ถ้าคุณคือนักเรียนสถาปัตยกรรม ไม่มีใครไม่รู้จัก Jewish Museum พิพิธภัณฑ์ที่ใช้งานสถาปัตยกรรมส่งต่อแรงกระแทกจากเนื้อความขมขื่นของชาวยิวสู่ความรู้สึกของผู้ชมงาน ผ่านบรรยากาศและโสตสัมผัสซึ่งแทบไม่ต้องเอื้อนเอ่ยคำบรรยายใดๆ แต่หากนี่คือครั้งแรกที่คุณเพิ่งเคยได้ยินชื่อพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เราขอพาคุณเดินทางไปทำความรู้จักสถานที่นี้ให้ลึกซึ้ง ถึงความรู้สึกนึกคิด และที่มาที่ไปของ แดเนียล ลิเบสกินด์ (Daniel Libeskind) ผู้ออกแบบสถาปัตยกรรมแห่งอารมณ์แห่งนี้


แดเนียล ลิเบสกินด์ เกิดที่ประเทศโปแลนด์ในปีค.ศ.1946 เพียงปีเดียวหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด โดยมีพ่อแม่เป็นชาวยิวที่ลี้ภัยไปยังโปแลนด์ ตัวเขามีความสามารถด้านดนตรีมาตั้งแต่ยังเด็ก จนมีโอกาสได้ไปเล่นแอคคอร์เดียนแบบสด ๆ ในรายการโทรทัศน์ตั้งแต่อายุเพียง 9 ขวบ กระทั่งได้เข้าศึกษาต่อด้านดนตรีอย่างจริงจังที่ ŁódźConservatory ประเทศโปแลนด์ แต่แทนที่จะได้โลดแล่นในเส้นทางสายดนตรี กลับได้เกิดจุดเปลี่ยนขึ้นกับเขาในช่วงที่เป็นวัยรุ่น
เมื่อลิเบสกินด์ได้รับทุนการศึกษาจาก America-Israel Cultural Foundation ทำให้ต้องย้ายถิ่นฐานในฐานะผู้อพยพไปอยู่ที่กรุงนิวยอร์ก พร้อมกับเบนเข็มชีวิตตัวเองไปสู่การเรียนด้านสถาปัตยกรรม ซึ่งความสนใจของเขาในทางสถาปัตยกรรมนั้นจะอยู่ในแง่ทฤษฎีเสียมากกว่าการออกแบบอาคาร โดยหลังจากที่เรียนจบเขาได้เข้าทำงานในออฟฟิศสถาปนิกแห่งหนึ่ง แต่สถานการณ์ระหว่างการทำงานกลับทำให้เขารู้สึกเฟลกับการที่จะต้องหาแรงบันดาลใจจากงานของคนอื่น ๆ จนเป็นที่มาให้ตัดสินใจไปศึกษาต่อปริญญาโทด้านประวัติศาสตร์และทฤษฎีสถาปัตยกรรมเพิ่มเติม ก่อนจะผันตัวเองมาเป็นอาจารย์สอนประจำอยู่ที่ Cranbrook Academy of Art เพราะอยากสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ได้คิดและมองหาสิ่งใหม่ๆ จากความคิดของตัวเอง
“ผมไปถึงนิวยอร์กโดยทางเรือสมัยวัยรุ่นในฐานะผู้อพยพ ก็เหมือนกับหลายล้านคนที่ไปถึงก่อนผม ภาพแรกที่เห็นคือเทพีเสรีภาพ และอาคารสูงระฟ้าทั้งหลายในแมนฮัตตัน ผมไม่เคยลืมภาพเหล่านั้นได้เลย”


จุดหักเหในชีวิตของลิเบสกินด์อยู่ที่การชนะงานประกวดแบบการต่อเติม Berlin Museum เมื่อปีค.ศ.1989 ซึ่งนั่นเกิดขึ้นหลังจากการเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยถึง 20 ปี แต่ก็ยังเหมือนมีแรงขับในใจลึกๆ บวกกับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีเจตนารมณ์ในการบอกเล่าเรื่องราวความเจ็บปวดของชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่2 ซึ่งมีส่วนเชื่อมโยงกับความเจ็บปวดของครอบครัวของเขาด้วย โดยตัวอาคารสร้างเสร็จในปีค.ศ.1999 และเปิดให้เข้าชมในปีค.ศ.2001
ความพิเศษของอาคารแห่งนี้ อย่างแรกคือความต้องการเชื่อมต่อสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมของ Berlin Museum เข้ากับผลงานที่จะต้องสร้างใหม่ เขาเลือกที่จะใช้สีสันและวัสดุที่ต่างออกจากอาคารส่วนแรกโดยสิ้นเชิง เพื่อสร้างพื้นที่ภายในที่บรรจุบรรยากาศและความรู้สึกที่ขมขื่นของชาวยิว ให้ผู้เยี่ยมชมซึบซัมเรื่องราวต่าง ๆ เหล่านั้นได้อย่างสมบูรณ์ โดยเลือกสร้างสเปซที่มีทั้งการขาดออกจากกัน แพตเทิร์นแบบซิกแซก หรือผังชั้นล่างที่เป็นรูปดาวหกแฉกซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชาวยิว ช่องเปิดทางยาวที่ว่างเปล่าเปรียบเสมือนความรู้สึกที่เวิ้งว้าง หน้าต่างรูปสี่เหลี่ยมปาดมุมแหลมที่สร้างความรู้สึกอึดอัดในบางขณะ รวมทั้งประติมากรรมที่สร้างจิตใจที่สงบเยือกเย็น


