NIJO, ACROSS THE NIGHTINGALE FLOOR – ข้าม INTERACTIVE FLOOR แห่งอดีตกาล ไขความลับใต้พื้นกระดานไนติงเกล

ฤดูหนาวหลังวันขึ้นปีใหม่ ที่ใคร ๆ ต่างก็ไปขอพรกันที่ศาลเจ้าตามประเพณีของชาวอาทิตย์อุทัย แต่ด้วยเหตุผลบางอย่าง ฉันกลับไปที่นี่… สถานที่ที่เคยมาเยือนเมื่อสิบปีที่แล้ว…ปราสาทนิโจ อันเคยเป็นสถานพำนักของท่านโชกุน โทะคุงะวะ อิเอะยะสึ ผู้เป็นศูนย์รวมอำนาจใหญ่ในการปกครองดินแดนต่าง ๆ ในสมััยเอโดะ

ในอดีต เรื่องราวของ “ผู้ครองอำนาจ” กับ “นักลอบสังหาร” นั้นย่อมเป็นของคู่กัน ในยุคสมัยที่ยังไม่มีสัญญาณกันขโมยหรือกล้องโทรทัศน์วงจรปิด คงเป็นเรื่องที่สร้างความลำบากใจแก่ท่านโชกุนไม่น้อย หากจะมีนินจาหรือมือสังหารย่องเบาเข้ามาเงียบ ๆ ในยามวิกาล จึงมีเรื่องเล่ากันว่าด้านในตัวปราสาทนิโจ ณ ตำหนักนิโนมารุ ซึ่งท่านโชกุนเคยใช้เป็นที่พำนัก มีความลับซ่อนอยู่ใต้พื้นกระดาน ที่ไม่ว่าใครก็ตามได้เหยียบย่างจะได้ยินเสียงร้องของนกไนติงเกล

Nightingale Floor Nightingale Floor Nightingale Floor Nightingale Floor

วันหนึ่ง…ในฤดูกาลที่เงียบเหงา ฉันค่อย ๆ เดินข้ามสะพานที่ทอดผ่านคูน้ำรอบตัวปราสาท ผ่านป้อมปราการสูงสีขาวรายรอบ แล้วเดินอ้อมเข้าซุ้มประตูที่ตกแต่งด้วยโลหะสีทองเป็นลวดลายวิจิตร อันเป็นทางเข้าของสถานที่รโหฐานนาม “นิโนมารุ” แห่งนี้

ฉันกลั้นหายใจ ค่อย ๆ ใช้ปลายเท้าแตะพื้นกระดานอย่างแผ่วเบา พยายามไม่ทิ้งน้ำหนักตัว แต่ทันทีที่เท้าทั้งสองของฉันสัมผัสพื้นไม้กระดานตรงทางเดิน ก็ได้ยินเสียงร้องของนกไนติงเกลดังขึ้น…ตามคาดเป๊ะ!

…ระบบ SFX (Sound Effect) ของที่นี่ทำงานดีจัง…

นั่นเป็นความคิดเพี้ยน ๆ แบบเด็ก ๆ ในหัวของฉัน เมื่อ 10 กว่าปีก่อนหน้า

หารู้ไม่ว่า แท้จริงแล้วเสียงของนกไนติงเกลที่ได้ยินในตอนนั้น ไม่ใช่เสียงซาวด์เอ็ฟเฟ็กต์ผ่านลำโพงที่ฝังอยู่ใต้พื้นอย่างที่เคยมโนไว้แต่อย่างใด หากเป็นเสียงที่เกิดจริงขึ้นจริงจากกลไกการออกแบบระบบพื้นอาคาร พูดง่าย ๆ เลยคือเกิดเสียง “พื้นลั่น” แต่ดันเป็นเสียงที่ไพเราะราวกับเสียงร้องของนกไนติงเกล

พื้นนกไนติงเกล ( Nightingale Floor ) มีชื่อเรียกเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า อุกุยสุบาริ 鶯張り อุกุยสุ (鶯) แปลว่า นกไนติงเกล ส่วนบาริ (張り​​) แปลว่า “ขึงหรือยืด” อุกุยสุบาริ จึงหมายถึงเสียงของนกไนติงเกลที่เกิดขึ้นจากการยืดตัวของแผ่นไม้กระดานเมื่อรับน้ำหนักนั่นเอง

