แก้ปัญหาในบ้าน ผ่านกูรูตัวจริง Vol.1 : เจ้าของบ้านถามถึงสถาปนิก

น้ำรั่วจากชั้นสองลงมาชั้นหนึ่ง  ท่ออ่างล้างหน้าตัน  ก๊อกน้ำไม่แรง น้ำในบ่อเริ่มเป็นสีเขียว และอีกสารพันปัญหาที่พบเจอในบ้านและสวน สร้างความปวดหัวและหนักใจให้เจ้าของบ้านไม่น้อย เราจึงได้รวบรวมปัญหาที่ประสบบ่อยๆและวิธีแก้ไขที่ถูกต้อง ตอบโดยกูรูผู้รู้ตัวจริงในเรื่อง บ้านและสวน เพื่อให้คุณผู้อ่านได้ใช้เป็นคู่มือช่างประจำบ้าน สำหรับแก้ปัญหาเหล่านี้ที่อาจเกิดขึ้นได้ที่บ้านของคุณ

Vol.1 : เจ้าของบ้านถามถึง สถาปนิก

ไขข้อข้องใจโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ต้นข้าว ปาณินท์

สถาปนิก จาก Research Studio Panin และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

1. การใช้บริการ สถาปนิก ออกแบบบ้านราคาแพงจริงหรือ และสถาปนิกทำอะไรให้เราบ้าง

สถาปนิก

การที่บ้านได้รับการออกแบบให้ตอบโจทย์ความต้องการของเจ้าของบ้านในทุกด้าน  ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ใช้สอยเฉพาะตัวที่คงจะไม่เหมือนกับบ้านอื่นๆ หรือเรื่องรสนิยมความชอบส่วนตัว ทำให้บ้านพร้อมจะรองรับวิถีชีวิตของเราในวันนี้ และในอนาคตอีกยาวนาน เป็นสิ่งที่ไม่สามารถซื้อหามาได้ด้วยเงินเท่านั้น แต่มาจากความเข้าใจและความพยายามของสถาปนิกที่พร้อมจะทำงานร่วมกับเจ้าของบ้านในการค้นหาแนวทางการออกแบบที่เหมาะสม

ดังนั้นสิ่งที่สถาปนิกทำให้เราไม่ใช่แค่การส่งมอบกระดาษปึกใหญ่ ที่เรียกว่า “แบบก่อสร้าง” เท่านั้น แต่เป็นการทำความรู้จักกับทุกแง่มุมของความต้องการ และพยายามแปลงสิ่งเหล่านั้นออกมาเป็นแบบบ้าน เริ่มตั้งแต่กระบวนการทำแบบร่างเพื่อให้เจ้าของบ้านเข้าใจโครงร่างของความคิดเบื้องต้น ไปจนถึงการพัฒนาแบบให้เป็นรูปเป็นร่าง การทำงานร่วมกับวิศวกรทุกระบบ จนสำเร็จลุล่วงเป็นแบบขออนุญาต และแบบก่อสร้าง รวมไปถึงการให้คำแนะนำอันเหมาะสมในขั้นตอนการก่อสร้าง ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้ ไม่ได้มีส่วนทำให้ค่าก่อสร้างแพงขึ้น หรือถูกลงเสมอไป ราคาเป็นผลลัพธ์ของปัจจัยหลายสิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องตั้งแต่ในขั้นตอนการออกแบบ ไปจนถึงการก่อสร้าง ซึ่งเจ้าของบ้านล้วนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจร่วมกับสถาปนิก

2. สถาปนิกอิสระกับบริษัทสถาปนิก เลือกจ้างแบบไหนดี

หากพูดถึงหลักการทำงานออกแบบก็คงไม่ได้แตกต่างกัน แต่การตัดสินใจให้ใครออกแบบบ้านให้ น่าจะขึ้นอยู่กับโจทย์และรูปแบบของบ้านที่เจ้าของบ้านต้องการ ว่าเราเชื่อมั่นที่จะให้ใครออกแบบให้มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นสถาปนิกอิสระหรือบริษัทสถาปนิก ถ้าเราสามารถสื่อสารกันได้ด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกัน ก็สามารถทำให้กระบวนการออกแบบเป็นไปได้ด้วยดีทั้งนั้น

3. ซื้อแบบบ้านมาแล้วให้สถาปนิกเซ็นให้ได้ไหม

สถาปนิกไม่สามารถเซ็นแบบที่ตนเองไม่ได้ออกแบบ ดังนั้นเราไม่สามารถซื้อแบบบ้านมาแล้วให้สถาปนิกเซ็นได้ เพราะถือว่าผิดทั้งในทางกฎหมายและจรรยาบรรณวิชาชีพสถาปนิกเลยทีเดียว

ข้อบังคับสภาสถาปนิกว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.ศ. 2545 ซึ่งสภาสถาปนิกประกาศบังคับใช้ภายใต้อำนาจตามพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 เนื้อหาโดยรวมของข้อบังคับนี้จะมุ่งเน้นให้สถาปนิกและผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมอื่นๆ มีความตระหนัก มีจิตสำนึกในการปฏิบัติงานและระมัดระวังเรื่องคุณภาพของผลงานของตน ว่าจะไม่ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อสภาพแวดล้อม ต่อสาธารณชน และต่อชุมชนที่ตั้งโครงการหรืออาคารบ้านเรือน อีกทั้งยังกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตในการประกอบวิชาชีพทั้งต่อตนเอง ต่อวิชาชีพ ต่อผู้ว่าจ้างและเพื่อนร่วมอาชีพอีกด้วย

เพราะฉะนั้นการเซ็นรับรองแบบให้งานออกแบบที่ตนไม่ได้ออกแบบจึงเป็นสิ่งที่ถือได้ว่าขาดความซื่อสัตย์สุจริตทั้งต่อตนเองและเพื่อนร่วมอาชีพ อันอาจก่อให้เกิดผลกระทบจากความผิดพลาดของแบบขึ้นได้ในอนาคตอีกด้วย

4. สถาปนิกเถียงกับซินแส เราเชื่อใครดี

น่าจะเชื่อตัวเรามากที่สุด เพราะคงไม่มีใครรู้ว่าอะไรดีหรือเหมาะสำหรับเรามากเท่ากับตัวเราเอง

 

เรื่อง : “วุฒิกร”, “ปัญชัช”, “อัจฉรา”

ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน


รู้หลักฮวงจุ้ยภายในบ้าน – ห้องนอน

จัดบ้านอย่างคนรู้ ฮวงจุ้ย


ติดตามข้อมูลดีๆจากบ้านและสวนได้ที่นี่