Holiday Reading List หนังสือ 10 เล่ม 10 สไตล์ ที่จะพาคุณใช้วันหยุดสุดสัปดาห์อย่างมีจุดหมาย

 

หลังจากสไลด์นิ้วบนจอดิจิทัลมาตลอดปี วันหยุดยาวทั้งทีเปลี่ยนบรรยากาศมาละเลียดกับหน้าหนังสือละมุนมือแทนบ้าง หากไม่ได้เดินสายปาร์ตี้ที่ไหน นี่คือโอกาสอันดีที่จะได้นั่งพักอารมณ์ ทบทวนเรื่องราวต่างๆ และ หนังสือน่าอ่าน 10 เล่ม 10 สไตล์ต่อไปนี้อาจมีสักเล่มที่จะช่วยเติมเต็ม และพาคุณข้ามผ่านวันหยุดสุดสัปดาห์ด้วยจุดมุ่งหมายใหม่ในชีวิต

 

สายการเมือง

     1.แอนิมอล ฟาร์ม (Animal Farm)

เขียนโดย จอร์จ ออร์เวลล์

แปลโดย บัญชา สุวรรณานนท์

เชื่อว่าหนอนหนังสือส่วนใหญ่คงเคยอ่านกันแล้ว แต่ถ้าจะอ่านอีกสักรอบก็ไม่แปลก และทางเราก็ไม่อยากให้ใครพลาดเล่มนี้ด้วย เพราะแอนิมอล ฟาร์ม ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ปีพ.ศ. 2488 คือวรรณกรรมอมตะที่สะท้อนถึงเหตุการณ์การปฏิวัติรัสเซีย และเสียดสีการครองอำนาจของสตาลิน จอร์จ ออร์เวลล์นักวิจารณ์การเมืองชาวอังกฤษได้ตีแผ่เรื่องราวเล่ห์เหลี่ยมของชนชั้นผู้ปกครองในยุคหนึ่งผ่านตัวละครสัตว์น้อยใหญ่ในฟาร์มได้อย่างสนุกจนอ่านเผินๆ อาจนึกว่าเป็นวรรณกรรมเยาวชน เรื่องนี้ได้สร้างชื่อให้กับออร์เวลล์อย่างยิ่ง และได้รับการยกย่องว่าเป็นวรรณกรรมอังกฤษที่ดีสุดเล่มหนึ่ง

รายละเอียดเพิ่มเติม http://readery.co/9786167144252-e5

 

สายตามหาแรงบันดาลใจ

  2.ปัญญาอดีต (PAST)

โดย ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา

เล่มใหม่ในซีรีย์เดียวกับ “ปัญญาอนาคต (FUTURE)” เนื้อหาในเล่มยังคงย้ำกับเราว่าการจะมองไปข้างหน้าได้ไกล เราจำเป็นต้องศึกษาอดีตให้ถ่องแท้เสียก่อน ปัญญาอดีตพาเรากลับไปสู่สาระสำคัญของประวัติศาสตร์ยาวนานหลายร้อยปีได้ในไม่กี่ร้อยหน้ากระดาษ และด้วยสำนวนของนักเล่าเรื่องมือฉกาจอย่างภิญโญ เรื่องราวประวัติศาสตร์ทั้งไทยและเทศที่เราเคยท่องจำอย่างซ้ำซากกลับได้รับการวิเคราะห์แง่มุมใหม่ จุดประกายความคิด และความกล้า “นอกกรอบ” ของเราได้อย่างไม่น่าเชื่อ

รายละเอียดเพิ่มเติม https://shop.onopen.com/#/products/past

 

