นอกจากการใส่เสื้อผ้าอุ่น ๆ แล้ว การเลือกรับประทานอาหารก็เป็นอีกวิธีการที่ช่วยให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับอากาศหนาวเย็นได้เหมือนกัน โดยเฉพาะพืชผัก สมุนไพรไทย ต่าง ๆ
ที่มีฤทธิ์เผ็ดร้อนและสรรพคุณในการรักษาโรคที่มักมากับสภาพอากาศ เพื่อให้ร่างกายได้ปรับสมดุลและมีภูมิต้านทานโรค ตาม my home มาดูการเลือกรับประทานพืชผัก สมุนไพรไทย ให้เหมาะกับช่วงฤดูหนาวดีกว่าค่ะ ว่าจะมีชนิดไหนน่าเลือกมาหยิบมาทำเมนูในช่วงอากาศหนาว ๆ กันบ้าง
1 . พริก

พริกเป็นหนึ่งในวัตถุดิบที่จะขาดไปไม่ได้สำหรับอาหารไทยในหลาย ๆ เมนู เพราะด้วยความเผ็ดแซ่บซี้ด ที่ช่วยชูรสอาหารให้จัดจ้านขึ้น โดยมาจากสารที่ชื่อว่า “แคปไซซิน” ซึ่งนอกจากจะให้ความเผ็ดแล้ว เจ้าสารตัวนี้ยังให้ประโยชน์อีกหลาย ๆ อย่าง และหนึ่งในนั้นก็คือช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น เพิ่มความอบอุ่นในร่างกาย ทำให้อาการเย็นที่บริเวณปลายนิ้วมือและเท้าจากอากาศหนาวลดลง ถ้าวันไหนอากาศเย็น ๆ ก็ลองเลือกทานเมนูเผ็ด ๆ กันได้เลยค่ะ
สารพัดพริกปลูกอย่างไรให้เก็บขายได้เงิน
2 . พริกไทย

หนึ่งในเครื่องเทศของไทยที่ไม่ว่าจะนำมาผัด จับมาโรย หรือหมักเนื้อสัตว์ก็ช่วยเพิ่มความอร่อยพร้อมทั้งกลิ่นหอมเฉพาะตัวที่ช่วยดับกลิ่นคาวต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี เพราะในน้ำมันหอมระเหยจากพริกไทยนั้นมีสารที่ให้กลิ่นฉุนและมีสารไพเพอร์รีนที่ให้ความเผ็ดร้อน ซึ่งมีสรรพคุณในการลดอาการไข้ หนาวสั่น และหายใจได้สะดวกขึ้น ถ้ารู้ตัวว่าเริ่มมีอาการหล่ะก็อย่าลืมเลือกพริกไทยมาเป็นวัตถุดิบในเมนูมื้อถัดไปนะคะ
3 . กะเพรา
พอนึกถึงเมนูสุดฮิตในร้านอาหารตามสั่งก็คงหนีไม่พ้นผัดกะเพราอย่างแน่นอน เพราะด้วยกลิ่นหอมที่ไม่เหมือนใคร ทำให้ไม่ว่าจะนำมาผัดใส่เนื้อสัตว์ประเภทไหนก็อร่อยลงตัว และแม้ว่าใบกะเพรารวมทั้งผักต่าง ๆ ในตระกูลเดียวกันอย่างยี่หร่าหรือโหระพาจะไม่ได้มีรสเผ็ดจี๊ดแบบชัดเจนเหมือนพริก แต่ก็เป็นผักสวนครัวที่ให้รสเผ็ดร้อน จึงเหมาะกับการนำมาผัดหรือใส่รวมกับวัตถุดิบอื่นให้ได้รสชาติและกลิ่นหอมมากกว่าการกินโดยตรงนั่นเอง
ทำไม กะเพรา ถึงไม่หอมกลิ่นกะเพรา ?
4 . ผักชี

ผักชีอาจไม่ได้นำเหมาะกับการนำมาทำเป็นเมนูอาหารจานหลัก แต่ก็ช่วยเสริมกลิ่นและรสชาติให้กับเมนูหลาย ๆ จานได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญยังเป็นพืชผักที่ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนตั้งแต่รากที่นิยมนำมาโขลกให้ได้กลิ่นหอม ๆ ส่วนลำต้นก็ให้รสเผ็ดและช่วยในการขับเหงื่อรวมทั้งเสมหะ มาจนถึงใบที่ช่วยแก้ไอ กระหายน้ำ รักษาหวัด หรือแม้แต่ลูกผักชีที่เป็นส่วนเมล็ดก็ยังเป็นเครื่องเทศที่สำคัญอีกชนิด
ผักคู่เหมือน แม้หน้าตาจะคล้ายกัน แต่คนละชนิดกัน!
5 . กระชาย

จะเห็นว่าเมนูเผ็ดร้อนหลาย ๆ เมนู อย่างผัดฉ่าหรือแกงป่านั้นจะมีกระชายเป็นส่วนประกอบหลักที่ขาดไม่ได้อยู่เสมอ นั่นเพราะกระชายเป็นอีกพืชอีกอย่างที่นอกจากจะมีวิตามินสารพัดชนิดและช่วยในเรื่องของระบบย่อยอาหารแล้ว ยังมีรสร้อนแรงที่เป็นจุดเด่น ไม่ว่าใส่ในเมนูไหนก็ช่วยเพิ่มความจัดจ้าน เป็นวัตถุดิบที่เหมาะกับการนำมาปรุงอาหารในช่วงอากาศหนาวเย็นที่สุดเลยค่ะ
6 . กระเทียม

