มาปลูก ตำลึง ด้วยตัวเองกันเถอะ!

อากาศร้อนๆ อย่างนี้ ราคา ตำลึง ในท้องตลาดก็แพงเหลือเกิน  ก็เพราะเป็นช่วงที่ตำลึงไม่ค่อยแตกยอดเหมือนช่วงฤดูฝน  แถมยังมีหนอนกัดกินใบอยู่ตลอดเวลา ผู้ปลูกบางรายจึงมักให้ปุ๋ยยูเรียเพิ่มพร้อมฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดแมลง เพื่อกระตุ้นให้แตกยอดสวยไม่มีร่องรอยกัดกิน

ใครที่ชอบกินแกงจืด ตำลึงหมูสับ ต้องหันมาปลูก ตำลึง ไว้ริมรั้วกันดีกว่า วิธีง่ายๆ เริ่มจาก

ตำลึง

  1. เตรียมกิ่งพันธุ์ดี โดยเลือกกิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อนที่เป็นสีน้ำตาล มีขนาดเท่าดินสอ ใบเต็ม หยักเว้าตื้น ที่เรียกกันว่า “ตำลึงเพศเมีย” ซึ่งมีรสอร่อยกว่า “ตำลึงเพศผู้” กล่าวกันว่าหากกินเข้าไปจะทำให้ท้องเสีย โดยตัดกิ่งแก่ เป็นท่อนให้มี 3 ข้อ ยาว 15-20 เซนติเมตร  ที่โคนกิ่งตัดให้อยู่ใต้ข้อ และริดใบออกเพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำ
  2. ปักชำกิ่งพันธุ์ โดยปักในกระถางที่มีดินร่วนที่มีอินทรียวัตถุและระบายน้ำดี ให้ลึกประมาณ แล้วรดนำให้ชุ่มเช้าเย็น วางกระถางในที่มีแสงแดดรำไร อาจปลูกลงดินริมรั้ว บริเวณที่ต้องการให้ตำลึงเลื้อยพันก็ได้แต่ควรพรางแสงไม่ให้กิ่งพันธุ์ได้รับแสงแดดมาก
  3. เริ่มเติบโต อีก 1 สัปดาห์ จึงเริ่มแตกใบ รอจนต้นแข็งแรง ผลิใบมากขึ้นเริ่มเลื้อยพัน และแตกรากเต็มกระถาง จึงย้ายปลูกลงดิน ในตำแหน่งที่ได้รับแสงแดดมากขึ้น เมื่อต้นแตกใบอ่อนมากขึ้น ก็เก็บมาปรุงอาหารได้ตามชอบ

Tips

  • ช่วงแรกควรหมั่นให้น้ำสม่ำเสมอ ไม่ควรปล่อยให้ต้นเหี่ยว ยอดจะอวบอ้วน และไม่แข็ง
  • หมั่นเด็ดยอดบ่อยๆ เพื่อให้ต้นแตกใบอ่อนได้มากขึ้น
  • อาจเก็บเมล็ดจากผลสุกมาเพาะเมล็ดก็ได้ แต่จะได้ทั้งตำลึงเพศผู้และเพศเมีย

เกร็ดความรู้

ตำลึง
ตำลึงเพศเมียเมื่อยังไม่สมบูรณ์จะให้ดอกเพศผู้ รอจนต้นเติบใหญ่จึงให้ดอกเพศเมีย

ตำลึงเป็นพืชในวงศ์แตง (Cucurbitaceae) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Coccinia grandis Vougt เป็นไม้เลื้อยอายุหลายปี เมื่อมีอายุมากขึ้น รากและโคนต้นมีขนาดใหญ่ มีมือเกาะออกตามข้อ ใบเดี่ยวเรียงสลับ แผ่นใบป้อม ขอบใบหยักเว้า  ดอกเดี่ยวเป็นดอกแยกเพศอยู่ต่างต้น ดอกสีขาว เป็นวิธีสังเกตง่ายๆ คือ ถ้าเป็น “ตำลึงเพศผู้” ขอบใบจะหยักเว้าลึกเกือบถึงโคนใบ ดอกสีขาวไม่มีรังไข่ และมีแต่เกสรเพศผู้ ซึ่งเชื่อกันว่าหากนำมากินจะทำให้ท้องเสียได้ ส่วน  “ตำลึงเพศเมีย” ขอบใบหยักเว้าตื้นๆ ใบป้อมเกือบกลม ใต้วงกลีบดอกมีรังไข่รูปรี และมียอดเกสรเพศเมีย แต่ตำลึงเพศเมียบางต้น หากต้นยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ ดอกชุดแรกที่ออกหลังปลูกมักเป็นดอกเพศผู้ ต้องรอให้ต้นทอดเลื้อยยาวขึ้นจึงเริ่มให้ดอกเพศผู้

ตำลึงเป็นพืชที่มีฤทธิ์เย็น ตามตำราสมุนไพร นิยมนำรากมาต้มน้ำดื่มช่วยดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ และเป็นยาระบายอ่อนๆ ใบกินเป็นผักให้วิตามินเอ และสารต้นอนุมูลอิสระสูง อย่างไรก็ตาม แม้ไม่นิยมกินใบจากต้นเพศผู้  แต่ใบของตำลึงเพศผู้ก็ใช้เป็นส่วนผสมในยาเขียว ช่วยลดไข้ ถอนพิษ แก้คัน ปวดแสบปวดร้อนได้เช่นกัน ส่วนผลสุกตำลึงกินได้มีรสหวาน

ตำลึง
ใบตำลึงเพศผู้ ไม่ไร้ประโยชน์ ใช้เป็นส่วนผสมของยาเขียวที่ใช้แก้ไข้
ตำลึง
ตำลึงจัดเป็นไม้อวบน้ำชนิดหนึ่ง ในกลุ่มที่เรียกว่าไม้โขด นิยมปลูกเป็นไม้กระถาง หากเด็ดยอดบ่อย จะได้ไม้โขดที่มีพุ่มสวยงาม


เรื่องที่น่าสนใจ