10 ขั้นตอน ติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่น ด้วยตัวเอง

ผู้ที่กำลังตัดสินใจซื้อเครื่องทำน้ำอุ่นมาใช้งานที่บ้าน หรือเปลี่ยนทดแทนเครื่องเดิม หรือย้ายจุดติดตั้ง และพอมีความรู้พื้นฐานเรื่องระบบไฟฟ้าอยู่บ้าง สามารถ ติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่น ได้ด้วยตนเอง โดยทำตามคำแนะนำง่ายๆเพียง 10 ขั้นตอน ช่วยประหยัดเงินและเวลาในการหาช่างมาติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นอีกด้วยนะ

ขั้นตอนการ ติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่น ด้วยตัวเอง

1.ตำแหน่งที่จะติดตั้งควรอยู่สูงจากพื้นอย่างน้อย 160 เซนติเมตร
สำรวจพื้นที่ที่ต้องการจะ ติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่น ภายในห้องน้ำ โดยตำแหน่งที่จะติดตั้งควรอยู่ใกล้กับฝักบัวและอยู่สูงจากพื้นประมาณ 160-170 เซนติเมตร
ติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่น

 

2.ปิดเบรกเกอร์ที่เมนสวิตช์
ปิดเบรกเกอร์ที่เมนสวิตช์หรือตู้คอนซูมเมอร์ยูนิตในกรณีที่ต้องเดินสายไฟใหม่ แต่ถ้ามีการเดินสายไฟของเดิมไว้แล้ว ให้ปิดเบรกเกอร์ลูกย่อยที่ใช้ควบคุมเฉพาะเครื่องทำน้ำอุ่นที่เมนสวิตช์ก็ได้ เพราะบริเวณอื่นๆในบ้านยังมีไฟฟ้าใช้งานได้อยู่

 

3.ใช้สว่านแบบกระแทกเจาะผนัง
ใช้สว่านไฟฟ้าหรือสว่านไร้สายแบบกระแทกพร้อมดอกสว่าน เจาะผนังที่ทำเครื่องหมายไว้แล้ว จากนั้นนำพุกมาใส่ แล้วใช้ค้อนค่อยๆตอกจนพุกฝังเข้าไปในผนังทั้งตัว

 

4.ขันสกรูเพื่อยึดตัวเครื่องกับผนัง
ใช้ไขควงขันสกรูยึดตัวเครื่องทำน้ำอุ่นเข้ากับผนังให้มั่นคงแข็งแรง
ติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่น

 

5.เดินสายไฟและติดตั้งเบรกเกอร์
เดินสายไฟจากเมนสวิตช์ โดยใช้สายไฟขนาด 2X4 ตารางมิลลิเมตร (sq.mm.) หรือเบอร์ 4 ตามภาษาช่างที่เรียกกัน มายังบริเวณหน้าห้องน้ำ แล้วติดตั้งเบรกเกอร์ขนาด 20 A สำหรับเครื่องทำน้ำอุ่นขนาด 3,500 วัตต์ และใช้สายไฟขนาด 6 ตารางมิลลิเมตร (sq.mm.) สำหรับเครื่องทำน้ำอุ่นขนาด 4,500-6,000 วัตต์ และติดตั้งเบรกเกอร์ขนาด 32 A ก่อนที่จะเดินสายไฟเข้าเครื่องทำน้ำอุ่นเพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร
ติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่น

 