หลังจากนั้นเป็นต้นมาลิเบสกินด์ก็ได้รับหน้าที่สร้างสรรค์พิพิธภัณฑ์ทางประวัติศาสตร์อีกหลายแห่งทั่วโลก เช่น Danish Jewish Museum ในกรุงโคเปนเฮเก้น ประเทศเดนมาร์ก, Imperial War Museum North ที่เมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ และผลงานอีกชิ้นสำคัญ คือ Ground Zero Master Plan ผังพื้นที่อนุสรณ์เหตุการณ์ 9/11 ที่กรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา
แดเนียล ลิเบสกินด์ ให้นิยามกับโปรเจ็กต์นี้ว่า “เป็นที่เยียวยาจิตใจของนิวยอร์ก ที่ตั้งแห่งความทรงจำ และพื้นที่ซึ่งเป็นประจักษ์พยานการฟื้นคืนของอเมริกา” โดยแนวคิดของเขาเกิดจากการเชื่อมโยงแลนด์มาร์กทั้งหลายของนิวยอร์กเข้าไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นแสงสว่างเรืองรองจากเทพีเสรีภาพ สู่ปลายยอดแหลมของอาคาร แปลออกมาเป็นสโคปของงานที่จำเป็นต้องควบคุมภายในพื้นที่ทั้งในเรื่องการจัดวางแปลน ระดับความสูง และขนาดของอาคารให้สัมพันธ์กันทั้งหมด จนเกิดเป็นอาคาร 4 หลัง ที่ประกอบด้วยศูนย์กลางการเดินทาง อาคารนักท่องเที่ยว พิพิธภัณฑ์ และพื้นที่อนุสรณ์รำลึกเหตุการณ์


ปัจจุบันลิเบสกินด์ในวัย 72 ปี ยังคงคงควบทั้งงานสอนหนังสือ แต่เน้นไปทางการเป็นวิทยากรเสียส่วนใหญ่ ควบคู่ไปกับการเปิด Studio Libeskind ที่นิวยอร์กร่วมกับภรรยาและหุ้นส่วน Nina Libeskind ซึ่งในปีค.ศ.2012 ทั้งคู่ได้ขยายสาขาไปเปิดสตูดิโอที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี โดยไม่ได้จำกัดการทำงานออกแบบแค่กับพิพิธภัณฑ์หรือพื้นที่ทางประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ยังผนวกรวมทฤษฎี และแนวคิดแบบนามธรรม เพื่อสร้างสรรค์ผลงานสถาปัตยกรรมที่เป็นรูปธรรม มีฟังก์ชันทุกรูปแบบตั้งแต่ศูนย์การค้า งานด้านพาณิชย์ ไปจนถึงงานออกแบบอุตสาหกรรม งานออกแบบผลิตภัณฑ์ และงานอินทีเรียดีไซน์
“อาจจะฟังดูแปลก แต่จริง ๆ แล้วงานสถาปัตยกรรมคือสิ่งของที่ยังสร้างไม่เสร็จ เพราะถึงแม้ว่าตัวอาคารจะสร้างเสร็จแล้ว ซึ่งเปรียบเหมือนการเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่มันก็ยังคงต้องการแรงขับเคลื่อนแบบใหม่ๆ นั่นคือผู้คนจะอยู่อย่างไร ใช้อย่างไร และคิดกันมันอย่างไร”
เพียงประโยคนี้ก็น่าจะแทนความคิดเรื่องการใช้อารมณ์เพื่อสร้างพื้นที่ และพื้นที่มีส่วนช่วยสร้างอารมณ์ให้แก่ผู้ใช้งานภายในอาคาร เพื่อให้งานออกแบบสถาปัตยกรรมของเขามีความสมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง




เรื่อง : Skiixy