พูดถึงเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร หากไม่นับรวมสวนสาธารณะที่กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ ของเมืองแล้วละก็ เราแทบนึกไม่ออกเลยว่าจะยังมีพื้นที่ธุรกิจผืนไหน ยอมอุทิศให้ต้นไม้ใบหญ้าและธรรมชาติได้แทรกตัวขึ้นมาสูดอากาศร่วมกับมนุษย์บ้าง
ก่อนที่เราจะพามารู้จักกับ คุณกนกอร บุญทวีกิจ เจ้าของที่ดินกว่า 5 ไร่ ในซอยสุขุมวิท 105 โดยพื้นที่นี้ทางครอบครัวเคยปล่อยให้เป็นตลาด พ่อค้าแม่ขายไม่ต้องเสียค่าเช่ามากว่า 15 ปี ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นโครงการ “ ดาดฟ้า ” คอมมูนิตีสเปซที่ยังคงฟังก์ชันของตลาดไว้ หากแต่เติมพื้นที่สีเขียวเพื่อเชื่อมท้องฟ้า ต้นไม้ แผ่นดิน และผู้คนเข้าหากัน
ทางเจ้าของโครงการจึงวางใจให้สถาปนิกจาก M Space นำทีมโดยคุณภากร มหพันธ์ มาเป็นผู้สร้างความชุ่มชื้นและคึกคักให้กับย่านลาซาล แหล่งรวมที่อยู่อาศัยและสถานศึกษาต่าง ๆ จนผืนที่แห่งนี้ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นมาร์เก็ตปาร์ค ขนาดย่อม พร้อม ๆ กับเป็นปอดให้คนเมือง
“เราเสนอเจ้าของโครงการไปว่าถ้าทำร้านค้าไม่เยอะก็ทำเป็นสวนสาธารณะไปเลย เหมือนพ็อคเก็ตปาร์คในต่างประเทศ เพราะเมืองไทยยังไม่ค่อยมี และเนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ในย่านลาซาลมักเต็มไปด้วยคอนโดมิเนียม ที่เหลือก็ทำเป็นโรงเรียนนานาชาติ ซึ่งในซอยนี้มีอยู่ถึง 12 โรงเรียนด้วยกัน แต่ยังไม่มีพื้นที่เปิดโล่งให้คนได้พักผ่อน ทั้ง ๆ เป็นย่านที่เต็มไปด้วยที่พักอาศัย นี่จึงเป็นเหตุผลสนับสนุนแนวคิดให้เรายิ่งควรสร้างพื้นที่สีเขียว”
หลังจากได้รับโจทย์มา ภาพแรกที่คุณภากรจินตนาการ คือตัวโครงการที่เป็นเสมือนโอเอซิสอยู่กลางซอย พื้นที่ตรงกลางเป็นคอร์ตต้นไม้ จากนั้นจึงค่อยรวมฟังก์ชันของตลาด และอื่น ๆ รูปแบบของอาคารเป็นพื้นที่แบบเปิดโล่ง โดยเลือกทำอาคารเพียง 2 ชั้น เน้นให้ทั่วทุกพื้นที่สามารถมองทะลุถึงกันได้ทั้งหมด ตามแนวคิดที่ว่า “พื้นที่สาธารณะ ควรเป็นพื้นที่ที่เราสามารถเห็นชีวิต และเห็นผู้คนได้”
อีกหนึ่งแนวคิดที่แน่วแน่ของผู้ออกแบบ คือการเลือกใช้วัสดุอย่าง “ตรงไปตรงมา” เพื่อต้องการให้งานสถาปัตยกรรมของที่นี่เป็นหนึ่งดียวกับธรรมชาติให้มากที่สุด “คอนกรีต” และ “เหล็ก” จึงเป็นสัจวัสดุที่ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนในการบอกเล่าแนวคิดนี้ โดยพื้นผิวทั้งหมดจะได้แสดงเนื้อแท้ของวัสดุจริงที่ไม่ผ่านการฉาบเรียบ ขัดมัน หรือแม้กระทั่งการทาสี แต่จะมีเพียงการทาสารเคลือบกันเชื้อราก็เท่านั้น
“เนื่องจากต้องการกรองมลพิษและเสียงจากถนน หรือแม้แต่ป้องกันเสียงที่เกิดจากกิจกรรมภายในโครงการไม่ให้ไปรบกวนชุมชนรอบ ๆ เราจึงต้องมีการบัฟเฟอร์ระหว่างเรากับข้างนอก เห็นได้จากบนพื้นชั้น 2 แม้จะโปร่งโล่งเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ดี แต่ก็ออกแบบให้มีแผงเหล็ก เเละบล็อกคอนกรีตมาช่วยกรองเสียงและมลพิษอีกชั้นหนึ่ง นอกจากนี้ยังช่วยสกรีนสายตาไม่ให้คนภายนอกมองทะลุเข้ามาได้ ในขณะที่คนที่อยู่ด้านในก็ยังสามารถมองออกไปชมวิวด้านนอกได้สบาย ๆ”