กระเทียมเป็นวัตถุดิบพื้นฐานที่ทุกบ้านต้องมีติดครัว เพราะเมนูผัดเกือบทุกประเภทจะขาดกระเทียมไปไม่ได้ นอกจากนี้ยังสามารถนำมาทำเมนูทอดกระเทียม น้ำจิ้มต่าง ๆ หรือกินสดก็ได้ จึงเป็นวัตถุดิบที่เหมาะกับทุกเพศทุกวัย ใคร ๆ ก็รับประทานได้ และนอกจากจะไปอยู่ในเมนูต่าง ๆ ได้สารพัดแล้ว กระเทียมก็มีประโยชน์ที่มากมายนับไม่ถ้วน ซึ่งการช่วยลดไข้และขับเสมหะก็เป็นอีกหนึ่งสรรพคุณที่สำคัญของกระเทียมค่ะ
7 . ขิง ข่า ขมิ้น

สำหรับสมุนไพรที่นำส่วนรากมามาปรุงอาหารได้อย่างขิง ข่าและขมิ้นนั้นอาจมีประโยชน์หลายข้อที่แตกต่างกันไปรวมทั้งให้รสชาติและนำไปปรุงได้อาหารได้อย่างไม่ซ้ำกัน โดยขิงนั้นสามารถนำมารับประทานได้ทั้งแบบสุกและดิบ ให้รสชาติเผ็ดร้อนอย่างชัดเจน ส่วนข่านั้นจะเหมาะกับการเพิ่มกลิ่นให้เมนูประเภทต้ม และถ้าต้องการสีสวย ๆ กลิ่นหอม ๆ ก็ต้องยกให้กับขมิ้น แต่ทั้งขิง ข่าและขมิ้นนั้นต่างก็เป็นสมุนไพรฤทธิ์เผ็ดร้อน ที่มีส่วนช่วยบรรเทาไข้หวัด อาการไอและเสมหะ ซึ่งเป็นอาการที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงอากาศเย็น
8 . ตะไคร้

ตะไคร้เป็นพืชที่มีกลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์จากน้ำมันหอมระเหยภายในที่ไม่เพียงแต่สามารถนำไปปรุงอาหารหรือใช้ดับกลิ่นคาวได้เท่านั้น แต่ยังนำมาทำเป็นเครื่องดื่มและเครื่องหอมรูปแบบต่าง ๆ ได้อีกด้วย ซึ่งกลิ่นหอมนี้ก็ช่วยบรรเทาอาการที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจได้ ส่วนประโยชน์อื่น ๆ ก็มีทั้งการลดไข้ รักษาหวัดและบรรเทาอาการปวด เป็นพืชที่ทั้งกลิ่นหอมและมีประโยชน์นับไม่ถ้วนเลยค่ะ
9 . หอมหัวใหญ่ หอมแดง

แม้หอมหัวใหญ่และหอมแดงจะทำให้หลาย ๆ คนต้องหลั่งน้ำตา แต่ประโยชน์ที่ได้มานั้นถือว่าคุ้มค่ามาก ๆ ค่ะ เพราะน้ำมันหอมระเหยในหอมหัวใหญ่นั้นสามารถช่วยรักษาหวัด แก้ขัดจมูกและน้ำมูกไหลได้เป็นอย่างดี แถมยังมีวิตามินซีสูง ยิ่งนำมาต้มใส่ซุปรับประทานเวลาอากาศหนาว ๆ รสหวานอ่อน ๆ ในน้ำซุปอุ่น ๆ จะช่วยให้รู้สึกดีไม่ใช่น้อย ส่วนหอมแดงนั้นก็เป็นพืชอีกชนิดที่ให้รสร้อนจึงช่วยให้ร่างกายอบอุ่นขึ้นได้ เหมาะกับการเป็นเครื่องเคียงในเมนูต่าง ๆ เพราะรสที่ออกขมผสมความเผ็ดนิด ๆ นั้นจะช่วยตัดเลี่ยนและเสริมรสของอาหารได้พอดี
10 . กุยช่าย
กุยช่ายเป็นพืชใบเขียวที่มีฤทธิ์เผ็ดร้อนแต่ก็ยังสามารถนำมาปรุงเป็นเมนูต่าง ๆ ที่รับประทานได้โดยตรง อย่างขนมกุยช่ายและเมนูผัดต่าง ๆ โดยน้ำมันหอมระเหยในใบกุยช่ายนั้นจะให้กลิ่นฉุนคล้ายกับกระเทียม รวมกับรสเผ็ดนิด ๆ แบบเฉพาะตัว ทำให้กุยช่ายเป็นผักอีกชนิดที่มีกลิ่นและรสชาติไม่ซ้ำใคร ที่สำคัญยังมีสรรพคุณในการช่วยรักษาหวัดได้เป็นอย่างดีเลยค่ะ
Story : Kamonchanok.L
Photo : นิตยสารชีวจิต