Hypothesis

HYPOTHESIS ผู้ไม่หยุดคิดหยุดสร้างสมมติฐานใหม่ เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยงานออกแบบ

Hypothesis
Hypothesis

ออฟฟิศใหม่ของ Hypothesis เป็นอย่างไร

มนัสพงษ์ : “ออฟฟิศของเราอยู่ชั้นลอย” 

เจษฎา : “แต่จริง ๆ เราทำงานทุกที่ในนี้ เราได้พื้นที่ที่กว้างขึ้น แล้วก็ Sharing ช่วงเวลาใช้ต่างกัน ตรงนี้ที่เรานั่งคุยกันพอเวลาไม่มีลูกค้าเราก็มาใช้งานพื้นที่ นั่งทำงาน คิดงาน หรือประชุมกัน” 

มนัสพงษ์ : “เรากระจายพื้นที่ออก แทนที่เราทำห้องประชุมที่ต้องมาอยู่กับเรา เราเลือกกระจายออกมา เป็นเทรนด์ที่ใครก็ใช้ห้องประชุมได้ เรากระจายส่วนพื้นที่แพนทรีออกมาเป็นคาเฟ่ ทุกคนในเวิ้งนี้ก็มาซื้อกาแฟซื้อน้ำได้ หรือ Fabrication lab ที่เรามีเครื่องมือเครื่องจักร เราก็แชร์ออกมา ถลกมันออกมาให้คนในพื้นที่ ในเวิ้งนี้ หรือนักเรียนนักศึกษาได้มาใช้งานได้” 

Hypothesis office space
Hypothesis office space
Hypothesis office space
Hypothesis office space
Hypothesis office space Factoria
ภายในห้องประชุมซึ่งทีม Hypothesis กำลังระดมความคิดกันในระหว่างที่เราเดินเก็บภาพภายในโครงการ Factoria
Factoria
Fabrication lab

บรรยากาศต่างไปจากตอนอยู่บ้านที่ออฟฟิศเก่าแค่ไหน ที่นี่เอื้อต่อการทำงานมากกว่าไหม 

เจษฎา : “ส่วนตัวแล้วมองว่าบรรยากาศไม่ได้มีผลเท่าไร แต่เป็นโอกาสมากกว่า เราได้เจอโอกาส ได้เจอรุ่นพี่ที่เป็นไอดอลเรา เจอดีไซเนอร์รุ่นใหม่ ๆ ได้มาแลกเปลี่ยนความรู้ที่นี่กัน นั่นแหละที่ผมว่ามันได้มากกว่า ได้มานั่งกินข้าวกัน พูดคุยกัน แลกเปลี่ยนมุมมองกัน กระบวนการในการทำงาน ณ ตอนนี้มันทำตรงไหนก็ได้”           

Hypothesis office space
เจษฎา เตลัมพุสุทธิ์ ขณะตรวจงานภายใน Hypothesis office space            

คาดหวังว่างานออกแบบของ Hypothesis จะเข้าไปเปลี่ยนสังคม หรือสร้างสิ่งใหม่ ๆ ให้กับสังคมอย่างไร

