คอนกรีตหล่อ

ผนังคอนกรีตหล่อ ผิวสัมผัสหยาบกร้านที่ช่วยให้อาคารดูดิบเท่ไปอีกแบบ

คอนกรีตหล่อ
คอนกรีตหล่อ

หนึ่งในวิธีการสร้างความน่าสนใจให้พื้นที่ด้วยกำแพงคอนกรีตที่มีผิวสัมผัสดิบ ไร้การปรุงแต่ง คือการใช้เทคนิค การหล่อคอนกรีตในที่ ซึ่งแม่พิมพ์หรือไม้แบบที่ใช้หล่อนี้จะทำให้เกิดผิวสัมผัสที่ไม่เรียบบนผนังหลังจากถอดแม่พิมพ์ออก แม้การหล่อผนังคอนกรีตจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าผนังก่ออิฐฉาบปูน แต่ด้วยผิวสัมผัสที่แตกต่าง มีเสน่ห์ จึงทำให้ได้รับความนิยมมากขึ้น

กระบวนการ การหล่อคอนกรีตในที่ เริ่มจากการนำแบบประกอบหรือแม่พิมพ์ยึดเข้าด้วยกันตามรูปทรงที่ต้องการ แล้วเสริมเหล็กเส้นข้างใน จากนั้นเทคอนกรีตลงไป เมื่อคอนกรีตเซตตัวจึงค่อยถอดแม่พิมพ์ออก โดยแม่พิมพ์สามารถทำได้จากเหล็กและไม้ ซึ่งมีข้อดีและข้อเสียต่างกันออกไป

การใช้แม่พิมพ์เหล็กจะได้ผนังที่มีความเรียบเนียนสูง เนื้อคอนกรีตผสานเป็นเนื้อเดียวกัน แต่เมื่อถอดแบบออก มักทิงร่องรอยของรูนอตเอาไว้กลายเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่ง แต่ทั้งนี้อาจมีข้อจำกัดด้านราคาที่ค่อนข้างสูง

สำหรับการใช้แบบจากไม้ ด้วยเท็กซ์เจอร์หยาบ ๆ ตามลายไม้เมื่อถอดแบบออก จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการสร้างลุคดิบเปลือยให้ผนังคอนกรีต แต่ควรควบคุมการก่อสร้างให้ดี เพราะหากยึดไม้แบบไม่สนิท อาจทำให้คอนกรีตไหลออกมาตามช่องได้

และนี่คือบ้านตัวอย่าง กับไอเดียสร้างผิวสัมผัสดิบเท่ให้ผนังไร้การปรุงแต่ง ด้วยเทคนิคการหล่อคอนกรีตในที่ ที่ room คัดสรรมาฝากกัน


หล่อผนังคอนกรีตในที่ให้กลายเป็นบ้านสไตล์ลอฟต์สุดเท่

บ้านสไตล์ลอฟต์ โดดเด่นด้วยผนังคอนกรีตหล่อในที่ ในแนวคิดแบบ unfinished architecture หรือบ้านที่ดูไม่เสร็จ และไม่มีวันเสร็จเพราะสามารถปรับเปลี่ยนไปได้ตามวัย โดยไม่จำเป็นต้องเป็นสภาพแบบนี้ตลอดไป  อีกทั้งด้วยฟังก์ชันของบ้านที่คุณสถาปัตย์  ธีรนิตยภาพ และคุณวรัษฐา พงศ์ธนานิกร คู่รักศิลปินต้องการให้ชั้น 2 เป็นมากกว่าพื้นที่อยู่อาศัย จึงได้ควบรวมฟังก์ชันต่าง ๆ ไว้ด้วยกันไม่ว่าจะเป็นครัวพร้อมเคาเตอร์กลางขนาดใหญ่ คู่กับโต๊ะยาวที่ทั้งคู่ใช้งานอเนกประสงค์ตั้งแต่กินข้าว นั่งทำงาน ประชุม ไปจนถึงปาร์ตี้

อีกฟากหนึ่งที่ขณะนี้ใช้เป็นมุมสตูดิโอขนาดย่อม พรั่งพร้อมด้วยเครื่องดนตรีนานาชนิดที่เรียกได้ว่าครบวง โดยมีฉากหลังเป็นผนังคอนกรีตหล่อในที่ สลับกับผนังสีขาวเรียบ ๆ ที่คุณตั้มเตรียมไว้ให้กลายเป็น “Limbo” หรือฉากถ่ายภาพ สเปซนี้จึงยืดหยุ่นและสามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้หลากหลายตามกิจกรรมหมุนเวียนเกิดขึ้นสม่ำเสมอ ราวกับว่าบ้านหลังนี้ออกแบบมาให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

อ่านต่อบ้านหลังนี้ฉบับเต็ม : เบาเฮ้าส์ บ้านสไตล์ลอฟต์สุดเท่ของศิลปินคู่รักสุดแนว

เจ้าของ :    คุณสถาปัตย์  ธีรนิตยภาพ และคุณวรัษฐา พงศ์ธนานิกร
ออกแบบ-ตกแต่ง : คุณสถาปัตย์ ธีรนิตยภาพ และ บริษัท Ken Lim Architects


บ้านคอนกรีตหล่อ ส่วนผสมของสวิสดีไซน์ในบริบทของความเป็นทรอปิคัล

บ้านหลังนี้เป็นส่วนผสมของความเป็นสวิสดีไซน์ มีความแม่นยำ มีเส้นสายชัดเจน รายละเอียดดูเนี้ยบ เน้นโชว์สัจวัสดุ สามารถใช้งานได้จริง และมีฟังก์ชันที่สัมพันธ์กันหมดทั้งบ้าน ก่อสร้างแบบคอนกรีตหล่อในที่ ( Exposed Concrete) ผสมกับโครงสร้างแบบ Post Tension หรือพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กอัดแรง เหมือนพื้นของการก่อสร้างอาคารสูง ผลที่ได้คือการได้ระยะเสากว้างแบบ (Long- Span) ไม่บดบังมุมมองของทัศนียภาพ แถมบ้านยังได้ลุคคลีน ๆ ดูเรียบ ๆ สบายตา

