เรื่องกล้วยไม้ที่คุณอาจไม่รู้

กล้วยไม้ เป็นดอกไม้ที่ใครเห็นใครก็รัก เพราะเป็นไม้ประดับที่มีรูปแบบหลากหลายและแตกต่างกันมากมาย ปัจจุบันพบกระจายพันธุ์อยู่ทั่วโลกมากกว่า 796 สกุล 19,000 ชนิด และในจำนวนนี้มีถิ่นกำเนิดในเมืองไทยถึง 168 สกุล มากกว่า 1,170 ชนิด มีทั้งที่เจริญเติบโตอยู่บนดิน (terrestrial) อาศัยอยู่บนพืชอื่น (epiphytic) หรือเจริญอยู่ตามซากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ (saprophyte) ส่วนใหญ่พบในประเทศเขตร้อน โดยประเทศไทยจัดเป็นแหล่งที่มีกล้วยไม้ป่ามากแห่งหนึ่งในโลก

ในทางพฤกษศาสตร์ จัดกล้วยไม้เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว และจำแนกออกเป็นสกุลต่างๆ มากมาย ซึ่งในที่นี้ขอกล่าวเพียงบางส่วน อาทิ
* สกุลรองเท้านารี (Paphiopedilum) พบกระจายพันธุ์อยู่ตามทิวเขาที่มีระดับความสูงไม่มากนัก และตามป่าผลัดใบ ส่วนใหญ่เติบโตอยู่ตามพื้นดินหรือซอกหิน บางชนิดก็เกาะอาศัยอยู่ตามต้นไม้                  

* สกุลหวาย (Dendrobium) เป็นกล้วยไม้สกุลใหญ่ ค้นพบแล้วประมาณ 1,000 ชนิด จำแนกเป็นหมวดหมู่ย่อยมากกว่า 20 หมู่ เป็นสกุลที่นิยมพัฒนาพันธ์ุเพื่อการค้า

* สกุลคัทลียาและสกุลใกล้เคียง (Cattleya & allied genera) ประกอบด้วยสกุลย่อย 8 สกุล คือ
(1) บรอกโทเนีย (Broughtonia)
(2) เอพิเดนดรัม (Epidendrum)
(3) ไดอาคริอัม (Diacrium)
(4) คัทลียา (Cattleya)
(5) ลีเลีย (Laelia)
(6) ชอมเบอร์เกีย (Schomburgkia)
(7) บราสซาโวลา (Brassavola)
(8) โซโฟรนิทิส (Sophronitis)

* สกุลออนซิเดียม (Oncidium) ไม่มีแหล่งกำเนิดอยู่ในแถบเอเชีย ส่วนใหญ่เป็นไม้นำเข้าเช่นเดียวกับคัทลียา

* สกุลซิมบิเดียม (Cymbidium) กล้วยไม้สกุลนี้ มีทั้งที่อาศัยอยู่บนพืชอื่น และเจริญเติบโตอยู่บนดิน คือ มีทั้งระบบรากอากาศและรากดิน  ต้นมักแตกกอ มีดอกสวยงาม นิยมใช้เป็นกล้วยไม้ตัดดอก

* สกุลแกรมมาโทฟิลลัม (Grammatophyllum) กล้วยไม้สกุลนี้มักแตกกอ มีระบบรากกึ่งรากอากาศ จะมีรากจำนวนมากเกาะกันแน่น และแตกแขนงที่ปลายราก ซึ่งชี้ขึ้นด้านบนหรือด้านข้างมากกว่าชี้ลงด้านล่าง

* สกุลแวนดา (Vanda) ส่วนใหญ่กระจายพันธุ์ในทวีปเอเชีย  ต้นเจริญเติบโตไปทางยอด มีอยู่ประมาณ 40 ชนิด เรียกรวมว่า Vandaceous orchidŽ

* สกุลเข็ม (Ascocentrum) เป็นกล้วยไม้ประเภทแวนดาที่มีดอกขนาดเล็ก  สีสันสวยเด่นสะดุดตา ช่อดอกตั้งตรงส่วนใหญ่กระจายพันธุ์อยู่แถบเอเชีย

* สกุลช้าง (Rhynchostylis) เป็นกล้วยไม้สกุลเล็กๆ สกุลหนึ่ง พบในเขตร้อนของเอเชียเพียง 4 ชนิด

* สกุลกุหลาบ (Aerides) เรียกอีกชื่อว่าสกุล “เอื้องกุหลาบ” พบในป่าธรรมชาติประมาณ 40 ชนิด

*สกุลแมลงปอ (Arachnis)  มีลักษณะเด่น คือ ลำต้นมีปล้องยาว ข้อห่าง ดอกมีรูปร่างคล้ายแมลงปอหรือแมงป่อง  จึงเรียกว่า Scorpion Orchid

*สกุลรีแนนเทอรา (Renanthera) ลำต้นมักมีปล้องยาว ข้อห่าง คล้ายสกุลแมลงปอ ช่อดอกค่อนข้างตั้ง คือ ช่อจะเอนลงไปขนานหรือเกือบขนานกับแนวระดับ และแตกแขนง พบในป่าธรรมชาติประมาณ 10 ชนิด

* สกุลแวนดอปซิ (Vandopsis) เป็นกล้วยไม้สกุลแท้ดั้งเดิม มีทรงต้นเตี้ยเพราะข้อต้นถี่ ช่อดอกตั้งหรือโค้งสั้น ไม่แตกแขนง ดอกมักมีขนาดใหญ่ กลีบดอกหนา

