สมชาย จงแสง

คุยกับ สมชาย จงแสง ถึงการเปลี่ยนแปลงของ DECA ATELIER ในวันนี้

สมชาย จงแสง
สมชาย จงแสง

หลายคนในวงการดีไซน์รู้จักคุณ สมชาย จงแสง แห่ง Deca Atelier ในฐานะดีไซเนอร์แถวหน้าแนวโมเดิร์น ทั้งจากงานอินทีเรียร์ และงานสถาปัตยกรรม อาทิ ตึกโรงอาหารเท่ๆ ของโอสถสภา ห้องพักในธีม metal ของโรงแรม So Sofitel และงานบ้านโมเดิร์นสวยๆ อีกหลายหลัง

แต่วันนี้ Deca Atelier ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบแนวคิด และแนวทางการทำงานออกไปอย่างน่าแปลกใจ เป็นอีกยุคของการทำงานที่คุณ สมชาย จงแสง จะมาเล่าให้เราฟัง

สมชาย จงแสง

Somchai Jongsaeng: “ผมว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่สามสำหรับผม ช่วงแรกเป็นช่วงตั้งบริษัทเมื่อปี 2536-2540 พอปี 2540 ก็เจอการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทีหนึ่ง แล้วก็มาเปลี่ยนแปลงอีกทีเมื่อปีที่แล้ว คือคนเปลี่ยนด้วย สังคมเปลี่ยนด้วย ไลฟ์สไตล์เปลี่ยน มุมมองทุกอย่างเปลี่ยนหมด สื่อเปลี่ยนหมดอย่างที่เราเห็น”

ในช่วงกระแสงานมินิมัลเป็นกระแสที่สำคัญของวงการออกแบบ ผลงานของคุณสมชายซึ่งเริ่มต้นจากงานอินทีเรียร์ ได้ขยับขยายไปสู่งานสถาปัตยกรรม และได้รับการกล่าวถึงเป็นอย่างมากทั้งในมุมมองของสื่อ และการยอมรับในแวดวงดีไซเนอร์ องค์ประกอบที่น้อย เรียบ เกลี้ยงเกลา แต่มีความงามของสเปซ และตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์แบรนด์ชั้นนำจากอิตาลี กลายเป็นเอกลักษณ์ในงานของ Deca Atelier ซึ่งมีความแตกต่างไปจากงานในช่วงนี้ของบริษัท

ผลงานการออกแบบบ้านโดย Deca Atelier ในปี 1997
สมชาย จงแสง
ผลงานการออกแบบบ้านโดย Deca Atelier ในปี 1997

 

Somchai Jongsaeng: “ถามว่าวันนี้เราทำอะไร เราเอางานสถาปัตยกรรมเข้ามาไว้ในอินทีเรียร์ตั้งแต่ที่เราเริ่มทำงาน คิดจากภายในสู่ภายนอก เป็นงานอินทีเรียร์ที่ไปปรากฎในงานเอ็กซ์ทีเรียร์ วันนี้เราเอาความที่เป็นมัณฑศิลป์มาใช้ในงานที่เป็นงานภายนอก และใส่ใจในรายละเอียดซึ่งหมายถึงประสบการณ์ของสเปซ กับความจริงแท้ในเนื้อหาของงาน การเปลี่ยนแปลงของเราก็เพื่อให้เราได้ทำงานตามสิ่งที่เราคาดหวังไว้ เพื่อให้มีสเกลที่มันเหมาะสมกับการทำงาน

“ช่วงที่สามของผมก็คือ เมื่อมีคนรู้จักแล้วเราจะอยู่ยังไง เป็นช่วงที่เอาทุกอย่างมาผสมผสาน เอาความเป็นมัณฑศิลป์ที่มีรายละเอียดเข้ามาใช้ในยุคที่งานคราฟท์ งานแฮนด์เมดที่มันเป็นฝีมือมนุษย์ มีความหมาย ไม่ใช่แค่คอนเทนท์หรือรูปฟอร์มเฉยๆ”

