ฮายค่ะทุกคนนน ฮายทางซ้าย ฮายทางขวา ฮายทุกๆทางจ้า เจ๊ศิริคนดีคนเดิมเองเด้อจ้า วันนี้เจ๊จูงเพื่อนมาสวัสดีทุกคนด้วยค่ะ จะบอกว่าเป็นเพื่อนสนิทเจ๊คนเดียวเลยก็ไม่ปาน เพราะนางก็สนิทกับทุกๆคนนั้นแหละค่ะ นางมีนามว่าน้อง “เต้าหู้” น้องเป็นสาวหมวยจากเมืองจีนที่มักจะมาในตีมซอฟใสหัวใจสี่ดวง เนเจอร์นางคือพูดน้อยแต่ต่อยโปรตีนหนัก ๆ เข้าสู่รางวัลเราแบบจุก ๆ จนหน้าสั่น
ที่บอกว่า เต้าหู้ นั้นสนิทกับทุกคนแต่หลายคนก็ทำเบลอ ๆ เรียกพวกนางแบบเหมารวมว่าเต้าหู้ แบบไม่แคร์เวิร์ลเลยว่า จริง ๆ แล้วชื่อนางคืออะไรกันแน่ วันนี้เจ๊ขออนุญาต my home จูงมือนางมาเคลียชัด ๆ มาประกาศให้โลกรู้หน่อยว่า แท้จริงเต้าหู้ที่เราทานเข้าไปนั้นเรียกว่าอะไร เผื่อไว้คราวหน้าคราวหลังถ้าเจอนางในเมนูแสนอร่อยแล้วจำชื่อนางได้
เพื่อนซี้ที่ชื่อเต้าหู้ (ไม่ยี้)

เต้าหู้ ก้อนขาวอวบเด้งดึ้ง ได้ลืมตาดูโลกที่ประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ มีความขาวหมวยติดตัวมาตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบัน ที่นู้นเรียกนางว่า โต้วฝุ ( 豆腐 ) เดิมทีเต้าหู้นั้นทำมาจากถั่วเหลืองที่ถูกบดจนละเอียดแล้วกลั่นกรองออกมาเป็นน้ำ ถูกเช็ตตัวให้แข็งในภาชนะ นอกเหนือจากความเด้งดึ๋งน่าจิ้มเล่นแล้ว เต้าหู้เป็นแหล่งโปรตีนชั้นเพชรยอดมงกุฎ ที่เทียบเท่าเนื้อสัตว์เลยเหอะ เอาจริงเนื้อสัตว์บางชนิดยังมีโปรตีนน้อยกว่านางเล้ย เต้าหู้เลยถูกหยิบยกให้เป็นอาหารสุขภาพของสาวๆที่ต้องการจะคุมน้ำหนักไปโดยปริยายเพราะย่อยง่าย ไม่มีคอเลสเตอรอล เต้าหู้จึงนับว่าเป็นเพื่อนสนิทของเราในทุกช่วงวัย โอ้ว เวรี่กู๊ดไปเลย ค่อยๆเปิดใจรู้จักนางมาแบบผิวๆกันแล้วมาลงลึกกับน้องตู้สาวหมวยกันหน่อยดีกว่าค่ะว่ามีอะไรกันบ้าง
1 . เต้าหู้ขาว

มาเริ่มกันที่ชนิดแรกที่พอพูดถึงเต้าหู้น่าจะมีภาพในหัวของเต้าหู้ชนิดนี้ชัดกว่าชนิดอื่น ๆ เพราะในหลาย ๆ เมนูก็มักจะใส่เต้าหู้ชนิดนี้กันอยู่แล้ว แต่รู้ไหมว่าจริง ๆ เต้าหูขาวถูกแยกออกได้อีกเป็นสองชนิดก็คือ
เต้าหู้ขาวแบบแข็ง เป็นเต้าหู้ที่เกิดจากการตกตะกอนของน้ำนมถั่วเหลือง แล้วถูกนำมากดทับในแม่พิมพ์ เพื่อรีดเอาน้ำส่วนเกินออกจนเหลือแต่เนื้อเต้าหู้ ทำให้เนื้อสัมผัสของเต้าหู้ชนิดนี้มีความแน่น มีรสค่อนข้างจืด ส่วนมากจะเหมาะกับการนำไปเป็นส่วนประกอบของเมนูอาหารอย่าง พะโล้ ผัดผัก แกงจืด รวมถึงการนำไปทอดเพื่อทานคู่กับน้ำจิ้มถั่ว เจ๊ลองทานแบบไม่เอาไปปรุงรสแล้วรู้สึกถึงการละทางโลก จืดสนิท แต่ได้กลิ่นเต้าหู้ได้กลิ่นถั่วเหลืองแบบเต็ม ๆ อีกชนิดคือ
เต้าหู้ขาวชนิดนิ่ม เป็นเต้าหู้ชนิดที่มีปริมาณน้ำมากกว่าเต้าหู้แข็งจึงทำให้เนื้อสัมผัสนิ่ม มีกลิ่นหอมที่ชัดเจนกว่าแบบแข็ง มีความเด้งดึ๋งกว่า แต่ว่ามีโปรตีนน้อยกว่าแบบแข็งนะ ส่วนใหญ่นิยมนำไปทำสเต็กเต้าหู้ย่าง เอาไปใส่ในแกงจืด นำไปนึ่งจิ้มกับซีอิ้ว หรือ ทำเมนูอาหารที่ต้องการรสสัมผัสที่อ่อนนุ่ม กินแล้วสบายลิ้นไม่บาดคอ
ปริมาณพลังงานและโปรตีน
- เต้าหู้ขาวแข็ง 100 กรัม พลังงาน 145 กิโลแคลอรี โปรตีน 16 กรัม
- เต้าหู้ขาวอ่อน 100 กรัม พลังงาน 76 กิโลแคลอรี โปรตีน 8 กรัม
2 . เต้าหู้เหลือง

