นิทรรศการ ACCIDENTALLY PROFESSIONAL EXHIBITION 2019

รพิ ริกุลสุรกาน นักวิเทศสัมพันธ์ที่ฝึกมือวาดอักษรด้วยพรแสวง และนิทรรศการที่เขาขนการบ้านมาแสดงให้ชมที่บ้านอาจารย์ฝรั่ง

นิทรรศการ ACCIDENTALLY PROFESSIONAL EXHIBITION 2019
นิทรรศการ ACCIDENTALLY PROFESSIONAL EXHIBITION 2019

“เราจะมีความรู้สึกอยู่ตลอดว่าเราไม่ได้เรียนศิลปะโดยตรง แต่ว่ามาคิดอีกทีสิ่งที่เราทำอยู่เราก็ศึกษาโดยตรงนะ แต่ว่ามันเป็นสิ่งที่ค้างคาใจแล้วยังปลดออกจากตัวเองไม่ค่อยได้(เสียที)” นักวิเทศสัมพันธ์ผู้ซึ่งทำงานประจำควบคู่ไปกับการเขียนอักษรด้วยมือ หรือ Calligraphy จากปลายปากกา Dip pen บอกกับเราแบบนั้น

เราเชื่อว่าหลายคนมีความคิดแบบนี้ติดอยู่ในซีกหนึ่งของสมอง ตราบใดที่ยังมีคนในสังคมบางกลุ่มตีตราหรือวัดค่าของคนจากใบปริญญาอันเป็นเครื่องการันตีความสามารถด้านนั้น ๆ แต่คุณดันจบมาไม่ตรงสาย (แม้เรื่องจริงในบางวิชาชีพ การจบไม่ตรงสายคือหมดสิทธิ์จริง ๆ ก็ตาม)

ทว่าในนิทรรศการ ACCIDENTALLY PROFESSIONAL  ที่พูดถึงคนจบไม่ตรงสายแต่ลุกมาทำงานที่รักเป็นงานอดิเรกได้ดีไม่แพ้กัน ซึ่งกำลังจัดขึ้นที่บ้านอาจารย์ฝรั่งศิลป์ พีระศรี ในขณะนี้ นอกจากจะมีผลงานภาพถ่ายของ คุณเอก-พิชัย แก้วพิชิต ช่างภาพหนุ่มใหญ่ที่สลัดคราบมอเตอร์ไซค์รับจ้างมาจับกล้องถ่ายรูปบันทึกมุมมองผ่านเลนส์ และงานแสดงภาพประกอบที่เป็นส่วนผสมของศิลปะ ดีไซน์ และเทคนิกอันหลากหลายในหนึ่งภาพของคุณกรุ๊ป-พรรษชล โตยิ่งไพบูลย์ กราฟิกดีไซเนอร์สาวที่ใช้เวลาว่างวาดภาพประกอบเป็นงานอดิเรกแล้ว ยังมีผลงานการเขียนอักษรด้วยมือในสคริปต์ต่าง ๆ ของศิลปินที่ไม่ได้จบศิลปะโดยตรงอีกหนึ่งคนผู้ไม่เคยละทิ้งความชอบเมื่อครั้งยังเป็นเด็กชาย จัดแสดงอยู่ในห้องเล็ก ๆ บนชั้น 2 ของบ้านหลังใหญ่

คุณมด – รพิ ริกุลสุรกาน วัย 35 ปี เจ้าของเพจ Rapigraphy ที่ปัจจุบันเขารับราชการอยู่ในสำนักประธานศาลฎีกา ในตำแหน่งนักวิเทศสัมพันธ์ และก่อนหน้านั้นเขายังเคยผ่านการทำงานที่สำนักงานศาลยุติธรรม มานานกว่า 8 ปี เขาเป็น Penman ที่เขียนอักษรด้วยความสุข และกลัวการทำเป็นอาชีพแล้วจะเป็นทุกข์

อะไรเป็นเหตุผลที่เขาคิดแบบนั้น และผลงานของเขาที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้บอกอะไรกับเราบ้าง ก่อนจะไปชมนิทรรศการจริงของเขาและเพื่อนศิลปินที่แต่ละคนต่างบอกว่าไม่อาจเรียกตัวเองเป็นศิลปินได้เต็มปาก เรามาทำความรู้จักแนวคิดและตัวตนของคุณมดกันสักนิด

นิทรรศการ ACCIDENTALLY PROFESSIONAL EXHIBITION 2019

คุณจบนิติศาสตร์ แต่ทำไมถึงมาสนใจงานเขียนอักษรได้ 

“จริง ๆ ย้อนไปตั้งแต่เด็กได้เลยนะ คุณแม่เป็นคนลายมือสวย และมักจะมีบันทึกเขียนไว้ให้ลูกทุกคน บางทีกลางคืนเราก็จะหยิบมาอ่าน ตอนที่ผมเข้าโรงเรียนมัธยมต้นที่ดาราสมุทร เขาจะมีวิชาที่ให้เขียนซึ่งเราต้องเอาปากกาหัวตัดมานั่งคัด เป็นชั่วโมงจริงจัง ครูก็สั่งอาทิตย์ละสิบหน้า ทำในคาบแล้วก็เอากลับไปทำการบ้าน ผมก็คิดว่า เออว่ะ! มันสนุกดีนะ แล้วมันเท่ตรงที่ว่าไม่มีโรงเรียนไหนเขาเรียนกัน ผมก็ชอบตั้งแต่ตอนนั้น”

