
บ้านโมเดิร์น
ลมโยกกิ่งแคนาปลิดให้บางใบร่วงหล่น บางกิ่งสลัดดอกสีขาวตกตามแรงไหว แต่หญ้าในสนามกลับไม่สะทกสะท้านต่อใบและดอกที่กำลังร่วงลงมา ต่างจากน้ำในสระที่สั่นระริกเป็นระลอกคลื่น ก่อนจะค่อย ๆ เลือนหายไปกลายเป็นผืนน้ำสงบนิ่ง พร้อม ๆ กับที่ใบและดอกแคนาจะตกลงมากระทบอีกครั้ง
บ้านโมเดิร์น
แรงไหวในน้ำนั้นสะท้อนภาพกำแพงสีขาวสูงจรดฟ้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมชิ้นใหญ่ที่โดดเด่นแม้จะมองจากที่ไกล แถมยังทำหน้าที่เป็นเสมือนเป็นแบ๊คกราวนด์ ยามเมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนผ่านกิ่งก้านของแคนาที่ทำหน้าที่ช่วยกรองแสงและโยกกวนอากาศร้อน กำแพงสีขาวก็จะเปื้อนไรแดดสีเทาจากอ่อนเป็นเข้ม ตามเวลาที่เคลื่อนผ่านในแต่ละวัน
ธรรมชาติกับสถาปัตยกรรมปฏิสัมพันธ์กันอย่างเงียบ ๆ ในขณะที่เราขอผลุบหลบแดดเปรี้ยงเข้าไปยังเบื้องหลังกำแพงสีขาว ไม่นานนักเจ้าของบ้านก็เดินเข้ามาทักทาย
คุณป๊อก – อรรถพร กับ คุณเพียว – รมณี และน้องพูมิ ออกมาต้อนรับเราอย่างพร้อมหน้าในบ้านหลังใหม่ของครอบครัวคบคงสันติ ซึ่งทั้งสามเพิ่งย้ายเข้ามาพักอาศัยได้ไม่นาน หลังจากที่บ้านต้องผ่านการออกแบบและก่อสร้างยาวนานร่วม 6 ปี จนมาลงตัวกับบ้านที่โดดเด่นด้วยบรรดากำแพงสีขาวสะอาดตาสูงตระหง่าน บ้านซึ่งไม่ว่าใครที่ได้เห็นก็คงบอกได้ในทันทีว่าต้องผ่านฝีมือของนักออกแบบมือฉมังมาอย่างไม่ต้องสงสัย
“ด้วยความที่เราเป็นภูมิสถาปนิก ผมจึงอยากได้บ้านที่มีคอร์ตยาร์ด ซึ่งเป็นภาพอย่างที่ฝัน โดยได้ออกแบบร่วมกับพี่บุญเลิศ เพราะผมรู้สึกว่างานออกแบบของเขาตรงกับสไตล์ของเรา เราช่วยกันพัฒนาแบบมาเรื่อย ๆ จนมาลงตัวกับแบบที่ 4 กลายเป็นภาพของบ้านที่ลงตัวอย่างที่เห็น”
คุณป๊อกภูมิสถาปนิกเจ้าของบ้านและเจ้าของสำนักงานภูมิสถาปัตยกรรม “TROP” กำลังพูดถึง คุณบุญเลิศ เหมวิจิตรพันธ์ สถาปนิกแห่งสำนักงาน “Boon Design” ผู้ทำหน้าที่ร่างเส้นสายของบ้านหลังใหม่ร่วมกันกับเขา โดยคุณบุญเลิศได้เล่าถึงไอเดียการออกแบบให้เราฟัง ก่อนที่จะมาพบเจ้าของบ้านราวสองอาทิตย์ให้ฟังว่าต้องการสร้างบ้านที่สัมพันธ์กับธรรมชาติ ซึ่งเป็นแก่นในการทำงานออกแบบของบริษัทมาโดยตลอด ส่วนความพิเศษของบ้านหลังนี้ได้ต่อยอดมาจากความต้องการของเจ้าของบ้าน ซึ่งบอกเขาไว้ว่าชอบบ้านสีขาวแบบเรียบ ๆ และต้องการบ้านที่มีคอร์ตยาร์ดเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ใช้สอย
ความต้องการทั้งหมดจึงมาบรรจบลงตัวด้วยการใช้ “กำแพงสีขาว” ซึ่งเป็นเสมือนเครื่องมือหลักในการออกแบบสถาปัตยกรรมสุดโดดเด่นครั้งนี้ก็ว่าได้
ดังเช่นที่สถาปนิกเล่าให้ฟังว่า “บ้านหลังนี้ไม่ได้เริ่มจาก “ห้อง” แต่เริ่มจากการมีกำแพงขนาดใหญ่ที่เรียงตัวแบบขนานกัน เสร็จแล้วจึงค่อยมาย่อยสเปซภายในให้กลายเป็นพื้นที่ใช้งานต่าง ๆ เรียกได้ว่างานชิ้นนี้เกิดขึ้นจาก “Series of wall”
“Series of wall” ตามความหมายของสถาปนิก คือกำแพง 4 ชุด สูงชะลูดเป็นกรอบให้กับบ้านที่สูง 3 ชั้น แต่ละกำแพงออกแบบให้ตั้งขนานห่างกันตั้งแต่ราว 2.5 – 5 เมตร ซึ่งมีความกว้าง–ยาว เยื้องตัวสับหว่าง และขนาดของความสูงเป็นจังหวะแตกต่างกันไปตามฟังก์ชัน ซึ่งจะได้รับการเติมเข้าไปภายในที่ว่างระหว่างแต่ละกำแพงตามความเหมาะสม โดยกำหนดโซนหลัก ๆ ไว้ดังนี้ เช่น ชั้น 1 ประกอบด้วยห้องนั่งเล่น ห้องครัว และส่วนรับประทานอาหาร ส่วนห้องทำงานของสามีและภรรยากำหนดให้อยู่ที่ชั้น 2 และห้องนอนอยู่ที่ชั้น 3
การปิดล้อมพื้นที่ด้วยการซ้อน “กำแพง” ก่อนจะเริ่มกำหนดฟังก์ชันของ “ห้อง” ต่าง ๆ นั้น ทำให้เกิดภาพที่ดูเหมือน “นำคนเข้าไปอยู่ในช่องว่างของกำแพง” ตามคำบอกของสถาปนิก พื้นที่ใช้สอยส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาบด้วยกำแพงทึบตามแนวยาว ปิดส่วนที่เป็นด้านกว้างทั้งหน้าและหลังบ้านด้วยการกรุกระจกใสเต็มผนัง จึงสามารถจัดวางฟังก์ชันการใช้งานภายในได้อย่างอิสระปลอดโปร่ง ทุก ๆ ห้องสามารถสัมผัสกับธรรมชาติภายนอกที่ส่องผ่านผนังกระจกเข้าสู่ตัวบ้านได้แทบทั่วทุกตารางนิ้ว พร้อมกันนั้นกำแพงทึบยังช่วยกันความร้อนจากทิศเหนือ – ใต้ ส่วนกำแพงกระจกยังเปิดรับแสงจากทิศตะวันออก – ตะวันตกสอดคล้องกับทิศทางของแสงแดดในธรรมชาติบ้านจึงดูสว่างไม่ทึบตันตลอดวัน