บุก 3 สตูดิโอ คนทำงานไม้น่าจับตา

สัมผัสอบอุ่นและเป็นมิตร อาจจะเป็นเหตุผลแรก ๆ ที่ทำให้ใครหลายคนตกหลุมรักงานไม้ แต่เมื่อเรามีโอกาสได้พูดคุยกับคนทำงานไม้ต่างสไตล์ เรากลับพบเรื่องราวความผูกพันระหว่างคนกับไม้ที่ต่างกันออกไป และชวนให้ตกหลุมรักวัสดุที่เรียกว่า “ไม้” อย่างไม่รู้จบ Go Around ฉบับนี้จึงขอชวนทุกคนเตรียมสิ่ว เลื่อย ค้อนพร้อมค้อมตัวเข้าไปรู้จักกับ 3 สตูดิโอของคนทำงานไม้ด้วยความรัก ที่ไม่จำกัดอยู่แค่ตู้ โต๊ะ เก้าอี้

 

01 PANA OBJECTS


WOOD-JOB_01

แม้แบรนด์ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์จากไม้หน้าตาเรียบง่ายแต่มากรายละเอียดของ 7 ดีไซเนอร์เมกเกอร์เพื่อนซี้ เจ้าของผลงาน THUMM ลำโพงไม้บีชเสียงกังวานใสสำหรับสมาร์ทโฟนที่หลายคนคุ้นเคย ตัดสินใจโบกมือลาห้องทำงานหลังบ้านขนาดกะทัดรัดเพียง 3 x 3 เมตร สู่สตูดิโอใหม่ที่ใหญ่กว่าเก่า แต่พวกเขาก็ยังคงไม่ทิ้งลายความเจ๋งของการเป็นลูกผสมระหว่างดีไซเนอร์และเมกเกอร์ได้อย่างน่าสนใจ

สตูดิโอแห่งใหม่แบ่งพื้นที่ทำงานออกเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ เริ่มจากชั้นล่างสุดที่เป็นโกดังเก็บของ พวกเขาได้ดัดแปลงให้เป็นห้องทำงานไม้ซึ่งมีตัวละครเอกเป็นเครื่อง CNC จำนวน 2 เครื่อง มีมุมเลื่อยไม้ ชั้นเก็บไม้และอุปกรณ์ช่างโต๊ะนั่งทำงานขัดเสี้ยนและเก็บรายละเอียดชิ้นงาน และมีห้องเคลือบทำสีแยกต่างหากเพื่อป้องกันสารเคมีฟุ้งกระจาย อีกทั้งมีสตูดิโอออกแบบและห้องประชุมอยู่ในชั้นถัดไป

WOOD-JOB_02

แม้ผลิตภัณฑ์ไม้ทั้งในหมวด Living Item, Gadget และ Stationery ของที่นี่จะมีการใช้เครื่อง CNC มาช่วยผลิตงานแต่ละชิ้นถึง 60 – 70 เปอร์เซ็นต์ แต่พวกเขากลับไม่หลงลืมทักษะดั้งเดิมของช่างไม้รุ่นก่อนเหมือนอย่างที่ คุณภัทรพงศ์ พรพนาพงศ์ และ คุณแววยศ สนธิไชย หนึ่งในผู้ก่อตั้งและทีมออกแบบ บอกกับเราว่า “พวกเราพยายามเวตน้ำหนักระหว่าง CNC กับทักษะช่างไม้ เพราะเราไม่อยากหลงลืมว่าจุดกำเนิดของงานไม้คืออะไร การพึ่งแต่เครื่องจักรเพียงอย่างเดียวก็ไม่ต่างจากการสั่งพริ้นต์งานจากคอมพิวเตอร์ สุดท้ายเราอาจกลายเป็นโรงงานรับผลิตอะไรไปสักอย่าง แต่ถ้าเรารู้จักผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่ เข้ากับทักษะงานไม้ทำมือไปพร้อม ๆ กัน ก็จะช่วยให้เราได้วิธีการทำงานที่เฉพาะตัว”

 

02 WOOD HOURS

WOOD-JOB_03

เพราะทุกชั่วโมงที่เขาได้ตัด ดัด และประกอบไม้ให้เป็นแว่นตาทรงสวย คือชั่วโมงแห่งความสุข คุณวิทยา ทรัพย์เกิด ชายหนุ่มผู้หลอมรวมสัมผัสอบอุ่นของไม้เข้ากับฟอร์มเก่าแต่เก๋ของแว่นยุควินเทจ จึงถ่ายทอดความสุขนั้นผ่านแบรนด์แว่นตาไม้ทำมือ ซึ่งมีความพิเศษอยู่ที่ความเบาสบาย ความสวยที่เพิ่มขึ้นตามอายุการใช้งาน และการโชว์เนื้อแท้ของไม้ ซึ่งเน้นไม้ไทย เช่น ไม้สัก ไม้ประดู่ชิงชัน เป็นหลัก เกิดเป็นสีสันและลวดลายไม่ซ้ำแม้จะเป็นรุ่นหรือทรงเดียวกัน

