10 ดีไซเนอร์ไทยที่ต่อยอดงานคราฟต์ชุมชนสู่งานดีไซน์อินเตอร์

ดีไซเนอร์ไทย แม้เราจะสนุกไปกับนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่เข้ามาสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ชีวิตที่มุ่งหน้าสู่อนาคต แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในอีกแง่มุมหนึ่งก็ยังรู้สึกหวนหาความประณีตของชีวิตที่เนิบช้าและสงบสุขอยู่ท่ามกลางธรรมชาติแบบอดีต จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะตกหลุมรักงานศิลปหัตถกรรมสมัยใหม่หรืองานคราฟต์ในยุคนี้ ซึ่งพัฒนามาสู่วิถีของการหลอมรวมเทคนิคและภูมิปัญญาท้องถิ่นจากช่างฝีมือพื้นบ้านเข้ากับแนวคิดของนักออกแบบรุ่นใหม่ โดยที่นักออกแบบนำความรู้จากงานฝีมือชั้นครูมาต่อยอดด้วยกระบวนการผลิตและมุมมองทางการตลาดใหม่ๆ ทำให้เกิดงานคราฟต์เท่ๆ ที่ไม่ใช่แค่ของชำร่วยแบบเดิมอีกต่อไป

ดีไซเนอร์ไทย

นักออกแบบรุ่นใหม่มีส่วนอย่างมากที่เข้ามาช่วยต่ออายุและขยายช่องทางการตลาดให้งานคราฟต์ชุมชน เพื่อให้ชุมชนที่มีวัฒนธรรมและมีฝีมือซึ่งเป็นอัตลักษณ์ไม่สูญสิ้นหรือล้มหายตายจากไปกับครูช่าง แต่ยังคงวิถีชีวิตที่ใกล้เคียงเดิมแถมยังยั่งยืนขึ้น โดยไม่ต้องดิ้นรนเข้าไปทำงานในระบบอุตสาหกรรมอย่างเดียว ปัจจุบัน เรามีนักออกแบบที่สนใจร่วมพัฒนางานกับชุมชนมากขึ้น บางคนสามารถสานต่อกันเป็นเครือข่ายแบ่งปันข้อมูลในกลุ่มคนที่สนใจเรื่องเดียวกันได้

10 ดีไซเนอร์ไทย ที่เราเลือกสรรมานำเสนอในครั้งนี้จึงเป็นแค่บางส่วนที่มาช่วยบอกเล่ามุมมองของงานคราฟต์ และแนวทางการร่วมมือกับชุมชน ไปจนถึงความคิดที่จะต่อยอดภูมิปัญญาล้ำค่าในทุกแขนงให้สืบทอดไปได้ถึงอนาคตข้างหน้า โดยมีเราทุกคนเป็นผู้บริโภคที่จะร่วมสนับสนุนงานคราฟต์นี้ให้คงอยู่และพัฒนาเคียงคู่สังคมไทยต่อไป

1. รัฐ เปลี่ยนสุข และ Philippe Moisan – Sumphat Gallery

หลังจากเรียนจบคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คุณรัฐ เปลี่ยนสุข ก็ไปต่อปริญญาโทด้านสถาปัตยกรรมงานก่อสร้างด้วยไม้ที่ประเทศฝรั่งเศส แต่เมื่อกลับมาเมืองไทยได้ผันตัวมาเป็นนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ไม้ให้แบรนด์ Plato จนเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องวัสดุไม้ ควบคู่ไปกับการเป็นสถาปนิก ปัจจุบันยังร่วมกับ Mr.Philippe Moisan ก่อตั้ง Sumphat Gallery แกลเลอรี่ที่นำเสนองานออกแบบทั้งไทยและต่างประเทศ ซึ่งมีเรื่องราวของวัฒนธรรมอันโดดเด่น

มุมมองที่มีต่องานคราฟต์

“งานคราฟต์เป็นตัวแทนของวัฒนธรรม ถ้าไม่มีคราฟต์ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมเราก็หายไป ผมมองว่าคนที่ทำงานคราฟต์ก็เหมือนเส้นใยที่ต่อเชื่อมกันมาอย่างไม่มีขอบเขต อย่างงานคราฟต์หนังใหญ่ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ของกรีก มาถึงอินโดนีเซีย ไทย และไปจีน หรืองานทอผ้าที่เชื่อมต่อระหว่างคนกระเหรี่ยง ไทย พม่า และงานเครื่องเขินก็เชื่อมต่อคนไทย พม่า เวียดนาม ญี่ปุ่น และจีน เข้าด้วยกัน มันคือความกลมกลืนของชุมชน  และเป็นภาษาที่อยู่เหนือเส้นแบ่งเขตแดนทางเชื้อชาติ”