ช่วงแรกเริ่มลายเส้นเป็นอย่างไร 

“ตอนนั้นรู้สึกว่าทำไม่สวยเหมือนที่ควรจะเป็น คือเขียนเป็นตัว ๆ มันสวย แต่พอเอามาประกอบกันมันไม่สวย ด้วยความอยากรู้อยากลองเราก็เลยลองฝึกเองเพราะเทอมต่อไปเขาไม่มีสอนแล้ว หลังจากนั้นเวลาขึ้นชั้นเรียนใหม่ หรือซื้อหนังสือเล่มใหม่ เหมือนเป็นแฟชั่นที่เราจะเอาปากกาเขียนด้วยสคริปต์ที่เราเรียนมาเป็นชื่อเรา จากเดิมที่ผมใช้ปากกาจุ่มหมึกเขียนก็เปลี่ยนมาใช้ปากกาธรรมดาวาดแล้วค่อย ๆ ฝนเอา เพื่อนเห็นก็ชอบ ทำตาม หรือบางคนเอามาให้เราเขียนให้ มันจึงเป็นเรื่องนึงที่ชอบมาตั้งแต่เด็กซึ่งถูกเก็บใส่ลิ้นชักเอาไว้”

จุดเปลี่ยนที่ทำให้กลับไปเขียนอีกครั้ง

“สักประมาณปี 57 เพื่อนสนิทผมแต่งงาน เราคุยกันว่าให้ผมช่วยอะไรได้บ้าง เขาก็บอกให้เราช่วยหาแบบการ์ด วันนั้นผมเปิดอินสตาแกรมเข้าไปที่ #weddinginvitation ไปเจอรูปการ์ดซึ่งถูกจ่าหน้าซองแล้วมันยังไม่เสร็จ มันมีปากกาหน้าตาประหลาด ๆ วางอยู่ ตอนนั้นรู้สึกเฮ๊ย! ที่ต่างประเทศเขายังเขียนอยู่เลย เหมือนอย่างที่เราเคยเรียน แต่ว่ามันสวยกว่ามาก มันทำให้เราอยากทำแบบนี้อีกครั้ง”

“วันรุ่งขึ้นผมก็ตามหาปากกาหน้าตานี้ว่ามันมีขายที่ไหน ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าคือปากกาอะไรก็เลยคอมเม้นต์ไปถามเจ้าของรูปนั้นซึ่งเป็นคนอเมริกัน เพื่อถามว่าซื้อที่ไหน เขาก็ส่งกลับมาให้ว่าลองดูที่นี่ เราก็เลยรู้ว่ามันชื่อ Oblique pen เป็นปากกาไม้ธรรมดา แต่ว่าจะมีแผ่นทองเหลืองยื่นออกไปข้าง ๆ ให้ใส่หัวปากกาได้ ผมก็เลยเอาวะ! ลองสั่งมาสองด้าม สั่งหัวมาด้วย พอมาถึงก็ลองเขียนแล้วโพสต์ลงในไอจี (@rapigraphy) ใส่แฮชแท็กลงไป ผู้คนที่เขาสนใจเขาก็มาดูแล้วรู้ว่าเราเริ่มทำใหม่แล้วนะ” 

นิทรรศการ ACCIDENTALLY PROFESSIONAL EXHIBITION 2019
หนึ่งในผลงานที่ครูมดหยิบมาแสดงให้ชมในนิทรรศการ ACCIDENTALLY PROFESSIONAL ซึ่งเขาบินไปเรียนกับหนึ่งใน 13 Master Penman ชาวอเมริกัน Michael Sull ผู้ซึ่งเป็นคนที่ยังเก็บสคริปต์หรือรูปแบบตัวหนังสือในชื่อเรียกว่า Spencerian Script อันเป็นสคริปต์ของคนอเมริกันไว้ ครูมดบินไปเพื่อเรียนแนวทางการเขียนแบบนี้โดยเฉพาะ แล้วในวันสุดท้ายที่เรียนเขาได้นำงานชิ้นนี้ไปให้ Michael Sull เซ็นต์ลายเซ็นต์ตามแบบโบราณให้เป็นที่ระลึก (มาชมภาพชัด ๆ ได้ที่งานจริงนะ)

จุดเปลี่ยนที่ทำให้บินไปเรียนกับ Michael Sull ซึ่งเป็น Master Penman ชาวอเมริกัน 

“มีคนพูดมาคำนึงทำให้ผมฉุกคิด คุณเริ่มต้นได้ดีก็จริง แต่คุณควรจะไปเรียนพื้นฐานให้ดีกว่านี้ ผมก็เลยสงสัยว่าพื้นฐานของสิ่งนี้มันคืออะไร ด้วยความใจดีของเขา เขาก็ส่งลิสต์หนังสือมาให้ เป็นตำราแบบเก่าอายุสองสามร้อยปีที่เขาสแกนเก็บไว้ แล้วพอค่อย ๆ ดูตามลิสต์ เราก็เจอกับสิ่งที่ไม่ธรรมดา เหมือนว่าแค่ตัวหนังสือ 26 ตัว มันเขียนหนังสือได้เป็นเล่มหนา ๆ จริงจังขนาดมีท่านั่ง ท่ายืน และความสูงของโต๊ะมันควรจะประมาณไหน มันดูเป็นเรื่องเป็นราวมาก ผมก็รู้สึกว่ามันละเอียดดี”

