รวมสายพันธุ์เมล่อนยอดฮิต พร้อมวิธีปลูกตั้งแต่เริ่มต้นจนเก็บผลผลิต

เมล่อน หนึ่งในผลไม้คลายร้อนที่มีรสชาติหวานฉ่ำ อุดมไปด้วยความอร่อย ถูกปากผู้บริโภคกันอย่างกว้างขวาง ที่สำคัญเมล่อนปลูกได้ทุกฤดูกาล มีผลผลิตตลอดปี จาก เมล็ดพันธุ์เมล่อน ใช้เวลาประมาณ 75 วัน ก็เก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว

แต่ในการปลูกเมล่อนให้ได้คุณภาพ และมีราคาที่ดีได้นั้น ก็ต้องรู้จักกับเมล่อนให้รอบด้าน ทั้งการเพาะ เมล็ดพันธุ์เมล่อน สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม การเตรียมเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูก โรคแมลงที่มักพบเจอ เทคนิคการเก็บเกี่ยวให้เมล่อนหวาน รวมถึงสายพันธุ์ของเมล่อนที่ถูกใจผู้บริโภค

เมล็ดพันธุ์เมล่อน
ต้นกล้าเมล่อน

ต้นกำเนิดของเมล่อนมีการกล่าวถึงจากหลายพื้นที่ทั้งในอินเดีย แอฟริกา อียิปต์ และนักวิชาการเกษตรได้นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยครั้งแรกในปี พ.ศ. 2478 ที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่เกิดโรคและตายไปทั้งหมด จึงมีการนำกลับเข้ามาปลูกอีกครั้งในปี พ.ศ. 2493 และพัฒนาสายพันธุ์ ที่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อทดลองปลูกแล้วได้ผลดีจึงส่งต่อเกษตรกร และปลูกเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

เมล่อน เป็นพืชในตระกูลแตง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cucumis melo L. อยู่ในวงศ์ Cucurbitaceae เป็นพืชล้มลุก ที่มีลำต้นเป็นเถาทอดเลื้อย มีขนปกคลุมทั่วทั้งลำต้น และใบดอกเพศผู้และดอกเพศเมียจะแยกกันอยู่คนละดอก ผลมีลักษณะกลมรี สีของเปลือกและสีของเนื้อจะแตกต่างกันไปตามแต่ละสายพันธุ์ บางพันธุ์มีผิวหยาบ เปลือกแข็ง มีร่องลึกรอบๆผล บางพันธุ์มีลายคล้ายร่างแหหรือตาข่าย แต่บางพันธุ์ก็ผิวเรียบไม่มีลาย

เมล็ดพันธุ์เมล่อน

เมล็ดพันธุ์เมล่อน และสายพันธุ์ต่างๆ

ปัจจุบันเมล่อนมีการพัฒนาสายพันธุ์ให้แตกต่างจากเดิม ทั้งรูปร่าง กลิ่น รสชาติ รวมถึงความต้านทานโรค ทั้งนี้ก็เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคและเกษตรกร โดยเมล็ดพันธุ์ที่นิยมใช้ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นเมล็ดพันธุ์ F1 หรือลูกผสม นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงแหล่งที่มาและสายพันธุ์ตรงความต้องการของตลาดก็เป็นเรื่องที่สำคัญ

เมล่อนแต่ละสายพันธุ์ก็จะมีลักษณะเนื้อที่ต่างกัน มีทั้งแบบเนื้อกรอบและเนื้อนุ่ม ซึ่งในประเทศไทยจะนิยมรับประทานเมล่อนที่มีเนื้อกรอบมากกว่าเนื้อนุ่ม