มนัสพงษ์ : “จริง ๆ เราไม่ได้คาดหวังนะครับ เรียกว่าเราพยายามดีกว่า ทำในมุมที่เราพอจะทำได้ เข้าไปปรับเปลี่ยนสังคม หรือสเกลของเมืองในมุมเล็ก ๆ แบบเรา ตั้งคำถามกับมันเพื่อให้สังคมเห็นว่า ระบบความคิดหรือระบบความเป็นครีเอทีฟในการคิดงาน มันน่าจะช่วยสังคมในจุดเล็ก ๆ ได้ ถ้าทุกคนช่วยกันและตั้งคำถามกับมัน มันก็อาจกระจายออกไป สังคมอาจเกิดพื้นที่ต่าง ๆ มากมายในรูปแบบที่เขาสนใจ เช่น แลนด์สเคปดีไซเนอร์เขาสนใจในการตั้งคำถามเรื่องพื้นที่สาธารณะ เขาก็เริ่มลุกขึ้นมาทำ หรืออย่างอินทีเรียดีไซเนอร์ตั้งคำถามกับตึกร้าง หรือสถาปนิกตั้งคำถามกับชุมชน หรือดีไซเนอร์ตั้งคำถามกับโรงเรียนที่สอนดีไซน์ พอคนหลาย ๆ คนเริ่มตั้งคำถามกับสิ่งที่เราเป็นอยู่ว่ามันดีหรือยัง มันมีสิ่งใหม่ที่ดีกว่านี้ไหม ถ้ามันมีคำถามแบบนี้ขึ้นมาเรื่อย ๆ ทุกคนตั้งสมมติฐานขึ้นมาเรื่อย ๆ ผมคิดว่ามันจะทำให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้นมาเรื่อย ๆ พัฒนาวงการออกแบบของเราให้ดีขึ้นได้”

เจษฎา : “Hypothesis เริ่มวาง Strategy เรื่องการทำ Branding หรือวาง New Programs มันนอกเหนือจากเรื่องดีไซน์แล้ว เราคิดถึงมิติอื่นก่อน แล้วดีไซน์จะเป็นแค่ส่วนหนึ่ง”

มนัสพงษ์ : “เราปรับเปลี่ยนมาเป็นคนวางกลยุทธในการทำงานเป็น Consultancy นอกเหนือจากดีไซน์แล้ว เราจะเป็นคนวางกลยุทธ์ในภาคองค์รวม มองไปถึง Master Plan ทำการรีเสิร์ช ทำอย่างไรให้ได้มาในสิ่งใหม่ หรือตั้งคำถามกับสิ่งที่มันมีอยู่เดิม จะทำอย่างไรให้มันดีขึ้น หรือได้รับผลกำไรที่มันคุ้มค่ามากกว่าเดิม นั่นคือสิ่งที่เราปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ ดีไซน์เป็นตัวซัพพอร์ต”    

เจษฎา : “ถ้าเราทำรูปร่าง รูปทรงให้ดี ดีไซน์เหมือนเป็นแอ็คเซสโซรี่ ดีไซน์เป็นเหมือนแฟชั่น ต่อให้เราใส่อะไรเข้าไป ถ้าเราหุ่นดี รูปร่างดี ใส่อะไรลงไปมันก็สวย”

มนัสพงษ์ สงวนวุฒิโรจนา
มนัสพงษ์ สงวนวุฒิโรจนา

อยากทำบ้านหลังใหญ่ เพื่อส่งต่อโอกาส ส่งองค์ความรู้ที่เรามี แม้ระทั่งส่วนน้อยนิดให้กับน้อง ๆ ที่เป็น Startup ได้มีโอกาสได้มาแลกเปลี่ยน ได้มาพูดคุย อยากจะพัฒนาดีไซน์คอมมูนิตีขึ้นมา

อยากทำโปรเจ็กต์แบบไหนที่ยังไม่เคยทำมาก่อนไหม 

มนัสพงษ์ : “จริง ๆ มีเยอะ ส่วนตัวผมสนใจเรื่อง Abandon architecture ตึกร้างเยอะแยะมากมาย ตึกในบ้านเราที่อยู่ในเมือง มันมีตึกร้างที่ไม่ได้ถูก Occupied ค่อนข้างเยอะ ส่วนที่สองคือมันถูก Occupied โดยคนที่ไม่น่าจะเหมาะสมกับบริบทนั้น เช่น อยู่ใจกลางสุขุมวิท แต่ว่าพอเข้าไปในซอยนิดหน่อยก็จะเจอกับบ้านหรือห้องเช่าที่มันอีเหละเขะขะ ทั้ง ๆ ที่มันสามารถปรับปรุงไปอยู่ในสภาพความเป็นอยู่ที่มันดีขึ้นกว่านี้ได้ แล้วเราให้คนกลุ่มนั้นโยกย้ายไปอยู่อีกส่วนหนึ่งได้ ไม่จำเป็นต้องเอาศักยภาพที่ดีที่สุดไปทำในสิ่งไม่ได้คุ้มกับศักยภาพ นั่นคือสิ่งที่เราสนใจ โรงหนังร้าง ปั้มน้ำมันร้าง

