PREMIUM ICE FACTORY สถาปัตยกรรมที่นำพลังงานธรรมชาติมาใช้ประโยชน์

เมื่อทีมสถาปนิกผู้ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการออกแบบโรงน้ำแข็งมาก่อน ได้รับการทาบทามโดยทายาทรุ่นที่ 2 ของโรงงานผลิตน้ำแข็ง Premium Ice จังหวัดนนทบุรี ให้มาเป็นผู้รับหน้าที่ออกแบบอาคารหลังใหม่สำหรับประกอบธุรกิจในครอบครัวของพวกเขา แรกเริ่มทีมสถาปนิกตอบปฏิเสธไปด้วยเหตุผลอันพอเข้าใจได้ว่า “ไม่มีความชำนาญเรื่องการออกแบบโรงน้ำแข็งมากพอ” แต่ท้ายที่สุดแล้ว TA-CHA Design สถาปนิกทีมดังกล่าวได้เปลี่ยนความคิด ตอบตกลงปลงใจรับหน้าที่ออกแบบอาคารนี้บนเหตุผลพื้นฐาน 2 ข้อสำคัญ หนึ่ง คือเป็นงานที่ท้าทายความสามารถของพวกเขาเอง และสอง เคมีของทีมสถาปนิกตรงกับวิสัยทัศน์ของผู้ว่าจ้าง

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: TA-CHA Design

“เราเคยปฏิเสธงานนี้ไปในตอนแรก แต่พอเวลาผ่านไป 2-3 วัน เราไปเห็นงานคอกม้าที่ทำออกมาแล้วได้รางวัล ก็กลับมาคิดว่าแล้วโรงน้ำแข็งเราจะทำให้มันดีไม่ได้เชียวเหรอ ก็เลยลองไปคุยกับเจ้าของดูว่าวิสัยทัศน์เขาเป็นอย่างไร เป็นทีมกับเราได้ไหม พอได้คุยแล้วโอเค เพราะ GEN เราใกล้กัน สิ่งที่เขาคิด ที่เขาตั้งใจ มันเป็นสารตั้งต้นที่ดี” สณทรรศ ศรีสังข์ หนึ่งในทีมผู้ออกแบบเฉลยเหตุผลกับเรา

ในการออกแบบอาคารหลังนี้ไม่ได้มีฟังก์ชันที่สร้างมาเพื่อการผลิตน้ำแข็งเพียงแค่อย่างเดียวเท่านั้น พื้นที่ใช้สอยขนาด 3,000 ตารางเมตร ของโรงงานผลิตน้ำแข็ง Premium Ice ยังแบ่งองค์ประกอบย่อยออกเป็น 3 ส่วนหลักในลักษณะอาคารแบบ Mix-used โดยเป็นทั้งโรงงานผลิตน้ำแข็งบนชั้นที่ 1 สำนักงานของบริษัทบนชั้นที่ 2 และส่วนพักอาศัยบนชั้นที่ 3 โดยที่ทีมสถาปนิกนำแนวคิด Passive Design มาเป็นสารตั้งต้นของโครงการ ออกแบบลักษณะอาคารแบบปิดล้อม แต่ยังคงเปิดช่องให้สามารถนำเอาพลังงานจากธรรมชาติเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ กอปรกับการนำวัสดุเดิมที่เจ้าของอาคารมีอยู่กลับมา Reuse ให้ได้มากที่สุด พร้อมกันนี้ยังสร้างภาพจำให้อาคารสะท้อนตัวตนของธุรกิจผลิตน้ำแข็งที่สะอาดและได้มาตรฐาน ออกมาในรูปแบบเชิงสัญลักษณ์ของเกล็ดหิมะ

ผิวอาคารจากรูปทรง ‘เกล็ดหิมะ’

สถาปัตยกรรม
สถาปนิกเลือกใช้วัสดุหุ้มอาคารส่วนใหญ่เป็นเหล็กแผ่นเจาะรู บนชั้น 2 และ 3 ซึ่งเป็นส่วนของสำนักงานและพื้นที่พักอาสัย เพื่อเปิดช่องให้ลมสามารถผ่านเข้าสู่ภายในอาคารได้ตลอดวัน

