จัดบ้านให้เป็นระเบียบ จัดระเบียบ

3 เทคนิคการเก็บของ สำหรับคนช่างซื้อ เก็บอย่างไรให้เป็นที่ แถมยังดูดีอีกด้วย

จัดบ้านให้เป็นระเบียบ จัดระเบียบ
จัดบ้านให้เป็นระเบียบ จัดระเบียบ

ในทุก ๆ การจัดบ้าน เรามักจะพบของมากมายหลายชิ้นที่เราอาจจะหลงลืมมันไปแล้วว่าเคยมี จำได้ว่าเอาวางไว้ตรงแถวนี้ แต่วันดีคืนดีของสิ่งนั้นก็หายวั๊บไปกับตา เหมือนเราไม่เคยมีอยู่เลย ปัญหาเหล่านี้น่าจะเกิดกับใครหลาย ๆ คนที่มีของอยู่มากมาย แต่จัดเก็บไว้ไม่เป็นที่เป็นทาง ไม่ได้แยกประเภทว่าสิ่งนี้ใช้งานบ่อย สิ่งนี้เอาไว้โชว์ และสิ่งนี้เก็บจนลืม

วันนี้ my home ขอเอาใจคนช่างซื้อ ช่างเก็บ กับ 3 เทคนิค การจัดบ้าน ให้เก็บของอย่างไรให้เป็นที่เป็นทาง จะหยิบใช้เมื่อไหร่ก็หาเจอ หรือจะตั้งโชว์ไว้ก็สวยแบบไม่รกบ้าน ไม่สวนทางกับพื้นที่จัดเก็บที่เราอยู่มีอยู่หน่อยนึง รับรองได้เลยค่ะว่าเมื่อทำตามแล้วอยากจะออกไปช็อป ไปซื้อของมาถมอีกเท่าไหร่ก็ได้เลย

 

การจัดบ้าน แบบเก็บไว้ใช้

บางคนของเยอะแต่เป็นของที่ต้องใช้งานบ่อย ๆ จุดประสงค์ของการเก็บของประเภทนี้คือต้องมองเห็นง่าย หยิบใช้สะดวก
ในขณะเดียวกันก็ต้องเป็นระเบียบไม่ปะปนกันกับของอื่น ๆ

1.ชั้นวางของติดผนัง

ชั้นวางของในห้องนั่งเล่นขนาดเล็ก โทนสีอบอุ่น

ถ้าพื้นที่ทำงานของคุณไม่ได้กว้างขวางมากลองใช้ชั้นโปร่ง ๆ ที่มีความสูงมากกว่าความลึก (ลึกประมาณ25 – 30 เซนติเมตร) จะไม่ทำให้ห้องทึบ แต่ถ้ากังวลเรื่องฝุ่นอยากจะหาลิ้นชักใส ๆ มาใส่ก็ได้เหมือนกัน ใครมีฝีมือตัดเย็บนิดหน่อย ลองเย็บผ้าม่านแล้วติดเทป
ตีนตุ๊กแก หรือใช้ห่วงแขวน เพื่อทำเป็นหน้าบานกันฝุ่นที่ชั้นก็ได้ สวยไม่เหมือนใคร และถอดซักทำความสะอาดได้สะดวก

2 . ชั้นวางของบนโต๊ะ

ชั้นวางของในมุมทำงาน

สำหรับของที่หยิบใช้บ่อย ๆ ให้วางในกระบะจะทำให้มองเห็นได้ง่าย ส่วนชิ้นที่ไม่ค่อยหยิบก็เก็บใส่ลิ้นชักใสเพื่อกันฝุ่น ไม่แนะนำกล่องที่มีฝาเปิดด้านบน เพราะเมื่อวางกล่องซ้อนกัน จะทำให้หยิบของด้านในออกมาใช้ไม่สะดวก

3. โต๊ะทำงาน

ไอเดียการจัดห้องทำงาน

เลือกใช้โต๊ะที่มีความยาวประมาณ 100 – 150 เซนติเมตรเมื่อวางคอมพิวเตอร์หรือแล็ปท็อป แล้วจะเหลือพื้นที่ให้ทำงานอย่างอื่นได้อีก ถ้าเป็นโต๊ะขาโปร่ง ยังหาชั้นเตี้ยแบบมีล้อมาใส่ของใต้โต๊ะได้อีกนะ