สำหรับวัสดุที่ใช้ก่อสร้างรวมถึงอีลีเม้นต์ตกแต่งส่วนต่าง ๆ ในบ้านล้วนสะท้อนความเป็นไทย เน้นใช้วัสดุธรรมชาติ เพื่อสร้างบรรยากาศให้บ้านดูอบอุ่น ใช้ดูเทคนิคการออกแบบตกแต่งบ้านให้ดูเป็นไทย เช่น หน้าต่างบานเฟี้ยมระแนงไม้ รวมถึงงานคอนกรีตและไม้ซึ่งเป็นงานถนัดของช่างไทย

อ่านต่อบ้านหลังนี้ฉบับเต็ม : Bang Saray House ส่วนผสมของสวิสดีไซน์ ในบริบทของความเป็นทรอปิคัล

ออกแบบ : คุณอรุณรัตน์ จงศิริรวาณิช จากบริษัท GooodLux Design Consultancy และคุณลุค ยัง จากบริษัทสถาปนิกคิดดี


บ้านคอนกรีตสไตล์โมเดิร์นทรอปิคัล ให้ลุคดิบเปลือยจากเทคนิคหล่อคอนกรีตในที่

การหล่อคอนกรีตในที่

บ้านคอนกรีตสมัยใหม่หลังนี้เป็นของ คุณ Andra Matin สถาปนิกชาวอินโดนีเซียแห่งสำนักงานออกแบบ Andramatin เขาออกแบบโดยเน้นพื้นที่เปิดโล่งและสร้างพื้นที่อเนกประสงค์ในลักษณะคล้ายใต้ถุนบ้าน ตามแบบฉบับบ้านในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ผนังอาคารของบ้านคอนกรีตสไตล์โมเดิร์นทรอปิคัลหลังนี้ คุณ Andra Matin ใช้เทคนิคการหล่อคอนกรีตในที่เพื่อความคงทนถาวร โดยเว้นช่องแสงให้อยู่ในระนาบเดียวกับราวจับของระเบียงซึ่งเป็นช่องทางเดินหลักของบ้าน แล้วปล่อยให้ชายคาคอนกรีตทิ้งลงมาหาราวจับระเบียงในระยะห่างที่พอดิบพอดี เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวจากสายตาคนภายนอก โดยที่ผู้อาศัยอยู่ภายในสามารถมองเห็นภายนอกได้อย่างชัดเจน อีกทั้งยังเป็นการเปิดช่องให้ลมผ่าน และเป็นการควบคุมปริมาณแสงแดดที่จะผ่านเข้ามาสู่ภายในบ้านไปด้วยในตัว

อ่านต่อบ้านหลังนี้ฉบับเต็ม: AM HOUSE บ้านคอนกรีตสไตล์โมเดิร์นทรอปิคัล

เจ้าของ – ออกแบบ : คุณ Andra Matin


บ้านดิบเท่กลางป่า ที่แผงฟาซาดก่อสร้างด้วยวิธีการหล่อในที่

บ้านดิบเท่กลางป่าหลังนี้ สถาปนิกเลือกใช้วัสดุคอนกรีตเปลือยผิวเพื่อจำกัดงบประมาณในการก่อสร้าง อีกทั้งยังเหมาะสมกับศักยภาพของฝีมือแรงงานท้องถิ่น เปลือกอาคารคอนกรีตที่ห่อหุ้มกล่องอาคารนี้ไว้ถูกออกแบบเป็นแผงคอนกรีตที่มีความลึก 90 เซนติเมตร ครีบคอนกรีตหนา 15 เซนติเมตร สานกันเป็นลักษณะคล้ายลังไข่ที่มั่นคงแข็งแรง แบ่งแผงฟาซาดออกเป็นช่องเล็ก – ใหญ่คละกันเพื่อสร้างจังหวะที่น่าสนใจ

นอกเหนือจากรูปลักษณ์ที่สวยงามแผงเหล่านี้ยังช่วยกรองแสงแดด ป้องกันความร้อน ส่วนช่องว่างที่เกิดขึ้นยังช่วยให้อากาศสามารถถ่ายเทได้อย่างสะดวกที่สำคัญสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับผู้อาศัย แถมยังเหลือพื้นที่ให้ต้นไม้น้อยใหญ่ได้เขยิบเข้ามาใกล้ชิด โดยที่แผงฟาซาดนี้ก่อสร้างด้วยวิธีการหล่อในที่ โดยใช้ไม้แบบขนาดมาตรฐานเพื่อช่วยประหยัดเวลาในการก่อสร้างงบประมาณ และเป็นวิธีที่ช่างท้องถิ่นชำนาญ ทำให้ได้ชิ้นงานที่เรียบร้อยสวยงาม

อ่านต่อบ้านหลังนี้ฉบับเต็ม: TROPICAL BOX HOUSE “ลังไข่” บ้านคอนกรีตกลางป่าร้อนชื้น

เจ้าของ : คุณ Chan Chee Leong 
ออกแบบ : WHBC Architects 
www.whbca.com
ภาพ : Kent Soh

อ่านต่อ บ้านตัวอย่างกับไอเดียสร้างผิวสัมผัสดิบเท่ให้ผนังไร้การปรุงแต่ง ด้วยเทคนิคการหล่อคอนกรีตในที่ ที่เหลือหน้าถัดไป