สิ่งสามัญที่ไม่ธรรมดา ในงานสถาปนิก’61 Beyond Ordinary

งานสถาปนิก 61

วิถีชีวิตแบบสามัญจะหวนกลับมาอีกครั้งใน งานสถาปนิก ’61 ภายใต้แนวคิด Vernacular Living ในชื่องาน “Beyond Ordinary: ไม่ธรรมดา” งานสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมและงานออกแบบพื้นถิ่นในวิถีชีวิตร่วมสมัยของสังคมไทย จัดโดยสมาคมสถาปนิกสยามฯ ระหว่างวันที่ 1-6 พฤษภาคม 2561 ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ 1-3 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี

งานสถาปนิก 61

ความไม่ธรรมดาของสิ่งสามัญในรูปแบบวิถีไทย

รูปแบบงานในปีนี้สื่อถึงความไม่ธรรมดา โดยเน้นไปที่การนำเอาวัสดุพื้นถิ่น ภูมิปัญญาไทยดั้งเดิมมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เปรียบเสมือนการนำสิ่งสามัญที่เราคุ้นชินตั้งแต่สมัยวัยเยาว์ กลับมาใช้ใหม่ในรูปแบบที่แตกต่าง ภายใต้ความพิเศษของพื้นที่ และบริบทโดยรอบในนิยามที่สะท้อนความเป็นไทยอย่าง Vernacular Living บทบาทและความเปลี่ยนแปลงของสถาปัตยกรรมและงานออกแบบพื้นถิ่นในวิถีชีวิตร่วมสมัยของสังคมไทย เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม รวมไปถึงสถาปัตยกรรมแบบพื้นบ้านที่นำมาผสมผสานให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนไทยในปัจจุบัน

Key Visual ของงานสถาปนิก’61 Beyond Ordinary ออกแบบโดย P. Library Design Studio
Key Visual ของงานสถาปนิก’61 Beyond Ordinary ออกแบบโดย P. Library Design Studio

Vernacular Living พื้นถิ่นไทยที่ไม่ธรรมดา วิถีชีวิตที่คุ้นตาผ่านภาษานักออกแบบ

ในปัจจุบันรูปแบบการใช้ชีวิตสะดวกสบายมากขึ้น และกำลังเจริญก้าวหน้าเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์อย่างเต็มรูปแบบ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากสังคมชนบทไปสู่สังคมเมือง รวมทั้งสภาพภูมิอากาศ ความเป็นอยู่ รวมไปถึงสถาปัตยกรรมในท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งงานสถาปนิก ’61 ‘ไม่ธรรมดา’ สนใจถึงกระบวนการที่สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ในรูปแบบของนิทรรศการและกิจกรรมต่างๆ ภายในงาน ซึ่งถูกสื่อสารผ่านมุมมองของนักออกแบบและสถาปนิกภายใต้แนวคิดการนำสิ่งสามัญกลับมาประกอบใหม่ในมิติที่แตกต่าง

ความไม่ธรรมดาของนักออกแบบนั้น คืออะไร…

คุณกรกต อารมย์ดี ดีไซเนอร์ทีมีความโดดเด่นในนำงานคราฟท์มาผสมผสานกับงานออกแบบร่วมสมัยได้อย่างกลมกลืน เจ้าของรางวัลศิลปาธรสาขางานออกแบบประจำปี 2560 ได้ให้ความเห็นและเสนอแนวคิดนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ร่วมกับภูมิปัญญาไทยเพื่อตอบโจทย์ปัญหาสิ่งแวดล้อม นำสิ่งของใกล้ตัวในชีวิตประจำวันผสานกับงานออกแบบสถาปัตยกรรมตามบริบทของพื้นที่อย่าง ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี มีการนำเชือกหรือยางไม้ มาใช้แทนลวดหรือตะปูในการก่อสร้างเพื่อลดการกัดกร่อนที่เกิดจากน้ำเค็ม เป็นการเปิดมุมมองให้คนหันมาสนใจของใกล้ตัวมากยิ่งขึ้น

คุณสุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิกไทยที่สนใจในเรียบง่ายที่ยั่งยืน เชื่อว่าความไม่ธรรมดาขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน อาจเพียงเกิดขึ้นจากการผสมผสานของสิ่งเก่าอย่าง ภูมิปัญญา กับสิ่งใหม่อย่าง เทคโนโลยี ที่มีความแตกต่างกัน เมื่อนำมารวมกันในช่วงเวลาใหม่อาจทำให้เกิดเป็นความพิเศษที่ไม่ธรรมดาก็เป็นได้ ตัวอย่างเช่น ดอกไม้ในป่านานาพันธุ์ที่เจริญเติบโตตามสภาพอากาศ และบริบทของพื้นที่ เป็นต้น

คุณสันธาน เวียงสิมา นักออกแบบและที่ปรึกษาด้านการใช้วัสดุภายในงานครั้งนี้ เปรียบเทคโนโลยีเป็นเพียงเงื่อนไขหนึ่งของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปของมนุษย์ ที่สะท้อนถึงวิถีชีวิต สังคมในแต่ละยุคแต่ละสมัย โดยตั้งโจทย์จากความต้องการแล้วตอบคำถามด้วยภูมิปัญญาและเทคโนโลยี ซึ่งใช้ความตั้งใจในการแยกแยะเพื่อหาแก่นแท้ที่เป็นไปในวิถีชีวิตปัจจุบัน ด้วยวิธีการฝึกฝนและพัฒนาต่อยอดความไม่ธรรมดาของพื้นที่ ทำให้เกิดเอกลักษณ์พื้นถิ่นที่โดดเด่นขึ้นได้

Key Visual ของงานสถาปนิก’61 Beyond Ordinary ออกแบบโดย P. Library Design Studio

สถาปนิก’61 Beyond Ordinary: ไม่ธรรมดา

ปีนี้เป็นครั้งแรกที่ทางสมาคมสถาปนิกสยามฯ เปิดพื้นที่ให้กลุ่มสถาปนิก, นักออกแบบ, ช่างฝีมือ ผู้มีความรู้ความสามารถหลากหลายเจเนอเรชั่น ร่วมกันตั้งคำถามและตีความสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในวิถีชีวิตร่วมสมัย ผ่านการออกแบบพาวิเลียนหลักทั้ง 5 ได้แก่ Living Space Pavilion, Working Space Pavilion, Meeting Space Pavilion, Moving System Pavilion และ Introduction Pavilion นอกจากนี้ยังมีพาวิเลียนอื่นๆ ที่ออกแบบโดยสถาปนิกและดีไซเนอร์ชั้นนำของเมืองไทย รวมกว่า 18 พาวิเลียน ไฮไลต์ของการจัดงานครั้งนี้ จึงประกอบไปด้วย 2 ส่วนคือ ‘งานออกแบบพาวิเลียน’ และ ‘เนื้อหา’ ของนิทรรศการที่จัดแสดงภายใต้แนวคิด Vernacular Living ซึ่งพาวิเลียนนิทรรศการหลักทั้ง 5 ประกอบไปด้วย

Living Space Pavilion นิทรรศการแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของเรือนพื้นถิ่นจากสมัยบุพกาล สมัยพัฒนา และร่วมสมัย ชี้ให้เห็นว่าการก่อสร้างที่อยู่อาศัยแบบการผลิตเป็นจำนวนมากนั้นไม่ตอบสนองต่อการอยู่อาศัยที่แท้จริง นิทรรศการถูกจัดแสดงผ่านภาพถ่ายและการออกแบบแสง และโครงร่างจำลองแม่เตาไฟ พาวิเลียนออกแบบโดย คุณบุญเลิศ เหมวิจิตรพันธ์ จาก Boon Design

Working Space Pavilion นิทรรศการแสดงการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ประกอบอาชีพ จากอดีตที่เคยซ้อนทับไปกับพื้นที่อยู่อาศัย แล้วถูกแยกออกจากกันในยุคอุตสาหกรรม จนกระทั่งเทคโนโลยีสมัยใหม่ทําให้การใช้พื้นที่ทำงานและพื้นที่ส่วนตัวสามารถกลับมารวมกันอีกครั้ง จัดแสดงผ่านการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ผสมการแสดงมัลติมีเดีย พาวิเลียนออกแบบโดย คุณจริยาวดี เลขะวัฒนา และ Mr.Luke Yeung จากบริษัท ARCHITECTKIDD