เมล็ดพันธุ์เมล่อน

เมล่อนที่สายพันธุ์เนื้อกรอบ

  • พันธุ์ดราก้อนบอล (Dragonbon melon) เป็นเมล่อนที่มาจากประเทศจีน (ธิเบต) เปลือกบางสีเขียว ผิวมีรอยแตก เนื้อสีส้ม รสชาติหวาน เนื้อฟูกรอบ มีกลิ่นหอมอ่อนๆ น้ำหนักผลประมาณ 1.2-2.4 กิโลกรัม อายุเก็บเกี่ยวหลังผสมดอก 35-38 วัน
  • พันธุ์ไทเฮา (Thaihao melon) เป็นเมล่อนอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่มาจากประเทศจีน ผิวมีรอยแตก สีทอง เนื้อมีสีส้มฟูกรอบ รสชาติหวานกรอบ มีกลิ่นหอม ใช้เวลาบ่ม 5-7 วัน ผลมีขนาดใหญ่ น้ำหนัก 2.0-3.5 กิโลกรัม
  • พันธุ์ไข่ทองคำ (Khaitongkham melon) เมล่อนสีทอง ผิวเรียบ เนื้อเนียนแน่นสีส้ม เนื้อคล้ายแอปเปิ้ล ผลมีลักษณะกลม น้ำหนักประมาณ 1.5-2.3 กิโลกรัม อายุเก็บเกี่ยวหลังผสมดอก 35-38 วัน
  • พันธุ์ไข่มังกร (Khaimungkorn melon) เป็นเมล่อนที่มาจากประเทศจีน (ธิเบต) เปลือกสีเขียวเข้ม ผิวมีรอยแตก เนื้อสีส้ม รสชาติหวาน เนื้อฟูกรอบ มีกลิ่นหอมอ่อนๆ น้ำหนักผลประมาณ 2-3 กิโลกรัม อายุเก็บเกี่ยวหลังผสมดอก 38-42 วัน
เมล็ดพันธุ์เมล่อน

เมล่อนที่สายพันธุ์เนื้อนุ่ม

  • พันธุ์หยกมงคล (Yokmongkol melon) เมล่อนผิวลายตาข่าย เนื้อนุ่ม สีเขียว รสชาติหวาน มีกลิ่นหอมคล้ายดอกไม้ ผลมีขนาดใหญ่ น้ำหนักประมาณ 1.5-2.3 กิโลกรัม อายุการเก็บเกี่ยวหลังจากผสมดอก 45 วัน  
  • พันธุ์ลิตเติ้ลเลดี้ (Little lady melon) เมล่อนจากญี่ปุ่น ผิวตาข่าย เนื้อมีสีเขียว นุ่มฉ่ำ รสชาติหวาน มีกลิ่นหอม ผลมีขนาดเล็ก น้ำหนักประมาณ 0.7-1.2 กิโลกรัม ใช้เวลาบ่ม 5-7 วัน อายุการเก็บเกี่ยวหลังจากผสมดอก 35-38 วัน
  • พันธุ์แสนหวาน (Sanwan melon) เมล่อนผิวลายตาข่าย เนื้อนุ่ม มีสีส้ม หวานหอม น้ำหนักผลประมาณ 1.5-2.5 อายุการเก็บเกี่ยวหลังจากผสมดอก 38-42 วัน
  • พันธุ์มะลิ (Mali melon) เมล่อนสายพันธุ์ไทย ผิวมีลายแตก เปลือกบาง เนื้อเนียนนุ่ม สีขาว รสชาติหวานหอมเหมือนน้ำผึ้ง มีกลิ่นหอมคล้ายมะลิ น้ำหนักผลประมาณ 1.5-2.5 กิโลกรัม
เมล็ดพันธุ์เมล่อน

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการปลูกเมล่อน

เมล่อนเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในอากาศอบอุ่น ไม่ชอบอากาศหนาวและอาการร้อนจัด อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ที่ 25-30 องศาเซลเซียส หากเมล่อนอุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส การเจริญเติบโตของเมล่อนจะหยุดชะงัก การออกดอกและการติดผลจะใช้เวลานานกว่าปกติ หรือถ้าอุณหภูมิสูงกว่า 35 องศาเซลเซียส เมล่อนจะสร้างแต่ดอกเพศผู้ หรือถ้าหากสร้างดอกเพศเมีย ดอกนั้นจะหลุดร่วงง่าย

ดินที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเมล่อน ควรเป็นดินที่มีลักษณะร่วน ระบายน้ำได้ดี ค่าความเป็นกรดด่างควรอยู่ที่ 6.0-6.5 หากต่ำกว่านี้ต้องปรับสภาพดินด้วยปูนขาว ควรยกแปลงปลูกให้สูง 20-30 เซนติเมตร เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังจนทำให้ระบบรากเน่าได้ การปลูกเมล่อนที่สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมต้องมีการดูแลรักษา ให้น้ำ ปุ๋ยเป็นพิเศษ รวมถึงการดูแลป้องกันกำจัดแมลง โรคที่เข้าทำลายอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี

เมล็ดพันธุ์เมล่อน
เมล็ดพันธุ์เมล่อนที่ผ่านการแช่ในน้ำอุ่นและบ่มในที่มืดมาแล้ว 24 ชั่วโมง ทำให้รากสามารถงอกออกมาจากเมล็ดได้ พร้อมที่จะปลูก