สมชาย จงแสง

room: ความสุขในการทำงานทุกวันนี้คืออะไร

Somchai Jongsaeng: “วันนี้มีความสุขกว่าเก่า เพราะไม่ได้ทำงานเยอะมาก แต่ได้ทำงานที่เป็นเนื้องานจริงๆ วันนี้พอเราปรับสเกลให้คนน้อยลงความกังวลในการเรื่องงานก็ลดลง แต่ไม่ได้หมายความว่าผมไม่ต้องหางาน (ยิ้ม) เดี๋ยว ไม่ใช่แบบ โหยพี่ไม่ต้องหางานแล้ว ผมยังต้องหางานอยู่ เพียงแต่ไม่ต้องหามาก เพราะคนผมไม่ได้เยอะเหมือนก่อนแล้ว ผมก็เลยทุ่มเทกับงานที่อยู่ตรงหน้าได้มากขึ้น มันก็เลยสนุกมากขึ้น และมันก็มีหลายงานที่ผมได้นำความรู้ความสามารถออกไปใช้ช่วยเหลือสังคม อย่างเช่นงานที่เกียวกับพระพุทธศาสนา งานเกี่ยวกับชุมชน นี่เป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่าไม่เคยคิดว่าตัวเองจะมาตรงนี้ได้ เพราะว่าเท่าที่คนรู้จักผมก็จะเป็นงานสมัยใหม่ แล้วมันจะไปเกี่ยวกับงานศาสนาได้ยังไง เฮ้ย! เอ็งจะไปช่วยชุมชนยังไง เอ็งทำแต่งานคนรวย แต่วันนี้มันรู้สึกว่า เฮ้ย! เราได้ทำและก็มีให้ทำอยู่เรื่อยๆ ถามว่าตรงนี้มีความสุขเพราะมันเป็นการให้ เพราะถ้าเป็นงานธุรกิจมันก็ต้องมีเรื่องข้อแลกเปลี่ยน ค่าแบบ แต่งานที่เราช่วยเหลือชุมชนหรืองานเกี่ยวกับศาสนาเป็นงานที่เราทำโดยไม่คิด พึ่งมาประจักษ์ว่าการให้มันคือการได้รับ มันก็เลยเป็นความสุขที่มากกว่าปกติ ผมว่าอันนี้มันเป็นความสุขที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน”

สมชาย จงแสง

room:  อะไรคือความเชื่อที่ยังคงอยู่ตั้งแต่วันแรกที่ทำงานจนถึงวันนี้

Somchai Jongsaeng:  “ผมเชื่อว่าประสบการณ์ของมนุษย์กับสเปซเป็นสิ่งที่ผมชื่นชม ฉะนั้นเมื่อผมชื่นชมกับมัน ผมเองก็อยากเป็นคนหนึ่งที่นำเสนอประสบการณ์เรื่องสเปซกับมนุษย์ คาดหวังว่าผู้ที่ได้ใช้สเปซที่ผมออกแบบจะประทับใจกับมัน ไม่ใช่แค่มองจากรูปแบบที่เห็น คือรูปแบบที่เห็นมันอาจจะมีความคล้ายกันได้ มีความเหมือนกันได้ ยิ่งทุกวันนี้มีสื่อต่างๆ มากมาย การหยิบจากแหล่งข้อมูลเดียวกัน โอกาสเหมือนของรูปแบบก็มีมาก แต่ผมก็ไม่เชื่อว่ามนุษย์จะทำงานเหมือนกันถ้าคิดมาจากข้างในของตัวเอง”

 

// ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะมาตรงนี้ได้ เพราะเท่าที่คนรู้จักผมก็จะเป็นงานสมัยใหม่ แล้วมันจะไปเกี่ยวกับงานศาสนาได้ยังไง แบบเฮ้ย! เอ็งจะไปช่วยชุมชนได้ยังไง เอ็งทำแต่งานคนรวย //

 

สมชาย จงแสง

room: จากที่ทำงานมาอะไรมีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด

Somchai Jongsaeng: “คือโลกมันเป็นเรื่องของเทรนด์ ในแง่การออกแบบเราเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพูดถึง แต่เทรนด์สำหรับผมมันไม่ใช่แค่เรื่องรูปแบบ ไลฟ์สไตล์ต่างหากที่มันเป็นตัวกำหนดเทรนด์ ไม่ใช่รูปแบบกำหนดเทรนด์ รูปแบบมันมาทีหลัง แต่สิ่งที่เห็นในบ้านเรารูปแบบมันมาก่อน ก็ช่วยไม่ได้ เราอาจจะมีการพัฒนาไม่ต่อเนื่อง รุ่นต่อรุ่นที่เกิดขึ้นมาเขาก็ดูจากรูปแบบเป็นหลัก เพราะฉะนั้นมันเลยเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ถามว่าดี หรือไม่ดี ผมคงไม่สามารถบอกได้ว่ามันดี หรือไม่ดี เพราะมันอยู่ที่สังคม มันอยู่ที่คนใช้งาน ถ้าเขาแฮปปี้กับมัน มันก็ต้องดี แต่สำหรับผมมันก็จะกลับไปที่เรื่องเดิมที่ผมเชื่อ เรื่องประสบการณ์ของสเปซกับมนุษย์มากกว่า รูปแบบอาจเปลี่ยนไปตามยุค แต่ความรู้สึกกับสเปซต่างหากที่มนุษย์สัมผัสได้ ไม่ว่าจะยุคไหนก็ตาม”

room: แล้วกระแสอะไรที่อยากให้เกิดขึ้นในบ้านเรา หรือกระแสอะไรที่เคยเกิดขึ้นแล้วรู้สึกมันไม่ค่อยดีนัก

