ไร่เอกเขนก แค่ได้ยินชื่อก็รับรู้ได้ถึงความสบาย และยิ่งได้เข้าไปสัมผัส ได้ไปเห็น ได้มาใช้ชีวิตอยู่อย่างเอกเขนกไลฟ์แล้ว ขากลับออกไป ความรู้สึกอิ่มเอมใจมันดังฟังชัดเชียวล่ะ คงเป็นเพราะวิถีแบบไร่เอกเขนก ที่ให้แรงบันดาลใจดีๆกลับมาจนเต็มหลอด เราเลยอยากชวนคุณมา วางจิต ปล่อยใจ ที่ไร่เอกเขนกด้วยกันค่ะ : )
“ อยากให้ลองหลับตาแล้วคิดถึงตัวเองตอนอายุ 60 ลองคิดว่าตอนที่เราอายุ 60 กับ 1 วัน เราอยากลืมตามาเห็นอะไร” คําถามนี้ยังคงติดอยู่ในหัวตั้งแต่วันที่ my home ได้ไปเยือนไร่เอกเขนก คุณเอก-เอกสิทธิ์ รัชตะกิตติสุนทร และ คุณวรรณ-กมลวรรณ เปรมฤทัย เอ่ยประโยคนี้ขึ้นมาหลังจากที่ได้พูดคุยกันไปสักพัก เป็นคําถามที่วันนี้เราเองก็ยังคงลังเลในคําตอบ

ย้อนกลับไปเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ที่แห่งนี้เป็นเพียงพื้นที่รกร้างข้างทาง คุณเอก-เอกสิทธิ์ รัชตะกิตติสุนทร และ คุณวรรณ-กมลวรรณ เปรมฤทัย ต่างเป็นมนุษย์เงินเดือนในกรุงเทพฯ ที่มีหน้าที่การงานมั่นคง แต่กลับตัดสินใจเริ่มต้นการเดินทางครั้งใหม่ โดยออกจากคอมฟอร์ตโซนแล้วมุ่งหน้าสู่อําเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ “ตอนแรกที่มาที่นี่ผมไม่รู้จักใครเลยสักคน ผมขึ้นลงกรุงเทพฯ- จอมทอง อยู่เป็นปี ได้แต่จินตนาการภาพในหัวว่า เราอยากทําอะไรวาดผังถือแผนที่ไปคุยกับคนที่มีความรู้ ไปปรึกษาคนนั้นทีคนนี้ที ไปเล่าให้ใครต่อใครฟังว่าเรามีไอเดียแบบนี้ หลายคนถามว่าผมบ้าหรือเปล่าที่จะทิ้งเงินเดือนมากมายมาเพื่อจะทําสิ่งนี้”


เมื่อทุกอย่างเริ่มคลี่คลาย เป้าหมายปลายทางจึงเริ่มชัดเจนขึ้น การพัฒนาไร่เอกเขนกจึงเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง โดยคุณเอกได้น้อมนําพระราชดํารัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ เกิดเป็น อริยสูตรสี่ คือ พร้อม พอ เพียร และพัฒนา “เราพร้อมเมื่อไหร่ เราจะรู้จักพอ แต่ถึงพอแล้วก็ขี้เกียจไม่ได้ เราต้องรู้จักเพียรและนําไปพัฒนา เมื่อเราพัฒนาแล้ว มันจะกลับไปยังความพร้อมที่มากกว่าเดิม สามารถช่วยคนอื่นได้มากขึ้นและได้แบ่งปันสิ่งนี้ต่อไป” ไร่เอกเขนก แบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน คือ ธรรมดา ธรรมชาติ และธรรมะ โดยทั้ง 3 ส่วนนี้ต่างเกื้อหนุนกัน



