CASA PAPA.HOME&SPACE

CASA PAPA.HOME&SPACE สตูดิโอเรียบขาวริมแม่น้ำนครชัยศรี ของสุรศักดิ์ อิทธิฤทธิ์ และกานดา สายทุ้ม

CASA PAPA.HOME&SPACE
CASA PAPA.HOME&SPACE

Casa Papa.Home&Space กับเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ภายในสถาปัตยกรรมหลายอย่างถูกบอกเล่าผ่านงานดีไซน์ที่มองเห็นได้ด้วยตา หากแต่ยังมีอีกหลายความผูกพันที่สัมผัสได้ก็ต่อเมื่อเข้าไปอยู่ในสถานที่แห่งนั้น

ทำไมถึงเลือกทำอาคารดีไซน์สีขาวเรียบง่ายแบบนี้คะ” เพียงคำถามแรกของการเริ่มต้นบทสนทนาระหว่างเรากับคุณสุรศักดิ์ อิทธิฤทธิ์ และคุณกานดา สายทุ้ม เจ้าของ Casa Papa.Home&Space สตูดิโอน้องใหม่ริมฝั่งแม่น้ำนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม และคู่รักผู้โด่งดังในวงการแฟชั่นและศิลปะที่คลุกคลีกับความตื่นเต้นเร้าใจมาทั้งชีวิต คำตอบของทั้งคู่ยิ่งทำให้เราอยากเข้าไปค้นหาความหมายของชื่อนี้ผ่านแว่นตาที่เรียกว่าดีไซน์

CASA PAPA.HOME&SPACE

“ทุกพื้นที่ในที่นี้เราใช้เหตุผลในการดีไซน์เข้ามาช่วยทั้งหมด เพราะเราคิดเสมอว่าที่นี่ไม่ใช่ที่ของเรา เพราะเป็นที่ที่คุณพ่อของคุณกานดาสร้างไว้ เวลาเราจะทำอะไรก็จะพยายามคิดถึงคุณพ่ออยู่ตลอด แม้ว่าเราจะชอบสไตล์ลอฟต์ หรือนิวยอร์กหน่อย ๆ แต่เราก็ต้องพยายามจะไม่ไปคิดถึงตรงนั้น คิดเพียงว่าจะทำอย่างไรให้คุณพ่อเห็นแล้วรู้สึกแฮ็ปปี้ไปด้วย”

เดิมทีที่ดินนี้มีความยาวตลอดแนวริมฝั่งแม่น้ำนครชัยศรี คุณพ่อเคยตั้งใจอยากจะทำโรงแรม แต่ด้วยโลเกชั่นที่ไม่เหมาะ รวมทั้งส่วนตัวของทั้งคู่คิดว่าตัวเองไม่ได้ถนัดเรื่องการทำโรงแรม จึงไปขอคุณพ่อเปลี่ยนมาทำสตูดิโอแทน ซึ่งท่านก็อนุญาตเป็นอย่างดี โดยมีโครงสร้างที่ทำไว้ล่วงหน้า อย่างเสา พื้น และหลังคาทรงจั่ว ในขณะที่ชั้นสองก็มีการกั้นห้องต่าง ๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขั้นต่อมาจึงเป็นหน้าที่ของสถาปนิกอย่าง คุณเอกภพ สุขสุดไพศาล ที่ร่วมกันระดมสมองกับเจ้าของในด้านงานดีไซน์ จนออกมามีฟังก์ชันและรูปลักษณ์ที่ถูกใจ

“สิ่งที่เราทำคือการพยายามเก็บรักษาคาแร็กเตอร์ความเป็นท้องถิ่นของคุณพ่อเอาไว้ โดยเพิ่มเติมความชอบของพวกเราลงไปด้วย อันนี้แหละคือสิ่งที่เราทำ มันไม่ได้เป็นตัวเอง 100 เปอร์เซ็นต์ หรือมาจากความคิดที่เราปลูกตึกขึ้นมาใหม่เลย มันคนละแบบกัน”

CASA PAPA.HOME&SPACECASA PAPA.HOME&SPACE

ทุกคนที่เห็นสตูดิโอแห่งนี้ครั้งแรกจะต้องสะดุดตากับฟาซาดทรงโค้งที่โดดเด่น ขัดแย้งกับรูปทรงเหลี่ยมเฉียบเรียบของอาคาร ไอเดียส่วนนี้เป็นของสถาปนิกที่ต้องการสร้างรูปฟอร์มสะดุดตาท่ามกลางสีขาวคลีนและความเรียบง่ายของโครงสร้าง รูปทรงโค้งที่ใช้เป็นฟาซาดของชั้น 2  จึงเป็นเสมือนจุดศูนย์รวมสายตาตรงกลางของอาคารพอดี โดยฟอร์มนี้ยังใช้ต่อเนื่องเข้ามาสู่ฝ้าเพดานของระเบียงทางเดินชั้น 2  และห้อง Coconut ชั้นล่างสุด ซึ่งเป็นห้องเปิดโล่งยาวขนานไปกับแม่น้ำ