“เราไม่ได้มองแค่ Warehouse เรามองในส่วนพื้นที่ที่ไม่ได้ถูกใช้สอย ถ้าเราแก้ปัญหาจุดนี้ได้ คนลุกขึ้นมาทำ ในเชิงผังเมืองมันจะลด Urban storm เมืองที่มันกระจายไปไม่หยุด รัฐก็ต้องส่งเสริม Infrastructure เข้าไป แต่ถ้าเรามานั่งพิจารณาในส่วนที่เรามีอยู่แล้ว มี Infrastructure ที่มันเข้าถึงดีอยู่แล้ว แล้วเราก็เอาพื้นที่ที่มันเป็น Waste space ที่คนไม่ได้เอาไปใช้งานอย่างจริงจังมาทำให้มันดีขึ้น เมืองมันจะลดการกระจายตัว แล้วทุกอย่างจะถูกรวมตัวอย่างมีประสิทธิภาพ”

เจษฎา : “ผมอยากทำบ้านหลังใหญ่ ผมอยากส่งต่อโอกาส เราอยากจะส่งองค์ความรู้ที่เรามี แม้ระทั่งส่วนน้อยนิดให้กับน้อง ๆ ที่เป็น Startup ต่าง ๆ ได้มีโอกาสได้มาแลกเปลี่ยน ได้มาพูดคุย อยากจะพัฒนาดีไซน์คอมมูนิตีขึ้นมา นี่คือสิ่งที่อยากจะทำ”

มนัสพงษ์ : “เราอยากจะสร้างแพลตฟอร์มในสิ่งที่เราพอรู้ ประสบการณ์ที่เรามี Sharing ให้กับคนอื่น ถ้ามองในมุมหนึ่งอาจจะเป็นโรงเรียนเล็ก ๆ ที่เรามาแลกเปลี่ยนความรู้กันระหว่างตัวน้อง ๆ เอง หรือพวกเราเอง ตัวพี่ ๆ ที่อยู่ในเวิ้งแถวนี้ มาใช้พื้นที่หรือสถานที่ในการ Sharing พัฒนาคนของเรา”

เจษฎา : “Sharing แล้วมันเกิด Charity เปิดโอกาสให้กับคนที่ด้อยโอกาส เช่น การจัดเวิร์กช้อปเกี่ยวกับการออกแบบเบื้องต้น ทำร่วมกันแล้วส่งต่อให้มูลนิธิต่าง ๆ เราอยากให้ที่นี่เป็นบ้านหลังใหญ่ ทุกคนมาแลกเปลี่ยนและให้โอกาสซึ่งกันและกัน ”

นั่นเพราะ Hypothesis เคยได้โอกาสจึงเข้าใจและอยากส่งต่อโอกาสนั้น   

มนัสพงษ์ : “ทุกงานที่เราได้ทำมันคือโอกาส ลูกค้าที่กลายเป็นเพื่อนเราทุกวันนี้ เห็นศักยภาพของเราสมัยก่อนที่อาจจะเป็นวัยรุ่นตัวเล็ก ๆ ที่ไม่เคยฝากฝีไม้ลายมืออะไรเลย แต่พอลูกค้าทุกคนที่เป็นเพื่อนเราให้โอกาส เอาจริง ๆ คือให้เราเรียนผิด เรียนถูกกันมาเยอะ พอเราได้ทำผมว่าตรงนั้นมันเป็นโอกาสที่ทำให้เรามาเป็นเราอย่างในทุกวันนี้ ทำให้เราโตขึ้น มีบ้านหลังใหญ่ขึ้น เราก็อยาก Sharing ให้น้อง ๆ คนอื่นเช่นเดียวกัน ในวันที่เราเคยเป็นแบบเขา” 

