ชีวิต ศิลปะ และความสุข จากศิลปินหญิง ในงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018

ว่ากันว่าความสำเร็จของผู้หญิงต้องผ่านบทพิสูจน์มากมายและมีระยะทางไกลกว่าความสำเร็จของผู้ชาย  ทุกวันนี้ความเหลื่อมล้ำทางเพศสภาพยังคงมีอยู่จริง ผู้หญิงต้อง “สตรอง” แค่ไหนกว่าจะก้าวมายืนอยู่แถวหน้า มีบทบาททางสังคมที่โดดเด่นจนได้รับการยอมรับ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็เช่น หญิงเหล็กอย่างมาร์กาเรต แทตเชอร์ที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอังกฤษได้สำเร็จ  หรือการไต่ขั้นบันไดของฮิลลารี คลินตัน อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งที่พลาดตำแหน่งประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสหรัฐอเมริกาไปอย่างน่าเสียดาย รวมถึงในบางประเทศที่ผู้หญิงเพิ่งจะได้รับสิทธิในการขับรถยนต์ ทั้งที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์พึงมีก็ตาม เสรีภาพทางความคิดและการแสดงความสามารถของผู้หญิงในหลายยุคสมัยถูกผลักจากความกดดันทางสังคมเข้าสู่กรอบแห่งเสรีภาพที่เรียกว่า “ศิลปะ” ไม่ว่าจะเป็นศิลปะการแสดง งานออกแบบ หรืองานจิตรกรรม ที่ยอมรับพวกเธอเข้าถึงอารมณ์ในรูปแบบต่างๆ อันลึกซึ้งและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยที่ไม่ว่าสุภาพบุรุษคนใดก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ ด้วยกลไกอันซับซ้อนทางความคิดที่เกินกว่าจะบอกกล่าวหรือบรรยายออกมาเป็นตัวอักษร แต่ก็สามารถถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานศิลป์ภายใต้แนวคิดที่สื่อถึงความรู้สึกอันหลากหลาย ทั้งความรัก ความหวัง ความกล้าหาญ และจินตนาการเพ้อฝัน ครั้งนี้เราขอแนะนำ 3 ศิลปินหญิงแห่งงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ซึ่งผลงานของพวกเธอต่างซ่อนอารมณ์และความรู้สึกเหล่านี้ไว้อย่างลึกซึ้ง 1 จานัน (Canan) : ผู้หญิง สิทธิ และจินตนาการ (ภาพบน) ศิลปินชาวตุรกีที่เรียกตัวเองว่าเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคม แม้ว่าผลงานของเธอจะใช้สีสันสดใสและดูเข้าใจง่าย แต่แท้จริงแล้วมีนัยแห่งการเรียกร้องสิทธิ เสียดสี และหยอกล้อสังคม ผ่านงานศิลป์ที่ใช้เรือนร่างของผู้หญิงผสมกับศิลปะในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย ภาพวาด วิดีโออาร์ต หรือศิลปะจัดวาง ในงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ […]