10 เหตุผลที่งานฝีมือเปี่ยมพลังใจ ยืนหยัดได้ในโลกทุนนิยมที่ DESIGN WEEK KYOTO

6.แก้ไขข้อผิดพลาดก็เป็น ศาสตร์ อย่างหนึ่ง

ที่ชั้นสองของสตูดิโอเล็ก ๆ ใจกลางเมืองเกียวโต ช่างฝีมือสุภาพสตรีหลายคนกำลังเพ้นต์สีลงบนผืนผ้ากิโมโน เดิมทีงานฝีมือชนิดนี้ได้รับการสงวนไว้สำหรับผู้ชาย แต่ด้วยแนวคิดของเจ้าของสตูดิโอซึ่งเป็นสุภาพสตรีเล็งเห็นว่า กิโมโนเป็นเครื่องแต่งกายที่ผู้หญิงจะใช้ในโอกาสสำคัญ เช่น งานแต่งงาน แล้วใครกันเล่าจะเข้าใจความรู้สึกนี้ได้ดีเท่าสตรีด้วยกันเอง

ที่สตูดิโอแห่งนี้สีแต่ละสีจึงได้รับการบรรจงแต่งแต้มจากปลายพู่กันด้วยมือของหญิงสาว ก่อให้เกิดลวดลายที่สวยงามไม่แพ้ผลงานของจิตรกรเอก และผืนผ้ากิโมโนอันแสนละเมียดก็ทำหน้าที่ไม่ต่างอะไรจากผ้าแคนวาส เปิดพื้นที่ให้เส้นสีและทีแปรงได้โลดแล่นอย่างอิสระ งานทั้งหมดเสร็จสิ้นลงเมื่อผืนผ้าเหล่านี้ถูกร้อยเรียงให้กลายเป็นชุดกิโมโน เมื่อได้เห็นกระบวนการทำงานนี้ ทำให้ฉันเข้าใจความหมายของงานศิลปะที่สวมใส่ได้อย่างแจ่มชัด

คุณเจ้าของสตูดิโอเล่าว่า คำถามที่มักจะได้รับจากผู้มาเยี่ยมชมคือ เมื่อไม่สามารถลบสีที่เพ้นต์ผิดได้ “จะต้องทำอย่างไร” คำตอบที่ได้รับฟังคือ “แน่นอนว่า Professional หมายถึง การที่จะต้องพยายามอย่างเต็มที่ที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด แต่เมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้น แน่นอนว่าเราจะต้องรีบแก้ไข เพราะการเป็นช่างฝีมือนั้น ไม่ได้ใช้เพียงแต่ฝีมือ แต่ความสามารถในการแก้ไขปัญหาก็ถือเป็นศาสตร์อย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ และการฝึกฝนอย่างยาวนาน”

 KYOTO DESIGN WEEK

 KYOTO DESIGN WEEK  KYOTO DESIGN WEEK

7.สร้างเครือข่าย&กระจายองค์ความรู้

ทุก ๆ ที่นอกจากจะมีโบรชัวร์เพื่อโปรโมตกิจการของตัวเองแล้ว ยังมีโปสการ์ด นามบัตร หรือแผ่นพับเพื่อโปรโมตกิจการของคนอื่นวางรวมอยู่ด้วยกัน คล้าย ๆ เวลาเราซื้อของออนไลน์ แล้วมีภาพของสินค้าอื่นที่คุณอาจสนใจ หรือ You may also like ปิ๊ง! ขึ้นมา ไม่เพียงแค่นั้นการที่เจ้าของสถานที่ที่เราไปเยี่ยมเยือนกล่าวแนะนำกิจการอื่นให้แขกฟัง ยังถือเป็นเรื่องปกติของที่นี่ เช่น หากคุณไปเยี่ยมโรงเพ้นต์กิโมโน นอกจากจะได้รับทราบเรื่องราวของการเพ้นต์ อย่างละเอียดแล้ว ก็เป็นไปได้ที่จะได้รับการกล่าวแนะนำถึงจุดแข็งและความน่าสนใจของโรงปักผ้า หรือโรงย้อมอื่น ๆ หรืออาจจะได้รับฟังเรื่องราวของโรงงานทำโอบิ (สายรัดชุดกิโมโน) หากคุณไปเยี่ยมโรงงานที่ทำยางรัก หรือคุณลุงช่างทำโลหะ ก็อาจได้รับคำแนะนำให้ไปดูนิทรรศการเจ๋ง ๆ อื่น ๆ ที่จัดขึ้นรอบเมืองเกียวโต

