Let’s share – Japan #1

เมื่อปีที่แล้ว ฉันมีโอกาสเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นสองครั้ง หลังจากกลับมาในแต่ละครั้ง ฉันค้นพบข้อคิด ซึ่งเป็นแรงผลักดันที่ทำให้ฉันค่อยๆเริ่มเปลี่ยนการดำเนินชีวิตบางอย่างของตัวเอง อย่างไรและได้ผลเป็นเช่นไร ฉันจะนำมาเล่าให้ฟังในครั้งต่อๆไป

การเดินทางครั้งแรกอยู่ในชนบทเป็นส่วนใหญ่ (ฉันร่วมเดินทางไปกับทีมทำหนังสือ บ้าน บ้าน พวกเขาออกเดินทางไปดูว่า บ้าน บ้าน แบบญี่ปุ่นนั้นงดงามและน่าอยู่แค่ไหน หนังสือกำลังจะออกในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ขอรับรองว่าเรื่องราวและภาพถ่ายจะต้องถูกใจชาว บ้าน บ้าน อย่างแน่นอน) คำว่า “แชร์ (share)” หรือ “ใช้ร่วมกัน” ติดอยู่ในใจฉันตลอดเวลา ฉันคิดว่ามันเป็นแนวความคิดพื้นฐานที่จะทำให้ชีวิตของเราดีขึ้น ซึ่งมีที่มาที่ไปดังนี้

– เมืองในหลายประเทศ (โดยเฉพาะประเทศไทย) ขยายถนนเพื่อให้รถวิ่งได้สะดวก โดยไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญกับจักรยานและคนเดินเท้าเท่าไรนัก แต่ถนนในเมืองของญี่ปุ่นมีขนาดกว้างแค่พอให้รถสวนทางกันได้ รถยนต์ต้องวิ่งช้าลงเพื่อหลีกทางให้กัน จักรยานกับคนเดินเท้าจึงใช้ถนนร่วมกับรถยนต์ได้อย่างปลอดภัย แม้จะไม่มีทางเท้าหรือทางจักรยานที่มีเส้นแบ่งอย่างชัดเจน (หรือถ้ามี ก็จะมีขนาดสูสีกับความกว้างของถนน) ฉันรู้สึกว่า ถ้าเรารู้จักแชร์พื้นที่บนท้องถนน โดยเฉพาะรถใหญ่ควรเอื้อเฟื้อที่ทางให้แก่คนและรถที่เล็กกว่า ไม่ว่าจะในกรณีใด เมืองของเราอาจไม่จำเป็นต้องขยายถนน (ที่ไม่มีวันรองรับปริมาณรถยนต์ได้อย่างเพียงพอ) ถนนเล็กๆนั้นไม่ก่อให้เกิดความห่างเหิน ไม่สร้างปัญหาในการไปมาหาสู่กันระหว่างสองฝั่งถนน ผู้คนยังคงมีความใกล้ชิดและพึ่งพาอาศัยกันได้ ถ้าเทียบกับเมืองที่เติบโตแต่ทางกายภาพ แบบนี้น่าอยู่กว่าตั้งเยอะ

– คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่เดินทางโดยรถไฟ จุดที่ถนนและรางรถไฟตัดกันมีอยู่เยอะมาก และขบวนรถไฟก็แล่นผ่านไปมาถี่กว่าในเมืองไทยเสียอีก แต่น่าแปลกใจที่ไม่เห็นรถติดเป็นแถวยาวระหว่างรอข้ามทางรถไฟเหมือนในบ้านเราเลย ฉันคิดว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะรางรถไฟที่นั่นราบเรียบไปกับพื้นถนน ไม่ได้ถูกยกให้สูงขึ้น เมื่อทั้งสองพื้นผิวเสมอกัน ยานพาหนะบนถนนก็ผ่านจุดตัดกันนี้ได้สะดวก ด้วยการใส่ใจในเรื่องเล็กๆแค่นี้ รถไฟและรถยนต์ก็แชร์พื้นที่กันได้ โดยต่างผลัดกันเคลื่อนตัวไปได้เรื่อยๆ จึงไม่เสียเวลาในการเดินทาง

– ฉันเห็นหลายๆบ้านไม่ได้ทำที่จอดรถเป็นเรื่องเป็นราว คือไม่มีขอบเขตที่แน่นอน ไม่มีหลังคาคลุม จอดตากแดดตากฝนตากหิมะก็ไม่เห็นมีใครกลุ้มใจ และบางครั้งก็ไม่ได้จอดในเขตรั้วบ้านเสียด้วยซ้ำ (เพราะบ้านไม่มีรั้ว) แต่ถึงอย่างนั้น การจอดรถของพวกเขาก็ไม่อาจเรียกได้ว่าไร้ระเบียบ เพราะไม่มีใครจอดขวางทางหรือแอบจอดในที่ที่ไม่ควรจอด รถส่วนมากคันเล็กจึงไม่เปลืองพื้นที่ บางชุมชนเว้นพื้นที่ว่างไว้จอดรถร่วมกัน ประมาณสี่ถึงห้าคันต่อหนึ่งเวิ้ง นอกจากไอเดียเรื่องการแชร์พื้นที่จอดรถแล้ว ความไม่ยึดติดกับวัตถุอย่างเช่นรถยนต์ แต่ให้ความสำคัญกับพื้นที่พักอาศัยมากกว่า ทำให้ฉันเริ่มตระหนักว่า ถ้ามองข้ามสิ่งที่เกินจำเป็นไปบ้าง เราน่าจะมีเวลา มีเรี่ยวแรง มีเงิน สำหรับสิ่งที่จำเป็นแก่ชีวิตอย่างแท้จริงมากกว่านี้

– ห้องพักแบบญี่ปุ่นจะมีโต๊ะเตี้ยไว้ให้เราใช้นั่งเล่น ทำงาน หรือทานอาหาร เมื่อถึงเวลานอน เราต้องยกโต๊ะไปชิดผนังด้านหนึ่ง ยกที่นอนในตู้ออกมา ปูผ้าปูที่นอน ใส่ปลอกหมอน แล้วจัดเรียงตำแหน่งแห่งนอนกันเอง พอตื่นก็เก็บที่นอนแล้วนำกลับไปไว้ที่เดิม ทุกฟังก์ชั่นแชร์พื้นที่กัน แม้ว่าเมืองไทยจะไม่ได้ขาดแคลนพื้นที่เท่ากับญี่ปุ่น แต่ฉันอยากแนะนำแนวความคิดนี้แก่คนที่กำลังจะสร้างบ้านหรือต่อเติมบ้าน เพราะบ้านหลังเล็กลงก็หมายถึงงบประมาณที่ถูกลง ดูแลรักษาได้ง่ายขึ้น และเพียงแค่เราให้เวลากับการจัดระบบระเบียบภายในบ้านให้ดี ก็อาจเสียแค่แรงกาย แต่ไม่ต้องเสียงบประมาณสำหรับต่อเติมบ้านเลยก็เป็นได้

คราวหน้าฉันจะกลับมาเล่าถึงข้อคิดจากการเดินทางในครั้งที่สอง แล้วพบกันอีก…