มาเป็น “นักเลงว่าน” กันไหม

พอเอ่ยถึง “ว่าน” หลายคนก็มักบอกว่า เหย…แก่อ่ะ แล้วก็คิดเลยเถิดไปว่า เป็นพวกงมงาย ฝักใฝ่มนตร์ดำ อำนาจลี้ลับ ท่องบ่นคาถาทั้งวัน มีรอยสักทั้งตัว ฯลฯ ซึ่งถ้าศึกษากันให้ลึกซึ้งแล้ว จะพบว่าว่านนั้นมีที่มาที่ไป อย่าง สรรพคุณทางยาก็ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าใช้ได้ผล และนับเป็นภูมิปัญญาระดับชาติที่ทุกคนควรสืบทอด

ว่านมีที่มาอย่างไร

ความหมายของคำว่า “ว่าน” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หมายถึง “ชื่อเรียกพืชบางชนิดที่มีหัวบ้าง ไม่มีหัวบ้าง ใช้ทำยาบ้าง หรือเชื่อกันว่าทำให้อยู่ยงคงกระพันและเป็นสิริมงคล เช่น ว่านนางล้อม ว่านเสน่ห์จันทร์แดง”

ตามตำราว่ากันว่า ความเชื่อเรื่องว่านมีมาแต่ก่อนคริสตกาลประมาณ 200 ปี เริ่มจากชาวโรมันเก็บหน่อไม้ฝรั่งมากิน และในอีก  300 ปีต่อมาจึงนำมาใช้ทำยารักษาโรค แก้แมลงกัดต่อย แก้ปวดฟัน ออกัสตุส (Augustus) จักรพรรดิองค์แรกของชาวโรมันยังเชื่อว่า หากใครนำหน่อไม้ฝรั่งที่ตากแห้งมาชงน้ำดื่มพร้อมกับเสกคาถาจะช่วยให้อยู่ยงคงกระพัน

ในบ้านเรายังไม่ทราบแน่ชัดว่า ความเชื่อเรื่องว่านมีกำเนิดมาตั้งแต่เมื่อใด แต่คาดว่าคงได้รับอิทธิพลจากชาวมอญและขอม เพราะในตำราพิชัยสงครามปลายสมัยกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า “ว่าน” คือ สุดยอดคงกระพัน ก่อนออกศึกนักรบทุกคนต้องอาบน้ำว่านหรือเคี้ยวว่านเพื่อให้หนังเหนียว ฟันแทงไม่เข้า ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ความเชื่อเรื่องว่านก็ยังคงมีอยู่ในสังคมไทย โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีการนำพรรณไม้จากต่างประเทศ ทั้งไม้ต้น ไม้ดอก ไม้ใบ เช่น โกสน บอนสี มาปลูกในพระราชวัง และในจำนวนนั้นก็มีว่านกุมารทองหรือว่านแสงอาทิตย์ด้วย

ในปี พ.ศ. 2452 พระยาพิศประสาทเวช ได้จัดทำตำรายาไทยชื่อ แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 พระยาแพทย์พงศาวิสุทธาธิบดี (สุ่น สุนทรเวช) ต้นตระกูลสุนทรเวช ได้จัดพิมพ์หนังสือ แพทย์ตำบล เล่ม 1 ขึ้นในปี พ.ศ. 2464 ซึ่งในหนังสือทั้งสองเล่มนี้กล่าวถึงว่านง 5 ชนิด คือ ว่านกีบแรด ว่านนางคำ ว่านหางช้าง ว่านน้ำ และว่านเปราะ

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7 ประเทศไทยประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ บ้านเมืองระส่ำระสาย ผู้คนต้องการเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ว่านในยุคนั้นจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตผู้คน ในปี พ.ศ. 2473 นายชิต วัฒนะ  ได้จัดทำหนังสือ ลักษณะว่าน ขึ้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2476 หลวงประพัฒสรรพากร ได้รวบรวมหนังสือชื่อ ตำหรับกระบิลว่าน ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในกลุ่มนักเล่นว่าน เพราะเป็นตำราที่ให้ข้อมูลเรื่องว่านที่ครบสมบูรณ์ที่สุด โดยกล่าวถึงสรรพคุณด้านต่าง ๆ ทั้งเรื่องความเชื่อ เครื่องรางของขลัง สรรพคุณทางยา วิธีปลูกให้ถูกต้องตามหลักความเชื่อ หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็มีตำราว่านเกิดขึ้นอีกหลายเล่ม เช่น หนังสือ ตำราว่านยา 108 อย่าง โดย ค.ส. (ไม่ทราบชื่อที่ถูกต้อง) และ คู่มือนักเลงว่าน ของ ล.มหาจันทร์  ตำราสรรพคุณยาไทยว่าด้วยลักษณะกบิลว่าน ของนายไพฑูรย์ ศรีเพ็ญ แต่หลังจากปี พ.ศ. 2484 ความนิยมว่านก็เสื่อมลง

