WONDERFRUIT เทศกาลที่การสร้างสรรค์คู่ขนานไปกับการไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

บางเทศกาลงานรื่นเริงอาจเพิ่งจบลง หากแต่นั่นอาจเป็นสัญญาณของความยั่งยืนที่เพิ่งเริ่มต้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ถ้าหากหนึ่งในภาพจำของงาน Burning Man เทศกาลศิลปะและดนตรีระดับโลก ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีบนผืนทะเลทราย Black Rock ในรัฐเนวาด้า สหรัฐอเมริกา คือการเผาหุ่นยักษ์และงานศิลปะของผู้จัดแสดงให้สิ้นซากในวันสุดท้าย ภาพจำของเทศกาล Wonderfruit ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 ในปีนี้ที่เดอะฟิลด์ส แอท สยามคันทรีคลับ พัทยา นอกจากแสง สี เสียงที่ชวนตื่นตาตื่นใจแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่จะกลายมาเป็นภาพจำของวันเดอร์ฟรุ๊ตในครั้งนี้รวมถึงครั้งต่อๆ ไปคือ “ความยั่งยืน”


DESIGNER DIRECTORY

ออกแบบ: all(zone)

Wonderfruit

เพราะในแต่ละเทศกาลงานรื่นเริง หรืออาจรวมไปถึงงานจัดแสดงสินค้า อาจมีวัสดุหลายชนิดซึ่งถูกนำมาใช้งานเพียงชั่วคราว 3-4 วัน เมื่อสร้างเสร็จ ใช้จบ รื้อทิ้ง กลายเป็นขยะเหลือใช้ไปโดยปริยายก็ไม่น้อย Wonderfruit จึงพยายามหยุดวัฏจักรแห่งความฟุ่มเฟือยนี้ลง ด้วยการหันมาจุดประกายความยั่งยืนสอดแทรกผ่านทุกๆ กิจกรรมที่เกิดขึ้นในงาน คู่ขนานไปกับแกนหลักที่มุ่งเน้นความสนุกสนานและการสร้างสรรค์เป็นทุนเดิม

No Plastic Zone

Wonderfruit ปีนี้ได้มีเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับกลุ่ม Plastic Pollution Coalition (PPC) ผู้มีจุดมุ่งหมายในการลดมลภาวะจากพลาสติกของโลก นำมาซึ่งความตะหนักของการจัดงานในปีนี้ ซึ่งมีการคลอดนโยบายการลดจำนวนการใช้พลาสติกให้เหลือศูนย์ เริ่มตั้งแต่แคมเปญเชิญชวนให้ผู้ร่วมงานหรือวันเดอเรอร์ทั้งหลาย พกกระบอกน้ำเป็นของตนเองสำหรับใช้เติมน้ำดื่มในงานแทนการใช้พลาสติก หรือจะเป็นการใช้ภาชนะใส่อาหารและแก้วน้ำที่ผลิตจากเส้นใยที่เหลือจากการคั้นน้ำอ้อยซึ่งสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ

Sustainability Pavilion

ภายใต้การสร้างสรรค์อันตื่นตาและตื่นใจ โครงสร้างสถาปัตยกรรมชั่วคราว หรือสิ่งปลูกสร้างที่ใครจะเรียกมันว่า พาวิลเลียน ก็ไม่ผิดแผกภายในงานนี้ยังแฝงไว้ด้วยความยั่งยืน ทั้งการใช้วัสดุและแนวคิดที่ศิลปินและผู้ออกแบบ ต่างก็มุ่งเน้นด้านความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ อาทิ Rhizome Colony โครงสร้างไม้ไผ่รูปทรงเอเลี่ยนที่ตั้งอยู่กลางบึง และ Solar Stage ผลงานสุดล้ำจากการประกอบด้วยระบบเข้าเดือยที่ออกแบบโดย Gregg Fleishmen ให้ผู้คนได้ขึ้นไปชมวิวด้านบน

Wonderfruit
Solar Stage

อีกหนึ่งในผลงานที่สะดุดตาและมีผู้ถ่ายรูปแชร์ลงสื่อ Social ให้เห็นอย่างแพร่หลายตั้งแต่ก่อนงานเริ่มไปจนวันจบงานคือบริเวณ Farm Stage ที่ในปีนี้ทีมสถาปนิก all(zone) เป็นผู้สร้างสรรค์ผลงาน Marmalade Sky หรือท้องฟ้าเยลลีสีสดที่นำเอาเศษผ้าไหมจาก Jim Thompson มาตกแต่งเป็นท้องฟ้าจำลองจนเกิดมิติและสีสันฉูดฉาดตัดกับสีครามของท้องฟ้าได้อย่างน่าประหลาด ทั้งในยามตะวันฉายและแสงพระจันทร์ส่องตอนค่ำ

Wonderfruit
Marmalade Sky
Marmalade Sky

ต่อบางคำถามเช่น ตายแล้วไปไหนอาจไร้ซึ่งคำตอบ หากแต่วัสดุจากสถาปัตยกรรมชั่วคราวในงานนี้ อาจเป็นคำตอบของการตายแล้วเกิดใหม่ซ้ำๆ เพราะวัสดุที่ใช้เสร็จแล้ววันนี้ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อได้อีกอย่างไม่รู้จบ