พื้นฐานที่ว่าเป็นแบบไหน

“มันคือเส้นแบบต่าง ๆ รูปแบบการเขียนมันจะมีหลายสคริปต์ ถ้าเทียบเคียงในปัจจุบัน เราจะหมายถึงฟ้อนต์ในคอมพิวเตอร์ สมัยโบราณสคริปต์ก็คือเขียนด้วยมือ ถ้าคุณพูดว่าเอาสคริปต์นี้ เท่ากับว่าแต่ละคนที่เขียนมันควรจะออกมาหน้าตาคล้าย ๆ กัน”

อารมณ์เหมือนโน้ตตัวหนึ่ง 

ใช่ มันควรจะเป็นแบบนั้น แต่ด้วยความเป็นมนุษย์มันจะเท่ตรงที่ว่ารายละเอียดในสคริปต์ของแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน แล้วบางทีของบางคนมันจะชัดจนรู้ได้ว่าสคริปต์นี้ของคนนี้เป็นแบบนี้”

มันดูออกขนาดนั้นเลยเหรอ

“บางคนจะดูออก แต่ว่าเรื่องนี้มันต้องใช้เวลาในการดูเยอะมากว่าอันนี้งานใคร มันจะมีกลิ่นอายบางอย่างที่เป็นส่วนตัวของเขาลงไปในนั้นจริง ๆ พอดูลึกขึ้นเรื่อย ๆ ผมรู้สึกว่ามันน่าหลงใหล พอเราเรียน calligraphy เราจะมองเป็นเส้นเช่นว่า A มาจากเส้นหน้าตาแบบไหนประกอบกัน สัดส่วนระหว่างความหนาความบางเป็นยังไง การลากของเขาคมไหม ละเอียดไหม มันมองในรายละเอียดเยอะขึ้นกว่าแค่ตัวหนังสือตัวเดียว ผมว่ามันเจ๋งมาก”

นิทรรศการ ACCIDENTALLY PROFESSIONAL EXHIBITION 2019

การเขียนอักษรต้องใช้สมาธิมากขนาดไหน 

“มันใช้สมาธิมาก คือจริง ๆ คนรอบตัวผมจะรู้ว่าผมค่อนข้างนิ่งและมีสมาธิในระดับหนึ่ง มันทำให้เราเห็นตัวเองในอีกหลายแง่มุมมาก โดยที่เราไม่เคยรู้จักตัวเองมาก่อน พอเริ่มทำแรก ๆ มันจะมีความอยากได้กำลังใจจากคนอื่น อยากเป็น someone เราก็จะรีบร้อนทำ แทนที่เราจะฝึกวาดเส้นให้นิ่งก่อนก็กระโดดไปเขียนเป็นตัว กระโดดไปเขียนเป็นคำ ในความรู้สึกตอนนั้นมันสวยแล้วสำหรับเรา แต่ว่าจริง ๆ แล้วคนอื่นก็มองว่ายังมีข้อบกพร่องอีกเยอะ พอเวลาผ่านไปผมกลับมาดูงานเก่า ๆ มันก็จริงของเขานะ มันต้องใช้เวลา ถ้าพูดถึงสมาธิมันได้แน่นอน มีวันหนึ่งผมคาใจกับเส้นบางเส้น พอดีวันนั้นว่างก็นั่งฝึกไปเรื่อย ๆ ตื่นมาอาบน้ำ แปรงฟัน กินข้าว แล้วมานั่งเขียน รู้ตัวอีกทีคือห้าโมงเย็น”

นั่งอยู่ทั้งวันไม่เบื่อบ้างเหรอ

“อยู่ได้ แค่ลุกไปกินน้ำ เข้าห้องน้ำ แล้วกลับมาเขียนใหม่”

เขียนใหม่ที่ว่า คือเขียนตัวเดิมซ้ำๆ

“ช่วงแรก ๆ บางทีมันจะเหมือนกระโดดไปมาหลายอย่าง ด้วยความที่เราอยากโฟกัสกับ element บางอันเราก็ทำ แต่พอมือเริ่มล้าเริ่มเหนื่อย เราก็กระโดดไปเล่นอย่างอื่น แต่ก็ยังเขียนอยู่”

“ช่วงแรก ๆ เส้นมันก็จะเรียบ ๆ อยู่แค่นี้ เหมือนว่าแค่จะรู้ว่าเส้นเหล่านี้มันมายังไง เพราะว่าจริง ๆ มันเหมือนกับเรากำลังเล่นกับองค์ประกอบที่เล็กที่สุด ตอนเรียนมันก็จะมีทฤษฎีศิลปะเบื้องต้น จะมีว่าองค์ประกอบเล็กสุดของศิลปะก็คือ จุด เส้น ระนาบ เส้นมันก็คือหนึ่งในนั้น ผมเลยเข้าใจว่าสำหรับคนที่ทำเรื่องเส้น เรามีโอกาสแค่ครั้งเดียวเองในการลากเส้น ๆ นั้น แล้วถ้ามันไม่ใช่ มันก็ไม่ใช่ อย่างเส้นพวกนี้มันบางนิดเดียว ถ้าเราจิกเยอะมันจะกลายเป็นหมึกกระจาย ๆ ผมต้องใช้ความเบาแบบเบาที่สุดจนบางทีหมึกหายไป ช่วงแรก ๆ ที่ทำงานเราจะอยากได้งานที่คม เนี้ยบจริง ๆ แต่พอทำไปสักพักนึงผมอาจจะเริ่มรู้จักคำว่า วาบิ ซาบิ ผมว่ามันมีชีวิตมากเลยในตัวหนังสือที่หายไปนิดหน่อย มันเข้าใจถึงความเป็นมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์ มีความสวยจากความที่เป็นธรรมชาติประกอบเข้าด้วยกันทั้งหมด จากปากกาก็ดี หมึกก็ดี”

