ขั้นตอนพื้นฐานที่ต้องรู้ในการดูแลสวนช่วงอากาศเย็น

ลมหนาวที่พัดโชยมาประกอบกับช่วงนี้ก็เข้าสู่เดือนสุดท้ายของปีที่มีวันหยุดมากมาย เชื่อว่าหลายคนเริ่มคิดวางแผนไปท่องเที่ยวรับอากาศเย็นๆ กันแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่คุณไม่ควรลืมก็คือ “การดูแลสวน ”

การดูแลสวน ในหน้าหนาวเป็นสิ่งจำเป็น เพราะต้นไม้จะมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมากในช่วงฤดูหนาว ครั้งนี้ “บ้านและสวน” จึงมีวิธีดูแลต้นไม้ให้พร้อมปรับตัวตามสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้ง่ายๆ ดังนี้

รดน้ำเพิ่มขึ้น

อากาศที่เย็นลงส่งผลต่อปริมาณไอน้ำในอากาศที่จะเบาบางลงไปด้วย สังเกตได้จากดินในสวนจะเริ่มแห้งเร็วกว่าปกติ ต้นไม้บางต้นก็จะทิ้งใบเพื่อลดการคายน้ำ หรือหยุดพักตัวไปเลย เช่น ว่านสี่ทิศหรือบัวดิน หากต้องการให้สวนดูเขียวชอุ่มอยู่เสมอ ก็ควรหมั่นรดน้ำต้นไม้อย่างน้อยวันละสองครั้ง หรือแค่พอให้ดินชุ่มชื้น แต่ไม่ควรรดแฉะเกินไป เว้นช่วงให้ผิวดินแห้งบ้างเล็กน้อย เพื่อให้รากพืชได้อากาศและไม่เกิดปัญหาเรื่องเชื้อราใต้ดินตามมา เพราะ แม้ฤดูนี้อากาศจะแห้ง แต่น้ำในดินก็ไม่ระเหยเร็วเหมือนตอนฤดูร้อน

แม้ระบบพ่นหมอกจะไม่ได้ช่วยรดน้ำต้นไม้โดยตรง แต่ก็ช่วยเพิ่มความชื้นในอากาศ ทำให้ต้นไม้ดูชุ่มฉ่ำขึ้นได้

คลุมดินรอบต้นหรือแปลงปลูก

ต้นไม้บางชนิดค่อนข้างอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เช่น ผักสวนครัว ไม้เมืองหนาว หรือต้นกล้าเล็กๆ จึงต้องดูแลเป็นพิเศษด้วยการรักษาความชื้นและทำให้อุณหภูมิในดินคงที่ โดยการนำเศษวัสดุ เช่น พลาสติก กระดาษ ขี้เลื้อย ฟาง หรือกาบมะพราว มาคลุมบริเวณผิวดินรอบลำต้นหรือแปลงปลูก ซึ่งยังช่วยลดการเติบโตของวัชพืช และหากเป็นวัสดุจากธรรมชาติก็ยังกลายเป็นปุ๋ยให้ต้นไม้ได้อีกด้วย

การคลุมดินด้วยวัสดุธรรมชาติ อย่าง ฟาง กาบมะพร้าว หรือเศษใบไม้ เมื่อวัสดุเหล่านี้ย่อยสลายก็จะช่วยปรับปรุงโครงสร้างดินและเพิ่มธาตุอาหารให้แก่พืชที่ปลูกต่อไป

ลดการใส่ปุ๋ย

ในช่วงที่อุณหภูมิเย็น ต้นไม้จะลดกระบวนการสร้างอาหาร ส่งผลให้ต้นไม้ส่วนใหญ่ชะลอการเจริญเติบโต จึงไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยเพื่อให้สารอาหารแก่ต้นไม้ ตรงกันข้ามการให้ปุ๋ย โดยเฉพาะปุ๋ยเคมีจะส่งผลให้ดินเค็ม หากจำเป็นต้องบำรุงควรใส่ปุ๋ยชนิดผสมในน้ำหรือปุ๋ยออสโมโค้ทแทน