ในการออกแบบผิวหุ้มหรือหน้าอาคารภายนอก (façade) และพื้นที่ภายในโรงงานผลิตน้ำแข็ง Premium Ice สณทรรศ บอกกับเราถึงแนวคิดตั้งต้นในการพัฒนารูปทรงของ ‘เกล็ดหิมะ’ กลับมานำเสนอในรูปแบบของการดีไซน์ผิวอาคารบางส่วนว่า “เกล็ดหิมะ จะเป็นรูปทรงหกเหลี่ยมเสมอ เราจึงนำหกเหลี่ยมมาเล่นโดยพูดถึงการย้อนกลับของน้ำแข็ง จากของเหลวเป็นของแข็ง คิดกันเล่นๆ ว่าจะทำของแข็งให้เป็นของเหลวได้ไหม”

สถาปัตยกรรม
facade (ฟา-สาด) หรือผิวอาคารขึ้นรูปจากการเชื่อมเหล็กแผ่นและเหล็กแผ่นเจาะรูเป็นรูปทรงเกล็ดหิมะ

นั่นเองจึงเป็นที่มาของการนำรูปทรงหกเหลี่ยมของเกล็ดหิมะมาพัฒนาโดยใช้วิธีการย้อนกลับ จากโรงงานผลิตน้ำแข็งที่ทำหน้าที่เปลี่ยนของเหลวซึ่งก็คือ ‘น้ำ’ ให้เป็นของแข็งซึ่งก็คือ ‘น้ำแข็ง’ โดยผิวอาคารบางส่วนได้ทำการเปลี่ยนของแข็ง ซึ่งสถาปนิกแทนค่าด้วยวัสดุแผ่นเหล็กให้เป็นเหมือนพื้นผิวของของเหลว และเมื่อผิวอาคารส่วนนี้กินแดดในปริมาณที่แตกต่างกันจะทำให้เกิดพลวัตทางสถาปัตยกรรมไปตามแต่ละช่วงเวลา นอกจากนี้ผิวอาคารส่วนใหญ่ซึ่งประกอบขึ้นด้วยแผ่นเหล็กเจาะรู (Perforated) ซึ่งทำหน้าที่ห่อหุ้มพื้นที่ด้านในอาคารขึ้นอย่างหลวมๆ โดยยังคงทำหน้าที่แลกเปลี่ยนอากาศไปด้วยในเวลาเดียวกัน

สถาปัตยกรรม
ด้านหลัง facade อาคาร สถาปนิกเรียกว่า อุโมงค์ของลม ออกแบบเป็นช่องอาคารเพื่อรีดลมเข้าไปส่วนกลาง โดยเลือกติดตั้งม่านม้วนโปร่งแสงสำหรับกันสาดในช่วงหน้าฝน โดยติดในลักษณะสลับฟันปลาเพื่อให้แสงและลมลอดผ่านได้อยู่
สถาปัตยกรรม
แผ่นเหล็กเจาะรู (Perforated) ทำหน้าที่ห่อหุ้มพื้นที่ด้านในอาคารขึ้นอย่างหลวมๆ โดยยังคงทำหน้าที่แลกเปลี่ยนอากาศไปด้วยในเวลาเดียวกัน

ถัดเข้ามาภายในส่วนของโรงงาน เนื่องจากอาคารชั้น 1 เป็นส่วนโรงงานผลิตของบริโภคซึ่งต้องมีลำดับของการผลิตและตำแหน่งการวางเครื่องจักรที่แน่นอน สถาปนิกจึงออกแบบโดยคำนึงถึงความสะอาดของพื้นที่ให้ได้ตามมาตารฐาน GMP (Good Manufacturing Practice Certification) และความปลอดภัยของพนักงานขณะปฏิบัติงานเป็นสำคัญ

สถาปัตยกรรม
แปลนชั้น 1 ถูกกำหนดด้วยตำแหน่งเครื่องจักรและลำดับการเข้าถึงที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้มากนัก สถาปนิกจึงจัดการวางระบบให้เกิดการทำงานที่ไหลลื่น เลือกใช้วัสดุที่ทนทานต่อความเย็นและความชื้น สามารถรับแรงกระแทกได้ดี และตอบโจทย์ GMP ที่กำหนดไว้

อ่านต่อส่วนสำนักงานชั้น 2 หน้าถัดไป
[คลิก]