Nightingale floor www.elitereaders.com
พื้นไนติงเกล ทางเดินด้านในตำหนักนิโนมารุ (www.elitereaders.com)
ตำหนักนิโนมารุ
ตำหนักนิโนมารุ เมื่อมองจากด้านนอก พื้นไนติงเกลจะอยู่บริเวณด้านหลังบานเลื่อน

ใครเคยอ่านนิยายเรื่อง Tales of the Otori ของ Lian Hern หรือเคยดู James Bond ภาค You Only Live Twice (สมัยคุณลุง Frank Sinatra เป็นพระเอก) คงจะพอเคยคุ้นกับสิ่งนี้มาบ้าง

แต่แท้จริงแล้ว ทฤษฎีว่าด้วยที่มาของพื้นไนติงเกลนั้น ยังคงหาข้อสรุปไม่ได้ ว่าถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องเตือนภัยท่านโชกุนจากการลอบสังหารของนักฆ่าและนินจาตัวเบา หรือเกิดจากการเสื่อมสลายของโครงสร้างวัสดุไม้ตามกาลเวลาจนทำให้ข้อต่อของพื้นหลวมลั่น* แต่อย่างไรก็ตาม ความจริงภายใต้พื้นไม้นี้ก็มีเพียงหนึ่งเดียว…คือ เมื่อเท้าของผู้มาเยือนทิ้งน้ำหนักลงบนพื้นแม้น้อยนิด ก็มากพอที่จะทำให้แผ่นไม้นั้นถ่ายแรงไปยังโลหะที่ยึดอยู่ข้างใต้ และเมื่อโลหะกับหมุดยึดเสียดสีกันก็จะเกิดเป็นเสียงร้องเหมือนนกไนติงเกลขึ้นมา (ลองดูภาพประกอบกลไกการทำงาน)

หมุดยึดไม้กระดาน
หมุดยึดไม้กระดาน เมื่อมองจากใต้ทางเดินไนติงเกล (ภาพจาก Liam, Flickr)
Nightingale Floor
ภาพประกอบกลไกการทำงานของพื้นไนติงเกล ( Nightingale Floor )

ถึงแม้เพื่อนชาวญี่ปุ่นหลายคนของฉันจะออกเสียงเป็นความเห็นเดียวกันว่า “ไม่เห็นเหมือนนกไนติงเกลเลย”  บางคนถึงกับบอกว่าเสียงเหมือน “นกอ้วนที่พยายามจะบินแต่บินไม่ขึ้น” (น่าสงสารจัง! T_T) แต่สำหรับชาวต่างชาติอย่างฉัน ซึ่งก็ไม่เคยคุ้นหรอกว่าเสียงร้องแท้จริงของนกไนติงเกลนั้นเป็นอย่างไร พอได้ยินเสียงพื้นไม้กระดานที่ลั่นดังจิ๊บ ๆ นี้ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่พิเศษมากเลยล่ะ! (^ᴗ^)

ยิ่งเมื่อผนวกกับเรื่องเล่า (story) และแนวความคิด (concept) ที่ว่าพื้นที่ส่งเสียงนกร้องได้นี้ถูกออกแบบขึ้นในอดีตให้ตอบสนองต่อทุกการเคลื่อนไหวของผู้ใช้เพื่อเตือนภัยการลอบสังหาร เพราะแม้ผู้บุกรุกจะมีวิชาตัวเบาแค่ไหน ก็ไม่สามารถข้ามผ่านพื้นไนติงเกลไปโดยไม่ให้เกิดเสียงได้ ความน่าตื่นเต้นก็ยิ่งมากขึ้นเป็นเท่าทวี

ในโลกปัจจุบันที่ ใคร ๆ ต่างก็ใช้ความเป็น interactive หรือการตอบสนองต่อผู้ใช้งานมาเป็นจุดขาย และแนวคิดแบบ Interactive floor ก็มีให้เห็นได้มากมาย อย่างที่ใกล้ตัวหน่อยก็ตรงบริเวณทางเข้าห้องน้ำภายในห้าง Siam Center ที่มีขั้นบันไดเป็นเสียงดนตรี  หรือบางคนอาจจะเคยนั่งรถผ่าน Melody Road ที่ฮอกไกโด หรือแม้แต่เคยเยี่ยมชมผลงานของ TeamLab สถานที่ปักหมุดสุดฮิตเมื่อมาถึงญี่ปุ่น

interactive floor ของ TeamLab
ผลงาน interactive floor ของ TeamLab ( https://planets.teamlab.art/tokyo/ )
 Yusuke Japan Blog
Melody Road มื่อล้อรถแล่นผ่านพื้นผิวที่ขรุขระซึ่งเกิดจากการคำนวณระยะมาเป็นอย่างดี คนที่อยู่ในรถ จะได้ยินเสียงกระทบของล้อและถนนเป็นเสียงเพลง (ภาพจาก Yusuke Japan Blog)