นิทรรศการ ACCIDENTALLY PROFESSIONAL EXHIBITION 2019

ศิลปะมีความหมายกับคุณอย่างไร

“สำหรับผมในตอนนี้ ศิลปะคือสิ่งที่มันจรรโลงใจ มันทำให้เรามีความสุข เหมือนเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้เรารู้จักตัวเองในอีกหลายแง่มุมมาก แล้วในเส้นทางของการทำมันคือธรรมะสำหรับผม พอผมเริ่มทำ เริ่มมีคนรู้จัก เราก็ยังพอใจในการที่มีคนมาชื่นชม หรืออยากจ้างเรา แต่เราก็ยังมีความโลภนิด ๆ นะเวลาที่โดนเขากดราคา เราอยากได้ค่าจ้างเยอะกว่านี้สำหรับงานที่เป็นคอมเมอร์เชียลจริง ๆ ในขณะเดียวกันผมก็ต้องคอยเช็คตัวเองเรื่อย ๆ เราก็ไม่อยากจะเตลิดไป เพราะเราเริ่มจากความชอบ แล้วเราก็มีความสุข ในบางทีที่เราลากเส้นนิดเดียวมันเกิดความสงบในใจได้จริง ๆ”

ในเมืองไทยคนที่ทำแบบนี้มีเยอะไหม

เอาจริง ๆ นะตอนแรกผมไม่รู้เลยว่าใครทำบ้าง เราก็ทำของเรา จนเราเริ่มทำได้ 5 ปี พอได้ออกสื่อหน่อยก็เจอว่ามีคนเขียน แต่อาจจะสไตล์ไม่เหมือนเรา เพราะอันนี้มันจริงจังมาก โบราณสุด ๆ ส่วนใหญ่เขาจะเน้นแนวสมัยใหม่มากกว่า แล้วก็จะค่อย ๆ แลกเปลี่ยนความรู้กัน จนหลัง ๆ ผมตั้งเป็นกลุ่ม มีมีตติ้งบ้าง บางทีผมก็จะทำแบบคุณครูชาวเวียดนามที่เริ่มจากการบอกในเฟซบุ๊ก หรือไอจีตัวเองว่าวันนี้ผมจะไปนั่งซ้อมที่นี่นะครับ ใครอยากมาก็มา เห้ย! ก็เริ่มมีคนมา จากวันแรกอาจจะยังไม่เยอะ ครั้งที่สองที่สามก็ค่อย ๆ โผล่มา ครั้งที่เคยจัดใหญ่ ๆ ได้คนมาเป็นร้อย เหมือนเราก็มีบรรยายให้ความรู้กัน แลกเปลี่ยน ทดลองทำเวิร์คช็อปเล็ก ๆ”

เรียนมากี่ปีแล้ว

“ถ้านับตอนนี้ก็เข้าปีที่ 5”

นิทรรศการ ACCIDENTALLY PROFESSIONAL EXHIBITION 2019
ผลงานชิ้นนี้เป็นงานที่ครูมดเคยจัดนิทรรศการครั้งแรกในปี 2016 เขาบอกว่า “ตอนนั้นทำให้ be our friends studio เขาพูดเรื่องของเส้นของคนหลากหลายคน จนถึงเส้นของ calligrapher เขาเลยอยากให้ผมลองเขียนงานสักชิ้นหนึ่งที่รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ยังติดใจและยังอยากเขียนอยู่ ผมเลยเอาคำกล่าวที่เป็น speech วันจบการศึกษาที่ Wisconsin ซึ่งผมได้รับเลือกเป็นตัวแทนนักเรียนต่างชาติขึ้นไปกล่าว ก็เอา speech นั้นเขียนแปะ” (มาชมภาพผลงานชัด ๆ ได้ที่งานจริงเช่นเดิมนะ)

คิดไหมว่าจากตอนแรกที่เราเริ่มเรียน เราจะมาถึงจุดนี้ได้

เอาจริง ๆ ผมมาได้ไกลขนาดนี้เพราะตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรมาก ผมก็แค่ทำ ณ ปัจจุบันเรารู้ว่าเราทำสิ่งนี้แล้วมีความสุข เวลาเอางานให้ใครร้อยเปอร์เซ็นต์คือมีความสุข เอาให้ใครแล้วเขาบอกว่าสวยก็โอเคแล้ว พอเริ่มทำเราจะเห็นจุดบกพร่องของตัวเองซึ่งผมว่าอันนี้มันยาก อาจจะเพราะผมไม่ได้เรียนศิลปะด้วย ในการที่เราจะมองแล้วตัดสินงานตัวเองสำหรับผมคือยากมาก สำหรับเราเราว่าสวย แต่จริง ๆ มันสวยไหม มันต้องใช้พลังงาน หรือความรู้สึกเยอะมากในการตัดสิน แล้วเราเองก็ต้องสั่งสมความรู้ให้มากพอที่จะตัดสินงานตัวเองได้ เพราะฉะนั้นเราต้องพัฒนาต่อ”

ย้อนกลับไปตอนบินไปเรียน เขามีเกณฑ์ไหมว่าต้องมีอะไรบ้าง ฝีมือระดับไหนถึงจะได้ไปเวิร์กช้อปกับ Master Penman

