วัสดุ: ไม้ (wood)

ไม้เป็นวัสดุที่มีเสน่ห์ ผิวสัมผัสและลวดลายมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ให้ความรู้สึกอบอุ่นและเป็นธรรมชาติ บ้านเรานิยมใช้ไม้ก่อสร้างอาคารบ้านเรือนต่างๆ เช่น เป็นส่วนโครงสร้าง เสา ฝา คาน พื้น บันได ฯลฯ และตกแต่งภายใน เช่น ปูพื้น กรุผนัง ทำเฟอร์นิเจอร์ ประตู หน้าต่าง เป็นต้น

ในประเทศไทยจำแนกประเภทของไม้ตามลักษณะความแข็งแรงดังนี้

ไม้เนื้ออ่อน เป็นไม้ที่มีวงปีกว้างมาก เนื่องจากเป็นไม้โตเร็ว ลำต้นใหญ่ เนื้อค่อนข้างเหนียว แต่ทำงานได้ง่าย เนื้อไม้มีสีจางหรือค่อนข้างซีด อาทิ ไม้กระบาก ไม้ยาง ไม้ฉำฉา ไม้เหียง ไม้โมก ไม้กระท้อน ไม้ยมหอม ไม้จำปาป่า ไม้สนต่างประเทศ เป็นต้น เหมาะกับงานในที่ร่มหรืองานชั่วคราว งานตกแต่ง และเครื่องมือเครื่องใช้

ไม้เนื้อแข็ง เป็นไม้ที่มีวงปีมากกว่าไม้เนื้ออ่อน เพราะเจริญเติบโตช้ากว่า คือต้องมีอายุหลายสิบปีจึงจะนำมาใช้งานได้ ลักษณะทั่วไปของไม้คือ มีเนื้อมัน ลายละเอียด เนื้อแน่น สีเข็ม (แดงถึงดำ) มีน้ำหนักมาก แข็งแรงทนทาน เช่น ไม้สัก ไม้ตะแบก ไม้ประดู่ ไม้มะเกลือ เป็นต้น เหมาะสำหรับงานเฟอร์นิเจอร์ งานก่อสร้างบ้าน และเครื่องมือ

ไม้เนื้อแกร่ง เป็นไม้ที่เจริญเติบโตช้ามาก จึงทำให้วงปีถี่มากกว่าไม้สองชนิดแรก คือ ต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 60-70 ปีจึงจะนำมาใช้งานได้ เนื้อไม้มีสีเข้มค่อนข้างแดง น้ำหนักมาก และแข็งกว่าไม้เนื้อแข็ง ไม้ที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นไม้ที่ใช้ในการก่อสร้างหรือเป็นโครงสร้าง อาทิ คาน ตง เสา ได้แก่ ไม้แดง ไม้ชิงชัน ไม้ตะเคียน ไม้มะค่าโมง ไม้พยุง ไม้เต็ง เป็นต้น

จากข้างต้น มีชนิดของไม้ที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายอยู่ไม่กี่ชนิด เช่น ไม้สัก ไม้ยาง ไม้เต็ง ไม้แดง ไม้ตะแบก ไม้มะค่าโมง ไม้ยางพารา ไม้ประดู่ ส่วนไม้ต่างประเทศที่นิยมใช้ได้แก่ ไม้โอ๊ก ไม้ไวท์แอช ไม้บีช ไม้เชอร์รี่ ไม้วอลนัท ไม้ตระกูลสน ซึ่งจะเรียกชื่อตามแหล่งผลิต เช่น ไม้สนสวีเดน ไม้สนแคนาดา ไม้สนลาวหรือไม้สนขาว เป็นต้น

ขนาดมาตรฐานของไม้ แบ่งเป็น 2 แบบคือ

หน้าตัดเป็นนิ้ว ความยาวเป็นเมตร จำหน่ายเป็นคิวบิกเมตร ไม้ส่วนใหญ่ที่ใช้มาตรฐานนี้ ได้แก่ ไม้ยาง ไม้เต็ง ไม้ตะแบก ไม้แปรรูปจากต่างประเทศ เช่น ไม้แอช เมเปิ้ล เชอร์รี่ บีช โอ๊ก ฯลฯ  ขนาดหน้าตัด คือ ความหนา x ความกว้าง เช่น 1×1 ,1 x 1 1/2, 1×2, 1 1/2 x 3 , 2×4 นิ้ว เป็นต้น ขนาดหน้าตัดจะเพิ่มขึ้นทุกๆ ครึ่งนิ้ว ส่วนความยาวใช้หน่วยเป็นเมตร เพิ่มขึ้นทุกๆ 0.50 เมตร (ครึ่งเมตร) เช่น 1.00, 1.50, 2.00 เป็นต้น

**ไม้เบญจพรรณที่แปรรูปแล้ว มีขนาดเท่ากันหรือต่ำกว่าขนาดจริงด้านละประมาณ 1/8-1/4 นิ้ว การใช้งานต้องกะขนาดไม้ที่จะใช้ก่อนสั่ง

หน้าตัดเป็นนิ้ว ความยาวเป็นฟุต จำหน่ายเป็นคิวบิกฟุต มาตรฐานนี้ใช้กับไม้สัก ขนาดหน้าตัดมีต่างกันไป เช่น  1 x 1 , 1 x 1 1/4, 1 x 1 1/2 , 1 1/2 x 1 1/2  นิ้ว เป็นต้น ขนาดหน้าตัดเพิ่มทุกๆ 1/4 นิ้ว  ส่วนความยาวเพิ่มทุกๆ ครึ่งฟุต เช่น 1, 1 1/2, 2, 2 1/2 ฟุต

***ไม้สักที่แปรรูปแล้ว มีขนาดใหญ่กว่าขนาดมาตรฐาน เมื่อไสเรียบจึงได้ขนาดตามมาตรฐาน ซึ่งเป็นข้อดีสำหรับผู้ใช้งาน คือไม่ต้องกังวลว่าจะได้ไม้ที่ไม่ได้ขนาด


Tips
* การใช้งานกลางแจ้ง ควรทาสีหรือใช้น้ำยาเคลือบหรือน้ำยารักษาเนื้อไม้อยู่เสมอ หรืออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อป้องกันความชื้นและแสงแดดทำลายเนื้อไม้
* ไม้ที่ใช้ควรผ่านการอบไล่ความชื้นและอาบน้ำยา เพื่อป้องกันไม่ให้โก่งงอ เกิดรอยด่าง เป็นเชื้อรา ในกรณีของไม้เนื้ออ่อน การอาบน้ำยาจะช่วยป้องกันปลวกหรือแมลงกัดกินเนื้อไม้
* ไม้เป็นวัสดุผิวเรียบ เมื่อเคลือบผิวแล้วจะไม่สะสมฝุ่น จึงเหมาะกับคนที่แพ้ฝุ่น