การเตรียม เมล็ดพันธุ์เมล่อน และต้นกล้า

การปลูกเมล่อนจะต้องเริ่มจากเมล็ด ซึ่งเมล็ดของเมล่อนจะมีเปลือกหุ้มที่ค่อนข้างหนา ต้องทำลายเปลือกที่หุ้มเมล็ดออกเพื่อให้ต้นกล้าเจริญเติบโตได้ง่าย และการแช่เมล็ดในน้ำอุ่น อุณหภูมิ 50-60 เซลเซียส เป็นเวลา 3 ชั่วโมง จะช่วยให้เปลือกที่หุ้มเมล็ดอ่อนตัวลง จากนั้นนำผ้ามาห่อเมล็ดแล้วบ่มไว้ในที่มืด 24 ชั่วโมง จนเมล็ดเริ่มแทงรากออกมา จึงสามารถนำเมล็ดไปปลูกลงแปลงได้

เมล็ดพันธุ์เมล่อน

การปลูกและการดูแลเมล่อน

เมล่อนส่วนใหญ่นิยมปลูกในโรงเรือน ช่วยให้สามารถปลูกได้ทุกฤดู ข้อดีของโรงเรือนช่วยป้องกันฝน แมลง และการระบาดของโรคได้ ถึงแม้ว่าการสร้างโรงเรือนต้องใช้ต้นทุนสูงแต่ก็คุ้มค่ากับผลตอบแทน โดยการปลูกเมล่อนสามารถทำได้หลายวิธีเหล่านี้

ระยะห่างระหว่างต้นเมล่อนประมาณ 50×50 เซนติเมตร เป็นระยะที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเมล่อน
ไม่ทำให้ต้นเมล่อนแย่งอาหารกัน และผลผลิตมีความส่ำเสมอ
  • การปลูกแบบลงดินโดยตรง จะเริ่มจากการเตรียมดิน ปรุงดินด้วยปุ๋ยคอก และโรยปูนขาวเล็กน้อย นำเมล็ดที่บ่มแล้วมาปลูกลงหลุม 1 เมล็ดต่อหลุม ระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 50 เซนติเมตร การปลูกลงดินโดยตรงจะช่วยให้ต้นกล้าโตเร็วกว่าการเพาะเมล็ดลงถาดเพาะแล้วย้ายปลูก เนื่องจากมีพื้นที่ให้รากเจริญเติบโตมากกว่าถาดเพาะ การปลูกเมล่อนแบบนี้ต้องมีการบำรุงดินอยู่เสมอ โดยสามารถทำได้ด้วยการขุดหลุมให้ลึกประมาณ 50-80 เซนติเมตร แล้วผสมมูลไส้เดือน ปุ๋ยหมัก ขุยมะพร้าวลงไป
  • การปลูกลงกระถางหรือ ถุงปลูกเมล่อน เริ่มจากย้ายต้นกล้าที่มีอายุประมาณ 10-15 วัน ลงถุงปลูกเมล่อนขนาดประมาณ 8×16 นิ้ว โดยวัสดุปลูกที่ใช้ควรมีการระบายน้ำได้ดี มีธาตุอาหารที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต ระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 50 เซนติเมตร
  • การปลูกเมล่อนด้วยระบบไฮโดรโปรนิกส์ ระบบนี้เป็นการปลูกลงรางปลูกที่มีน้ำไหลวนอยู่ตลอด โดยในน้ำจะมีปุ๋ยทดแทนธาตุอาหารจากดิน เริ่มจากย้ายต้นกล้าที่มีอายุประมาณ 10-15 วัน ลงในรางปลูก ซึ่งการปลูกเมล่อนระบบนี้ สามารถควบคุมปัจจัยการเจริญเติบโตของเมล่อนได้มากกว่าวิธีอื่นๆ โดยเฉพาะเรื่องของธาตุอาหารที่เมล่อนต้องการ ทำให้ผลผลลิตเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 ผลได้ แต่การลงทุนในระบบนี้มีต้นทุนที่สูงกว่าระบบอื่นๆ ตามมาด้วยเช่นกัน
ดอกเพศเมียจะออกบริเวณกิ่งแขนง ฐานรองดอกจะมีลักษณะกลมรี เป็นกระเปาะผลเห็นได้ชัดเจน
หลังจากผสมเกสรแล้ว กระเปาะผลจะขยายใหญ่ขึ้นและเจริญเติบโตเป็นผลขนาดใหญ่

