S49 RESIDENCE รีโนเวตตึกแถว ทลายกำแพงที่ปิดทึบให้โปร่งโล่ง

S49 Residence ทะลายกำแพงแปลงความอึดอัดให้โปร่งโล่ง ผลงาน รีโนเวตตึกแถว ที่ไม่ธรรมดาของบริษัทสถาปนิก  All(zone)


DESIGNER DIRECTORY

ออกแบบ: all(zone)

เปิดรั้ว – เข้าบ้าน – เปิดประตู – เข้าห้อง

ผ่านจากพื้นที่ภายนอกหลังรั้วรอบขอบชิดและผนังทึบตันเข้าสู่พื้นที่ภายในที่เรียกว่า “บ้าน” ลักษณะการเข้าถึงพื้นที่ใช้งานรูปแบบนี้เป็นสิ่งที่เราพบเห็นทั่วไปทุก ๆ วัน เพราะเป็นขั้นตอนที่ช่วยให้ผู้อยู่อาศัยได้ความรู้สึกถึงความเป็นบ้านที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ทั้งการกันภัยธรรมชาติ สร้างความรู้สึกเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน หากขาดตกบกพร่องข้อใดไปคงทำให้ผู้อยู่รู้สึกไม่สบายตัวและไม่สบายใจ

รีโนเวตตึกแถว

เช่นเดียวกับตึกแถวในซอยสุขุมวิท 49 หลังนี้ซึ่งปิดทึบและแยกตัวเองจากภายนอกชัดเจน ไม่ต่างจากเพื่อนบ้านซึ่งตั้งอยู่เรียงราย แต่หลังจากที่อาคารนี้ผ่านการรีโนเวตโดยทีมออกแบบจากสำนักงานออกแบบสถาปัตยกรรม All (zone) การทดลองครั้งใหม่อย่างการ “ห่อหุ้ม” และ “กั้นพื้นที่” ในรูปแบบใหม่ก็ทำให้หน้าตาสุดท้ายของตึกแถวนี้ต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

“เจ้าของเป็นชาวต่างชาติ เขาไม่ได้มีความต้องการชัดเจน แค่อยากให้เราปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตึกนี้ให้เพราะเขาชอบตึกสำนักงานของเราที่เคยรีโนเวตไว้เมื่อ 9 ปีที่แล้ว ซึ่งมันมีลักษณะคล้ายกัน เราเลยเสนอให้ทำเป็นอพาร์ตเมนต์เปิดเป็นยูนิต ๆ เผื่อให้คนเช่า”

คุณรชพร ชูช่วย สถาปนิกหนึ่งในทีมออกแบบ เริ่มเล่าให้ฟังถึงขั้นตอนและแนวคิด “ปัญหาของตึกแถวในประเทศไทยคือมีพื้นที่ค่อนข้างมืด เราจึงต้องพยายามทำอย่างไรก็ได้ให้แสงสามารถส่องผ่านเข้ามาข้างในให้มากที่สุด อย่างเช่นการเปิดฟาซาดให้โล่งไปเลย แต่เมื่อเปิดฟาซาดแล้วก็ต้องมาคำนึงถึงเรื่องของแสงว่าทำอย่างไรไม่ให้จ้าเกินไป รวมทั้งเรื่องของความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวด้วย”

โจทย์ตั้งต้นคือการเป็นที่อยู่อาศัย เมื่อจะต้องปรับปรุงอาคารให้โปร่งและรับแสงมากที่สุด ผนังฟาซาดปูนเดิมจึงต้องถูกทุบทิ้ง รวมถึงพื้นที่ใช้สอยเดิมที่ไม่ตอบโจทย์การใช้งาน การออกแบบครั้งนี้จึงไม่เพียงเป็นการเปลี่ยนแปลงเฉพาะหน้าตาของอาคารเท่านั้น แต่การใช้สอยภายในก็ยังได้รับการยกเครื่องขนานใหญ่เพื่อจะได้บรรจุห้องต่างๆ ที่ได้รับการออกแบบใหม่เข้าไป เพื่อให้สอดคล้องไปกับคอนเซ็ปต์พื้นที่อยู่อาศัยที่โปร่งโล่ง จน “เหลือแค่พื้นกับเสา…เหมือนเป็น ‘Platform’” คำอธิบายของสถาปนิกเมื่อกล่าวถึงสภาพอาคารระหว่างการรีโนเวต