เจษฎา : “อีกอย่างหนึ่งคือเราอยากจะบอกให้ดีไซเนอร์ไทยได้ภูมิใจในสิ่งที่เขาเป็น จริง ๆ ดีไซเนอร์ไทยเก่งมาก แต่ ณ ตอนนี้เราปิดตัวเอง แต่เมื่อไหร่ที่เรารวมตัวกัน เพื่อบอกให้ทั่วโลกรู้ว่า ดีไซเนอร์ไทยก็ไม่ได้แค่ขี้ช้างแล้วนะ ไม่ได้ว่าไม่มีเสื้อใส่ หรือใส่รองเท้าแตะ เราก็เป็นหนึ่งในดีไซน์ที่เปลี่ยนสังคมได้เหมือนกัน เราเคยส่งผลงานไปประกวดในระดับโลก ให้เขารู้จัก เราก็ทำสำเร็จแล้ว เป็นเหมือนตัวแทนไทยไปบอกให้ชาวโลกรู้ว่าคนไทยมีดีไซเนอร์ที่ทำได้เทียบเท่าเขาเหมือนกัน”

Hypothesis

Hypothesis
เจษฎา เตลัมพุสุทธิ์ (นั่ง) และ มนัสพงษ์ สงวนวุฒิโรจนา

“ทุก ๆ โปรเจ็กต์ที่อยู่ติดถนน เราพยายามจะ Dedicate พื้นที่ด้านหน้าให้กับสังคม ผลักพื้นที่ตรงส่วนนี้เป็นพื้นที่สีเขียวให้กับคนที่เดินฟุตบาต ”  

  • ***WERK ผลงานที่เป็นภาพสะท้อนของสมมติฐานใหม่ เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยงานออกแบบ ต้นแบบออฟฟิศยุคใหม่ บนรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีราชดำริ เจ้ารางวัล Winning Award ในหมวด Innovation จากเวที FRAME Awards 2019 

SPACESHIFT STUDIO
ภาพถ่ายจาก SPACESHIFT STUDIO

WERK เป็นโปรเจ็กต์ที่เราเริ่มจากทดลองทำจาก 1 Module เพราะกฏข้อบังคับของรถไฟฟ้าค่อนข้างเยอะ การต่อประกอบคือห้ามอ็อกเหล็ก ทุกอย่างต้องคิดเป็น Joint เหมือนเฟอร์นิเจอร์ที่ขันน็อต แล้วมีเวลาให้แค่ 4 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งน้อยมาก กว่าจะทำโปรเจ็กต์ตรงนี้ขึ้นมาได้มันดูเหมือนเล็ก แต่มันยากมากกว่าสร้างตึกอีก ทั้งเรื่องวัสดุที่ต้องกันไฟ ซึ่งตอนนี้เป็นการทดลอง เพราะทุกอย่างสร้างเสร็จหมดแล้ว ทั้งในห้องประชุม ส่วนที่เป็น Information และแพนทรี ที่เราพยายามกระจายความเป็นออฟฟิศออกมา แล้วในส่วนของพื้นที่เช่า ตอนนี้มัน Operate ไปได้สักพักแล้ว ส่วนห้องประชุมยังคงอยู่ แต่ส่วนที่ปล่อยเช่าบางส่วนกลายเป็นพื้นที่ที่ Young entrepreneurs เข้าไปใช้งาน เช่น Office ของ LUNIO ที่เขาขายที่นอนให้คนไปทดลอง คนลงจากสถานีรถไฟเห็นราคา เห็นสินค้า สามารถลองเดินเข้าไปนอน แล้วติดต่อพนักงานกันตรงนั้น กลายเป็นดิสเพลย์หน้าร้านของบริษัท