Carbon offset

ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา วันเดอร์ฟรุ๊ตได้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำเทศกาลที่มีการชดเชยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้สำเร็จ ด้วยการลงทุนเพื่อปลูกป่าโกงกาง เช่นเดียวกับในงานที่เพิ่งจบไปล่าสุด วันเดอร์ฟรุ๊ตจัดแคมเปญให้เหล่าวันเดอเรอร์ ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาสิ่งแวดล้อม ผ่านการซื้อเครื่องดื่มในงาน 1 แก้ว เท่ากับการลงทุนปลูกต้นโกงกาง 1 ต้น ในอุทยาน Thor Heyerdahl Climate Park รวมถึงชักชวนให้ทุกคนร่วมกันพับตุ๊กตากระดาษเพื่อนำไปประดับลำต้นผลงานอินสตอลเลชั่นอาร์ต Treehugger Token โดย วิทย์ พิมพ์กาญจนพงศ์ ซึ่งกระดาษที่ถูกพับทั้งหมดจะถูกนำไปคำนวณเป็นจำนวนต้นโกงกางด้วยเช่นเดียวกัน 

ด้วยแนวคิด รูปแบบ และวิธีการนำเสนอทั้งหมดของเทศกาลนี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมวันเดอร์ฟรุ๊ตจึงสร้างการจดจำและกระตุ้นให้ผู้คนยังคงจดจ่อที่จะไปร่วมงานในทุกครั้ง ซึ่งไม่เพียงความแปลกตาหรือตื่นใจของสีสันจากงานศิลปะ ดนตรี บริบทของพื้นที่ ตลอดจนสิ่งปลูกสร้างชั่วคราว หากแต่ยังรวมไปถึงแนวคิดของการจัดงาน ให้เป็นเทศกาลที่การสร้างสรรค์คู่ขนานไปกับการไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นคำตอบว่า เมื่องานจบลงทุกอย่างไม่ได้ถูกทิ้งไร้ประโยชน์ แต่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ซ้ำอีกโดยไม่มีขีดจำกัด   


 บรรยากาศภายในงาน

Wonderfruit
RAINFOREST PAVILION
Solar Stage
THEATRE OF FEASTS

Did you know

เทศกาลวันเดอร์ฟรุ๊ต กับการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย
อำนวยความสะดวกให้กับเหล่าวันเดอร์เรอ  

Grab 
แอปพลิเคชันเรียกรถโดยสารและบริการขนส่งที่มีบริกาครอบคลุม 146 เมือง ใน 7 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถูกนำมาใช้สำหรับรับส่งเหล่าวันเดอเรอร์ เพื่อลดการใช้รถส่วนตัวหรือลดปัญหาการเรียกบริการรถสาธารณะที่คิวแน่นขนัด

Wonder App
ในยุคที่เทคโนโลยีหมุนรอบตัวเรา หลายเทศกาลในยุคนี้จึงมีการสร้างแอปพลิเคชั่นเป็นของตัวเองขึ้นมา เพื่อเป็นเครื่องมือที่เอื้อให้ผู้เข้าร่วมงานสามารถดาวน์โหลดมาใช้ เพื่ออัพเดตหรือตรวจเช็คตารางกิจกรรมภายในงานนั้นๆ Wonder App คือแอปฯที่ว่าซึ่งกลายมาเป็นไกด์ส่วนตัวของงานวันเดอร์ฟรุ๊ต ทั้งบอกไลน์อัพศิลปิน ตารางกิจกรรมในแต่ละวัน และโปรแกรมสำคัญที่มีการอัพเดตแบบเรียลไทม์ รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานสามารถจัดตารางของตัวเองผ่านแอปฯเพื่อเตือนไม่ให้พลาดกิจกรรมที่เป็นความสนใจเฉพาะ ตลอดจนแผนที่แบบอินเทอร์แอคทีฟเพื่อบอกพิกัดของตัวคุณเองได้

Cashless Wonderfruit
สายรัดข้อมือเส้นเดียว สามารถอำนวยความสะดวกในการใช้แทนเงินสดได้ตลอดทั้งงาน เพียงลงทะเบียนออนไลน์เพื่อรับสายรัดข้อมือนี้ซึ่งมีการบรรจุเทคโนโลยีสัญญาณ RFID ที่หน้างาน คุณจะเติมเงินกี่บาทก็ได้หรือหากหมดแล้วก็มีจุดบริการเติมใหม่ หรือใช้ไม่หมดก็สามารถแลกคืนได้ ทุกการใช้จ่ายจึงคล่องตัวและหมดห่วงเรื่องการพกกระเป๋าสตางค์ติดตัว ป้องกันการหล่นหาย สามารถสนุกกับกิจกรรมในงานได้แบบไม่ต้องกังวล   


เรื่อง : ND X BEE+
ภาพ : Bee Pattrayanond

See more


เสพ 10 งานศิลป์ใน สถานีรถไฟใต้ดิน รอบโลก

เปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้มีสีสันกับ 5 จุดชมไฟสีสวยรับปีใหม่

The Prada Double Club Miami : ไนต์คลับสลับขั้ว ณ Art Basel Miami Beach