“ผมว่าถ้าระดับนั้นเวลาสมัครอาจจะเป็นตัวต่อตัว แต่ว่าถ้าอย่างไปร่วมเวิร์กช้อปเนี่ยค่อนข้างจะเปิด ทั้งนี้ทั้งนั้นอาจจจะขึ้นอยู่กับคนจัดว่าคอร์สนี้ระดับเบื้องต้น กลาง หรือสูง เพราะว่าบางวิชามันยากจริง ๆ เห็นเป็นตัวหนังสือที่เรารู้จัก เอาจริง ๆ มันยาก เพราะผมก็ใช้เวลากว่าจะออกไปเรียนจริง ๆ ต้องฝึกด้วยตัวเองก่อนเป็นปี อย่างแรกเรารู้ว่าเราไม่สามารถควบคุมอุปกรณ์ได้ตอนที่ทำใหม่ ๆ มันยังไปไม่ได้อย่างที่ใจคิด เรายังไม่สามารถคุมให้มันสวยเหมือนเป็นมาตรฐานเดียวกันทุกครั้งที่เขียน บางทีเรามีความรู้สึกวันนี้อารมณ์ไม่ดี หงุดหงิด ไม่พร้อม ตอนหลัง ๆ ก็คือเริ่มทำไปแล้วกลับมาอ่านตำรา คุณครูในตำราโบราณก็จะบอกเสมอว่าคุณต้องเซ็ตอัพสถานที่ให้ดี เตรียมอุปกรณ์ที่ดีที่สุด คือเหมือนตัดสิ่งรบกวนออก”

สถานที่ที่ดีในความหมายของคุณมดคือ

“คืออะไรก็ได้ที่พร้อมที่จะให้เราทำงานได้ดีที่สุด ณ โมเม้นต์นั้น คืออะไรก็ได้ แต่ถ้างานจะต้องประณีต ต้องสวยจริง ๆ ผมก็ชอบที่บ้านตัวเองเพราะมันคุ้นเคย”

มันมีข้อจำกัดไหมในการทำงานคอมเมอเชียลไปพร้อมกับทำงานประจำ มีวิธีการจัดการบริหารอย่างไร

“ถ้างานเร่ง ๆ มันต้องเขียนกลางคืน ซึ่งกลางคืนเอาจริง ๆ ไม่ชอบเลย ชอบแสงธรรมชาติมากกว่า อันนั้นเลี่ยงไม่ได้ ก็เปิดไฟแบบบ้าน ๆ แต่ว่าที่ทำให้ดีหน่อยได้ก็คือจัดห้องให้สวย สร้างบรรยากาศให้มันโอเคที่สุด ให้มันสบายใจ กลับมาเคลียร์ทุกอย่าง อาบน้ำ เปิดแอร์เย็น ๆ”

มีเคล็ดลับการคลายความเครียดก่อนทำงานไหม

“บางทีผมอาจกระโดดสระว่ายน้ำก่อน ไปวิ่งให้มันลืม แล้วก็อาบน้ำ จุดเทียน แต่ถ้าใครที่สนิทหรือตามไอจีผมก็จะบอกว่าถ้างานไหนมันยากมาก ๆ ผมจะจัดห้องจนสวยเลย แต่ต้องเตรียมการล่วงหน้า ซื้อดอกไม้เข้าบ้าน เปิดเพลง จุดเทียนหอมอะไรอย่างนี้” 

งานหนึ่งชิ้นใช้เวลาเขียนประมาณเท่าไหร่

“คือถ้างานชิ้นเล็กมากอย่างเขียนชื่อคนหรือซองจดหมาย 5-10 นาทีมันก็เสร็จได้ มันอยู่กับรายละเอียดที่เราอยากใส่ เพราะจริง ๆ แล้วเราสามารถตกแต่งไปได้เรื่อย ๆ แบบไม่มีจบสิ้น อย่างซองจดหมายจุดประสงค์แค่ชื่อ ที่อยู่ จบ แต่เรามีเวลา เราอยากเล่น เราก็วาดเพิ่ม หรือว่าพวกเส้นตกแต่งมันใส่ได้หมด ที่จะใส่ไม่ได้คือปากกาหัก กับหมึกหมด”

เคยวาดบนวัสดุอื่นที่ไม่ใช่กระดาษไหม

“เคยบนผ้าใบ เคยมีเพื่อนสนิทแต่งงานที่ต่างประเทศ เขาอยากจัดงานริมทะเล มีแค่ผ้าใบกับบทกลอนที่เขาชอบเป็นภาษาอังกฤษ เขาขอให้เราเขียนให้ เป็นผ้าใบสามผืนใหญ่ เขียนโดยใช้พู่กันกับสิอะคริลิก”

มันต่างจากเขียนด้วยหมึกไหม

“ยากกว่าครับ พอสเกลตัวหนังสือใหญ่ขึ้น”

เทคนิกในการเขียนล่ะ

“มันใช้กล้ามเนื้อ 3 อย่าง ใช้ข้อมือ ท่อนแขน บางทีก็คือทั้งแขน อย่างตอนเป็นผ้าใบ ผมก็ปูลงกับพื้นที่บ้านแล้วก็ตีเส้นเหมือนเอาดินสอร่างกะระยะ แล้วก็เขียนเลย ทำให้มันสด แต่ละงานบางทีเราจะได้ลองไปด้วย ผมไม่มีอะไรจะเสีย เขาก็ไว้ใจ ขอให้ออกมาจากเราก็พอ แต่จริง ๆ มันก็ต้องเลือกว่าบางทีคนที่อยากได้เขาไว้ใจให้เราทำขนาดไหน”