 KYOTO DESIGN WEEK

เป็นไปได้หรือไม่ว่าเพราะระบบช่วยเหลือเกื้อกูลกันแบบนี้ ได้ช่วยให้เครือข่ายของที่นี่เป็นสังคมที่อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน และเติบโตแข็งแรง อย่างไรก็ดีสิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนจะมีส่วนในการเชื่อมโยงกลุ่มผู้ผลิตงานหัตถกรรมเข้าด้วยกัน คืองานออกแบบของดีไซเนอร์นั่นเอง เพราะในบางครั้งผลงานแปลก ๆ หนึ่งชิ้น อาจจะต้องอาศัยศาสตร์มากกว่าหนึ่งแขนง พวกเขาจึงต้องคุยกัน (แต่จะแอบเม้าท์นักออกแบบด้วยหรือไม่นั้นไม่อาจทราบได้)

 KYOTO DESIGN WEEK
ที่ชั้นสองของโรงพิมพ์ Syubisya มีพื้นที่ห้องสมุด และตัวอย่างแท่นพิมพ์ เปิดให้คนทั่วไปที่สนใจได้เข้าไปแชร์ความรู้

8.ดีหรือไม่ เอาใจผู้ใช้เป็นที่ตั้ง

“จะต้องทำอย่างไร ให้คุณลูกค้าหลับสบายที่สุด”

“จะต้องทำอย่างไร ให้คุณลูกค้าได้สีที่ตรงกับความต้องการมากที่สุด”

“จะต้องทำอย่างไร ให้สินค้าอยู่กับคุณลูกค้าได้นานที่สุด”

ฯลฯ

นี่คือคำถามที่คนในโรงงานหัตกรรมไม่ได้ถาม… แต่ฉันเชื่อว่าพวกเขาคิดมันอยู่ในใจเสมอ และสิ่งที่สะท้อนความคิดแบบนี้ คือความใส่ใจที่ปรากฎอยู่บนผลงานของพวกเขาทุกชิ้นนั่นเอง

ช่างที่โรงงานทำฟูกนำตัวอย่างเส้นใยหลายชนิดมาให้เราทดลองจับ ทุกชนิดเป็นฝ้ายเหมือนกัน แต่สำหรับพวกเขา มันมีความแตกต่างกันในรายละเอียด ฝ้ายจากบางประเทศที่มีความแข็งกว่าจะถูกนำไปใช้ทำเป็นที่นอน ในขณะที่ฝ้ายเนื้อนิ่มและเบากว่าจะถูกนำไปใช้ผลิตเป็นผ้าห่ม

ที่โรงงานยางรักก็เช่นกัน แม้จะมีวิธีการผลิตสืบทอดต่อกันมาเป็นเวลาร้อยปี แต่ก็ยังไม่หยุดที่จะพยายามหาวิธีการผลิตยางรักให้เคลือบผิววัสดุได้อย่างยาวนานและทนทาน เพื่อให้ผลงานอยู่กับคุณลูกค้าไปได้นาน ๆ

ถ้ามองเพียงแค่ว่าสินค้าที่ทำอยู่นั้น เป็นที่ยอมรับของลูกค้าดีพอแล้ว การพัฒนาสิ่งที่ดีกว่าก็คงยากที่จะเกิดขึ้น เพราะสิ่งที่ดีอยู่แล้ว สามารถทำให้ “ดี” ขึ้นได้อีกในทุกวันสำหรับผู้ใช้ จากวิธีคิดที่ไม่หยุดนิ่งและคำนึงถึงผู้ใช้งานเป็นสำคัญ จึงไม่น่าแปลกใจที่ใครหลายคนต่างตกหลุมรักในความตั้งใจของสินค้าในนาม Made in Japan