เจ๊ว่าชนิดนี้น่าจะแยกกันออก จำชื่อกันได้ด้วยสีเหลืองที่เป็นเอกลักษณ์ เด่นชัดกระแทกตาขนาดนี้ เหลืองชนิดที่ว่าอยู่หน้าตลาดยังรู้เลยว่าร้านไหนมีจำหน่ายบ้าง เต้าหู้ชนิดนี้ก็มีทั้งแบบอ่อนและแบบแข็ง มาในลักษณะเป็นก้อนสี่เหลี่ยมสีเหลืองอร่ามจากขมิ้นเพื่อช่วยเพิ่มกลิ่น รสชาติ รวมถึงช่วยยืดอายุในการเก็บรักษา เต้าหู้ชนิดนี้ให้อยู่ทนอยู่นานกว่าเต้าหู้ชนิดอื่น เนื้อด้านในจะมีสีขาวนวล รสชาติออกเค็มกว่าเต้าหู้ขาว พอเวลาจะนำนางคนนี้ไปประกอบอาหารก็ควรที่เลือกใส่แต่พอดี ๆ หรือเป็นเมนูที่ต้องการความเค็มแบบธรรมชาติ ไม่ใส่มือหนักซัดน้ำปลา ซัดเกลือลงไปจนลืมเผื่อรสชาติของนางคนนี้ด้วย ส่วนมากเราจะเจอเต้าหู้เหลืองแบบนี้ในเมนูหมี่กะทิ , หมี่กรอบ , ผัดไทย , ก๋วยเตี๋ยวหลอด หรือ ผัดกับถั่วงอก ส่วนเต้าหู้เหลืองอีกชนิดนึงคือ เต้าหู้เหลืองแบบนิ่ม ส่วนมากเราจะเจอตอนที่ถูกทอดและตัดมาเป็นลูกเต๋า มีเนื้อสัมผัสที่กรอบนอกและนุ่มด้านใน ส่วนใหญ่จะนำไปทอดแล้วราดซอส เอานางไปทำเต้าหู้น้ำแดง เอาไปผัดกับกุ่ยช่ายขาว
ปริมาณพลังงานและโปรตีน
- เต้าหู้เหลืองนิ่ม 100 กรัม พลังงาน 76 กิโลแคลอรี โปรตีน 6 กรัม
- เต้าหู้เหลืองแข็ง 100 กรัม พลังงาน 145 กิโลแคลอรี โปรตีน 16 กรัม
3 . เต้าหู้หลอด