4. แผงอุปกรณ์

การจัดเก็บอุปกรณ์เครื่องเขียน

ถ้าคุณไม่อยากวางบนโต๊ะ และพอมีพื้นที่บนผนังว่าง ๆ ใกล้โต๊ะซื้อกระดานไม้ก๊อกจากแผนกเครื่องเขียน ตอกตะปูลงไป
เอาไว้แขวนอุปกรณ์ที่ใช้บ่อย ๆ จะช่วยให้หยิบง่าย และเป็นการบังคับให้คุณแขวนและเก็บของเข้าที่ทุกครั้งหลังใช้งาน

5. ตู้เสื้อผ้า

ตู้เสื้อผ้า

ชั้นวางรองเท้า ตู้เก็บรองเท้า

รวมถึงตู้รองเท้า หรือตู้เก็บกระเป๋า เครื่องประดับต่าง ๆ จะเล็กใหญ่ไม่สำคัญ แต่ควรแบ่งเก็บให้เหมาะกับการใช้งานเช่น เสื้อยืดไม่จำเป็นต้องรีด ก็ม้วนใส่ลิ้นชัก กางเกงยีนที่เป็นผ้าหนา ๆ ก็ให้พับครึ่งใส่ไม้แขวนที่แข็งแรงหน่อยจะแยกตามประเภทหรือตามสี ก็แล้วแต่สะดวก เสื้อกันหนาวที่นาน ๆ หยิบใช้ที เก็บไว้ชั้นบนสุดของตู้ หรือเก็บลงกล่องพลาสติกไปเลย เข้าฤดูหนาวเมื่อไหร่ค่อยหยิบ
ออกมา จะได้ไม่เปลืองที่ในตู้

การจัดบ้านแบบ เก็บเพื่อโชว์

วัตถุประสงค์หลักของการสะสม อาจจะเพื่อคุณค่าทางจิตใจแต่หลายคนเมื่อเก็บแล้วก็อยากให้คนอื่นได้มาร่วมชมด้วย พื้นที่
จัดเก็บประเภทนี้จึงต้องเน้นให้เกิดความสวยงาม มองเห็นได้ง่าย

 

1. ชั้นวางของ

ตู้โชว์ ตู้เก็บของสีขาว

เลือกแบบที่มีหน้าบานเป็นกระจกใส เพื่อให้มองเห็นของสะสมด้านใน แต่ถ้าคอลเล็คชั่นของคุณมีขนาดและความสูงมากกว่าของทั่วไป ลองสั่งทำชั้นแบบเฉพาะก็จะเหมาะกว่า ชั้นที่ทำจากกระจกทั้งหมดอาจมีราคาสูง แต่ถ้าคุณตั้งใจลงทุนจริง ๆ ก็จะได้ทั้งชั้นวางและพาร์ทิชันกั้นพื้นที่ แบบที่ไม่ทำให้ห้องดูทึบด้วย

2. ตู้หรือชั้นบิลท์อิน

ชั้นบิลท์อิน ตู้บิลท์อินไม้

ไม่ต้องทำเป็นชิ้นใหญ่โต อาจจะแค่แผ่นไม้สำเร็จรูปจากแผนกตกแต่งบ้าน ที่คุณสามารถติดตั้งได้ด้วยตัวเองซึ่งจะเหมาะกับของสะสมชิ้นเล็ก ๆ ที่น้ำหนักไม่เยอะ ของที่จะวางบนชั้นหรือตู้บิลท์อินแบบนี้ ควรเป็นของที่ไม่เปราะบางมากนัก อาจจะติดเทปกาว
สองหน้าแบบลอกออกได้ที่ฐานเพื่อให้ตั้งได้อย่างมั่นคง เวลาใช้ไม้ขนไก่ปัดทำความสะอาดจะได้ไม่ตกหล่นเสียหาย

3. ห้องโฮมเธียเตอร์

มุมพักผ่อน ห้องโฮมเธียเตอร์

เราไม่ได้หมายถึงชุดเครื่องเสียงและอุปกรณ์เท่านั้น แต่ยังหมายถึงแผ่นเสียง ดีวีดีภาพยนตร์หรือคอนเสิร์ต ที่กลายเป็นของสะสม
ของใครหลายคน เดี๋ยวนี้มีหลายแบรนด์ผลิตตู้เพื่อเก็บของเหล่านี้ออกมา ซึ่งจะมีขนาดพอดีกับแผ่นเสียงหรือกล่องดีวีดี ทำให้
ประหยัดพื้นที่ ลองเปลี่ยนจากการเก็บแบบเรียงตามตัวอักษรมาเป็นเรียงตามประเภทของภาพยนตร์หรือเพลงก็ดีนะ เพราะหลายครั้งเรามักเลือกหยิบหนังหรือเพลงตามอารมณ์มากกว่าจะเลือกจากไตเติ้ลหรือหน้าปก