Meeting Space Pavilion นิทรรศการที่ว่าด้วยการซ้อนทับของกิจกรรมทางสังคมบนพื้นที่สาธารณะ และสเปซ บนโลกออนไลน์ ตั้งคําถามถึงปฏิสัมพันธ์ของพื้นที่ทางกายภาพในโลกจริง และโลกเสมือนจริง (AR) นั้นจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร และจะทําให้บทบาทพื้นที่สาธารณะของเมืองเปลี่ยนไปอย่างไร ความน่าสนใจอยู่ที่นิทรรศการนี้จะแสดงผ่านเกมบนแอพพลิเคชั่น พาวิเลียนออกแบบโดยคุณสุริยะ อัมพันศิริรัตน์ จากบริษัท Walllasia

Moving System Pavilion นิทรรศการนําเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับระบบการเดินทางและขนส่ง ตั้งคำถามต่อ กระบวนการสร้างสรรค์ระบบขนส่งท้องถิ่นอย่าง มอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถสามล้อ เรือด่วน รถสองแถว รถพุ่มพวง ฯลฯ การพัฒนาระบบขนส่งด้วยเทคโนโลยีสื่อสารใหม่ๆ ใช้ระบบออนไลน์เป็นตัวช่วยเพิ่มระดับการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ และการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่เมือง/ย่านต่างๆ พาวิเลียนสร้างจากไม้โดยประยุกต์ใช้โครงสร้างไร้ตะปู ออกแบบโดย ศ.ดร.วีระ อินพันทัง และคุณพิช โปษยานนท์

Introduction Pavilion นิทรรศการจัดแสดงภาพรวมแนวคิดการจัดงานครั้งนี้ชูบทบาทและความสำคัญของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น เรื่องราวของผู้วางรากฐานการศึกษาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่สําคัญของประเทศ โครงสร้างพาวิเลียนก่อสร้างด้วยระบบ pneumatic ที่รูปทรงแปรเปลี่ยนไปตลอดเวลาตามสภาวะแวดล้อม สะท้อนเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่สร้างขึ้นโดยปราศจากสถาปนิก ออกแบบโดยคุณสาวิตรี ไพศาลวัฒนา และ Mr. Jakub Gardolinski จาก บริษัท PAGAA ร่วมกับคุณเมธัส ศรีสุชาติ จากบริษัท MAGLA

Key Visual ของงานสถาปนิก’61 Beyond Ordinary ออกแบบโดย P. Library Design Studio

นอกจากนี้ งานสถาปนิก ’61 ยังมีพื้นที่ส่วนกลางสำหรับกิจกรรมสันทนาการอีกมากมาย อาทิ เวิร์กช็อป ให้ความรู้ภาคปฏิบัติ, เวทีกลาง พื้นที่สาธารณะสำหรับพักผ่อน ให้ผู้ชมงานได้เพลิดเพลินกับการแสดงและกิจกรรมน่าสนใจที่หมุนเวียนไปตลอดการจัดงาน, ASA Sketch พื้นที่จัดกิจกรรมสำหรับเยาวชนและผู้ที่สนใจในการวาดเขียน, หมอบ้านอาษา บริการให้คําปรึกษาการออกแบบและก่อสร้างงานสถาปัตยกรรมให้แก่ประชาชนทั่วไป โดยทีมงานสถาปนิกจิตอาสา และกิจกรรมประกวดงานออกแบบระดับนานาชาติ ASA International Design Competition 2018 ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด VEX: Agitated Vernacular การสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมที่ท้าทายนิยามความเป็นพื้นถิ่นแบบเดิมๆ ในส่วนของกิจกรรมด้านวิชาการที่เป็นไฮไลต์ของงานสถาปนิก ’61 คือ  ASA Forum 2018 งานสัมมนาวิชาการโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมทั้งในและต่างประเทศ โดยปีนี้มีสถาปนิกระดับโลกมาร่วมบรรยายบนเวที อาทิ ฮาน ทูมาเทคิน (Han Tümertekin) สถาปนิกจากประเทศตุรกีดีกรีรางวัล AKA KHAN, สองสถาปนิกชาวเบลเยี่ยมผู้ก่อตั้ง OFFICE KDGVS และสถาปนิกชาวฝรั่งเศสที่เพิ่งคว้ารางวัล European Architecture Prize ปีล่าสุด เป็นต้น

ข้อมูลเพิ่มเติมที่: งานสถาปนิก : ASA EXPO และ www.asaexpo.org

ไปชมบรรยากาศ งานสถาปนิก’60 คลิก


เรื่อง: Bundaree D.

ภาพและข้อมูล: asa forum