ตำรากบิลว่านที่รวมเรื่องราวของว่านในอดีตไว้มากมาย

ในปี พ.ศ. 2500 ความนิยมว่านกลับมาอีกครั้ง เมื่อมีการจัดทำหนังสือว่านขึ้นหลายฉบับ โดยเล่มที่มีความนิยมมากในขณะนั้นคือ หนังสือ ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีปลูกว่าน รวบรวมโดย นายเลื่อน กัณหะกาญจนะ  จัดพิมพ์ในนามสมาคมพฤกษชาติแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งทำให้ความนิยมว่านยังคงอยู่ถึงปัจจุบัน แต่นิยมปลูกเป็นไม้ประดับเพื่อความสวยงามแทน เช่น กลุ่มสาวน้อยประแป้ง และอโกลนีมาที่นำมาจากต่างประเทศ แล้วตั้งชื่อโดยมีคำว่า “ว่าน” หรือคำอื่น ๆ ที่เป็นสิริมงคล เช่น สาวน้อยประแป้งนางพญาหงสา (Dieffenbachia daguensis) พญาช้างเผือก (D. maculata ‘Barraquiniana’) ว่านนกกระทุง (D. rex) กวักรางเงิน (D. oerstedii variegata) บารมี (D. ‘Wilson Delight’) เป็นต้น หรืออโกลนีมา อาทิ โพธิสัตว์ (Aglaonema brevispathum f. hospitum) โพธิบัลลังก์ (A. rotundum) ว่านขันหมาก (A. simplex) โดยเฉพาะสาวน้อยประแป้งพันธุ์บารมี ในช่วงที่นำเข้ามาแรก ๆ (ประมาณปี พ.ศ. 2500) มีราคาสูงถึง 2,000 บาทหรือประมาณ 50,000 บาทเมื่อเทียบกับในปัจจุบัน ซึ่งความเชื่อในสรรพคุณลดลง แต่หันมาให้ความสำคัญที่ลวดลายและสีสันสวยงามแปลกตาของใบและดอกแทน

การจำแนกว่าน

ในวงการว่าน จัดจำแนกว่านตามความเชื่อและสรรพคุณดังนี้

ว่านที่ช่วยให้ค้าขายดี เช่น ว่านจังงัง ว่านธรณีเย็น ว่านมหานิยม ว่านมหาหงส์ ว่านเศรษฐีกวนอิม ว่านเศรษฐีจีน ว่านเศรษฐีพายทอง ว่านเศรษฐีมงคล ว่านเศรษฐีเรือนนอก ว่านเศรษฐีเรือนใน ว่านเศรษฐีอินเดีย ว่านสบู่หยวก ว่านเสน่ห์จันทร์หอม เป็นต้น

ว่านทางเสน่ห์เมตตามหานิยม เช่น ว่านกวักโพธิ์เงิน ว่านไก่ขัน ว่านไก่แดง ว่านขุนแผนสะกดทัพ ว่านจูงนาง ว่านเต่านำโชค ว่านเทพรำลึก ว่านมหาเสน่ห์ ว่านมหาสิทธิโชค ว่านแร้งคำดำ ว่านสาวหลง ว่านเสน่ห์ขุนแผน ว่านเสน่ห์จันทร์เขียว ว่านเสน่ห์จันทร์ดำ ว่านเสน่ห์จันทร์ทอง ว่านห้าร้อยนาง เป็นต้น

ว่านทางคงกระพันชาตรี เช่น ว่านกงจักรพระอินทร์ ว่านกระทู้เจ็ดแบก ว่านกลิ้งกลางดง ว่านดาบหลวง ว่านเต่า ว่านเพชรใหญ่ ว่านเพชรม้า ว่านเพชรตาเหลือก ว่านพญาหัวเดียว ว่านสบู่เลือด ว่านสามพันตึง ว่านสบู่หนังแห้ง ว่านเหล็กไหล ว่านหมูกลิ้ง ว่านหนุมาน ว่านหอมแดง ว่านอึ่ง เป็นต้น