6.ต่อสายไฟ L, N และ G ให้ถูกตำแหน่ง
เมื่อเดินสายไฟมาที่เครื่องทำน้ำอุ่นแล้ว ให้ต่อสายให้ถูกตำแหน่ง ที่สำคัญให้นำสายสีเขียวหรือสีเขียวแถบเหลือง (ตามมาตรฐานสายไฟฟ้าใหม่ มอก.112553) ต่อเข้ากับขั้วต่อลงดิน ส่วนใหญ่ทำเป็นสกรูเตรียมไว้แล้ว ส่วนกรณีบ้านเก่าที่ยังไม่ระบบสายดินหลัก ให้ซื้อสายไฟมาเพิ่มอีกหนึ่งเส้นเพื่อใช้เป็นสายดิน โดยต้องมีขนาดไม่น้อยกว่า 2.5 sq.mm. เพื่อต่อกับแท่งหลักดิน (Ground Rod) ซึ่งทำด้วยเหล็กหุ้มทองแดง โดยต้องตอกลงไปในดินไม่น้อยกว่า 240 เซนติเมตร เพื่อป้องกันไฟรั่ว
ติดคั้งเครื่องทำน้ำอุ่น

 

7.ประกอบฝาครอบเครื่อง
ประกอบฝาครอบเครื่องให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันน้ำเข้าเครื่อง
ติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่น

 

8.ต่อสายน้ำดีและฝักบัวเข้าเครื่อง
ปิดวาล์วน้ำ แล้วถอดหรือย้ายสายฝักบัวเดิมออกไป จากนั้นต่อสายน้ำดีเข้ากับเครื่องทำน้ำอุ่น แล้วประกอบชุดสายฝักบัวใหม่ให้เรียบร้อย
ติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่น

 

9.เปิดวาล์วน้ำ เพื่อตรวจสอบการรั่วซึมต่างๆ
เปิดวาล์วน้ำเข้าเครื่อง เพื่อตรวจสอบการรั่วซึมต่างๆของน้ำก่อนที่จะมีการเปิดระบบไฟฟ้า ให้รอจนกว่าจะมีน้ำไหลผ่านออกมาจากหัวฝักบัว เพื่อเป็นการไล่อากาศที่อยู่ภายในท่อหรือระบบน้ำออกไปก่อน แล้วจึงเปิดเบรกเกอร์เพื่อทดสอบความร้อนของน้ำที่ออกมาจากตัวเครื่อง

 

10.ทดสอบอุปกรณ์ป้องกันไฟดูด
กดปุ่ม TEST ที่ตัวเครื่อง เพื่อเช็คดูว่าระบบตัดไฟยังทำงานดีอยู่หรือไม่ และควรทำเป้นประจำอย่างน้อยเดือนละครั้ง
ติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่น

 

เพียงเท่านี้เราก็สามารถใช้เครื่องทำน้ำอุ่นได้อย่างปลอดภัย  ที่สำคัญอย่าลืมใบรับประกันสินค้า เพราะจะช่วยให้เราไม่ต้องปวดหัว เมื่อเครื่องทำน้ำอุ่นเกิดมีปัญหาขึ้นมา โดยไม่ทราบสาเหตุ

.

TIPS : เลือกเครื่องทำน้ำอุ่นให้อุ่นใจ

การเลือกเครื่องทำน้ำอุ่นให้เหมาะสมกับสถานที่ที่นำไปใช้งาน เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม อย่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เครื่องทำน้ำอุ่นขนาด 3,500 – 4,500 วัตต์ก็เพียงพอแล้ว เพราะสภาพอากาศไม่ได้หนาวเย็นมากมาย แต่สำหรับพื้นที่ทางภาคเหนือของไทย โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่มีสภาพอากาศหนาวเย็นมากๆ ควรเลือกเครื่องทำน้ำอุ่นที่มีกำลังวัตต์สูงหน่อยประมาณ 6,000 วัตต์ ที่สำคัญอย่าลืมต่อสายดินด้วยนะ เราจะได้มีน้ำอุ่นๆไว้ใช้งานและปลอดภัยอีกด้วย


เรื่อง : พจน์ ผลิตภัณฑ์

 

เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส การใช้อย่างปลอดภัยและข้อควรระวัง

เครื่องทำน้ำร้อนกับเครื่องทำน้ำอุ่น แตกต่างกันอย่างไร

8 สิ่งต้องรู้ก่อนซื้อ เครื่องทำน้ำอุ่น