มารู้จักกับ “ลิ้นมังกร” ต้นไม้ปลูกง่ายกัน

ในบรรดาพรรณไม้ที่ปลูกเลี้ยงในเมืองไทยมานานกว่า 30 ปี ต้องยกให้ ” ลิ้นมังกร ” ไม้ประดับที่ปัจจุบันมีราคาสูงถึงต้นละหนึ่งแสนบาทเลยทีเดียว หน้าตาของ “ลิ้นมังกร” เป็นอย่างไรมาดูกันค่ะ

S.trifasciata ที่ปลูกเป็นไม้ประดับกันมากว่า 30 ปีแล้ว
S.trifasciata ที่ปลูกเป็นไม้ประดับกันมากว่า 30 ปีแล้ว

เรื่องทั่วไปที่ควรรู้ไว้

ลิ้นมังกร เป็นพืชสกุล Sansevieria อยู่ในวงศ์ Asparagaceae (เดิมจัดอยู่ในวงศ์ Agavaceae) มีชื่อสามัญหลายชื่อคือ Bowstring Hemp, Devil Tongue, Mother-in-law’s Tongue, Snake Plant

ชื่อสกุล Sansevieria  นั้น Carl Peter Thunberg ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแด่ Raimondo di Sangro เจ้าชายแห่งเมืองซานเซเวโร (San Severo) ประเทศอิตาลี เมื่อปี ค.ศ. 1794

พืชสกุลนี้กระจายพันธุ์ในเขตร้อนและเขตกึ่งร้อนของทวีปแอฟริกา มาดากัสการ์ อินเดีย และประเทศในแถบอินดีสตะวันออก ซึ่งค้นพบแล้วประมาณ 70 ชนิด โดยประเทศไทยถือเป็นแหล่งปลูกเลี้ยง รวบรวมสายพันธุ์ และผลิตลูกผสมที่มีศักยภาพแห่งหนึ่งของโลก

ลักษณะทั่วไป

ลิ้นมังกรเป็นไม้ล้มลุก อายุหลายปี มีเหง้าทอดเลื้อยไปตามผิวดิน เห็นข้อปล้องชัดเจน ทุกส่วนของต้นอวบน้ำ เปราะหักง่าย มีใบเดี่ยว ออกเวียนสลับรอบต้น หรือเรียงสลับระนาบเดียว รูปใบมีหลายแบบ ทั้งรูปใบหอก รูปแถบกว้าง รูปไข่กลับ รูปช้อน รูปรี และเป็นแท่งกลมยาว ขนาดแตกต่างกันตั้งแต่ 3 เซนติเมตรจนยาวกว่า 1 เมตร แผ่นใบหนาอวบน้ำ ขอบใบเรียบเป็นสันแข็งหรือเป็นคลื่น มีสีสันและลวดลายแตกต่างกัน บางชนิดมีเส้นใยเหนียวที่ใช้ทำเชือก

ช่อดอกออกจากซอกกาบใบ มักชูสูงพ้นพุ่มใบ มีหลายแบบ ทั้งช่อเชิงลด (spike) ช่อกระจะ (raceme) ช่อกระจะแยกแขนง (racemose panicle) บางชนิดเป็นช่อกระจุกที่โคนต้น แต่ละช่อมีดอกจำนวนมาก ดอกสีขาวถึงสีขาวอมชมพู มีวงกลีบรวมเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 6 กลีบบานจากล่างขึ้นบนในช่วงเย็นถึงช่วงเช้าของวันรุ่งขึ้น และมีกลิ่นหอม ผลมีเนื้อนุ่ม เมื่อสุกมีสีแดงอมส้ม ภายในมี 1 – 2 เมล็ด

ในธรรมชาติลิ้นมังกรเติบโตในที่แห้งแล้งที่เป็นดินทราย แสงแดดร้อนแรง และมีอากาศหนาวเย็นตอนกลางคืน ดังนั้นใบจึงอวบหนา มีเส้นใยเหนียว ทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย

นอกจากนี้ยังเป็นพืชในกลุ่ม CAM Plant (Crassulacean Acid Metabolism Plant) นั่นคือต้นพืชจะปิดปากใบในช่วงกลางวันที่มีแสงแดดร้อนระอุ เพื่อลดการสูญเสียน้ำ และเปิดปากใบในช่วงกลางคืน เพื่อดูดซับความชื้นของน้ำค้างหรือไอน้ำในอากาศ และก๊าซาร์บอนไดออกไซด์สำหรับสังเคราะห์แสงในตอนกลางวัน ซึ่งเป็นกลไกป้องกันตัวอย่างดี อีกทั้งองค์การนาซายังยอมรับว่าพืชสกุลนี้ช่วยดูดซับสารพิษในบรรยากาศได้ดี ปัจจุบันนิยมปลูกเป็นไม้กระถางและไม้แคระ เพื่อใช้ตกแต่งสวนและประดับในบ้าน นอกจากนี้ใบยังมีเส้นใบที่เหนียวใช้ทำเชือกป่านได้อีกด้วย จึงมีชื่อเรียกว่า Bowstring Hemp

ลิ้นมังกรปลูกง่ายกว่าที่คิด

ลิ้นมังกรเป็นพืชที่แข็งแรง ทนทาน สามารถเติบโตได้เกือบทุกสภาพแวดล้อม สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงในการปลูกเลี้ยงคือ