Somchai Jongsaeng: “ในอดีตก็เคยแบบ เฮ้ย! ทำไมมันเป็นอย่างโน้น ทำไมมันเป็นอย่างนี้ ทำไมมันไม่เป็นอย่างนี้ แต่ละยุคมันก็เป็นอย่างนั้น จนเรารู้สึกว่า ถ้ามองแบบไม่เอาเราไปเทียบกับประเทศอื่น คือต้องยอมรับก่อนว่าวิชาชีพเรา เราเรียนรู้จากเขา ด้วยตรรกะหรือทฤษฎีอะไรก็ตาม เขาเป็นคนเซ็ตขึ้นมา แต่ความจริงแล้วมันไม่เกี่ยว เพราะทฤษฎีที่เขียนขึ้นมา ความจริงมันต้องเกิดขึ้นก่อน เป็นไปไม่ได้ที่คุณจะเขียนสูตรโน้นสูตรนี้ถ้าความจริงยังไม่เกิด แสดงว่าความจริงได้เกิดขึ้นแล้ว และเกิดขึ้นจนพิสูจน์ได้ต่างหาก ฉะนั้นผมเชื่อว่าประเทศเราก็มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น เพียงแต่ไม่มีคนเขียน นี่คือเรื่องที่ผมสนใจวันนี้

“ในวันแรกที่ผมเริ่ม เราก็ยังมองโลกข้างนอก เหมือนมองหญ้าที่อื่นเขียวกว่าเสมอ ทำไมประเทศโน้นประเทศนี้มันสวยงาม มันเจริญ ประเทศเรามันโน้นนี่ แต่วันที่เรามาจนถึงอย่างนี้ก็ เฮ้ย! เราคุ้นชินกับเรื่องแบบนั้นมากเกินไปหรือเปล่า จริงๆ แล้วความจริงมันเกิดในประเทศเราเช่นกัน มันมีตัวตนของเราอยู่ แต่เรามองด้วยความคุ้นชินต่างหาก เราไม่เคยมองเห็นว่ามันแตกต่าง เราไปเอาตรรกะ เอาวิธีการตัดสินจากคนอื่นมาตัดสินเราเอง เราก็เลยมองข้ามเรื่องแบบนี้

“ถ้าถามวันนี้ ผมก็จะว่าบ้านเราก็เป็นมาอย่างนี้ล่ะ มันก็เดินของมันไป ผมต้องถือว่ามันมีความมีชีวิตชีวานะ ประเทศเรา จนวันนี้ผมถือว่ามันเป็นประเทศที่สนุก ส่วนหนึ่งเพราะเราเดินทางเยอะจนเราเห็น แล้วก็ต่างชาติที่เขามา เขาก็ชื่นชมเรา เขาก็อยู่ด้วยความสนุก เขาเจอหลายอย่างที่ไม่เจอในประเทศเขา ในภูมิภาคนี้เหมือนประเทศเราเป็นตัวเลือกเสมอที่จะมา แสดงว่ามันต้องมีเสน่ห์

“ฉะนั้นถ้าที่ถามกระแสอะไรอยากให้เกิด มันก็เกิดอย่างที่มันเกิดทุกวันนี้ล่ะ แล้วมันก็จะพัฒนาตัวมันเอง หวังว่าวันหนึ่งเราคงเห็นความพิเศษของเราที่มันมีอยู่ แล้วสามารถนำมันออกมาเป็นรูปธรรมได้ ถามว่ามันมีไหม จริงๆ มันมีนะ และมันเกิดขึ้นทุกวัน มันเกิดขึ้นแล้ว เพียงแต่ไม่มีใครสนใจที่เขียนมันเป็นเรื่องเป็นราว ผมคิดว่ามันน่าจะเป็นอย่างนั้น” คุณสมชาย สรุปเรื่องราวกระแสความเป็นไปที่เกิดขึ้นในบ้านเรา ด้วยความศรัทธาในความเป็นตัวตนของวงการออกแบบไทย

 

สมชาย จงแสง
ภาพโครงการอาคารธรรมาศรม เสถียรธรรมสถาน ย่านวัชรพล กรุงเทพฯ ออกแบบโดย Deca Atelier
สมชาย จงแสง
เจดีย์พระมงคลกิตติธาดา วัดป่าวิเวกธรรมชาน์ อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี ออกแบบโดย Deca Atelier
สมชาย จงแสง
บรรยากาศภายใน เจดีย์พระมงคลกิตติธาดา วัดป่าวิเวกธรรมชาน์
สมชาย จงแสง
โมเดลของอาคารธรรมาศรม เสถียรธรรมสถาน ในห้องทำงานของคุณสมชาย จงแสง
สมชาย จงแสง
อาคาร Senabadee สถานที่ตั้งของ Deca Atelier ในซอยพหลโยธิน 11 ด้านล่างเป็นร้านกาแฟ Caffe Undici ของคุณสมชายเอง

สมชาย จงแสง
สมชาย จงแสง

สมชาย จงแสง
ช่องเปิดภายในอาคาร Senabadee ด้านบนชั้นสามเป็นที่ตั้งของออฟฟิศ ดูเท่และร่มรื่นในเวลาเดียวกัน

VDO

เรื่อง : สมัชชา วิราพร
ภาพ : ศุภวรรณ, Deca Atelier