หากพูดถึงฟินแลนด์ นอกจากหิมะ และมูมิน เรายังนึกถึงงานออกแบบสไตล์สแกนดิเนเวียน โดยเฉพาะการขนานนามตัวเองว่าเป็น The Design Nation หรือประเทศแห่งดีไซน์ เห็นได้จากกรุงเฮลซิงกิ เมืองหลวงของฟินแลนด์ เคยได้รับรางวัล World Design Capital เมื่อปีค.ศ. 2012 ในฐานะที่ใช้งานดีไซน์เพื่อสร้างรากฐาน และคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนทุกภาคส่วน เช่นเดียวกับการมีนักออกแบบคนสำคัญท่านหนึ่ง ผู้ซึ่งเปรียบเสมือนสปอตไลต์ที่ช่วยให้ฟินแลนด์มีชื่อเสียงในแวดวงการออกแบบ อย่าง Alvar Aalto เจ้าพ่องานโมเดิร์น ผู้สร้างสรรค์งานดีไซน์สู่ความสากล
Alvar Aalto เกิดในปีค.ศ.1898 ที่ Kuortane เมืองเล็ก ๆ ของฟินแลนด์ซึ่งขณะนั้นอยู่ในอาณัติของรัสเซีย โดยมีพ่อเป็นนักสำรวจ หลังจากแม่เสียชีวิตตอนเขาอายุเพียง 5 ขวบได้ไม่นาน พ่อก็แต่งงานใหม่ และย้ายไปอยู่ที่ Jyväskylä ระหว่างนั้นในช่วงฤดูร้อนเขามีโอกาสเดินทางออกตระเวนสำรวจสถานที่ต่าง ๆ ไปพร้อมกับพ่ออยู่บ่อย ๆ ซึ่งช่วยให้เขาได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์และแรงบันดาลใจกลับมาไม่น้อย หลังจบการศึกษาจาก Jyväskylä Lyceum อัลโตได้ย้ายเข้ามาอยู่ที่กรุงเฮลซิงกิ และเข้าศึกษาต่อที่ Technical Institute of Helsinki ซึ่งในตอนนั้นเป็นเพียงสถาบันเดียวในฟินแลนด์ที่เปิดสอนวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ จากความชื่นชอบและตั้งใจจึงไม่ยากที่เขาจะได้รับรางวัลเรียนดียอดเยี่ยมมาครอบครองเพื่อเป็นเครื่องการันตีความสามารถ


หลังจากจบการศึกษา อัลโตได้เดินทางท่องเที่ยวไปทั่วยุโรป ก่อนจะกลับมาเริ่มงานสถาปนิกที่ Jyväskylä และแต่งงานกับ Aino Marsio ผู้เคยเป็นนักเรียนของเขามาก่อน ต่อมาจึงย้ายมาทำงานกับ Erik Bryggman ที่ Turku จนกระทั่งปีค.ศ.1933 ช่วงนั้นถือเป็นช่วงขาขึ้นในอาชีพด้านสถาปัตยกรรมของเขาก็ว่าได้ เนื่องจากได้รับมอบหมายให้ออกแบบอาคาร 3 หลังที่สำคัญของฟินแลนด์ (ซึ่งเป็นช่วงที่ฟินแลนด์กำลังสร้างชาติ หลังจากได้รับเอกราชจากรัสเซีย) และเมื่อการก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จ ทุกผลงานที่ปรากฏ ล้วนต่างช่วยยกระดับให้เขากลายเป็นที่รู้จักของวงการสถาปัตยกรรมโลกในเวลาต่อมา
อาคารทั้ง 3 หลังที่ว่านั้นได้แก่ สำนักงานหนังสือพิมพ์ Turun Sanomat Building โรงพยาบาลวัณโรคใน Paimio และห้องสมุดประชาชนของ Viipuri ความโดดเด่นที่ช่วยให้อาคารทั้งสามหลังนี้ สามารถสร้างปรากฏการณ์ด้านสถาปัตยกรรมขึ้นได้นั้น มีที่มาจากการใช้ฟังก์ชันเป็นตัวตั้งต้นในการออกแบบ ผสมผสานกับงานดีไซน์ที่ตรงไปตรงมา โดยไม่ได้อ้างอิงกับบริบททางวัฒนธรรมดั้งเดิมเลยแม้แต่น้อย เพราะสถาปัตยกรรมในฟินแลนด์ยุคนั้น นิยมการลดทอนความเป็นคลาสสิกลงให้ดูง่ายขึ้น อาคารทั้งหมดจึงเป็นเหมือนการแนะนำสไตล์โมเดิร์นในแบบที่เป็นสากลให้โลกได้เห็น ด้วยการใช้ตัวอาคารสีขาว หน้าต่างแถบ และหลังคาสแล็บตามฟังก์ชันการใช้งานที่แท้จริงของอาคาร