สายวรรณกรรมเด็ก

  1. โต๊ะก็คือโต๊ะ

เขียนโดย เพเตอร์ บิคเซล

แปลโดย ชลิต ดุงรงค์พันธุ์

“เรียบง่ายแต่พลิกมุมมอง” เรื่องเล่าแบบนิทานเด็ก 7 เรื่องที่สั้นกระชับ เข้าใจง่าย แต่สามารถพลิกมุมมองความคิดของผู้ใหญ่ได้อย่างน่าอัศจรรย์ ประโยคธรรมดาๆ สามารถตีความไปได้หลากหลายมิติขึ้นกับวุฒิภาวะของผู้อ่าน เรื่องราวของของชีวิตคนตัวเล็กๆ ในสังคมที่นำไปสู่ตั้งคำถามกับการกระทำของพวกเขา และถ้าลองมองดีทุกการกระทำล้วนมีเหตุมีผลในตัวมันเอง และนี่เองที่ทำให้งานเขียนชิ้นนี้ของ เพเตอร์ บิคเซล (Peter Bichsel) กลายเป็นสัญลักษณ์ของวรรณกรรมเยอรมันสมัยใหม่ เล่มนี้อาจจะดูบางเกินไปสำหรับวันหยุดยาว แต่รับรองว่าคุณต้องอ่านซ้ำ

รายละเอียดเพิ่มเติม https://www.naiin.com/product/detail/2454/

 

สายซีไรต์

  1. สิงโตนอกคอก

โดย จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท

วรรณกรรมซีไรต์ประจำปี 2560 โดยนักเขียนที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของรางวัลนี้ เล่มนี้รวมเรื่องสั้นแนวแฟนตาซี 9 เรื่องที่ทำให้นึกถึงภาพสังคมมนุษย์โลกในเชิงเปรียบเทียบ ชวนให้นึกย้อนถึงระบอบปกครองของคนในสังคมบางประเทศที่ทั้งเหมือนและแตกต่างกัน นักเขียนได้พูดถึงเรื่องของอำนาจหน้าที่ ความเชื่อ ความรัก ไปจนถึงเรื่องคุณธรรม โดยมีการสร้างฉาก ตัวละคร บรรยากาศที่แปลกแตกต่าง หลุดออกจากขนบเดิม สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับงานเขียนเชิงวิพากษ์ เล่มนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะสนุก อ่านง่าย กระตุ้นให้ตั้งคำถาม และคิดใคร่ครวญ

รายละเอียดเพิ่มเติม https://www.naiin.com/product/detail/214299/

 

สายรักธรรมชาติ

  1. Everyday with Plants

โดย ศิริวิทย์ ริ้วบำรุง และจาตุรงค์ ขุนกอง

ใช้เวลาช่วงวันหยุดมาแปลงโฉมบ้านให้เขียวชอุ่มด้วยคำแนะนำจากคนรักต้นไม้ตัวจริงอย่าง ศิริวิทย์ ริ้วบำรุง และจาตุรงค์ ขุนกอง เจ้าของ Little Tree สตูดิโอออกแบบสวนชื่อดัง เล่มนี้บอกเล่าเรื่องราวของการใช้ชีวิตกับต้นไม้ในทุกๆ พื้นที่ของบ้านไปจนถึงสตูดิโอทำงานของทั้งคู่ นอกเหนือไปจากไอเดียแปลกใหม่ และแรงบันดาลใจในการพาต้นไม้เข้ามาในบ้านอย่างมีสไตล์ ยังมีคำแนะนำในการเลือกสรรพันธุ์ไม้ และการดูแลรักษาในฉบับเคล็ดลับของ Little Tree

รายละเอียดเพิ่มเติม https://www.facebook.com/Baanlaesuanbooks/

 