นิทรรศการ ACCIDENTALLY PROFESSIONAL EXHIBITION 2019

ในการขนผลงานมาแสดงครั้งนี้ เป็นครั้งที่เท่าไหร่

“ครั้งที่ 2 ครั้งที่แล้วจะเป็นพวกอุปกรณ์กับหนทางต่าง ๆ ก่อนจะมาเป็นงานหนึ่งชิ้น แต่ครั้งนี้ตอนพี่หนุ่ม (คุณหนุ่ม-รังสรรค์ นราธัศจรรย์ นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ niiq และเจ้าของคาเฟ่ Craftsman x บ้านอาจารย์ฝรั่ง) ชวนผมมา ผมก็บอกเขาว่าผมไม่ได้สต็อกงานหรือเผื่อเตรียมไว้ในอนาคต พี่หนุ่มเขาก็พูดว่าจริง ๆ ธีมงานในครั้งนี้ก็คือคนสามคนที่ไม่ได้เรียนมาโดยตรงและกะทำเล่น ๆ งั้นคราวนี้ผมจะเอาสมุดการบ้านมาให้ทุกคนดู แล้วจะติดแบบอยากจับจับเลย อยากดูดูเลย แต่ว่าดูแลให้ผมนิดนึง ให้ดูกันแบบไม่ต้องมีกรอบ ดูสมุดพกที่คุณครูตรวจงาน มีบางชิ้นยังมีรอยปากกาแดงตรวจงานกลับมา เห็นคอมเม้นต์ อย่างน้อยอาจจะมีประโยชน์กับคนดูได้”

อารมณ์ตอนที่เขียนต่างกัน งานจะออกมาต่างกันไหม

“ต่างครับ ทุกอย่างมีผลมาก มันขึ้นอยู่กับสคริปต์ด้วยว่าเราจะเขียนแบบไหน จริงๆ ผมชอบที่คุณครูพูดคำนึง เหมือนกับว่าสิ่งที่เราเขียนไปในกระดาษ มันคือการแสดงตัวตนของเราลงไปในนั้น มันคือเสียง คือคำพูดที่ถ่ายทอดลงไปในกระดาษ เพราะฉะนั้นตอนเขียนก็คืออารมณ์ ความรู้สึก ณ เวลานั้นแหละ มันก็มีนะบางชิ้นที่ทำแบบฟรี ๆ สบาย ๆ แต่สุดท้ายก็ยังชอบมันอยู่ดี มันก็ดูได้ ดูสนุกดี”

นิทรรศการ ACCIDENTALLY PROFESSIONAL EXHIBITION 2019

พยัญชนะ 26 ตัว ตัวไหนยากสุด

“แล้วแต่สคริปต์ แต่ว่าพูดถึงมันเปลี่ยนไปได้เยอะแยะมากมาย ตัวเดียวมันเขียนได้หลายแบบมาก มันค่อนข้างเป็นพื้นที่เปิดสำหรับจินตนาการหรือว่าการสร้างสรรค์ของคนเขียน โดยเฉพาะพวกตัวเขียนที่เราชอบพูดกัน แต่สำหรับผมนะความยากที่สุดคือพวกตัวโรมัน ตัวพิมพ์ใหญ่เพราะว่ามันมีทฤษฎีที่เยอะมาก ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งล่าสุดที่ผมเรียนแล้วรู้สึกว่ายังต้องฝึก”

ตำราพื้นฐานที่ว่ามีกี่แบบ

“โอ้โห! (ลากเสียง) จริง ๆ ด้วยความที่ว่ายังไม่มีความรู้ลึกขนาดนั้น ก็ยังไม่รู้ แต่มันสามารถแบ่งเป็นตระกูลได้ คือตัวหนังสือมันเหมือนแฟชั่น มันถูกพัฒนาตามกาลเวลา พื้นที่ ตามยุคสมัย ถ้าเอามานั่งกางดู มันจะมีรายละเอียดที่ต่างกันไม่มาก แต่เอกลักษณ์มันโดดเด่นในแต่ละช่วง มันก็ถูกเก็บไว้ว่าคือสคริปต์นี้ของช่วงนี้ แต่อย่างเปิดตำราที่รวมไว้ เป็นร้อยก็ถึง บางทีคล้ายกันมาก แต่มีรายละเอียดต่างกันเล็กน้อย มันจะมีบางอย่างที่คล้ายกันมาก วันนี้คนที่ดูอาจจะยังไม่เห็น แต่มันต้องลองทำไปสักพัก”

นิทรรศการ ACCIDENTALLY PROFESSIONAL EXHIBITION 2019

อยากให้เล่าถึงภาพของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี

“อันนี้คือสมัยใหม่แล้ว ณ ตอนที่ทำรู้สึกว่าปกติเวลาเราเขียนเราก็จะเขียนตามรูปแบบเดิม ๆ โบราณ ๆ แต่อยากทำอะไรที่เป็นตัวเราอีกแง่มุมหนึ่งบ้าง ผมก็ลองเอาหมึกปากกามาวาดเป็นโครงรูปอาจารย์ก่อนแล้วเขียนตัวหนังสือลงไป อย่างตัวหนังสือคือให้มันเป็นแบบสบาย ๆ แต่อิงพื้นฐานมาจากตัวฟอร์ม จัดการสเปซที่ยังสวยอยู่ ดูแล้วมันร่วมสมัยมากขึ้น”