9. ซ้ำแล้วซ้ำเล่าคือสุดท้าทาย

เมื่อเราต้องทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ เราอาจมองว่าสิ่งที่ตัวเองทำอยู่นั้นซ้ำซากจำเจ งานในระบบหัตถกรรมเองก็ดูเหมือนจะเป็นแบบนั้น แต่ทุกคนก็สามารถหาความท้าทายใหม่ ๆ ให้ตัวเองได้ไม่รู้จบ

คุณลุงท่านหนึ่งที่รับหน้าที่ดูแลการผสมสีพิเศษในโรงพิมพ์ ผสมสีซ้ำไปซ้ำมาหลายครั้งให้พวกเราชม เพียงครั้งแรก เมื่อมองด้วยตาเปล่า สีนั้นถือว่าใกล้เคียงกับสีตัวอย่างเป็นอย่างมาก แต่เมื่อใช้เครื่องมือวัดค่าสี ผลปรากฎว่ายังต่างจากสีตัวอย่างอยู่เพียง 0.5 เปอร์เซ็นต์ คุณลุงจึงพยายามแก้สีใหม่ให้ตรงตามสีที่ลูกค้าต้องการมากที่สุด พูดง่าย ๆ คือ ค่าผลต่างที่วัดได้จะต้องใกล้เคียงกับ 0.00 มากที่สุด (ซึ่งยังไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน!)

 KYOTO DESIGN WEEK

ก่อนคุณลุงจะผสมสีครั้งสุดท้ายเสร็จ ฉันต้องออกจากโรงพิมพ์เพื่อตระเวนไปดูโรงงานแห่งอื่นต่อ โดยแอบลุ้นและเอาใจช่วยคุณลุง ให้การผสมสีคราวนี้มีค่าความต่างสีเป็น 0.00! แม้มันจะเป็นงานที่ซ้ำซาก แต่ก็สามารถสร้างความท้าทาย ให้ทุก ๆ วันที่นั่งลงบนเก้าอี้ตัวเดิม มีเรื่องราวให้ต้องพยายามอยู่ทุกวัน ผลงานที่ออกมาจึงมีความหมายและเต็มไปด้วยความใส่ใจ

10. เริ่มจากตัวตนข้างใน (Inside out) ไม่ยึดตามอย่างเขา (Outside in)

แต่สิ่งที่น่าสนใจของงาน Design Week Kyoto ที่แตกต่างจาก Design Week อื่น ๆ คือ ในขณะที่ผู้ชมงานสามารถตามอัพเดตเทรนด์จากต่างประเทศและในญี่ปุ่น ผ่านคำบรรยายจาก Guest Speaker หลายเชื้อชาติทั้งฝั่งเอเชีย และยุโรป หรือร่วมสัมมนาแนะนำวัสดุและกระบวนการผลิตใหม่ ๆ จากนักออกแบบญี่ปุ่นเอง ก็ยังสามารถได้รับความรู้ในการผลิตเชิงหัตถกรรมจากช่างฝีมือแขนงต่าง ๆ ไปพร้อม ๆ กัน

 KYOTO DESIGN WEEK  KYOTO DESIGN WEEK  KYOTO DESIGN WEEK  KYOTO DESIGN WEEK

ทุนนิยมขับเคลื่อนโลก จึงไม่น่าแปลกใจที่ใคร ๆ ต่างก็วิ่งตามเทรนด์การบริโภค แล้วเทรนด์ของงานออกแบบและหัตถกรรมของเกียวโตละ เป็นอย่างไร?

ที่นี่ดูเหมือนว่าพวกเขาจะไม่ค่อยให้ความสนใจที่จะออกตัวท่ามกลางแสงไฟ หรือแห่ทำตามใครที่เด่นดังเพียงเพื่อให้สามารถขายผลงานได้ในช่วงเวลาอันสั้น แต่พวกเขามุ่งเน้นที่จะสร้างผลงานที่มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง ไปพร้อม ๆกับการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในระบบ

ฉันจึงคิดว่าผลงานของนักออกแบบและช่างฝีมือในเกียวโตนั้นไม่ได้เป็นทั้งผู้นำเทรนด์ หรือผู้พยายามจะตามเทรนด์ แต่เป็นการเคลื่อนไหวโดยนำเสนอความเป็นตัวตนจากภายในออกสู่ภายนอก (Inside out) ด้วยทิศทางที่พวกเขาเชื่อมั่น และจังหวะที่คลอไปกับกาลเวลาเนิบช้าแต่มั่นคงและสวยงาม โดยเลือกที่จะธำรงรักษาความรู้จากที่สืบทอดมาจากในอดีต และต่อยอดไปในทิศทางต่าง ๆ โดยมีวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยอยู่เบื้องหลัง มากกว่าที่จะรับรูปแบบของข้างนอก (Outside in)

จึงไม่น่าแปลกที่เมื่อเราเห็นงานผลงานแต่ละชิ้นแล้วรู้สึกประทับใจ เพราะพวกเขาใช้พลังจาก “ใจ” ในการขับเคลื่อน “หัวสมอง” และใช้ “สองมือ” ปลุกปั้นความคิดนั้นให้เกิดเป็นรูปธรรม

นอกเหนือจาก “มูลค่า” ของราคาที่แปะไว้ งานหัตกรรมแต่ละชิ้นยังเปี่ยมไปด้วย “คุณค่า” ที่มาจากใจของนักออกแบบและช่างฝีมือ ส่วนจะ “คุ้มค่า” หรือไม่นั้นคงจะแตกต่างกันไปตามวิธีคิดของแต่ละคน

เมื่อสองอาทิตย์ก่อน…

“จ่าย 7,000 เยน* แค่เข้าไปดูโรงงาน 4 โรง ไม่แพงไปหน่อยหรอ” คำถามของเพื่อนคนหนึ่งที่ฉันออกปากชวนให้ไปดู Factory tour ด้วยกัน

“ฉันรู้…”

“เธอก็รู้ว่ามันแพง แล้วทำไมถึงอยากไป?”

ฉันไม่ได้ตอบอะไรเขาหลังจากนั้น…เพราะรู้แน่ว่าเขาคงไม่ไป

ก็จริงอยู่ ถ้าคิดเป็นสมการทุนนิยมแล้ว 7,000 เยน ถือว่ามากเท่ากับรายได้จากการทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟเกือบ 9 ชั่วโมงของฉันเลยละ

แต่ถ้าการเป็นผู้เขียน หมายถึงการพาผู้อ่านไปยังสถานที่ที่พวกเขาไม่สามารถไปถึงได้ด้วยตัวเองแล้วละก็

ขอแค่มีคนอ่านเรื่องที่ฉันเขียนสัก 10 คน ค่าเข้าที่ต้องจ่ายก็เท่ากับถูกหารด้วย 10

นั่นหมายถึงราคาก็จะถูกลงถึง 10 เท่า เลยนะ! แค่นี้ก็ถือว่าคุ้มแล้วไม่ใช่หรือ?

นี่คือจุดเริ่มต้นของการเขียนบทความนี้

 

Did you know?

*“เคียวมาจิยะ 京町家 คือชื่อเรียกบ้านทาวน์เฮาส์เก่าสไตล์เกียวโต

**ในกระบวนการพิมพ์ บางครั้งนอกจากแม่สี CMYK ซึ่งเป็นสีมาตรฐาน ยังมีการใช้ สีพิเศษ สำหรับลูกค้าแบรนด์ต่าง ๆ ที่ต้องการให้สีของตนมีเอกลักษณ์ เช่น แบรนด์ A ใช้สีม่วงเป็นหลัก และเพื่อให้ทุกงานออกแบบที่ใช้สีม่วงมีความเป็นระบบเดียวกัน จึงได้กำหนดโทนสีม่วงแบบเฉพาะของตนขึ้นมาในกระบวนการพิมพ์ โรงพิมพ์จะต้องผสมสีนี้ขึ้นมาเป็นพิเศษ โดยหาวิธีให้ได้สีที่ใกล้เคียงกับสีที่ลูกค้ากำหนดมามากที่สุด (นึกถึงเวลาเราผสมสีโปสเตอร์เวลาทำงานศิลปะ)


เรื่องและภาพ : ID19

แบบประตูบานเลื่อน
FUSUMA ประตูกั้นห้อง หัวใจและวัฒนธรรมนอก-ในของชาวญี่ปุ่น