อีกหนึ่งวิธี ป้องกัน PM 2.5 ผลการวิจัย*ระบุว่าการก่อสร้างทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ประมาณ 9 เปอร์เซ็นต์ จากต้นเหตุทั้งหมด โดยต้นทางของฝุ่นในพื้นที่ก่อสร้างพอจะแยกได้เป็น 2 กลุ่ม และมีวิธีป้องกันได้ ดังนี้
1.ฝุ่น PM 2.5 ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการสันดาปหรือเผาไหม้ มีที่มาจาก
-การขนส่งวัสดุ อุปกรณ์และคนงานโดยรถยนต์
-เครื่องจักรที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ปั้นจั่น เครื่องปั่นไฟ
-อุปกรณ์ในการทำงาน เช่น เครื่องเชื่อมโลหะ เครื่องพ่นไฟ เครื่องตัด เครื่องเจียร

การป้องกัน/ลดปริมาณฝุ่น
-ใช้การก่อสร้างที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น การก่อสร้างระบบแห้ง ระบบก่อสร้างกึ่งสำเร็จรูป (Prefabrication System) และโครงสร้างเหล็ก ซึ่งเป็นการผลิตชิ้นส่วนจากโรงงานแล้วขนส่งมาติดตั้ง จึงเป็นการลดทั้งระยะเวลาการก่อสร้าง จำนวนคนงาน และขั้นตอนการทำงานในพื้นที่หน้างาน ซึ่งการผลิตจากโรงงานจะสามารถควบคุมการเกิดมลภาวะภายในโรงงานได้ดีกว่า

2.ฝุ่นขนาดใหญ่กว่า PM 2.5 มีที่มาจากวัสดุก่อสร้างแทบทุกชนิด โดยเฉพาะวัสดุที่มีลักษณะเป็นผงโดยต้นกำเนิด เช่น ปูนซีเมนต์ ดิน ทราย อิฐ ยิปซัม ใยสังเคราะห์ สีสเปรย์ จึงสามารถฟุ้งกระจายได้จากการเทออกจากถุง การผสม การติดตั้ง การตัดแต่ง รวมถึงการขนย้ายทั้งในพื้นที่และการขนส่งเข้า-ออกพื้นที่ก่อสร้าง
การป้องกัน/ลดปริมาณฝุ่น
-ทำความสะอาดล้อและตัวรถก่อนออกจากพื้นที่ก่อสร้าง โดยรถบรรทุกต้องมีผ้าใบปิดคลุมมิดชิด
-ทำพื้นลาดยางบริเวณทางรถยนต์เข้า-ออก
-ทำรั้วทึบสูงไม่น้อยกว่า 2 เมตรรอบพื้นที่ก่อสร้าง และมีสิ่งปกคลุมสิ่งก่อสร้าง เช่น ผ้าใบทึบหรือโปร่งแสง เพื่อป้องกันฝุ่นฟุ้งกระจายและสิ่งของตกหล่น
-การกองวัสดุที่เกิดฝุ่นฟุ้งกระจายง่าย ควรอยู่ในพื้นที่ปิดอย่างน้อย 3 ด้าน หรือมีการคลุมหรือพรมน้ำก่อนการขนย้าย
-การตัด เจาะ ควรทำในพื้นที่ปิด หรือใช้อุปกรณ์แยกกรองฝุ่นและเศษวัสดุ
-เก็บเศษวัสดุก่อสร้างและทำความสะอาดพื้นที่ก่อสร้างสม่ำเสมอ โดยวิธีที่ทำให้เกิดการฟุ้งกระจายน้อย เช่น การล้างด้วยน้ำ
*ผลวิจัยจากสถาบันโลกร้อนศึกษาประเทศไทย มูลนิธินภามิตร (TGWA)