แต่หากมองย้อนเวลากลับไปเมื่อ 400 กว่าปีก่อน ถ้ามีพื้นไม้ที่ส่งเสียงร้องของนกไนติงเกลตอบสนองต่อการก้าวย่างของผู้ใช้แบบนี้อยู่จริงแล้วละก็ คงจะเป็นเรื่องที่เก๋มากเลยใช่ไหมล่ะ

แล้วถ้าลองคิดดูเล่น ๆ อีกนิดว่า ถ้าในสมัยเอโดะมีพื้น interactive แบบนี้อยู่ ท่านโชกุน จะรู้ได้อย่างไร ว่าเสียงร้องจากพื้นนั้น คือการมาเยือนของมิตรหรือศัตรู? แล้วช่วงกลางคืน ตอนกำลังหลับใหลท่านโชกุนจะนึกรำคาญเสียงของมันบ้างไหมนะ?

แต่ไม่ว่ากาลเวลาจะก่อให้เกิดข้อผิดพลาด หรือแท้ที่จริงแล้วคือศาสตร์แห่งสถาปัตยกรรม “อุกุยสุบาริ” ในวันนี้ บ่งบอกฉันถึงความจริงข้อหนึ่งได้ว่า อะไรที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นสิ่งดีเสมอ…

นกไนติงเกล จะมาเยือนเมื่อถึงเวลาฤดูใบไม้ผลิ คราวนี้ฉันจะรอคอยอย่างใจจดใจจ่อ เพื่อจะได้ตั้งใจฟังเสียงของมัน และหากจังหวะเวลาเป็นใจ ฉันก็อยากจะกลับไปฟังเสียงร้องของพื้นไนติงเกลที่นิโจ อีกครั้ง…

 

  • * ถ้าคุณได้ไปเยือนที่ปราสาทนิโจ จะเห็นว่าที่ตัวปราสาทเองก็มีการให้ข้อมูลแบบเดียวกัน ว่ายังไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับสาเหตุของพื้นที่มีเสียงนกไนติงเกล และ ผู้เขียนได้ตรวจสอบกับอาจารย์ทางด้านประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมของ Kyoto University of Art and Design ก็ได้ทราบความเห็นว่ายังไม่มีข้อสรุปเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดี ไม่ได้มีเพียงแค่นิโจ เท่านั้น ที่มีพื้นไนติงเกล วัดอื่น ๆ บางแห่งในเกียวโต เช่น Daikaku-Ji และ Chion-in  ก็ปรากฎมีพื้นลักษณะนี้
  • ที่ใกล้ ๆ กับตัวปราสาท ลอง google หาร้านกาแฟ+ดีไซน์สุดชิค ชื่อ Songbird Café  ดู ร้านนี้เป็นของดีไซน์เนอร์ คุณมาซากิ โทคุดะ ผู้ออกแบบเฟอร์นิเจอร์ และยังมีผลิตภัณฑ์น่ารักอีกหลายอย่าง ผู้เขียนไม่แน่ใจ ว่า ‘Songbird’ กับพื้นนกไนติงเกล ของนิโจมีความสัมพันธ์กันแต่ประการใดหรือไม่ ถ้าคุณสนใจวันหลังจะลองไปสัมภาษณ์คุณเจ้าของร้านดู แล้วก็ถ้ามาร้านนี้ อย่าลืมลองแกงกะหรี่ ที่หน้าตาเหมือนรังนก กับขนมหวานญี่ปุ่น ที่โรยหน้าด้วยเนยขูด (หน้าตาก็คล้ายรังนกไปอีก) สามารถมองเห็นวิวของปราสาทนิโจได้ด้วยนะhttp://www.songbird-design.jp/


เรื่อง / ภาพ : ID19
อ่านต่องานเขียนของ ID19 เพิ่มเติม :


10 เหตุผลที่งานฝีมือเปี่ยมพลังใจ ยืนหยัดได้ในโลกทุนนิยมที่ DESIGN WEEK KYOTO

ร้านเฟอร์นิเจอร์ไม้
MAGICAL FURNITURE ร้านเฟอร์นิเจอร์ไม้เปี่ยมมนต์ขลังกลางเมืองโกเบ