เมื่อผ่านไปสักระยะเมล่อนจะเริ่มแตกกิ่งแขนง จึงต้องตัดแต่งกิ่งแขนงที่ต่ำกว่าข้อที่ 9 ลงมา และกิ่งแขนงที่สูงกว่าข้อที่ 12 ทิ้งไป ประมาณ 1 เดือนหลังจากปลูก ให้เริ่มทำการผสมเกสร โดยดอกเพศเมียจะออกในตำแหน่งกิ่งแขนงข้อที่ 9-12 และให้ผสมเกสรในช่วงเช้า 06.00-10.00 น. ผสมเกสรประมาณ 3-5 ดอกต่อต้น หลังจากนั้นประมาณ 7 วันหรือผลอ่อนมีขนาดเท่าไข่ไก่ จะเลือกผลที่สมบูรณ์ไว้เพียง 1 ผลต่อต้น ส่วนที่คัดทิ้ง

หลังจากที่ผสมดอกจนติดผลแล้ว จะต้องทำการแขวนผลเพื่อช่วยรับน้ำหนักผลป้องกันไม่ให้ต้นเมล่อนฉีกขาด และผลเกิดความเสียหาย อายุการเก็บเกี่ยวเมล่อนแต่ละสายพันธุ์นั้นไม่เท่ากัน หลังจากที่นำเกสรเพศผู้มาผสมกับดอกเพศเมีย ผลเมล่อนจะใช้เวลาประมาณ 35-45 วัน จะสามารถเริ่มเก็บเกี่ยวได้ ก่อนเก็บเกี่ยว 2 สัปดาห์จะเริ่มลดปริมาณน้ำลง และงดน้ำก่อนเก็บเกี่ยว 7 วัน

การให้น้ำและปุ๋ยสำหรับเมล่อนในแต่ละช่วงอายุ

ระบบน้ำที่นิยมสำหรับการปลูกเมล่อน คือ ระบบน้ำหยด และเริ่มให้ปุ๋ยครั้งแรกหลังจากปลูกประมาณ 14 วัน 16-16-16  วิธีการให้ปุ๋ย คือ จะขุดหลุมบริเวณโคนต้น ให้ปุ๋ยต้นละประมาณ 10 กรัม หรือให้ปุ๋ยไปพร้อมกับระบบน้ำเลย และให้ปุ๋ยสูตร 16-16-16 อีกครั้งเมื่อต้นเมล่อนอายุประมาณ 25 วัน และหลังจากที่ผสมดอกได้ 15 วัน จะให้ปุ๋ยสูตร 15-5-25 โดยขุดหลุมห่างจากโคนต้นเล็กน้อย และให้ปุ๋ยครั้งสุดท้ายอีกรอบหลังจากติดผลได้ 30 วัน จะเป็นปุ๋ยที่ช่วยเร่งความหวานสูตร 0-0-50 ในอัตรา 10 กรัมต่อต้น

โรคและแมลงศัตรูพืช

โรคที่พบได้บ่อยในเมล่อน ได้แก่ โรคราน้ำค้าง โรคใบไหม้แผลใหญ่ โรคต้นแตกยางไหล และถ้าปลูกเมล่อนแบบลงดินโดยตรง ก็อาจพบโรครากปมที่เกิดจากไส้เดือนฝอยได้ ซึ่งโรคต่างๆ ที่พบนั้นถ้าเกิดขึ้นก่อนที่ผลใกล้เก็บเกี่ยว 1 เดือน สามารถใช้ป้องกันได้ด้วยสารเคมีป้องกันโรค แต่ถ้าเกิดในช่วงที่ใกล้เก็บเกี่ยวผลผลิตจะใช้สารชีวภัณฑ์แทน เพื่อเว้นระยะการใช้สารเคมี และปลอดภัยกับผู้บริโภค เช่น เชื้อรา Thichoderma, แบคทีเรีย Bacillus subtillis และ เชื้อรา Beauveria bassiana

สุดท้ายนี้ขอขอบคุณข้อมูล การปลูกการดูแลเมล่อน รวมถึงสายพันธุ์เมล่อนต่างๆ จาก คุณเอฟ – กมลพงษ์ ชื่นเจริญ เจ้าของ สวนพอใจ หลังสวน จ.ชุมพร สำหรับท่านใดที่สนใจสั่งซื้อเมล่อน สามารถไปเยี่ยมชมได้ที่เพจเฟซบุ๊ก สวนพอใจ หลังสวน หรือติดต่อเบอร์โทร. 086-367-0683

เรื่อง : สรวิศ บุญประสพ

ภาพ : สวนพอใจ หลังสวน / อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม

อยากปลูก เมลอนออร์แกนิค ไว้กินเองที่บ้าน… เริ่มอย่างไรดี

ฟาร์มออร์แกนิกแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรแบบ lifestyle farming ที่ CORO Field