ดินปลูก เป็นดินร่วนหรือดินปนทราย ระบายน้ำดี มีอินทรียวัตถุเพียงพอหรือผสมดินใหม่ โดยนำดินร่วน ½ ส่วนผสมกับใบก้ามปู 2 ส่วน และกาบมะพร้าวสับอีก 1 ส่วน อาจผสมปุ๋ยคอกเพิ่มอีกเล็กน้อย คลุกเคล้าให้เข้ากันก่อนนำมาใช้

น้ำ แม้ว่าลิ้นมังกรเป็นพืชที่ทนความแห้งแล้งได้ แต่ถ้าได้รับน้ำและความชื้นในอากาศไม่เพียงพอ จะทำให้แผ่นใบไม่สดใสสวยงาม ควรรดน้ำให้ทุกเช้า – เย็น หากเป็นช่วงที่ฝนตกชุกอาจงดให้บ้าง

แสงแดด ลิ้นมังกรต้องการแสงแดดประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์หรือได้รับแสงแดดเพียงครึ่งวัน ใบจะมีสีสันลวดลายสวยงาม กรณีที่ปลูกกลางแจ้งได้รับแสงแดดตลอดวัน ก็สามารถเติบโตอยู่ได้ แต่ใบหยาบกร้าน แผ่นใบบางซีดเหลือง ต้องหมั่นรดน้ำสม่ำเสมอ จะช่วยให้ใบสดใสสวยงาม

ภาชนะปลูก ลิ้นมังกรปลูกได้ในภาชนะทุกประเภท แต่นิยมปลูกในกระถางพลาสติกกันมาก เนื่องจากต้นและใบมีน้ำหนักมาก หากต้องการนำมาประดับตกแต่งบ้านควรสวมลงในกระถางดินเผาหรือกระถางเซรามิกที่ต้องการอีกที ถ้าปลูกในกระถางดินเผาจะมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น เคลื่อนย้ายไม่สะดวก

ปุ๋ย เมื่อเปลี่ยนกระถางหรือแยกหน่อควรผสมปุ๋ยคอกให้ทุกครั้ง จะช่วยเพิ่มความโปร่งร่วนและธาตุอาหารแก่พืช และหมั่นให้ปุ๋ยเม็ดสูตรเสมอเช่น 16 – 16 – 16 ละลายน้ำรดให้บ้างทุก 1 – 2 เดือน

Tips
– อาจผสมหินภูเขาไฟขนาดเล็กหรือถ่านทุบเพิ่มอีก 1 ส่วนลงในดินปลูก จะช่วยให้เติบโตได้ดีขึ้น
– ฤดูฝนเป็นช่วงที่มักพบปัญหารากเน่า ต้นเน่า โดยเฉพาะพวกลิ้นมังกรแคระ (S. trifasciata cv. Hahnii) ควรงดให้น้ำถ้าดินแน่นควรเปลี่ยนดินใหมj
– อาจใช้ปุ๋ยเม็ดละลายช้า เช่น ออสโมโค้ท สูตร 14-14-14 ผสมลงในดินปลูกเมื่อเปลี่ยนดิน หรือโรยรอบต้นก็ได้

ขยายพันธุ์ก็ง่ายนะ
ลิ้นมังกรเป็นพืชที่แตกหน่อได้จำนวนมาก จึงนิยมขยายพันธุ์ด้วยการแยกหน่อ และอีกวิธีหนึ่งที่ได้ต้นจำนวนมากคือ การปักชำใบ

Tips

– อาจใช้ขี้เถ้าแกลบเป็นวัสดุปักชำได้ แต่ต้องแช่น้ำทิ้งไว้ก่อนนำมาใช้ 3-4 วัน เพื่อลดความเป็นด่าง

– หมั่นรดสารป้องกันกำจัดเชื้อราทุก 1-2 สัปดาห์ โดยเฉพาะการปักชำใบในฤดูฝนมักเน่าง่าย

– เมื่อนำลิ้นมังกรมาปักชำ ต้นใหม่ที่ได้อาจมีใบลักษณะเหมือนต้นเดิมหรือเกิดเป็นใบด่าง แต่ถ้านำพันธุ์ใบด่างมาปักชำใบของต้นใหม่ที่ได้มักกลายพันธุ์จากเดิม

โรค แมลงศัตรู และการป้องกันกำจัด
ลิ้นมังกรมักไม่พบปัญหามากนัก ที่พบมากมักเกิดในชว่งฤดูฝนคือ โรครากเน่า เกิดจากดินปลูกระบายน้ำไม่ดี ควรเปลี่ยนดินใหม่ และ โรคใบจุด ระบาดในช่วงที่ความชื้นในอากาศสูงสลับกับอากาศร้อน โดยเฉพาะในกลุ่มลิ้นมังกรแคระ ควรหมั่นรดสารป้องกันกำจัดเชื้อราอยู่เสมอ และปรับสภาพพื้นที่ให้มีแสงแดดส่องถึงและอากาศถ่ายเทสะดวก ส่วนแมลงศัตรูได้แก่ เพลี้ยแป้ง เพลี้ยเกล็ด และ หนอนปลอก แต่ไม่ระบาดมากนัก

ข้อมูลจาก คู่มือคนรักต้นไม้ ชุดที่ 5 ลิ้นมังกร โดย อุไร จิรมงคลการ ภาพถ่าย อภิรักษ์ สุขสัยและปรัชญา จันทร์คง ภาพวาด ฌาณ คณาสารสมบัติ

ทำความรู้จักลิ้นมังกรเพิ่มเติมที่นี่

ติดตามข้อมูลดีๆจากบ้านและสวน Garden&Farm ได้ที่นี่