กระเบื้องล่อน กระเบื้องระเบิด สาเหตุและวิธีการแก้ไข

แย่แน่ ถ้าอยู่ดีๆ พื้นห้องเกิดอาการ กระเบื้องล่อน หรือระเบิดออกมาเป็นแผ่น! ปัญหานี้เกิดจากอะไร และแก้ไขได้อย่างไร ไปดูกัน

หลายคนอาจเคยเจอปัญหา กระเบื้องล่อน กระเบื้องระเบิด อาจรื้อเปลี่ยนบางแผ่นแล้วก็ยังกลับมาเป็นอีก ปัญหานี้ส่วนใหญ่เกิดจากการปูกระเบื้องที่ไม่ถูกวิธี ความชื้นที่สะสมใต้กระเบื้อง และสาเหตุอื่นๆ อีกหลายประการ มาไขข้อสงสัยกันว่าเกิดจากอะไร และมีวิธีการแก้ไขอย่างไรบ้าง

กระเบื้องล่อน
ภาพจาก pantip.com

คลายข้อสงสัย

กระเบื้องระเบิด กระเบื้องล่อน คือ ลักษณะกระเบื้องที่ดันกันกันจนแอ่นตัว หลุดออกมาเป็นแผ่นหลายๆชิ้น ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากพื้นโครงสร้างใต้กระเบื้องมีอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาทำให้เกิดการยืดหดตัว แผ่นกระเบื้องจึงขยับตามพื้นโครงสร้าง แต่ก็ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดการระเบิด เช่น

  • กระเบื้องที่ปูมีการหดตัวและขยายตัวสูง
  • ปูกระเบื้องแบบซาลาเปาหรือการทาปูนกาวซีเมนต์ไม่ทั่วแผ่น เมื่อมีความชื้นจึงทำให้มีความชื้นสะสมใต้แผ่นกระเบื้อง
  • ปูกระเบื้องแบบไม่เว้นร่องยาแนว หรือปูชิดมากเกินไป เมื่ออุณหภูมิเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้กระเบื้องขยายตัวดันกันเองจนระเบิดขึ้นมา
  • น้ำซึมเข้าตามร่องกระเบื้อง หรือน้ำจากใต้ดิน ทำให้เกิดความชื้นใต้กระเบื้อง เมื่อโดนความร้อนสูงๆ เกิดไอน้ำอยู่ด้านใต้ก็จะดันกระเบื้องขึ้น ส่วนมากจะเกิดบริเวณพื้นชั้น 1 ของอาคารหรือภายนอกอาคารที่โดนแดด
  • พื้นผิวที่ปูกระเบื้องไม่สะอาดและแห้ง หรือเป็นพื้นผิวปูนเก่า ทำให้พื้นผิวไม่แข็งแรงพอ

วิธีการแก้ไข

ควรตรวจสอบหาต้นเหตุ เช่น พื้นคอนกรีตมีรอยร้าวซึ่งทำให้ความชื้นซึมเข้ามาอยู่ใต้กระเบื้อง  แนะนำให้ทำการรื้อกระเบื้องออกมาทั้งหมด ทำการแก้ไขต้นเหตุ หากเกิดจากความชื้นอาจทาวัสดุกันซึม แล้วปูใหม่ให้ถูกต้องตามมาตราฐาน เว้นร่องยาแนวควรมีระยะ 3-5 มิลลิเมตร หรือตามคำแนะนำของผู้ผลิตกระเบื้อง โดยใช้ปูนกาวปูเต็มแผ่น ห้ามปูแบบซาลาเปาเป็นอันขาด และคำนึงไว้เลยว่าการระเบิดของกระเบื้อง ไม่ว่าจะเกิดขึ้นบริเวณกว้าง หรือหลุดออกมาเพียงไม่กี่แผ่น แปลว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น ซึ่งแผ่นอื่นๆ ก็อาจระเบิดได้อีกในอนาคต ดังนั้นการเลือกซ่อมแซมเฉพาะบริเวณที่เสียหายจึงไม่แนะนำครับ


เรื่อง – Gott


เช็คราคากระเบื้อง พร้อมคุณสมบัติแต่ละชนิด

เลือก กระเบื้องปูพื้น ให้เหมาะกับการใช้งาน

กระเบื้องพื้นมีเสียงดังกึงๆเวลาเดิน จะแก้อย่างไร

ติดตามบ้านและสวน www.facebook.com/baanlaesuanmag