ร่วมงานคราฟต์กับชุมชน

“ผมเริ่มทำงานร่วมกับชุมชนโดยคำแนะนำจากทางศศป. ซึ่งช่วยเลือกสรรชุมชนที่มีฝีมือดีและมีความพร้อมในการผลิตให้นักออกแบบได้เข้าไปพัฒนางานหัตถกรรม มีทั้งงานลงรัก งานไม้ไผ่ และงานไม้ พอได้เข้าไปพูดคุยและศึกษาก็รู้สึกหลงรักงานคราฟต์ของชุมชนเลย เพราะมันช่วยเปลี่ยนระบบการทำงานเราใหม่หมดเลย จากการทำงานเชิง Architectural Design ที่อาจต้องทำตัวเป็นหัวหน้างานมาสู่การทำงานหัตถกรรมชุมชนในบรรยากาศอบอุ่นแบบครอบครัว โดยเราเป็นคนนำเรื่องราววัฒนธรรมเก่าๆ มาผสมและสร้างบริบท ทำให้เกิดประสบการณ์ใหม่ๆ ต่อตลาดงานหัตถกรรม”

ต่อยอดงานคราฟต์สู่อนาคต

“ถ้าจะให้งานหัตถกรรมชุมชนอยู่ได้ นอกจากช่วยพัฒนาเรื่องงานออกแบบแล้ว เราต้องทำให้ชุมชนอยู่ได้ นั่นคือเรื่องตลาดซึ่งมีอยู่ 2 ทาง เป็นตลาดของทางชุมชนเองกับตลาดแบบลักชัวรีย์ ที่เรามี Sumphat Gallery เป็นเครือข่ายของนักออกแบบให้ เพื่อสร้างรายได้ของงานหัตถกรรมชุมชนแข่งขันกับโรงงานอุตสาหกรรมได้ เพราะถ้าชุมชนสามารถทำงานฝีมืออยู่ที่บ้านได้ ก็ไม่ต้องแยกทางจากครอบครัว ไม่ต้องเข้ามาหางานทำในเมือง ไม่เกิดปัญหาครอบครัว ชุมชน และสังคมที่จะตามมา ทำให้ชุมชนแข็งแรงและมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม งานคราฟต์จึงไม่ใช่แค่ผลิตภัณฑ์แต่เป็นการพัฒนาสังคมและวัฒนธรรมกันเลย ถ้าผมสามารถวางนโยบายได้ ผมยังอยากให้คนนำงานคราฟต์ไปใช้ในพิธีกรรมกันมากขึ้น เช่น งานแต่งงานที่สามารถเลือกใช้งานคราฟต์ได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นชุดแต่งงาน ผ้าทอ เครื่องถ้วยชาม หรือของที่ระลึก ก็จะช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้และทำให้คนในชุมชนเกิดความภูมิใจในงานหัตถกรรมจากถิ่นฐานของตัวเองมากขึ้นด้วย”

2. คุณปิติ อัมระรงค์ และคุณจุฑามาส บูรณะเจตน์ – o-d-a

แบรนด์ o-d-a คือส่วนผสมที่ลงตัวของคู่หูนักออกแบบอย่างคุณปิติ อัมระรงค์ ที่มีความรู้ด้านกราฟิกดีไซน์ กับคุณจุฑามาส บูรณะเจตน์ ซึ่งมีความสามารถด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยทั้งคู่ได้แลกเปลี่ยน เรียนรู้ และฝึกฝนฝีมือผ่านการทำงานเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่สนใจมาด้วยกัน จนสามารถสร้างเอกลักษณ์การออกแบบที่ละเมียดละไมอยู่ในเส้นสายอันเรียบง่าย แฝงกระบวนการคิดที่ละเอียดลึกซึ้งตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต จนถึงการลงมือทำผลงานทุกชิ้นด้วยตัวเองเสมอ