เมื่อรื้อบ้านเหลือแต่โครงสร้างเปล่า หลังจากนั้นคือการออกแบบฟังก์ชันการใช้งานกลับเข้าไปใหม่ สถาปนิกสร้างฟาซาดใหม่ที่ใช้กั้นระหว่างด้านในกับด้านนอกด้วยการต่อยอดแนวคิดงานทดลองปรับปรุงตึกแถวสำนักงานของพวกเขาเมื่อ 9 ปีที่แล้ว

“ตึกแถวอย่างที่เราเคยเห็น มันไม่มีสเปซที่จะออกไปสัมผัสอากาศภายนอกได้ เราจึงอยากให้มีพื้นที่ยื่นออกไปแบบ ‘Multipurpose Space’ สามารถออกไปสูบบุหรี่คุยโทรศัพท์ ใช้วางต้นไม้ วางคอมเพรสเซอร์แอร์ ตากผ้าหรือใช้งานได้แบบอเนกประสงค์”

ในการทำฟาซาด สถาปนิกได้ประกบกล่องโครงสร้างเหล็กต่อเนื่องออกจากโครงสร้างคอนกรีตเดิมทั้งด้านหน้าและด้านหลังตึกประมาณด้านละ 1 เมตร และโครงสร้างนี้ยังต่อเนื่องไปเป็นโครงหลังคาด้านบน คล้ายการครอบและแขวนโครงสร้างเหล็กลงไปบนโครงสร้างปูนเดิมเป็นรูปตัวยู(U) คว่ำ และยังทำเสาเข็มใหม่ให้โครงสร้างเหล็กรับน้ำหนักได้ด้วยตัวเอง โดยแทบไม่กระทบกับโครงสร้างที่มีอยู่เดิม พื้นที่ที่เสริมออกมาทั้งด้านหน้าและด้านหลังราวด้านละ1 เมตรนี้ถูกทำให้เป็นกล่องครอบผนังแบบโปร่ง ๆ แทนผนังก่ออิฐฉาบปูนทึบ ๆ ทำหน้าที่กั้นพื้นที่ภายนอกกับระเบียงภายในหนึ่งชั้น ถัดเข้ามาจะพบกับประตูกระจกที่กั้นระหว่างภายในห้องกับระเบียง สามารถเลื่อนประตูเปิดเชื่อมพื้นที่ได้จนสุดเพื่อให้โปร่งโล่งทะลุถึงกันได้ทั้งหมด ด้วยแนวคิดนี้จึงช่วยให้ขอบเขตของพื้นที่ใช้สอยมีลักษณะเชื่อมโยงถึงกันลบภาพรูปแบบและข้อจำกัดของคำว่า “ห้อง” ที่ต้องเข้าออกผ่านประตูอย่างที่เคยพบเห็นในบ้านทั่วไปทิ้ง

“ฟังก์ชันต่าง ๆ เราคิดภาพว่าอยากให้มันโล่งมาก ๆแต่ละฟังก์ชันจะไม่มีผนังกั้นห้อง เป็นแค่ของลอย ๆสำหรับกำหนดขอบเขตของการใช้งานต่าง ๆ เท่านั้นเหมือนเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ถูกโยนเข้าไป แม้แต่ ‘ห้อง’ ก็เป็น ‘เฟอร์นิเจอร์’”

แต่ทั้งนี้ในส่วนของการใช้งานหลัก ๆ อย่างงานระบบเช่น ห้องน้ำ ครัว และห้องเก็บของ แม้จะกั้นเป็นห้องบ้าง แต่ผนังที่สร้างใหม่หลายจุดก็เป็นผนังที่ไม่ได้สูงทึบจนจรดเพดาน หรือใช้เป็นผนังกระจกใสแทน เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยรับรู้ถึงความกว้างและโปร่งโล่งตลอดเวลา และด้วยคอนเซ็ปต์การปล่อยพื้นที่ให้โล่งนี้เอง แม้แต่ “ห้องนอน” ยังเป็นเพียง “กล่องที่นอน” ที่ถูก “โยนเข้าไปในพื้นที่ของตึก” ตามคอนเซ็ปต์การอยู่อาศัยที่ผู้ออกแบบวาดภาพไว้

สำหรับผลลัพธ์ สถาปนิกเล่าว่า “พอเราทำให้ตึกดูโปร่งที่สุดเท่าที่จะโปร่งได้ มันแทบจะเหมือนนอนอยู่นอกบ้านนะ อันนี้เจ้าของเป็นคนบอกว่าเหมือนนอนอยู่ในที่ที่ไม่มีผนัง เพราะมันโปร่งมาก ห้องน้ำก็โปร่งมาก ทุกอย่างโปร่งหมด มองทะลุถึงกันได้ เพราะทุกส่วนเราไม่ได้แบ่งเป็นห้อง ๆ เพราะฉะนั้นทุกอย่างจึงดูทะลุทะลวง เหมือนนอนอยู่นอกบ้าน และเราอยากสร้างความรู้สึกว่าอินทีเรียร์มันหายไป ครัวหรือตู้เสื้อผ้าจึงกรุพื้นผิวบานเปิดต่าง ๆ ให้มันสะท้อน หรือเป็น Reflective ทั้งหมดเพื่อหลอกตาราวกับไม่มีฟังก์ชันนั้นอยู่บริเวณนี้”

ตลอดทั้งอาคาร ส่วนอยู่อาศัยทุกยูนิตล้วนเปิดโปร่งทะลุถึงกันทั้งภายในและภายนอก มากกว่านั้นคือการออกแบบพื้นระเบียงของ ทุก ๆ ชั้นให้เป็นตะแกรง อาคารทั้งนอก – ใน บน – ล่าง จึงโปร่งโล่งทะลุถึงกันแทบจะเป็นพื้นที่เดียว

แม้จะอยู่ใจกลางเมืองที่แสนอึดอัด แต่แทบไม่ต้องเปิดเครื่องปรับอากาศ สามารถพักผ่อนใช้งานได้สะดวกสบายเพราะได้รับลมและแสงธรรมชาติที่พอเหมาะกับการอยู่อาศัยและแทบไม่ต้องล็อกประตูเพราะอพาร์ตเมนต์นี้ให้ผู้อยู่อาศัยเข้าถึงยูนิตแต่ละชั้นหรือ “บ้าน” ของตัวเองได้เฉพาะจากการใช้คีย์การ์ด การเข้าถึงแต่ละชั้นจึงแยกจากกันอย่างชัดเจนตามหลักการความปลอดภัยเดียวกับคอนโดมิเนียม

แม้จะโปร่งอย่างเหลือเชื่อ แต่ก็ไม่ขาดตกบกพร่องคุณสมบัติความเป็นบ้านใด ๆ และดูจะอยู่สบายไม่แพ้กัน

Did you know?


ต่อเติมด้วยโครงสร้างเหล็ก

อีกหนึ่งวิธีของการต่อเติมบ้านคือการใช้โครงสร้างเหล็กเข้ามาเสริมในแต่ละส่วน เพราะเป็นวิธีที่สร้างง่าย ทำได้รวดเร็ว แต่สิ่งที่ควรคำนึงในการต่อเติมบ้านใหม่ไม่ว่าจะกรณีใด ๆก็คือ การรับน้ำหนัก ซึ่งมักก่อให้เกิดปัญหาการทรุดตัวของบ้านในอนาคต

สำหรับอพาร์ตเมนต์แห่งนี้สถาปนิกได้เสริมเสาเข็มแยกส่วนที่ต่อเติมขึ้นมาใหม่ออกจากโครงสร้างเดิม นอกจากการใช้โครงสร้างเหล็กเป็นหลักแล้ว ยังประยุกต์วัสดุสำเร็จรูปอย่างรั้วเหล็กสำเร็จรูปและเหล็กตะแกรงวางท่อระบายน้ำมาช่วยเสริม ซึ่งเป็นวัสดุที่หาง่ายในท้องตลาด มีคุณสมบัติแข็งแรง ทนแดดฝน ราคาไม่แพง นิยมใช้ในงานอาคารสาธารณะหรือโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไป ในขณะเดียวกันวัสดุเหล่านี้ก็มักจะมีดีเทลการประกอบที่เฉพาะตัว รวมถึงการก่อสร้างที่จะต้องอาศัยความชำนาญ ยิ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ยิ่งควรต้องปรึกษาสถาปนิกหรือวิศวกรก่อนจะเริ่มงานต่อเติมต่าง ๆ ทุกครั้งเพื่อความปลอดภัย

ออกแบบ :  All (zone) คุณรชพร ชูช่วย, คุณรัชนันท์ ภัตรพานิช, คุณอรุณโรจน์ สุปรียาพร, คุณวิทย์ธิดา พยอมยงค์, คุณธนภัทร สังขะรมย์
วิศวกร :  CM ONE Co., Ltd.
ศิลปินผู้ร่วมงาน : คุณสุวิชชา ดุษฎีวนิช

อ่านต่อ : HOUSE : รวมบ้านหลากสไตล์

Wonderful Renovated Townhouses 5 ทาวน์เฮ้าส์รีโนเวตที่คุณต้องร้องว้าว!

RENOVATED TOWNHOUSES – ชุบชีวิตทาวน์เฮ้าส์ใหม่ ในย่านเก่า


เรื่อง กรกฎา
ภาพ ศุภกร