ถ้าให้นึกถึงเอาภาพจำของคำว่า เต้าหู้ ออกมาจากความคิดของเด็ก ๆ เต้าหู้ในมุมของเจ้าจิ๋วจะต้องเป็นเต้าหู้หลอดที่มีสีนวล ๆ เนื้อเด้งดึ๋ง รสหวานทานง่ายเป็นทั้งขวัญใจสมาคมคนเป็นแม่แห่งประเทศไทย พวงด้วยตำแหน่งขวัญใจมวลมหาประชาเด็กแห่งชาติอย่างแน่นอน เพราะเจ้าเต้าหู้หลอดนั้นค่อยข้างหาซื้อได้ง่าย ทำทานก็ง่ายทั้งเด็กผู้ใหญ่ก็ต่างติดอกติดใจกับเต้าหู้หลอดกันทั้งนั้นเลย แต่รู้ไหมว่าเต้าหู้หลอดเนี๊ยไม่ได้มีชนิดเดียวนะคะ นางแยกออกไปได้อีกสองชนิดด้วยกันทั้ง ชนิดที่ทำมาจากถั่วเหลืองล้วนและชนิดที่ทำมาจากไข่ไก่หรือมีไข่ไก่เป็นส่วนประกอบ ซึ่งทั้งสองชนิดนี้ถูกบรรจุอยู่ในหลอดสุญญากาศ ทำให้มีอายุการเก็บรักษาได้นานกว่าเต้าหู้อ่อนแบบทั่วไป เรียกว่าดึงข้อดีมาไว้ในหลอดนี้จนหมด ราคาก็ถูก หาซื้อง่าย รสอร่อย มีประโยชน์เทียบเท่าเต้าหู้ชนิดอื่น ๆ เลยค่ะ เปิดตู้เย็นมาเจอเต้าหู้หลอดอยู่ก็อุ่นใจได้ไม่อดตายอย่างทรมานแน่นอนค่ะ จะหั่นมาทำเป็นแกงจืดก็ดี สุกี้ยากี้ก็ดี หรือจะผัดกลายเป็นเต้าหู้ทรงเครื่อง เต้าหู้น้ำแดง หรือ หั่นใส่มาม่ากินตอนดึก ๆ ก็ดีทั้งนั้นเลยค่ะ จะบอกวาเป็นมิตรแท้ชาวเด็กหอเลยก็ได้
ปริมาณพลังงานและโปรตีน
- เต้าหู้หลอด 120 กรัม (1 หลอด) พลังงาน 60-70 กิโลแคลอรี โปรตีน 13 กรัม
4 . เต้าหู้ญี่ปุ่น

ยังคงเป็นสาวหมวยแต่เปลี่ยนประเทศมาที่ญี่ปุ่นกันบ้าง กับเต้าหู้ญี่ปุ่น ที่มีกรรมวิธีในการผลิตแบบเฉพาะตัว จริง ๆ แล้วเต้าหู้ญี่ปุ่นจำแนกชนิดออกไปได้หลายชนิดมาก แต่ที่นิยมนำมาทำกินกันมีแค่สองชนิด จะเรียกว่านิยมเพราะมันหาได้ง่ายกว่าชนิดที่เหลือก็ได้นะ แวดวงเต้าหู้ญี่ปุ่นที่คนไทยนิยมกินกันก็มีทั้งเต้าหู้สีขาวลักษณะนิ่ม หรือที่เรียกว่าคินุ เป็นเต้าหู้ที่มีหน้าตาคล้ายกับเต้าหู้ขาวชนิดอ่อนของบ้านเรามากประมาณนึง พอจะเป็นพี่น้องได้ ไม่ถึงกับฝาแฝด ทั้งเรื่องกระบวนการผลิตที่ เจ้าเต้าหู้ญี่ปุ่นเนี๊ยเกิดจากการนำนมถั่วเหลืองร้อนมาเทลงรวดเดียวในแม่พิมพ์ จึงทำให้มีลักษณะพื้นผิวที่เรียบเนียนกว่า มีรสสัมผัสที่อ่อนนุ่มเหมาะกับการนำมาทำแกงจืด ต้มใส่ลงไปในซุป ใส่ในเมนูสุกี้ หรือจะปั่นเป็นซอส ทำเป็นน้ำสลัดโรยงาขาว หรือจะผสมลงไปในไข่ตุ๋นก็ได้ทั้งนั้น
ส่วนเต้าหู้ญี่ปุ่นอีกชนิดคือเต้าหู้ขาวแบบแข็งหรือที่เรียกว่าโมเมน เป็นเต้าหู้ที่ผ่านการแยกน้ำโดยใช้เบสตัวเดียวกับแบบนิ่ม แต่มีการคลุมด้วยผ้าฝ้ายหรือผ้าขาวบาง แล้วจึงกดทับจากด้านบน เพื่อเป็นการรีดน้ำออกจากเต้าหู้ ลองสังเกตุดูว่าเนื้อของเต้าหู้ชนิดนี้จะมีรอยของผ้าติดอยู่ที่ผิวไม่เหมือนกับเต้าหู้ในแบบอื่น ๆ จึงนับว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของพี่คนนี้เลยหล่ะ ส่วนมากจะนิยมนำมาใส่ในสุกี้ ผัดกับถั่วงอก หรือ ใส่ในก๋วยเตี๋ยวหลอด
ปริมาณพลังงานและโปรตีน
- เต้าหู้คินุ 100 กรัม พลังงาน 50 กิโลแคลอรี โปรตีน 5 กรัม
- เต้าหู้โมเมน 100 กรัม พลังงาน 90 กิโลแคลอรี โปรตีน 10 กรัม