ใช้เวลานานแค่ไหน

“ไม่นาน แค่ยี่สิบนาทีได้ คือเหมือนกับเป็นช่วงที่เห็นภาพจดจ่อแล้วทำเลย ซึ่งจริง ๆ ผมเป็นคนไม่ค่อยเอาตัวเองไปอยู่ในโมเม้นต์แบบนี้ เพราะว่าด้วยความที่อยากทำอะไรในแบบแผน ชิ้นนี้เลยเป็นงานที่หลุดโลก ก้าวข้ามความกลัวบางอย่างในใจ ความกลัวนี้ผมก็เพิ่งพบเจอว่าเราจะมีความรู้สึกอยู่ตลอดว่าเราไม่ได้เรียนศิลปะโดยตรง แต่ว่ามาคิดอีกที สิ่งที่เราทำอยู่เราก็ศึกษาโดยตรงนะ (หัวเราะ) แต่ว่ามันเป็นสิ่งที่ค้างคาใจแล้วยังปลดออกจากตัวเองไม่ค่อยได้ หรือมันอาจจะเป็นเพราะคำที่เรามักได้ยินจากคนอื่นด้วย แล้วมันก็ค่อนข้างจะสะกดจิตเราประมาณนึง “เนี่ย เขาทำได้ แต่เขาไม่ได้เรียนมาโดยตรง” วันหนึ่งต้องนั่งถามว่านี่เราถูกสะกดจิตหรือเปล่าวะ แล้วพอผมเริ่มฝึกอะไรที่มันเนี้ยบมาก่อนก็จะติดความเนี้ยบระดับหนึ่ง พอจะกระโดดไปทำอะไรที่มันฟรี ผมก็จะมีคำถามว่านี่มันใช่เราไหม แต่ว่าสุดท้ายเวลามันทำเสร็จ ก็เราทำนี่ จะไม่เป็นเราได้ไง มันก็สนุกดี จริง ๆ แล้วผมก็ย้อนไปดูงานศิลปินแต่ละช่วงเวลามันไม่เหมือนกันก็ได้นี่ ก็ค่อย ๆ เรียนรู้ไป เหมือนว่าสิ่งนี้มันเป็นอีกโลกหนึ่ง”

คุณเคยทำงานกับองค์กรหรือแบรนด์ใหญ่ ๆ ไหม

“ถ้าเป็นแบรนด์ งานใหญ่ล่าสุดที่เคยทำแล้วท้าทายเรามากคือแฟชั่นโชว์ของ CHANEL cruise ปีที่แล้วที่ยกโปรดักชั่นจากปารีสมา ผมเป็นคนเขียน invitation ของคนทั้งโชว์ แล้วก็ทั้งรอบผมเขียนคนเดียว แต่โชว์มันมีสองรอบ ผมก็จะจัดส่วนอื่นไปให้คนอื่นช่วยด้วย บางทีเหมือนไม่ทัน ไม่เสร็จ ตกหล่น พอดีตอนนั้นต้องไปเกาหลี ผมก็ยกเลิกทริปเที่ยวแล้วอยู่ทำ สนุกมาก เป็นงานที่เราได้เจอโปรดักชั่นใหญ่จริง ๆ หรืออย่างแบรนด์อื่นก็มีแบรนด์ COS แบรนด์เสื้อผ้า เขาก็ขอให้เราเขียนบัตรเชิญ มันก็มีความสำคัญ ความหมายคือเขาให้สิทธิ์เราในฐานะศิลปิน คิดตัวหนังสือจากการตีความแบรนด์ของเขามาแล้วพัฒนาให้เหมาะกับแบรนด์ อันนี้คือสิ่งที่ผมไม่เคยเจอ ก็เป็นอีกเรื่องที่ดี ได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ ที่เราไม่เคยทำด้วย เราต้องลองหลายด้านมากขึ้นว่าตัวหนังสือแบบไหนที่อยู่กับใครแล้วเหมาะ เพราะจริง ๆ แล้วเราถนัดเขียนแบบนี้ แต่พอไปอยู่หน้างานกับเขามันไม่ใช่คาแร็กเตอร์เขา แล้วผมก็รู้สึกว่าเราเริ่มมองออก ถ้าย้อนไปช่วงแรก ๆ เรามองไม่ออกแน่นอน มันต้องมีการสลายตัวตนของเราไปเบลนด์กับคนอื่น ซึ่งผมเจออันนี้แล้วผมชอบมาก เราหาสิ่งที่เหมาะที่จะอยู่กับเราและเขาได้ อย่าง CHANEL เองก็เหมือนกัน ถ้ามานั่งคัดคำสวย ๆ แบบนี้มันก็ไม่ใช่สไตล์เขา มันจะต้องเป็นอะไรที่มันแต่ยังมีความเท่ และมีระเบียบอยู่ประมาณหนึ่งที่เรารู้สึกกับแบรนด์แล้วทำไป พวกนี้มันทำให้เรามองอะไรได้หลากมุมมากขึ้น”