* สกุลม้าวิ่ง (Doritis) กล้วยไม้สกุลนี้มักขึ้นอยู่ตามพื้นดินหรือแอ่งหินที่มีอินทรียวัตถุทับถมอยู่ ช่อดอกตั้งและยาว ดอกมีสีแดงอมม่วง

* สกุลเสือโคร่ง (Trichoglottis) ลักษณะทรงต้นและดอกคล้ายสกุลแมลงปอและรีแนนเทอรา คือมีข้อต้นห่าง ปล้องยาว ต้นอาจเจริญพาดพิงอยู่กับต้นไม้ กิ่งไม้หรือห้อยลงมา ใบแคบ ช่อดอกสั้น ดอกมีทั้งขนาดเล็กและใหญ่

* สกุลอะแคมเป (Acampe) ลักษณะดอกเกือบจะเหมือนกับสกุลเสือโคร่ง  แต่ดอกมักหงายขึ้นด้านบน และไม่มีลิ้นหรืออวัยวะอื่นใดอยู่ที่ด้านหลังของปาก พบในป่าธรรมชาติเพียง 4 – 5 ชนิดเท่านั้น

* สกุลสิงโตกลอกตา (Bulbophyllum) เป็นกล้วยไม้ที่มีลักษณะโดดเด่น คือ กลีบปากติดกับส่วนปลายคางของเส้าเกสรที่ยืดตัวออกไป ลักษณะคล้ายบานพับ ทำให้กลีบปากสั่นไหวได้ง่าย

*สกุลว่านนกคุ้ม (Anoectochilus) เป็นกล้วยไม้ดิน ทุกส่วนของต้นอวบน้ำและบอบบาง ใบมีรูปทรง สีสัน และเส้นใบสวยงาม

* สกุลลิ้นมังกร
(Habenaria) เป็นไม้ล้มลุก อายุหลายปี มีหัวอยู่ใต้ดิน ดอกมีเส้าเกสรสั้น กลีบปากมักแยกหรือหยักเว้ามากน้อยต่างๆ กัน เช่น ว่านยานกเว้ 

* สกุลแผ่นดินเย็น
(Nervilia) เป็นกล้วยไม้ดิน ที่มีใบเพียงหนึ่งใบรูปทรงเกือบกลม แผ่นใบพับจีบคล้ายพัด ดอกค่อนข้างเล็ก

*สกุลฟาแลนออปซิส (Phalaenopsis) เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย ขนาดกลาง เช่น เขากวางอ่อน ผีเสื้อชมพู ปัจจุบันพัฒนาพันธ์ุเป็นไม้ตัดดอกที่สวยงาม ราคาแพง

* สกุลหูเสือ (Malaxis) กล้วยไม้ดินที่มีคนรู้จักค่อนข้างน้อย เพราะดอกมีขนาดเล็กมาก  เช่น สิกุนคล แห้วหมูป่า

* สกุลพิศมร
(Spathoglottis) เป็นกล้วยไม้ดิน มักมีสีเหลืองหรือขาวนวล บางชนิดมีสีม่วง  เช่น เอื้องหัวข้าวเหนียว

*สกุลเอื้องใบหมาก (Coelogyne) ลักษณะคล้ายสกุลสิงโต แต่ใบหนาน้อยกว่าและเส้นใบชัดเจนกว่า  กลีบดอกมักแคบกว่ากลีบเลี้ยง เช่น เอื้องเทียนลำเขียว เอื้องหมาก

*สกุลเขาแพะ
(Cleisostoma) กล้วยไม้อิงอาศัย ต้นกลมผอมยาว ช่อดอกแยกสาขา ดอกขนาดเล็ก กลลีบปากส่วนโคนเป็นถุง เช่น เขาแพะ เอื้องสร้อยทับทิม

* สกุลวานิลลา
(Vanilla) เป็นไม้เถาอวบน้ำ ดอกค่อนข้างโต สีเขียวปนขาว  เช่น เถางูเขียว

*สกุลคาลานเท (Calanthe) เป็นกล้วยไม้ดินที่สวยงาม ดอกไม่โตนัก กลีบดอกมักยาวมากกว่ากว้าง โคนกลีบปากมีเดือยยาว ส่วนที่เหลือของกลีบปากมักแยกเป็น 3 แฉก เช่น อั้วชมพูไพร อั้วพวงมณี

นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ในธรรมชาติยังมีกล้วยไม้อีกหลายสกุล บางสกุลพบน้อยลง ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากปัญหาการบุกรุกและทำลายป่าของประเทศในเขตร้อน ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยสำคัญของพืชวงศ์นี้ ดังนั้นเราจึงควรอนุรักษ์พื้นที่ป่าและพันธ์ุกล้วยไม้ต่างๆ ไว้ให้คงอยู่กับเราให้มากเท่าที่จะทำได้

ชมความหลากหลายของกล้วยไม้ได้ที่ Plant Library

ข้อมูลจาก สารานุกรมไม้ประดับในประเทศไทย เล่ม 1 และ กล้วยไม้เมืองไทย โดย รศ. ดร. อบฉันท์ ไทยทอง สำนักพิมพ์บ้านและสวน
ภาพลายเส้น: ชินวัชร ยศศิริพันธุ์

สงวนสิทธิ์ โดยบริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ใช้เพื่อเผยแพร่ทางอินเตอร์เนต ห้ามทำซ้ำหรือดัดแปลงด้วยวิธีการอื่นใด โดยไม่ได้รับอนุญาต