ามาขอคำแนะนำเรื่องนาข้าวนิเวศ และได้ให้ความเห็นต่อการใช้ชีวิตตามวิถีไทยนี้ไว้ด้วยว่า “ ผมว่าสิ่งที่อาจารย์ทำไม่ได้หวังผลเชิงอุปโภคบริโภคแต่สอดแทรกเรื่องจิตวิญญาณ กระตุ้นความรู้สึกนึกคิด และให้ความสำคัญกับรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ของแผ่นดินวิถีชีวิต และระบบนิเวศได้ดีในแบบของศิลปิน ”

บ้านริมคลอง บ้านหลังเล็ก บ้านสวนริมคลอง บ้านสวน
เส้นเหล็กต่อเป็นชื่อ “วิจิตร” ติดที่ผนังบ้านแทนบ้านเลขที่แบบทั่วไป  บริเวณผนังยังใช้เป็นกระดานวาดความคิดลงไปได้

คุณลลนา พานิช หนึ่งในเพื่อนที่แวะเวียนมาพูดคุยเรื่องงานที่บ้านอาจารย์วิจิตรบ่อย ๆ ยังช่วยสรุปความคิดที่มีต่อบ้านหลังนี้ให้ฟังว่า  “ เรามองว่าการปรับบ้านแบบนี้เหมาะสำหรับสภาพแวดล้อมของไทยที่หาได้ยากแล้ว ในเมืองถึงอากาศจะไม่เย็นมากแต่ก็อยู่สบาย มีอาหารสดใหม่มีความสงบเงียบ มีภูมิปัญญาจากคนพื้นถิ่นที่ช่วยปรับชีวิตให้กลมกลืนไปกับธรรมชาติ ทำให้เกิดนิเวศที่สุนทรีและทำให้เรามีความสุขในการใช้ชีวิต ทำให้จิตใจเบิกบานมันเป็นคำตอบของวิถีชีวิตที่ทุกคนแสวงหาและเป็นแนวทางที่ดีในอนาคต ”

ฟางข้าวที่เหลือจากการปลูกข้าวแล้วยังนำมาต้มและปั่นเพื่อทำเป็นกระดาษฟางใช้เอง กับเสื่อสานและหมอนเหลี่ยมของใช้บ้าน ๆ ที่เข้ากับวิถีชีวิตไทยตามชนบทได้ดี
อีกผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการปลูกข้าวคือสบู่ที่มีส่วนผสมของข้าวคั่ว ส่วนกระดาษฟางที่ได้จากการปลูกข้าวนั้น อาจารย์นำมาทำภาพพิมพ์ เย็บเป็นสมุดโน้ต  และทำแพ็คเกจห่อสบู่ข้าวคั่ว

 

เรื่อง : ภัทรสิริโชติพงศ์สันติ์

ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล

เจ้าของ : อาจารย์วิจิตร อภิชาติเกรียงไกร


อ่านเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม