หมอนหนุน ใบเก่าทำให้เราไม่สบายตัวเวลานอนหลับมานานพอแล้ว ถึงเวลาปฎิวัติชีวิตการนอนของตัวเองสักที โดยการมองหาหมอนใบใหม่มาไว้หนุนสักใบ แต่หลายคนยังตัดสินใจไม่ได้ว่าควรจะเลือกหมอนที่ทำด้วยวัสดุอะไรดี
วันนี้ my home จะพาทุกคนมาดู 7 ไส้หมอนหนุน พร้อมวิธีทำความสะอาด เพื่อช่วยยืดอายุการใช้งาน มาดูกันซิว่า ไส้หมอนหนุน ชนิดไหนเหมาะกับเราบ้าง ไปดูพร้อมๆ กันเลยค่ะ
1.ไส้หมอนจากธรรมชาติ
1.1 หมอนธัญพืช

หมอนธัญพืชเป็นหมอนที่ทำมาจากวัสดุธรรมชาติ อย่าง เปลือกโซบะ เปลือกถั่วงอก ไม้ฮิโนกิ หรือ ใบชาเขียว ซึ่งมีคุณสมบัติในการปรับเปลี่ยนรูปทรงเพื่อให้รองรับกับสรีระได้ทุกท่วงท่าการนอน จึงช่วยลดอาการเจ็บปวดจากแรงกดทับของศีรษะได้ เหมาะสำหรับคนที่มีอาการปวดเมื่อยต้นคอเป็นประจำ อีกทั้งยังสามารถถ่ายเทอากาศได้ดีทำให้นอนหลับสบายได้ตลอดทั้งคืน และไม่ต้องกังวลเรื่องความชื้นหรือกลิ่นเหม็นอับ นอกจากนี้ไส้หมอนแต่ละชนิดยังมีคุณสมบัติพิเศษอื่นๆ ที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น หมอนเปลือกโซบะผสมสมุนไพรไม้หอมที่สามารถช่วยต้านไรฝุ่น หรือ หมอนใบชาที่มีกลิ่นหอมอโรม่าช่วยให้นอนหลับได้สบายมากยิ่งขึ้น
- การทำความสะอาด : ควรหมั่นนำหมอนไปตบฝุ่นเป็นประจำ เพื่อป้องกันแมลงและไรฝุ่น และใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดให้ทั่วหมอน พร้อมทั้งนำไปตากแดด อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
- Tip : ถ้าหากไม่สามารถทนกับเสียงกรุบกรับ รบกวนจากไส้หมอนธัญพืชระหว่างนอนได้ ก็อย่าเพิ่งรีบโยนทิ้งลงถังขยะกันนะคะ เพราะหมอนธัญพืชยังสามารถใช้เป็นหมอนอิงพิงหลังได้เหมือนกัน โดยเฉพาะเวลาที่นั่งทำงานหรือนั่งพักผ่อนก็จะรู้สึกเหมือนมีตัวช่วยนวดหลัง ทำให้ผ่อนคลายมากยิ่งขึ้นค่ะ
1.2 หมอนขนสัตว์

หมอนขนสัตว์นิยมทำมาจากขนเป็ด และขนห่าน โดยจะคัดเลือกเฉพาะขนที่มีขนาดเล็กและโค้งงอ ซึ่งจะทำให้หมอนมีลักษณะฟูแน่น พร้อมทั้งมีคุณสมบัติในการรักษาอุณหภูมิ และนุ่มนิ่มเบาสบาย อีกทั้งยังคืนรูปร่างได้ดีและคงทนจึงมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน แต่มีกลิ่นเฉพาะตัว และมักจะมีไรฝุ่นติดตามหมอนเป็นจำนวนมาก จึงไม่เหมาะกับคนเป็นโรคภูมิแพ้ และหอบหืด รวมถึงคนที่มีอาการปวดคอ
- การทำความสะอาด : มาเริ่มกันทีละสเต็ปนะคะ อันดับแรกควรหมั่นตบหมอนเป็นประจำ เพื่อให้ขนด้านในฟูฟ่อง และนำออกไปผึ่งแดดอย่างสม่ำเสมอ ครั้งละ 2-3 ชั่วโมง พอเวลาผ่านไปประมาณ 6 เดือน ให้นำหมอนไปซักด้วยน้ำร้อนโดยไม่ต้องใส่ผงซักฟอก เสร็จแล้วจึงนำเข้าเครื่องอบผ้า ตั้งค่าอุณหภูมิให้อยู่ในระดับต่ำ ทิ้งไว้อย่างน้อย 5 ชั่วโมงแล้วนำออกมาใช้งานตามปกติ
1.3 หมอนน้ำ

หมอนน้ำไม่ได้บอบบางเหมือนลูกโป่งน้ำแถวบ้านเรา ที่โยนลงพื้นแล้วแตกดังโพละ เพราะหมอนชนิดนี้มีการป้องกันน้ำรั่วไหลถึงสองชั้น เริ่มจากชั้นนอกทำจากเส้นใยไฮโปอัลเลอร์เจนิก และชั้นในคือแผ่นยางที่มีลักษณะยืดหยุ่นและหนาเพื่อช่วยกักเก็บน้ำโดยเฉพาะ อีกทั้งสามารถเพิ่ม-ลดน้ำในหมอนได้ตามต้องการ โดยการเปิดจุกยางบนหมอนที่มีลักษณะแบนราบคล้ายกับจุกบอลอัดลม นอกจากนี้หมอนน้ำยังมีคุณสมบัติพิเศษช่วยรองรับร่างกายได้ทุกท่วงท่าของการนอน จึงเหมาะสำหรับคนที่อยู่ระหว่างทำกายภาพบำบัด และจัดกระดูก
- การทำความสะอาด : นำผ้าชุบน้ำมาเช็ดหมอนให้สะอาด และผึ่งลมให้แห้ง แต่ไม่ควรตากแดด เพราะจะทำให้หมอนเสื่อมสภาพ
1.4 หมอนยางพารา

หมอนยางพารา หรือหมอนลาเท็กซ์ ทำมาจากน้ำยาง ฮีเวีย-บราซิลเลียนซิส ที่มีคุณสมบัติอ่อนนุ่ม เหนียว คงทน และ มีความยืดหยุ่นสูง ทำให้หมอนที่ได้มาไม่เปลี่ยนรูปร่างหลังจากใช้งาน อีกทั้งยังถูกออกแบบให้มีส่วนเว้าส่วนโค้งรองรับศีรษะและหัวไหล่ได้ดี จึงเหมาะสำหรับคนเป็นโรคไมเกรน รวมถึงคนที่มีอาการนอนไม่หลับ ปวดคอและหลัง แต่ไม่เหมาะสำหรับคนที่แพ้น้ำยางพารา เพราะเวลานอนอาจหายใจได้ไม่สะดวก นอกจากนี้หมอนยังมีคุณสมบัติอื่นๆ อย่าง การขับไล่แมลงเตียง-ไรฝุ่น และ ต่อต้านเชื้อรา-โรคราน้ำค้างได้อีกด้วย
- การทำความสะอาด : ควรผึ่งลมให้แห้ง แต่ไม่ควรนำไปซักล้าง เพราะจะทำให้ยางเสียเร็วขึ้น