โซน “ธรรมดา” คือ พื้นที่ของร้านกาแฟ A’sey A’sey Crafe ซึ่งให้ความรู้สึกเหมือนห้องนั่งเล่น ที่เปิดให้เพื่อนๆแวะมาทักทายและได้พูดคุยทําความรู้จักกัน ตัวอาคารเป็นบ้านดินสีคราม ทําให้ดูแปลกตาจากบ้านดินทั่วไป “ตั้งแต่วันแรกที่อยากจะทําบ้านดินก็คิดเหมือนคนอื่นว่าบ้านดินจะต้องเป็นสีเหลืองกับสีส้ม แต่ระหว่างการรอสร้างซึ่งใช้เวลาถึง 2 ปี ความคิดก็ตกตะกอนว่าสีเหลืองกับสีส้มอาจจะไม่ใช่ตัวเราสักเท่าไหร่ จึงลองมองสีพื้นถิ่นที่ใกล้ตัวอย่างสีครามซึ่งเป็นสีที่มองแล้ว สบาย สงบนิ่ง เหมือนเราไปวุ่นวายจากข้างนอกแล้วกลับมานิ่งๆกับตัวเองตรงนี้ มันน่าจะเป็นสีที่ใช่สําหรับเรา”



ตัวอาคารบ้านดินสีคราม นอกจากจะเป็นคาเฟ่แล้ว ด้านในยังเป็นที่พักอาศัยของคุณเอกและคุณวรรณอีกด้วย จัดแบ่งพื้นที่ใช้สอยเท่าที่จําเป็น มีห้องนอนขนาดกะทัดรัดที่ออกแบบไว้อย่างลงตัว มีสิ่งอํานวยความสะดวกเท่าที่จําเป็น และเนื่องจากตัวอาคารเป็นบ้านดิน จึงทําให้อากาศภายในบ้านค่อนข้างคงที่ไม่ร้อนจัดหรือเย็นจัด ทําให้รู้สึกสบายเวลาที่อยู่ภายในอาคาร และอีกหนึ่งพื้นที่ที่ได้รับการขยับขยายต่อเติมออกไปจากบ้านดินคือ ห้องพักสําหรับเพื่อนๆที่มักจะแวะเวียนมาหาเป็นประจําเพราะรู้สึกติดอกติดใจ จนอยากจะขอพักที่ไร่เอกเขนกด้วยสัก 2-3 วัน


ถัดจากส่วนร้านกาแฟเข้าไปเป็นโซน“ธรรมชาติ” โดยคุณเอกให้ชาวบ้านที่มีความถนัดในแต่ละด้านมาช่วยดูแล ซึ่งเรียกว่าพ่อ-แม่ผัก “ผมเป็นคนกรุงเทพฯมาทั้งชีวิตต้องมาเรียนรู้ใหม่ ขุดดิน จับจอบ ยังไงก็คงไม่ชํานาญเท่าคนที่มีความรู้และประสบการณ์ เราโชคดีที่มีพ่อ-แม่ผักที่เชื่อมั่นในการปลูกผักแบบอินทรีย์ ไม่มีสารพิษเจือปน ผักที่นี่เราเรียกว่า ‘ผักปลอดกิเลส’ เพราะไม่ปลูกนอกฤดูกาล ไม่มีสารเร่งผลผลิต ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม และปลูกบนเนื้อที่ 2 ไร่เท่านั้น จึงทําให้ผักที่ได้มีความงามตามธรรมชาติ” ในวันนี้ผักปลอดกิเลสจากไร่เอกเขนกต่างเจริญเติบโตได้อย่างงดงาม นอกจากส่งตรงถึงโรงแรมร้านอาหารในเชียงใหม่แล้ว ยังมีจําหน่ายที่ไร่อีกด้วย
แบ่งพื้นที่ส่วนพักผ่อนออกจากส่วนรับประทานอาหารด้วยประตูบานใหญ่ เมื่อเปิดประตูทุกบานออกจะทำให้พื้นที่เชื่อมต่อกัน