ด้านหน้าและด้านหลังของโครงการจึงเด่นด้วยฟาซาดแผงเหล็ก ที่ติดตั้งในองศาแบบบิดมุมต่างกัน ทั้งยังได้เจาะรูทั่วทั้งแผง เพื่อให้ลมสามารถระบายได้สะดวก โดยสนิมที่เกิดขึ้นจะปล่อยให้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ กล่าวคือจุดไหนที่มีอากาศถ่ายเทไม่ดี สีของสนิมบริเวณนั้นจะเข้ม ส่วนจุดใดที่อากาศถ่ายเทได้ดี สีของสนิมจะอ่อน และเมื่อได้สีที่ต้องการแล้วจะทำการเคลือบทับเพื่อเก็บสีจริง ณ ขณะนั้นไว้ เป็นศิลปะที่เกิดจากฝีมือของธรรมชาติโดยแท้
ส่วนด้านซ้ายและขวาเลือกใช้บล็อกคอนกรีตที่สั่งผลิตขึ้นมาโดยเฉพาะ ภายใต้ข้อแม้ที่ว่าทำอย่างไรจึงจะหาบล็อกรูปแบบเดียว แต่เมื่อนำมาวางเรียงกันแล้วสามารถสร้างให้เกิดแพตเทิร์นได้อย่างสวยงามเป็นเอกลักษณ์ จนปรากฏออกมาเป็นบล็อกคอนกรีตที่มีความลาดเอียงในตัว และมีตำแหน่งช่องเปิดของสองฝั่งที่ไม่ตรงกัน ทำให้เกิดการจัดวางได้ทั้งหมด 4 รูปแบบ ซึ่งมีความพิเศษอยู่ตรงที่หากแสงตกกระทบจะเกิดแพตเทิร์นเสมือนเป็นลายผ้าที่ถูกถักทอจนกลายเป็นผืนใหญ่
นอกจากแผงฟาซาดที่สะท้อนแนวคิดของสัจวัสดุรอบทิศแล้ว ภายในพื้นที่ของโครงการ โดยเฉพาะโครงสร้าง พื้น ผนัง และงานตกแต่ง ยังเน้นใช้ปูนเปลือยเป็นหลัก โดยได้ คุณสันธาน เวียงสิมา มาเป็นที่ปรึกษาเรื่องวัสดุ และทำการทดลองนำเศษวัสดุต่าง ๆ ไม่ว่าจะขี้เถ้า แกลบ เศษวัสดุที่เหลือใช้ในไซต์งานมาผสมกับคอนกรีต เพื่อให้เกิดผนังหลากรูปแบบหลายมิติได้อย่างน่าสนใจ
และอีกหนึ่งองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ของพื้นที่สีเขียว นั่นคือ “ต้นไม้” ผู้ออกแบบตั้งโจทย์คุณสมบัติของต้นไม้ไว้ในใจ ว่า อยากให้สนองกับการเป็นพื้นที่สาธารณะ และการใช้งานต่าง ๆ ต้นไม้ที่ปลูกอยู่ในโครงการจึงมีลักษณะลำต้นตรง ไม่ใหญ่ เกินไปนัก มีกิ่งก้านที่พุ่งสูงชะลูด (บางต้นอาจสูงเท่ากับตึก 3 ชั้น) ใบละเอียด ยอมให้แสงผ่านได้ เวลามีลม ใบต้องสามารถเคลื่อนไหวได้ และเบาพอที่จะทำให้เรารู้สึกถึงกระแสลมยามพัดผ่าน แถมยังต้องปล่อยให้แสงสามารถส่องทะลุลงมายังพื้นที่ด้านล่างได้ จากคุณสมบัติข้างต้น ท้ายที่สุดจึงมาลงตัวที่ “ต้นตะเคียนทอง” สำหรับเป็นไม้ประธานบริเวณพื้นที่คอร์ต เพราะนอกจากจะตรงตามความต้องการแล้ว ยังเป็นไม้ที่ไม่ต้องดูแลมากนัก สอดคล้องกับจริตความเป็นธรรมชาติของโครงการนี้อย่างแท้จริง
ภาพและเนื้อหาบางส่วนจากคอลัมน์ Design Case นิตยสาร room ฉบับที่ 185 (มี.ค.-เม.ย. 2562) Modern Movement: ก้าวย่างไปในสถาปัตยกรรม “สมัยใหม่” วางแผงแล้ววันนี้
room เล่มใหม่ล่าสุดวางแผงแล้ว / พบกับเนื้อหาที่ว่าด้วยเรื่อง Modern Movement ก้าวย่างไปในสถาปัตยกรรม "สมัยใหม่" ถ้าคุณหลงรักอาคารที่มีรูปทรงกล่องสี่เหลี่ยมแบบตรงไปตรงมา ชื่นชอบการออกแบบพื้นที่ใช้สอยที่เปิดพื้นที่โล่งและเป็นเหตุเป็นผล รวมถึงสนใจเรื่องการใช้เทคโนโลยีและวัสดุสมัยใหม่อย่างคอนกรีต เหล็ก หรือกระจก room จะชวนทุกคนไปก้าวเข้าไปทําความรู้จักที่มาที่ไปเพื่อให้เข้าใจเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังความงดงามอันเรียบง่ายเหล่านั้นให้มากขึ้น
Posted by room magazine on Tuesday, March 12, 2019
เรื่อง BRL
ภาพ ศุภกร ศรีสกุล
ออกแบบ M Space Co.,Ltd.
ที่ตั้ง โครงการดาดฟ้ามาร์เก็ตปาร์ค ซอยสุขุมวิท 105 (ระหว่างซอยลาซาล 31-33) ถนนบางนา- ตราด กรุงเทพฯ เปิดทุกวัน เวลา 10.00 น. – 22.00 น.
อ่านต่อ :