นิทรรศการ ACCIDENTALLY PROFESSIONAL EXHIBITION 2019

คุณได้มุมมองใหม่นอกเหนือจากความสุขในการวาดเส้น

“เยอะมาก ชัด ๆ เลยคือเรื่องสมาธิ อย่างวันก่อนผมไปนั่งเขียนหน้างานงานหนึ่ง คนก็มารุม ในขณะเดียวกันเขาก็มีดินเนอร์ แล้วการ์ดที่จะนำไปวางบนโต๊ะมันเป็นสองฟังก์ชัน เป็นการ์ดด้วย เป็นบัตรเชิญงานพิเศษด้วย เพราะฉะนั้นบัตรเชิญมันจะต้องไปแสดงที่อีกอีเว้นต์หนึ่ง ซึ่งชื่อไม่สามารถผิดได้ ถ้ามีเปลี่ยนแขกผมก็ต้องสแตนด์บายเพื่อเขียนหน้างาน แล้ววันนั้นต้องแก้เยอะมาก เวลากระชั้นมาก พอคนมารุมเราเยอะ ผมก็เห็นความสติแตกของคนอื่น แต่ว่าเราต้องคุมสติตัวเองให้ได้ ผมเสร็จงานทันเวลาพอดี ผมรู้สึกว่าตัวเองทำงานในความกดดันได้ดีขึ้น แล้วก็มีสมาธิมากขึ้น มองอะไรในรายละเอียดได้เยอะขึ้น อะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตที่ไม่เคยมองเห็น เดี๋ยวนี้ก็เห็นบ้าง แค่แบบเช้าวันเสาร์มีแดด ลมพัด ก็สวยแล้ว”

ตอนนี้งานวาดอักษรเป็นงานรอง ในอนาคตคิดจะเลือกทำเป็นงานหลักไหม

“ถ้าถามใจผม ณ ตอนนี้คิดว่าทุกอย่างมันทำควบคู่ไปด้วยกันได้ มันขึ้นอยู่กับการจัดการของเรา ผมแค่กลัวว่าสิ่งที่เราชอบเป็นแพชชั่น แล้วเรากระโดดไปทำเป็นอาชีพ ผมกลัวอะไรบางอย่างมันหายไป ถามว่าเคยมีความรู้สึกอะไรแบบนั้นไหม ก็บางงานที่เราต้องเขียน Invitation ส่งลูกค้าแล้วมันเร่งมาก เช่นเขียน 300 ใบต้องให้เสร็จภายในสองวัน มันมีโมเม้นต์ที่รู้สึกว่าเหนื่อย ไม่ไหวแล้ว มันล้าเพราะเลือกสคริปต์ที่ยากด้วย เลยคิดว่าถ้าเราต้องทำแบบนี้เป็นอาชีพ ไอ้สิ่งที่เราเคยสนุกมันก็หายไปจริง ๆ นะ”

สุดท้ายคุณคาดหวังให้คนมาดูนิทรรศการนี้ได้เห็นอะไร

“อย่างหนึ่งผมว่าตัวหนังสือคือสิ่งที่เราคุ้นเคย คนที่มาดูอาจจะเห็นว่ามันมาในหลายแบบ หลายสไตล์ คนที่ไม่เคยเห็นอาจจะเฉย ๆ แต่คนที่เริ่มฝึก เริ่มทำ อาจจะเห็นอะไรพอสมควรเหมือนกัน งานนี้ผมเอาสมุดการบ้านมาให้ดูว่าผมฝึกยังไง หรือการที่จะออกมาสวยมันใช้พลังงานเยอะมากเลยนะ ถ้าเขาเข้าใจว่าความสวยงามมันซ่อนอยู่ในอะไรที่มันง่าย ๆ แค่ตัวหนังสือกับอุปกรณ์ไม่เยอะ มีปากกากับกระดาษ มันสามารถสร้างงานศิลปะได้ แล้วเราสามารถให้ตัวเราพบเจอกับความสุขอะไรบางอย่าง”

นิทรรศการ ACCIDENTALLY PROFESSIONAL EXHIBITION 2019 ณ Craftsman x บ้านอาจารย์ฝรั่งศิลป์ พีระศรี ถนนราชวิถี เชิงสะพานซังฮี้ จัดแสดงระหว่างวันที่ 8 – 31 มีนาคม 2562 เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 7.00 – 19.00 น. นอกจากนี้ยังเปิดจำหน่ายโปสการ์ดประชาสัมพันธ์นิทรรศการในราคาใบละ 20 บาท และโปสเตอร์ในราคา 100 บาท รายได้ทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่ายจะถูกนำไปบริจากให้กับภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อ “ช่วยเหลือผู้บกพร่องทางการมองเห็น ให้สามารถมองเห็นโลกที่สวยงามได้เหมือนเดิม” ตามความตั้งใจของคุณเอก-พิชัย แก้วพิชิต 

นิทรรศการ ACCIDENTALLY PROFESSIONAL EXHIBITION 2019
ชมผลงานเพิ่มเติมได้ที่ http://www.rapirik.com

เรื่อง : นวภัทร
ภาพ : นันทิยา

นิทรรศการ ACCIDENTALLY PROFESSIONAL EXHIBITION 2019

ACCIDENTALLY PROFESSIONAL นิทรรศการจับนักวิเทศสัมพันธ์ วินมอไซค์ และกราฟิกดีไซเนอร์ มาเผยตัวตนอีกด้านที่บ้านอาจารย์ฝรั่งฯ

พิชัย แก้ววิชิต วินมอไซค์ราชเทวีเมื่อภาพถ่ายเปลี่ยนชีวิตพิชัย แก้ววิชิต วินมอไซค์แห่งราชเทวี