THAITONE โทนสีไทย โดย ไพโรจน์ พิทยเมธี

“เฉกศี คือความที่ศีเหมือนกัน ศีคล้ายกัน เหมือนเขาเปรียบความว่า เฉกศีมะณีฉายเปนต้นนั้น.” จากหนังสืออักขราภิธานศรับท์ ของหมอบรัดเลย์ พ.ศ. 2416

หากพูดถึงสีไทยแล้ว หลายคนอาจนึกถึงงานศิลปะไทยอย่างจิตรกรรมฝาผนัง หัวโขน หรือลายผ้าไทย แต่น้อยคนนักที่จะนึกถึงตัว “เนื้อสี” ของสีไทยอย่างจริงจัง สีไทยจึงนำมาใช้อยู่ในวงจำกัด จนอาจจะลดทอนความรู้ที่มีมายาวนานนี้ให้สูญหายไป

ความจริงแล้วตัวเนื้อสีของโทนสีไทยนั้นมีเสน่ห์และมีเอกลักษณ์มาก ทั้งยังมีชื่อเรียกเฉพาะและมีเรื่องราวความเป็นมาเก่าแก่ ดังเช่นที่ คุณไพโรจน์ พิทยเมธี ได้พิสูจน์ให้เราเห็นผ่านโครงการวิจัยเรื่อง “ไทยโทน” หรือ “Thaitone” คุณไพโรจน์เป็นอาจารย์คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และกำลังศึกษาปริญญาเอกที่คณะจิตรกรรมหัวข้อศิลปนิพนธ์เรื่องสีไทย โดยมุ่งเน้นการสืบหาหลักฐานข้อมูลเรื่องสีไทยเพื่อจัดเก็บเป็นฐานข้อมูล จนกลายมาเป็นองค์ความรู้ที่สามารถนำมาใช้ในงานศิลปะไปจนถึงประยุกต์ใช้ในงานออกแบบ ซึ่งจะนำไปสู่การสืบทอดองค์ความรู้ของไทยชุดนี้ไม่ให้เลือนหายไป

“สีที่ผมค้นพบในกระบวนการวิจัยมีมากกว่า 200 สี ชื่อสีที่มีที่มาเก่าแก่ที่สุดสืบค้นได้จากหนังสือสัพะ พะจะนะ พาสา ไท พจนานุกรมสี่ภาษา เรียบเรียงโดยบาทหลวงปัลเลอกัวซ์ ชาวฝรั่งเศส ทั้งยังมีหลักฐานการใช้สีไทยว่ามีส่วนผสมจากแร่ธาตุและพืชตามธรรมชาติมาแต่โบราณ พอมาถึงจุดนี้ผมคิดว่ามันกลายเป็นวาระของชาติไปแล้ว พอวิจัยไปลึก ๆ ก็พบหลักฐานหลายประการที่ระบุว่าประเทศไทยมีสีใช้เป็นของตัวเองมานาน ในบันทึกยังบอกอีกว่าเรามีความเชื่อและวัฒนธรรมเรื่องสีด้วย”

เขาอธิบายที่มาของสีไทยก่อนจะบอกเล่าธรรมชาติของเนื้อสีไทยว่า เนื่องจากแม่สีหลักของสีไทยเป็นสีที่ได้จากธรรมชาติ ได้แก่ สีแดงที่มาจากแร่ เรียกว่าแดงชาด สีครามได้จากการหมักต้นคราม และสีเหลืองรงมาจากยางของต้นรง สีจากธรรมชาติเหล่านี้เนื้อสีจะมีความนุ่มมากกว่าสีสมัยใหม่ เมื่อนำมาผสมจึงได้สีขั้นที่สองที่มีความนุ่มนวลเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว คุณไพโรจน์จึงตัดสินใจทดลองผลิตสีสมัยใหม่ที่ให้เฉดสีอย่างสีไทยเดิม จนสามารถกำหนดค่าสีในงานพิมพ์อย่าง CMYK และมีการใช้โทนสีไทยเป็นสีประจำมหาวิทยาลัยศิลปากร รวมไปถึงสีประจำคณะทั้ง 14 คณะด้วย

“ผมมองว่าเฉดสีพวกนี้กำลังจะหายไป จึงพยายามเรียนรู้กระบวนการผลิตตามธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันยังพอมีวัตถุดิบที่สามารถนำมาทำสีตามแบบโบราณและใช้ได้จริง ต่อยอดไปสู่การเทียบเฉดสีแล้วผลิตสีขึ้นมาใหม่เพื่อใช้ในงาน Fine Art รวมไปถึงงานออกแบบ เมื่อมีคนใช้กันมาก ๆ ความเป็นไทยก็จะก่อตัวขึ้น เกิดเป็นเอกลักษณ์ไทยใหม่ เป็นสิ่งที่คนยอมรับและใช้กันอย่างแพร่หลาย อีกแง่หนึ่งเหมือนเราได้ปลดแอกความเป็นไทย มีทั้งตัวอักษรและมีสีใช้เอง เป็นการประกาศอิสรภาพทางสี” คุณไพโรจน์เล่าความคาดหวังด้วยน้ำเสียงติดตลก แต่กลับสร้างแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ให้ผู้ฟังอย่างเรา

ติดตามข่าวสารใหม่ๆ ของโปรเจ็กต์ไทยโทนได้ที่ www.facebook.com/thaitonecolor

 

9213-01
คุณไพโรจน์ พิทยเมธี กับงานทดลองใช้สีไทยโทนที่ปรุงเองในการลงสีจริงบนเฟรมผ้าใบ
9213-02
(ซ้ายบน) ไม้ฝาง ใช้ต้มจะได้สีชมพู เป็นที่มาของสีลิ้นจี่ (กลางบน) ก้อนดินแดง เป็นดินที่มีมากในประเทศไทย จึงเป็นสีหลักพื้นฐาน นิยมใช้กันมากจนเรียกได้ว่าเป็นสีประจำประเทศไทยตั้งแต่โบราณ (ขวาบน) รงบดเป็นผงใช้ทำสีเหลือง เรียกว่าเหลืองรง (ซ้ายล่าง) แผ่นทองแดงขึ้นสนิม ในสมัยโบราณจะขูดผงสนิมที่ได้จากทองแดงเหล่านี้มาทำสี เป็นที่มาของผงสีเขียวอมฟ้าที่เรียกว่าเขียวตั้งแช หรือเขียวขี้ทองในภาษาไทยเดิม (กลางล่าง) ก้อนดินนวลใช้ทำสีขาวนวล (ขวาล่าง) ก้อนชาด แร่ชนิดหนึ่ง ที่มาของสีแดงชาด

 

เรื่อง : กษมา
ภาพ : จิระศักดิ์
ภาพประกอบ : ไพโรจน์ พิทยเมธี