สายประวัติศาสตร์

  1. พุทธศักราชอัสดง กับทรงจำของทรงจำ ของแมวกุหลาบดำ

โดย วีรพร นิติประภา

เรื่องเล่าชะตาชีวิตของครอบครัวชาวจีนอพยพที่พลิกผันไปตามความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองในแต่ละยุคสมัย ความทรงจำที่คลุมเครือ เลือนลางของทั้งคนและแมวทำให้แยกไม่ออกว่าอะไรคือเรื่องจริงหรือเรื่องสมมุติ และนั่นอาจเป็นเรื่องที่เราต้องตีความเอาเอง ผลงานชิ้นนี้ยังคงกลิ่นอายเฉพาะตัวของนักเขียนรางวัลซีไรต์คนนี้ไว้อย่างเต็มเปี่ยม สำนวนภาษา และลีลาการเล่าเรื่องที่จัดจ้านซึ่งเคยทำให้เราตื่นเต้นมาแล้วใน “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” ได้เติมรสชาติให้นวนิยายคู่ขนานประวัติศาสตร์เล่มนี้ยิ่งแตกต่าง คุ้มค่าแก่การใช้เวลาละเลียดซึมซับถึงทุกการสัมผัสของเสียง และตัวอักษรตลอดวันหยุด

รายละเอียดเพิ่มเติม http://www.matichonbook.com/index.php/matichonbook/newbooks/-2906.html

 

สายท่องโลก

  1. อินเดียไม่เคยเปลี่ยน เราต่างหากที่ต้องเปลี่ยน

โดย เกศรินทร์ ล้ำ

นอกเหนือไปจากเลห์ ลาดักห์ยอดฮิต อินเดียยังมีเมืองอื่นๆ ที่เรียกร้องให้เราออกสำรวจอยู่เสมอ หลายๆ คนบอกว่าอินเดียเป็นดินแดนที่ผู้มาเยือนอาจหลงรักแบบโงหัวไม่ขึ้น หรือไม่ก็ไม่ขอกลับไปเหยียบอีก และนั่นก็สะท้อนถึงความเป็นตัวของตัวเองอย่างเสมอต้นเสมอปลายในแบบอินเดียได้เป็นอย่างดี ดังนั้น ในเมื่ออินเดียไม่เคยเปลี่ยน เราต่างหากที่ต้องเปลี่ยนไปมองอินเดียในมุมใหม่ หนังสือเล่มนี้จึงเป็นคู่มือชั้นเยี่ยมที่ช่วยในการตัดสินใจก่อนตะลุยอินเดียทริปแรก ภายในเล่มมีทั้งส่วนสารคดีท่องเที่ยวที่สร้างแรงบันดาลใจ และเปิดมุมมอง พร้อมด้วยส่วนของคู่มือที่อัดแน่นด้วยข้อมูลพื้นฐาน ซึ่งจำเป็นในการท่องเที่ยว และบางทีวันหยุดนี้ คุณอาจอยากจะลองวางแผนทริปอินเดียสำหรับปีหน้าก็เป็นได้

รายละเอียดเพิ่มเติม https://www.naiin.com/product/detail/222272/

 

สายสถาปัตยกรรม

  1. Ghost Tower & Me

โดย พรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ

เล่มนี้ว่าด้วยเรื่องของ “ตึกร้างสาธรยูนีค” ในตำนาน บอกเล่าผ่านบทบันทึกของ พรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ ในฐานะผู้รับช่วงต่อดูแลตึกจากคุณพ่อ รังสรรค์ ต่อสุวรรณ สถาปนิกชื่อดังผู้ริเริ่มโครงการ เล่มนี้ไม่ได้พูดถึงงานออกแบบอาคารเป็นหลัก แต่น่าจะตอบคำถามของหลายๆ คนได้ว่าทำไมตึกที่เริ่มสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 จึงยังคงยืนร้างค้างเติ่งจนถึงบัดนี้ สำหรับคนรุ่นเก่า Ghost Tower & Me คือภาพสะท้อนความทรงจำ ทั้งก่อนและหลังเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจในยุคนั้นได้อย่างแจ่มชัด แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ เล่มนี้คือบทเรียนที่บอกเล่าผ่านงานสถาปัตยกรรม และช่วยย้ำเตือนไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกในอนาคต

รายละเอียดเพิ่มเติม https://issuu.com/li-zenn/docs/ghosttower_sample-sprd

 

สายศิลป์

  1. วาดพระนคร

โดย ปิติรัตน์ ยศวัฒน

หนังสือสองภาษาที่รวบรวมภาพวาดของสถาปนิกสาวผู้หลงใหลในสีน้ำ หนึ่งในแกนนำหลักของกลุ่ม Bangkok Sketchers การรวมตัวของผู้คนที่มีใจรักในการวาดภาพโดยไม่ต้องเป็นศิลปิน ภายในเล่มประกอบด้วยภาพสีน้ำนุ่มละมุนที่เป็นเสมือนการบันทึก “ช่วงเวลา” ต่างๆ ของเมืองกรุงภายใต้มุมมองส่วนตัว วาดพระนคร จึงเป็นเหมือนหนังสือนำเที่ยวที่พาเราไปพาเดิน-กิน-วาด รอบเกาะรัตนโกสินทร์ใน 5 เส้นทาง นอกจากภาพสวย เนื้อหาน่าอ่านแล้ว รูปเล่มปกแข็ง และกระดาษเนื้อดีเนียนมือก็ทำให้เล่มนี้ควรค่าแก่การสะสมอย่างยิ่ง และบางทีวันหยุดยาวนี้ เที่ยวกรุงตามรอยวาดพระนครก็คงชิลไม่น้อย

รายละเอียดเพิ่มเติม https://www.facebook.com/PITIART2016/

 

สายขบคิด

  1. ชายไร้สีกับปีแสวงบุญ (Colorless Tsukuru Tazaki and His Years of Pilgrimage)

เขียนโดย Haruki Murakami

แปลโดย มุทิตา พานิช

สำหรับใครที่อ่าน Norwegian Wood หรือเล่มอื่นๆ ของ Murakami เรียบร้อยแล้ว เล่มนี้จะชวนคุณเตรียมพร้อมสำหรับหนังสือเล่มใหม่ล่าสุดของเขาอย่าง Killing Commendatore ที่ฉบับแปลภาษาไทยคงเปิดตัวในไม่ช้านี้ แต่ถ้าใครยังไม่เคยอ่านงานอื่นของเขา จะเริ่มต้นด้วยเล่มนี้ก็ไม่ผิดกติกา ชายไร้สีกับปีแสวงบุญบอกเล่าเรื่องราวความเหงาเรียบง่ายของผู้ชายตัวคนเดียวอย่าง ทสึคุรุ ทะซากิ ความเจ็บปวดในอดีตได้สร้างบาดแผลฉกรรจ์ในใจ และทำให้เขากลัวที่จะมีความสัมพันธ์ และเมื่อเขาตัดสินใจย้อนกลับไปจัดการกับความเจ็บปวดนั้น เราจึงได้พบกับการตีแผ่ความรู้สึกที่แสนลึกซึ้งของมนุษย์คนหนึ่งได้อย่างชัดเจน

รายละเอียดเพิ่มเติม http://readery.co/9786167591322

หาก 10 เล่มที่นำเสนอมานี้ยังไม่ถูกใจเลยสักเล่ม บางทีการบุกตะลุยห้องสมุดหรือร้านหนังสือสักร้าน เพื่อตัดสินใจเลือกหนังสือเล่มใหม่สักเล่มด้วยตัวคุณเอง ก็ช่วยสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ และอาจจะทำให้วันหยุดยาวของคุณมีความหมายพิเศษยิ่งขึ้น เหมือนที่ Murakami เคยบอกเราไว้ใน Norwegian Wood ว่า

“If you only read the books that everyone else is reading, you can only think what everyone else is thinking.”


เรื่อง : MNSD

See more

 

ห้องสมุดฮอกไกโด

ห้องสมุดฮอกไกโด Ehon no Yakata สวรรค์ของคนรักหนังสือภาพ