ได้เวลาตัด

แม้ในประเทศไทยจะสามารถตัดแต่งต้นไม้ได้ทั้งปี แต่ต้นไม้หลายชนิดจะชะลอการเจริญเติบโตในช่วงนี้ เมื่อตัดแต่งต้นไม้ที่ไม่ได้รูปทรงก็จะแตกกิ่งใหม่ช้าหรือลดการแตกกิ่งไปเลย ทำให้ต้นไม้คงรูปทรงได้นานกว่าปกติ นอกจากนี้ยังช่วยลดภาระให้ต้นไม้ไม่ต้องลำเลียงอาหารไปเลี้ยงกิ่งที่ไม่จำเป็น ทั้งยังป้องกันอันตรายจากกิ่งไม้ที่อาจหล่นร่วงลงมาได้จากลมที่พัดแรงในฤดูนี้

ต้นไม้ใหญ่บริเวณใกล้บ้านควรตัดแต่งโดยรุกขกรหรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่เป็นอันตรายต่อบ้าน ต้นไม้ หรือผู้ตัดแต่งเอง

เติมสีสันให้สวน

ในฤดูนี้ไม้ดอกทั้งของไทยและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นไม้พุ่ม ไม้ล้มลุก หรือไม้เลื้อยต่างพร้อมใจกันออกดอกรับลมหนาว เช่น พวงแสด เหลืองชัชวาล พวงคราม เยอร์บีรา เบญจมาศ ไฮเดรนเยีย หรือกุหลาบ ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายต้นไม้ทั่วไป โดยนำมาประดับตามมุมต่างๆ ของสวน เพื่อช่วยสร้างบรรยากาศที่ดูมีชีวิตชีวา หรืออาจปลูกผักสวนครัวที่ชอบอากาศหนาวอย่างแครอท ผักสลัด หรือโรสแมรี่ ซึ่งสามารถนำมาทำอาหารได้อีกด้วย

ปลูกไม้ดอกแทรกในแปลงหรือปลูกใส่กระถางแล้ววางแทรกไป เพื่อให้สามารถย้ายตำแหน่งได้ง่าย

เก็บใบไม้มาทำปุ๋ย

หลายคนคงเหนื่อยกับการกวาดเศษใบไม้ที่ร่วงมากเป็นพิเศษในช่วงนี้ ซึ่งพอกวาดเสร็จแล้วก็ต้องนำไปทิ้งต่อ ที่จริงแล้วเราสามารถนำเศษใบไม้หรือกิ่งไม้เหล่านั้นไปทำปุ๋ยอินทรีย์ได้ โดยขุดดินในบริเวณที่จะทําแปลงต้นไม้หรือเป็นหลุมปลูกไม้ยืนต้น เแล้วผสมคลุกเคล้าวัสดุเหล่านี้ลงไป เพื่อช่วยเพิ่มช่องว่างในดินที่มีดินแข็งหรือดินลูกรัง ทําให้ดินโปร่งและร่วนซุยขึ้น จากนั้นรดปุ๋ยอินทรีย์แบบน้ำลงไป จะช่วยให้เศษใบไม้ย่อยสลายเร็วขึ้น และกลายเป็นธาตุอาหารที่ช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ต้นไม้ได้

โรคพืชที่ต้องระวัง

เช่น โรคราน้ำค้าง (Downy mildew) ปรากฏแผลฉ่ำน้ำ ทำให้ใบเหลืองและแห้งตายทั้งต้น, โรคราสนิม (rust) ด้านบนใบเป็นจุดสีเหลืองอ่อน เมื่อพลิกดูด้านหลังใบจะเป็นตุ่มแผลนูน ทำให้ใบมีลักษณะพองหรือบิดเบี้ยว หรือเพลี้ยอ่อน (Aphid) ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าเป็นกลุ่มก้อนเกาะอยู่ใต้ใบพืช ทำให้เชื้อราเจริญบนต้นพืช ส่วนยอด ใบ ใบอ่อนหงิกงอ แคระแกรน และเป็นพาหะของโรคไวรัสในพืชหลายชนิด จึงควรบำรุงต้นให้แข็งแรง ระมัดระวัง หมั่นตรวจสอบแปลงและพืชที่ปลูกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันและรักษาได้อย่างทันท่วงที


เรื่อง : “ปัญชัช ชั่งจันทร์”

ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน


อ่านต่อ :  วิธีดูแลต้นไม้ในร่ม 

อ่านต่อ : การพักตัวของต้นไม้ในฤดูหนาว