ว่านที่ช่วยป้องภัยอันตราย ไสยศาสตร์ และภูตผีปีศาจ เช่น ว่านกำบัง ว่านแก้วหน้าม้า ว่านขอทองแก้ ว่านจ่าว่าน ว่านงาช้าง ว่านธรณีสาร ว่านนางล้อม ว่านน้ำเต้าทอง ว่านพระตบะ ว่านไพลปลุกเสก ว่านเพชรกลับ ว่านเพชรกลับดำ ว่านมหาปราบ ว่านเสลดพังพอนตัวผู้ ว่านแสนพันล้อม เป็นต้น

ว่านที่ช่วยดับพิษร้อน ถอนพิษร้าย เช่น ว่านกระชายดำ ว่านกลอยจืด ว่านขมิ้นดำ ว่านนางคำ ว่านทิพยเนตร ว่านพญางูเห่า ว่านพญาจงอาง ว่านพญาลิ้นงู ว่านพญาว่าน ว่านไพลดำ ว่านมรกต ว่านไม้ดีด ว่านสลักไก ว่านรางจืด ว่านเสือสามทุ่ง ว่านหอมดำ เป็นต้น

 ว่านที่ใช้เป็นยา เช่น ว่านกระชายแดง ว่านกระชายดำ ว่านกีบแรด ว่านขมิ้นชัน ว่านขมิ้นอ้อย ว่านคันทะมาลาม่วง ว่านชักมดลูก ว่านน้ำ ว่านพญามือเหล็ก ว่านม้า ว่านมหาเมฆ ว่านมหากำลัง ว่านร่อนทอง ว่านหางจระเข้ ว่านหอมแดง ว่านเอ็นเหลือง เป็นต้น ว่านที่ใช้เป็นยาหรือสมุนไพรเหล่านี้ มักมีสารออกฤทธิ์ที่สำคัญ อาทิ อัลคาลอยด์ (Alkaloid) ไกลโคไซด์ (Glycoside) ไซยาโนจีนิกไกลโคไซด์ (Cyanogenic Glycoside) น้ำมันหอมระเหย (Essential Oil) แทนนิน (Tannin) น้ำยาง (Latex) ฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ซึ่งให้ทั้งประโยชน์และโทษ กานำมาใช้ควรตรวจสอบวิธีการและปริมาณการใช้ให้ถูกต้อง เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพงและปลอดภัยกับผู้ใช้

ปลูกเลี้ยงว่านอย่างไร

ตามตำราคุณลักษณะว่านและวิธีปลูกเลี้ยงว่านของนายเลื่อน กัณหะกาญจนะ ได้กล่าวว่า “ว่านที่ขึ้นเองตามป่าเขาโดยธรรมชาตินั้น มักมีอิทธิฤทธิ์และสรรพคุณน้อยกว่าว่านที่เป็นมรดก ทั้งที่เป็นว่านชนิดเดียวกัน ถึงแม้จะนำมาปลูก ถ้ามิได้ระมัดระวัง ปล่อยให้ต้นว่านขึ้นและโรยราไปเองตามธรรมชาติหรือปล่อยให้คงอยู่ในดินตลอดเวลา รอจนถึงฤดูฝน ว่านก็จะผลิต้นและเติบโตได้อีกครั้ง แต่อิทธิฤทธิ์ของว่านจะจืดจางเสื่อมลงไปทุกที”

คนโบราณคำนึงถึงการปลูกเลี้ยงและบำรุงดูแล จึงได้กำหนดให้มีการกู้และการเก็บว่าน ซึ่งเป็นขั้นตอนการขุดหัวว่านขึ้นจากดินและทำความสะอาด เพื่อนำมาใช้ประโยชน์หรือเก็บไว้ปลูกต่อไปทั้งยังป้องกันไม่ให้ต้นว่านแห้งตายในช่วงฤดูหนาวอีกด้วย

 วิธีปลูกว่านตามตำราโบราณ

  • ควรปลูกในวันอังคาร เดือน 6 เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ผู้ปลูก ช่วยเพิ่มอิทธิฤทธิ์ของว่าน และเป็นช่วงฤดูฝนที่เหมาะกับการเจริญเติบโตอีกด้วย
  • ดินปลูกควรเป็นดินร่วนหรือดินปนทรายที่สะอาด ไม่มีมูลสัตว์เจือปน นำมาผสมกับอิฐมอญทุบละเอียดและหญ้าแห้งสับ เพื่อการระบายน้ำดีและมีอินทรียวัตถุเพิ่มขึ้น
  • เมื่อนำว่านลงปลูกในภาชนะหรือพื้นที่ที่ต้องการปลูกแล้ว ต้องรดน้ำให้ชุ่มชื้น ขณะที่รดน้ำควรบูชาด้วยคาถา เพื่อให้ว่านคงความศักดิ์สิทธิ์ไว้ และวางในที่มีแสงแดดรำไร