CASA PAPA.HOME&SPACECASA PAPA.HOME&SPACE

ขึ้นมาบนชั้น 2 จะพบกับห้อง Living Room มีบันไดวนเป็นพระเอกของห้อง แม้พื้นที่โถงภายในจะต่อเนื่องกัน แต่ก็มีการจัดการวัสดุ และการตกแต่งภายในที่แตกต่างเพื่อสร้างบรรยากาศหลากหลาย

หัวใจหลักของการเป็นสตูดิโอ “ใจหนึ่งผมก็อยากให้ที่นี่มีความเป็นมินิมัลโล่ง ๆ เรียบ ๆ แต่เราก็มองว่าพอเราทำเป็นธุรกิจ จึงอยากเปลี่ยนวัสดุบางโซนให้แตกต่างกัน เพื่อให้เป็นทางเลือกสำหรับลูกค้า จึงใช้การเปลี่ยนพื้น วัสดุที่เลือกใช้ก็เป็นกระเบื้องลายสีทองตามแบบที่พ่อขแงคุณกานดาชอบ เปลี่ยนดีไซน์ห้อง และหน้าต่างให้ไม่ซ้ำกัน”

จากบันไดวนขึ้นไปส่วนชั้น 3 จะพบกับพื้นที่เปล่าซึ่งเป็นโซนที่สามารถสร้างสรรค์พื้นที่ทางศิลปะตามใจชอบของเจ้าของทั้งคู่ รวมทั้งห้องทำงานที่แบ่งเป็นสองห้อง และชั้น 4 บนสุด เป็นห้องนอนเหมือนกับบ้านพักตากอากาศ

“ตอนนี้เราขอเริ่มแบบง่าย ๆ ไปก่อน ค่อย ๆ เรียนรู้ไปกับสภาพเดิมของตึก และสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ หลังจากนี้เราก็พยายามใส่ตัวเองเข้าไป บางคนอาจจะตกแต่งให้สุดแล้วจบในทีเดียว แต่สำหรับเราทุกอย่างจะค่อย ๆ เริ่มจากสิ่งที่ไม่รู้ก่อน หรืออะไรที่ดูกลาง ๆ แต่พอผ่านไปเวลากับสิ่งที่เราชอบก็จะเริ่มพาดีไซน์และบรรยากาศเข้ามา แล้วมันจะกลายเป็นเราในอนาคต”

CASA PAPA.HOME&SPACE CASA PAPA.HOME&SPACE

เรื่องราวในอนาคตของ Casa Papa ที่ทั้งคู่อยากสรรสร้างให้เติบโตต่อ คือการใส่ชีวิตเข้าไปในพื้นที่แห่งนี้ ให้ตัวสถานที่ได้บอกเรื่องราวของชุมชน และสร้างเรื่องราวแห่งความทรงจำให้แก่ผู้ที่เข้ามาใช้งาน โดยทั้งคู่วางแผนไว้ว่าอยากเปิดร้านกาแฟ ร้านอาหาร โดยขับเรือไปซื้อผัก ผลไม้ วัตถุดิบออร์แกนิกเองจากสวนของชาวบ้านในย่านนั้น และทำห้องพักอีกสัก 2-3 ห้องริมแม่น้ำ

“ผมอยากให้เวลาเป็นตัวบอกเล่าเรื่องราว มันจะมีสิ่งที่เราเลือกค่อยๆ เติมเข้ามา ต้องขอให้ทุกคนคอยติดตามตอนต่อไป อาจจะมีอะไรบ้า ๆ บอ ๆ แฟนตาซีเพิ่มขึ้นในนั้นไปเรื่อย ๆ เหมือนชีวิต ที่นี่มันก็มีชีวิตที่มาจากเรื่องจริง ไม่ได้สำเร็จรูปมาตั้งแต่ต้น”

CASA PAPA.HOME&SPACE

ภาพและเนื้อหาบางส่วนจากคอลัมน์ Design Case นิตยสาร room ฉบับที่ 185 (มี.ค.-เม.ย. 2562)  Modern Movement: ก้าวย่างไปในสถาปัตยกรรม “สมัยใหม่” วางแผงแล้ววันนี้

Modern Movement

room เล่มใหม่ล่าสุดวางแผงแล้ว / พบกับเนื้อหาที่ว่าด้วยเรื่อง Modern Movement ก้าวย่างไปในสถาปัตยกรรม "สมัยใหม่" ถ้าคุณหลงรักอาคารที่มีรูปทรงกล่องสี่เหลี่ยมแบบตรงไปตรงมา ชื่นชอบการออกแบบพื้นที่ใช้สอยที่เปิดพื้นที่โล่งและเป็นเหตุเป็นผล รวมถึงสนใจเรื่องการใช้เทคโนโลยีและวัสดุสมัยใหม่อย่างคอนกรีต เหล็ก หรือกระจก room จะชวนทุกคนไปก้าวเข้าไปทําความรู้จักที่มาที่ไปเพื่อให้เข้าใจเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังความงดงามอันเรียบง่ายเหล่านั้นให้มากขึ้น

room magazine 发布于 2019年3月12日周二

 


เรื่อง  skiixy
ภาพ  ศุภกร, Casa Papa.Home&Space
เจ้าของ       คุณสุรศักดิ์ อิทธิฤทธิ์ และคุณกานดา สายทุ้ม
ออกแบบ    คุณเอกภพ สุขสุดไพศาล