มุมมองที่มีต่องานคราฟต์

“เรามองว่างานคราฟต์เกี่ยวข้องกับการลงมือทำต้องประกอบด้วยทักษะงานฝีมือบางอย่างเข้าไปในงานนั้น มันเป็นเหมือนอาการ ท่าที และความชำนาญบางอย่างที่เรามี ผสมกับเจตนาที่อยากทำงานนั้นให้ออกมาดี เราไม่ได้ปฏิเสธเครื่องจักรที่จะเข้ามาช่วยงาน แต่ไม่ว่าจะทำด้วยมือหรือเครื่องจักร เราต้องเป็นคนควบคุมการทำงานนั้น คราฟต์จึงเป็นอาการบางอย่างที่คนอยากทำงานนั้นให้สำเร็จลุล่วง ซึ่งไม่จำเพาะแต่คนที่มีทักษะสูงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคนที่เริ่มต้นงานฝีมือใหม่ๆ ด้วย คราฟต์เป็นขั้นตอนง่ายๆ ที่ช่วยให้มนุษย์รู้จักพัฒนาฝีมือ นั่นทำให้คราฟต์มีความสำคัญในแต่ละชิ้นงาน ต่างจากการผลิตเยอะๆ เหมือนอุตสาหกรรม เพราะคราฟต์ต้องอาศัยใจที่จดจ่อกับงานมากกว่า และงานคราฟต์ก็เข้าถึงใจคนได้มากกว่าเช่นกัน”

ร่วมงานคราฟต์กับชุมชน

“ปกติเราออกแบบจากงานไม้ที่แปรรูปแล้ว แต่พอได้ลองไปทำงานกับไม้ธรรมชาติแบบดิบๆ ระบบความคิดเราก็เปลี่ยนไป ถือเป็นสิ่งใหม่ที่น่าท้าทาย และทำได้โดยไม่ต้องพึ่งระบบอุตสาหกรรม อย่างล่าสุดที่ได้ร่วมงานกับ คุณพิษณุ นำศิริโยธิน ซึ่งเป็นคราฟต์แมนอยู่แล้ว และอาศัยความรู้จากชุมชนในจังหวัดกาฬสินธุ์ ในการเลือกไม้ติ้วโหม่นจากป่าท้องถิ่นอีสานมาใช้งาน เป็นต้นไม้ที่โตเร็ว ลำต้นแข็งและเหนียวสามารถนำไปทำเฟอร์นิเจอร์ได้ ชาวบ้านมีทักษะในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ดี รู้ว่าต้องตัดตรงไหน ตัดอย่างไร เพื่อให้แตกยอดต่อไปได้อีก ทำให้เรารู้สึกดีว่าไม่ได้ทำลายธรรมชาติเพื่อนำมาใช้งาน โดยกระบวนการทั้งหมดทำด้วยมือของชาวบ้าน จนเกิดเป็นโครงสร้างจากไม้และใช้เชือกย้อมสีธรรมชาติมาผสม ชาวบ้านสามารถสร้างรายได้จากงานคราฟต์นี้ได้ เราเองก็ได้ขยายมิติงานคราฟต์ของตัวเองด้วย แม้ว่าผลลัพธ์จะไม่ได้ออกมาเป็นงานขัดไม้ที่เนี้ยบกริบแบบเดิมก็ตาม”

ต่อยอดงานคราฟต์สู่อนาคต

“เราเพิ่งจะเริ่มต้นทำงานร่วมกับชุมชน เป้าหมายต่อไปคือเราอยากให้ผลิตภัณฑ์มีความแข็งแรง ขายได้ ชาวบ้านสามารถผลิตงานได้อย่างต่อเนื่อง ดีไซน์ที่เราทำล่าสุดนี้อาจดูแตกต่างไปจากที่คนอื่นคุ้นชิน แต่เราเชื่อว่ามันเป็นความเท่แบบใหม่ที่น่าจะสร้างประสบการณ์ของงานคราฟต์ให้แตกต่าง แบบไม่ได้มุ่งผลไปที่ปลายทางอย่างเดียว เพราะคราฟต์ของเราเริ่มตั้งแต่การหาวัตถุดิบ การออกแบบ ไปจนถึงการหาตลาด ซึ่งกระบวนการคราฟต์แบบนี้ก็จะได้คนที่สนใจแบบเดียวกันมา  โปรเจ็คท์นี้จึงน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นนำพาเราไปสู่งานต่อๆ ไป รวมถึงการมองหาโอกาสร่วมงานกับสถาปนิกที่ใส่ใจต่อชุมชนเหมือนกัน โดยอาจเป็นเฟอร์นิเจอร์ส่วนหนึ่งที่เข้าไปเสริมโปรเจ็คท์นั้นๆ ก็เป็นได้”

อ่านต่อหน้า 2