อยากได้ต้นว่านไปซื้อที่ไหนดี

ร้านจำหน่ายต้นว่านมีเพียงไม่กี่ร้าน ซึ่งจำหน่ายปะปนกับไม้ประดับอื่น ๆ ในที่นี้ได้รวมรายชื่อร้านค้าที่มีต้นว่านจำหน่ายจากตลาดต้นไม้แต่ละแห่งไว้ดังนี้

ตลาดจตุจักร

  1. ร้านนิตย์พันธุ์ไม้ โครงการ 5 โดยคุณนิตย์ โทรศัพท์ 0-2433-3853
  2. ร้านบุปผาว่านมงคล โครงการ 5 โดยคุณแป๋ว โทรศัพท์ 0-2429-0417 และ 08-9740-9478
  3. ร้านป้าติ๋ม โครงการ 3 โดยคุณยาจิต สิทธิมงคล โทรศัพท์ 08-1861-7045
  4. ร้านแปะกง โครงการ 3 และตลาดนัดสนามหลวง 2 โดยคุณเพชรรัตน์ ม้วนทอง โทรศัพท์ 08-9801-8522
  5. ร้านพญาว่าน 108 โครงการ 3 โดยคุณศักดา คำบุญชู โทรศัพท์ 08-5160-3019
  6. สวนพร้อม โครงการ 21 โดยคุณพร้อมพรรณ ขันธ์ประดิษฐ์ โทรศัพท์ 0-2418-2922
  7. ร้านพี่น้อย โครงการ 3 โดยคุณจงกล กามปรุ โทรศัพท์ 08-6001-1782
  8. ร้านรังว่านศิริโชค โครงการ 3 โดยคุณอ๊อด – คุณลัดดา โทรศัพท์ 08-4020-5558
  9. สวนศรีชาวนาพันธุ์ไม้ โครงการ 3 โดยคุณอัมพร ชาวนา โทรศัพท์ 08-9074-4682
  10. ร้านสีไพรไม้พันธุ์แท้ โครงการ 24 โดยคุณนิจ โทรศัพท์ 08-9063-6484

ตลาดจตุจักร 2 มีนบุรี

  1. ร้านคุณจู๋ โดยคุณธัญวรัตน์ เหมือนจิต โทรศัพท์ 08-9425-2068
  2. ร้านคุณติ๊ก โครงการส่วนขยาย โดยคุณพัทธมน ชานะกิจ โทรศัพท์ 08-4906-9158

**รายชื่อและหมายเลขโทรศัพท์อาจมีการเปลี่ยนแปลง กรุณาตรวจสอบอีกครั้ง***

นอกจากนี้ยังมีจำหน่ายที่ ศูนย์ท่องเที่ยวและจำหน่ายไม้ดอกไม้ประดับนนทบุรี ซอยช้าง ถนนรัตนาธิเบศร์ ตำบลบางรักน้อย อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ได้แก่ ร้านวันพืชมงคล โทรศัพท์ 08-1348-1120 ร้านพูลศรี ร้านป้าเพลิน และสวนสำราญจิตร อำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยคุณสมคิด สำราญจิตต์ โทรศัพท์ 0-5672-3205

แม้เราจะเลือกปลูกว่านได้มากมายหลายชนิด แต่ก่อนนำมาใช้งานควรศึกษาวิธีใช้อย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและปลอดภัยกับร่างกายอ

สำหรับผู้สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากหนังสือ  ว่าน สมุนไพร ไม้มงคลไทย ฉบับปรับปรุงและเพิ่มเติม เขียนโดย ณรงค์ศักดิ์ ค้านอธรรม จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์บ้านและสวน

ข้อมูลจากคู่มือคนรักต้นไม้ ชุดที่ 5  ว่าน ไม้มงคล โดยอุไร จิรมงคลการ
© บมจ.อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง สงวนสิทธิ์ ใช้เพื่อการเผยแพร่ ห้ามดัดแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาต

ทำความรู้จักว่านเพิ่มเติมได้ที่นี่