“นอกจากนี้ผมยังเคยเสนอเจ้าของสถานที่เขาไปว่า ยกตัวอย่างร้านเช่าชุดแต่งงาน เราก็นัดเจอกันที่รถไฟฟ้า วัดตัว แล้วส่งไปตัดที่โรงงาน วันมารับของหรือมาเช็คของก็เจอกันที่รถไฟฟ้า แทนที่เขาจะเดินทางไปแฟล็กชิพที่รถมันค่อนข้างติด ก็ทรานฟอร์มผ่านสเปซ ๆ หนึ่งที่คนเข้าถึงได้ เป็นพื้นที่ที่คนได้ลอง หรือการซื้อเสื้อผ้าในออนไลน์ บางครั้งใส่ไม่ได้เพราะเพียงแค่มันไม่มีที่ให้มันได้ทดลอง ขายออนไลน์ ทดลอง ใส่ไม่ได้ก็เปลี่ยนไซส์ได้ตรงนั้น เมื่ออยู่บนรถไฟฟ้าทุกอย่างมันเข้าถึงได้ตรงเวลามาก นั้นคือการแก้ปัญหาสังคมในหน่วยย่อย”

“ต่อไปรถไฟฟ้าในบ้านเราจะมีการเชื่อมต่อกันมากที่สุดในโลก เพราะฉะนั้นการจะสร้างออฟฟิศสเปซที่เป็น Platform เป็น Stand alone ที่ทุกคนต้องไปใช้ร่วมกันมันจะยังคงต้องมีอยู่ไหม สำหรับเรามันอาจจะไม่ต้องมี แต่อาจจะมีการกระจายตัวออก ออฟฟิศเดี๋ยวนี้คนไม่ต้องทำออฟฟิศที่อยู่ในออฟฟิศ นั่งอยู่บนพื้นที่ที่มีกระจกมองออกไปข้างนอก ทุกอย่างขึ้นอยู่บนออนไลน์ หรือบน Cloud เพราะฉะนั้นการประชุมงานร่วมกัน หรืออุปกรณ์ที่ต้องใช้ร่วมกันมันต้องอยู่บนเงื่อนไขเรื่องเวลา รถไฟฟ้าเป็นส่วนหนึ่งที่แก้ปัญหาสังคมได้ เช่น เป็นพื้นที่ให้คนมาติวหนังสือ น้อง ๆ นักศึกษามานั่งเรียน แก้ปัญหาเรื่อง Traffic ได้ มันแก้ปัญหาเรื่องความปลอดภัยได้ โดยเฉพาะน้องผู้หญิง เพราะถึงอย่างไรรถไฟฟ้าก็มี รปภ.ดูแลตลอดเวลา มีไฟส่องสว่างตลอดเวลา มันแก้ปัญหาหลายๆ เรื่อง ออฟฟิศที่คนต้องเข้าไปในสเปซ กดลิฟต์ขึ้นไป ออกไปเจอโต๊ะทำงานที่เรียงกัน มันตีตกความคิดตรงนั้นไปเลย เพราะเราทำงานที่ไหนก็ได้”  มนัสพงษ์ อธิบาย


เรื่อง : นวภัทร
ภาพ : ศุภวรรณ
อ่านต่อบทความแนะนำ


THE RUSTIC INDUSTRIAL บ้านเหล็กแนวอินดัสเทรียล
ของคุณคณิณ  จันทรสมา ผู้กำกับโฆษณาหรือที่คุ้นหน้าค่าตากันดีในฐานะอดีตมือกลองวงพรู ที่ได้ Hypothesis มาช่วยรีโนเวตทาวน์เฮ้าส์ให้เต็มไปด้วยความคลาสสิกจากเสน่ห์ของไม้เก่าและของสะสมต่าง ๆ