WOOD-JOB_04

ความสุขของเขาเริ่มต้นจากห้องเครื่องมือเล็ก ๆ ในสวนกลางบ้าน ก่อนต่อเติมเป็นสตูดิโอเวิร์คชอปขนาด 2 ชั้น ชั้นล่างแบ่งเป็นห้องเก็บไม้ ห้องเลเซอร์คัต และห้องดัด ขัดตกแต่งผิว และประกอบโครงแว่นตา ก่อนนำไปใส่เลนส์ที่ชั้น 2 ของสตูดิโอ

“เราตั้งใจทำแบรนด์แว่นไม้ไทย จากฝีมือคนไทย หัวใจในการทำแว่นตาของ Wood Hours คือ ความเนี้ยบและการเผยธรรมชาติของเนื้อไม้ ซึ่งแว่นที่ดีสำหรับผมคือ แว่นที่สามารถเข้ากับทุกรูปหน้าของคน ก็เลยพยายามทำดีไซน์ออกมาให้หลากหลาย เพื่อให้ครอบคลุมกับรูปหน้าทุกแบบ” เขากล่าวทิ้งท้าย

 

03 WIROON GUITAR

WOOD-JOB_05

ลัดเลาะขึ้นไปตามบันไดเล็ก ๆ หลังโบสถ์คริสตจักรกรุงเทพ เราจะพบกับสตูดิโอทำกีตาร์แฮนด์เมดของ คุณวิรุฬห์ ทรงบรรดิษฐ์ ชายผู้หลงรักการเล่นและการทำกีตาร์อย่างถอนตัวไม่ขึ้น จากความฝันเมื่อ 15 ปีก่อนที่อยากจะทำกีตาร์ตัวจิ๋วให้ลูกชายตัวน้อย ลองผิดลองถูก ขอวิชาจากช่างทำกีตาร์ชั้นครูจากต่างประเทศหลายคน จนขยับขยายความฝันรับซ่อมและรับทำกีตาร์แบบเมดทูออร์เดอร์เป็นอาชีพ ตลอดจนเปิดสอนทำกีตาร์ควบคู่กันไปภายในห้องสี่เหลี่ยมขนาดเล็กซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่เก็บของของโบสถ์ ก่อนจะได้รับการจัดสรรพื้นที่ให้เป็นทั้งห้องเรียนทำกีตาร์และห้องทำงานไม้ในตัว

คุณวิรุฬห์เล่าว่า สิ่งที่ทำให้กีตาร์ที่นี่แตกต่างจากกีตาร์ทั่วไปคือความทุ่มเทและใส่ใจในรายละเอียด ซึ่งให้ผลเป็นคุณภาพเสียงที่แตกต่างจากโรงงาน เนื่องจากลงมือทำโดยคนคนเดียวทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การเลือกไม้นำเข้าคุณภาพดีหลายชนิด อาทิ มะฮอกกานี สน และอินเดียนโรสวู้ด เหตุที่ต้องมีไม้หลายชนิดนี้ก็เพราะกีตาร์แต่ละส่วนต้องการไม้ที่ต่างกัน อีกทั้งธรรมชาติของไม้แต่ละชนิดจะเป็นตัวคอนโทรลเสียงที่เกิดขึ้นว่าจะนุ่ม ทุ้ม หรือแหลมใสไปพร้อม ๆ กับทักษะการเลื่อย การขัด การตัด การไส และการประกอบไม้อย่างเข้าอกเข้าใจของช่างทำกีตาร์เอง

WOOD-JOB_06

“เวลาทำกีตาร์สักตัวจึงไม่เหมือนกับการทำโต๊ะเก้าอี้ไม้ มันไม่ใช่แค่สวยหรือใช้งานแล้วจบ แต่เราต้องสร้างเสียงที่ดีให้เขาด้วย ช่างทำกีตาร์จึงเป็นอาชีพที่ต้องใช้ฝีมือ ใช้ความอดทนมาก ถ้าไม่นับเรื่องคุณภาพเสียงและความเข้าอกเข้าใจนิสัยของไม้แต่ละชนิด สิ่งสำคัญที่สุดในการทำกีตาร์สำหรับผมก็คงเป็นความรักนี่แหละ” เขาบอกกับเราอย่างนั้นระหว่างตัดไม้มะฮอกกานีเพื่อนำมาทำคอกีตาร์อย่างเพลิดเพลิน

 

เรื่อง : polarpoid
ภาพ : จิระศักดิ์, ดำรง