นอกจากตัวร้านที่สวยและดูเป็นมิตรแล้ว ไอเดียการเปิดร้านเฉพาะวันที่ 10-20 ของทุกเดือนก็น่าสนใจไม่แพ้กัน “เพราะเราอยากชงกาแฟแค่ 10 วัน เรามีความสุขกับการได้ถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆให้เขาฟังใน 10 วันนี้ รวมไปถึงวิธีจ่ายเงินแบบ ‘Pay as you feel จ่ายตามความพอใจ’ ก็กลายเป็นอีกหนึ่งคําถามที่ทําให้ลูกค้าได้พูดคุยกับเราทุกคนเป็นเหมือนเพื่อนใหม่ที่แวะเวียนมาหากัน เราได้รับพลังดีๆจากทุกคน ได้เห็นคนที่มาแล้วมีความสุข ได้เห็นแววตาเป็นประกายของคนที่กลับไป”


ด้านในสุดเป็นส่วน “ธรรมะ” ในอนาคตจะทําห้องพระสําหรับนั่งสงบใจ โดยใช้เป็นที่ประดิษฐานสมเด็จพระพุฒาจารย์โตพรหมรังสี และ พระพุทธรูปแกะสลักจากตอไม้ที่พบในไร่ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปด้านใน “ทั้ง 3 ส่วนในไร่เอกเขนกต่างเชื่อมโยงกัน ส่วนธรรมดาทําให้สวยเหมือนดอกไม้ ดูเป็นมิตรเข้าถึงได้ง่าย ส่วนธรรมชาติเป็นเหมือนลําต้นที่จะส่งขึ้นไปให้สูงที่สุด แข็งแรงที่สุด ส่วนธรรมะจะเป็นความสงบที่วางอยู่ด้านในที่ลึกที่สุดซึ่งต้องเข้าไปด้วยความตั้งใจ ในวันนี้อาจจะมี 100 คนที่ผ่านเข้ามา แต่อาจจะเหลือไม่กี่คนที่เข้าใจและไปถึงโซนธรรมะได้”


คุณเอกและคุณวรรณบอกว่าที่เล่ามาทั้งหมดจนถึงวันที่เปิด A’sey A’sey crafe’ เป็นเพียงภาค 1 จากวันนี้ไปเป็นการเริ่มต้นภาค 2 ซึ่งไม่รู้ว่าหนทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ภาคที่ 2 จะสวยงามไหม จะรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้หรือเปล่า แต่อย่างน้อยก็ได้เริ่มต้นเดินตามรอยเท้าพ่อ
“ยังจําวันแรกที่เดินเข้ามาที่ไร่ได้ มีแต่ดินเลอะเทอะ ยังมองไม่เห็นภาพนี้เลย จนวันที่ได้มาอยู่จริงๆ แต่งร้านเสร็จ แล้วทุกคนกลับไปหมดแล้วอยู่กันแค่ 2 คน พี่นั่งอยู่ในห้องนี้ ทุกอย่างมันสงบมันคือความสุข”

“ตอนที่เราอายุ 60 กับ 1 วัน เราอยากลืมตามาแล้วเห็นอะไร” ในวันนี้อาจยังไม่มีคําตอบที่แน่ชัด แต่ที่เรารับรู้ได้อย่างชัดเจนคือ ไร่เอกเขนกกําลังจะเติบโตไปเป็นต้นไม้ใหญ่ที่แผ่กิ่งก้านสาขากว้างไกล มีสองตา-ยายใจดีที่คอยถ่ายทอดเรื่องราวเพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจดีๆให้ใครต่อใครอีกมากมาย
ไร่เอกเขนก
ที่ตั้ง : ถนนเชียงใหม่ – ฮอด อำเภอจอมทอง
A’sey A’sey crafe’ เปิดวันที่ 10 – 20 ของทุกเดือน
facebook : ไร่เอกเขนก
Story jOhe
Photo ณัฐวุฒิ เพ็งคําภู
Style วรวัฒน์ ตุลยทิพย์
เรียบเรียง : ออ – ร – ญา