4. ชั้นวางหนังสือ

ไอเดีย ชั้นหนังสือ ชั้นเก็บหนังสือ

หลายคนละเลยของที่ตัวเองสะสม เราขอแนะนำเรื่องการดูแลว่าหากคุณเก็บในตู้มีหน้าบานปิด อย่าลืมหาซองกันชื้นใส่เข้าไปในตู้
เพื่อยืดอายุหนังสือ หรือถ้าหากเป็นแมกกาซีน เมื่อถึงระยะเวลาหนึ่ง ก็ควรหาทางกำจัดออกไปบ้าง เพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บสำหรับเล่มใหม่ ๆ ถ้าอยากเก็บแมกกาซีนมาก ๆ ให้ฉีกเอาปกและโฆษณาออกเก็บไว้เฉพาะหน้าคอนเทนต์ที่คุณชอบ จะใช้คลิปหนีบกระดาษหนีบแยกไว้เป็นเล่ม หรือเก็บใส่แฟ้มเอกสารก็ได้ไม่เพียงประหยัดพื้นที่ คุณยังจะได้เรเฟอเรนซ์ดี ๆ สวย ๆ ไว้ดูเวลานึกอยากแต่งบ้านหรือทำงานอื่น ๆ

การจัดบ้าน แบบเก็บมิดชิด

น่าจะเป็นเคสที่เจอได้บ่อยที่สุดโดยเฉพาะคุณแม่บ้านที่ขยันซื้อแต่มักลืมเอาของเก่าออกไป หัวใจสำคัญของการจัดเก็บข้อนี้คือ
ทุกอย่างต้องเรียบร้อยที่สุดโล่งที่สุด และไม่เกะกะที่สุด

1. ตู้บิลท์อิน

ตู้บิลท์อิน

บิลท์อินมีประโยชน์ตรงที่ออกแบบให้เหมาะกับพื้นที่และของที่จะจัดเก็บได้ โดยเฉพาะมุมอับอย่างห้องเก็บของใต้บันได ที่หาตู้หรือชั้นมาวางให้พอดีได้ยากบิลท์อินไปเลยก็สะดวกดี แม้เป็นของที่ไม่ค่อยใช้ แต่ก็ใช้หลักการเดียวกันกับของที่เก็บเพื่อใช้งาน นั่นคือเรียงลำดับจากใช้มากสุดไปน้อยที่สุด วางจากด้านนอกเข้าไปด้านในตู้หรือวางจากชั้นล่างไปยังชั้นบนที่เอื้อมหยิบยาก

 

2. ประตูห้อง

เก็บของหลังประตู

หาตะขอมาแขวนหรือติด ใช้แขวนพวกไม้กวาด ไม้ถูพื้นหรืออุปกรณ์ทำความสะอาดให้เป็นระเบียบ ของเหล่านี้แม้จะหยิบใช้บ่อยแต่หาที่เก็บลำบาก อุปกรณ์ทำความสะอาดต้องสะอาดอยู่เสมอ เราจึงอยากแนะนำให้คุณทำความสะอาด เคาะฝุ่นผง เช็ด หรือซัก
ตากให้แห้ง ก่อนนำไปเก็บ และการเก็บให้เป็นที่แทนที่จะวางไว้ตามจุดต่าง ๆ ในบ้าน ยังสร้างวินัยการจัดเก็บได้อีกด้วย

 

3. กล่องพลาสติก หรือกล่องกระดาษ

กล่องกระดาษ

ตัวช่วยในทุกสถานการณ์ ยิ่งเป็นของที่ไม่ได้ใช้บ่อย ๆ กล่องแบบมีฝาปิดมิดชิดยิ่งเหมาะมาก กันฝุ่น แมลงและความชื้นได้ดี วางซ้อนกันก็ง่าย แปะ mt tape แล้วเขียนชื่อแยกประเภทของไว้ข้างกล่อง แทนการเขียนลงไปบนกล่องโดยตรง ดูน่ารักและยังนำกล่องมาใช้ได้อีกเรื่อย ๆ เพราะไม่มีรอยลบหรือรอยขีดฆ่า

 

Story : มนตรา ศิริขันธ์

เรียบเรียง : ออ-ร-ญา


เคล็ดลับการจัดบ้านให้เป็นระเบียบภายใน 1 วัน !

รวม Tips จัดระเบียบห้องให้เรียบร้อยและลงตัว