ไม่ไกลจากความวุ่นวายของแหล่งช้อปปิ้งขึ้นชื่อของนิวยอร์กอย่าง SoHo จากถนนใหญ่ที่แสนจะจอแจเต็มไปด้วยรถราและผู้คน เราเดินเลี้ยวเข้าสู่ทางเข้าเล็ก ๆ ของบ้านสไตล์ลอฟท์ หลังหนึ่งใจกลางเมือง เมื่อประตูลิฟท์ที่พาเราขึ้นมาเปิดออก เราก็สัมผัสได้ถึงบรรยากาศสงบนิ่งที่ช่างต่างจากเมื่อหนึ่งนาทีที่แล้วอย่างลิบลับ แบบบ้านสไตล์ลอฟท์
ที่นี่ไม่ใช่เพียง บ้านสไตล์ลอฟท์ ใจกลางมหานครนิวยอร์กที่ใคร ๆ ต่างก็ฝันถึง แต่เป็นบ้านของ อ.ประวัติ เล้าเจริญ ศิลปินไทยผู้เป็นลูกศิษย์รุ่นสุดท้ายของอ.ศิลป์ พีระศรี ที่ย้ายมาใช้ชีวิตอยู่นิวยอร์กตั้งแต่ปี 1969 นับว่าเป็นเกียรติอย่างมากที่ อ.ประวัติยินดีเปิดบ้านให้ my home เยี่ยมชมและเล่าเรื่องราวการใช้ชีวิตในนิวยอร์กให้เราได้ฟัง แบบบ้านสไตล์ลอฟท์
หลังจากเรียนจบปริญญาตรีจากคณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร อ.ประวัติตัดสินใจมานิวยอร์กเพื่อเรียนต่อทางด้านศิลปะที่ Pratt Institute จากความตั้งใจเดิมที่จะกลับเมืองไทยเมื่อเรียนจบ กลับกลายเป็นความต้องการหาประสบการณ์เพิ่มเติม นำไปสู่การร่วมงานกับศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับโลกหลายคน อย่าง Alex Katz , Larry Rivers , Philip Pearlstein, Adolf Gottlieb และ David Hockney และกลายมาเป็นการอยู่ต่อเนื่องยาวนานด้วยหน้าที่อาจารย์ของมหาวิทยาลัยหลายแห่งในนิวยอร์กจนถึงปัจจุบัน
“ ผมย้ายมาอยู่ที่บ้านหลังนี้หลังเรียนจบจาก Pratt Graphic Center เป็นช่วงที่เริ่มทำงานและต้องเดินผ่านตึกนี้เพื่อไปใช้แท่นพิมพ์ที่เช่าไว้ที่สตูดิโอแถว ๆ Broome St. ทุกวัน เดิมทีตึกนึ้เป็นโรงงานทำผ้าปะผ้าซึ่งอยู่มาวันหนึ่งโรงงานปิดตัวลง เจ้าของตึกก็ประกาศให้เช่า พอเรามาดูก็มองว่าพื้นที่มันสามารถทำเป็น workshop ได้ พร้อมกับที่ต้องการขยับขยายจากที่เดิม ก็เลยตัดสินใจมาเช่าอยู่ทั้ง ๆ ที่สภาพตอนนั้นคือไม่ใช่ที่อยู่อาศัยเลย ใช้วิธีค่อย ๆ ปรับปรุงไปตามกำลัง อย่างพื้นไม้ที่เห็นนี้เป็นพื้นเดิมตั้งแต่ตอนนั้นเลย แต่สภาพตอนนั้นคือมันถูกเคลือบด้วยคราบน้ำมันจนเป็นสีดำไม่เห็นสีของไม้เลยแม้แต่นิดเดียว ผมก็ค่อย ๆ ขัดเองทีละนิดจนได้พื้นผิวจริงของมันกลับคืนมา แล้วก็ปรับปรุงห้องน้ำ กั้นพื้นที่ให้เป็นห้องนอน สร้างครัว คือทำให้มันเป็นที่พักอาศัยเป็นบ้านที่อยู่ได้จริง จนกระทั่งเราได้เป็นเจ้าของ ก็อยู่มาตลอดจนถึงทุกวันนี้ ”
“ ผมใช้เวลาประมาณ 6 ปีในการรีโนเวทบ้านหลังนี้ ข้อดีของตึกนี้คือมีโครงสร้างเดิมที่ดีและแข็งแรงมากเนื่องจากเป็นโรงงานเก่า ผมแบ่งพื้นที่ครึ่งหนึ่งเอาไว้เป็น workshop ทำงานพิมพ์ แท่นพิมพ์ที่เห็นนี้หนักราว ๆ หนึ่งตัน ตอนเอาเข้ามาก็แยกชิ้นส่วนแล้วค่อยเอามาประกอบกันบนนี้ แล้วมันก็อยู่ตรงนี้มาตลอด จะเห็นว่าพื้นตรงที่วางแท่นพิมพ์ไม่มีความแอ่นให้เห็นเลย เป็นตัวยืนยันความแข็งแรงของโครงสร้างตึกนี้ได้อย่างดี ”
“ เคาน์เตอร์ครัวตรงนี้ก็ทำเอง ผมไปเก็บไม้จากแทงก์น้ำเก่าบนดาดฟ้าของตึก ซึ่งตอนนั้นกลายเป็นขยะที่ไม่มีใครสนใจแล้ว แต่ไม้นี้คุณภาพดีมาก ก็เลยเอาลงมาต่อเป็นเคาน์เตอร์ครัว โต๊ะทานข้าวนี่ผมก็ทำเองทั้งหมด ก็ค่อย ๆทำไป พอมองกลับไปดูแล้วก็ยังงงว่า ตอนนั้นทำอะไรแบบนี้ไปได้ยังไง เฟอร์นิเจอร์หลายชิ้นผมก็เก็บมาจากข้างถนน เอามาซ่อมนิดหน่อยก็ใช้ได้แล้ว ”
“ นิวยอร์กเปลี่ยนไปเยอะมากจากยุคแรกที่ผมมาอยู่ที่นี่ เดิมทีย่านนี้ไม่ได้เป็นย่านช้อปปิ้งหรูหราแบบปัจจุบันนี้ ส่วนมากจะเป็นอู่ซ่อมรถและธุรกิจท้องถิ่น ถามว่าอันตรายมั๊ยผมว่าไม่นะ คนแถวนี้รู้จักกันหมด เป็นเพื่อนบ้านที่ดีช่วยเหลือดูแลกัน จนกระทั่งมีความพยายามในการปรับปรุงพื้นที่และผลักดันให้คนจนค่อย ๆ ย้ายออกไป (gentrification) ทุกวันนี้คนเหล่านั้นก็ไม่อยู่แล้ว พื้นที่ตรงนี้ก็กลายเป็นย่านราคาแพงอย่างที่เห็น ”
“ ผมเรียนจบมาก็อยากทดลองหลายอย่าง อยากรู้ว่าความรู้ที่เรียนมาจะเอามาใช้อะไรได้บ้าง ที่นอกจากจะดูแลตัวเองได้แล้วก็ต้องพัฒนาตัวเองด้วย ”