คติจักรวาล สู่ พระเมรุมาศ ศาสตรา สถาปัตย์ไทย

“ศาสตรา สถาปัตย์ ไทย: พระเมรุมาศ จุดเชื่อมจักรวาลและการออกแบบ”

หลังจากได้ชมนิทรรศการ “ศาสตรา สถาปัตย์ ไทย: พระเมรุมาศ จุดเชื่อมจักรวาลและการออกแบบ” ที่จัดแสดงที่ TCDC อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก โดยความร่วมมือจากกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยศิลปากร และสถาบันสถาปัตยกรรมไทยเฉลิมพระเกียรติ ผลึกของความคิดตกตะกอนให้ทราบได้ว่า เรื่อง เขาพระสุเมรุในไตรภูมิ จากบทเรียนเมื่อครั้งวัยเยาว์ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลยสักนิด เพราะในส่วนลึกของสถาปัตยกรรมไทยล้วนแต่สอดแทรกแนวคิด ไตรภูมิและคติจักรวาล เอาไว้

พระเมรุมาศ

คติแห่งจักรวาลแฝงอยู่ในความเชื่อ แนวคิด ทางศาสนา ซึ่งมีอิทธิพลมากมายในดินแดนอุษาคเนย์ ก่อให้เกิดสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนา และส่งผลต่อมายังประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมา แต่ในบางครากาลเวลาได้กลืนกินเรื่องราวเหล่านั้นให้สูญหาย แต่ไม่สูญสิ้น เมื่อคติความเชื่อนี้ถูกถ่ายทอดออกมาในรูปแบบศาสนาสถาปัตยกรรม อาทิ วัดวาอาราม รวมถึงพระเมรุมาศ สถาปัตยกรรมชั่วคราวที่มีมาตั้งสมัยอยุธยา และสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

นิทรรศการครั้งนี้ บอกเล่าผ่านกรณีศึกษาพระเมรุมาศและพระที่นั่งทรงธรรม สถาปัตยกรรมชั่วคราวในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมไทยชั้นสูงที่รวมทุกงานฝีมือช่างไทยในทุกสาขา ศิลปะในบางจุดมีชื่อเรียกขานไม่คุ้นหู แต่สิ่งนั้นกลับดำรงอยู่มาเนิ่นนาน

“เมื่อท้องสนามหลวงเป็นเสมือนเขาพระสุเมรุ พระเมรุมาศตั้งในจุดตัดตรงกลาง เปรียบดั่งจุดศูนย์กลางของจักรวาล”

 

ในโซนแรกของนิทรรศการครั้งนี้บอกเล่าเรื่องราว  “คติจักรวาลและงานออกแบบสถาปัตยกรรมไทย” ซึ่งความเชื่อทางศาสนาส่งผลต่อการออกแบบสถาปัตยกรรมมาเนิ่นนาน ในรูปแบบศาสนาสถาปัตย์ ที่มีการแปรเปลี่ยนของเวลาเป็นตัวแปรหนึ่งทั้งเรื่องของวัสดุและเทคโนโลยีการก่อสร้าง ตั้งแต่อดีตจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

หากแนวคิดเรื่อง คติจักรวาล เป็นนามธรรมที่เห็นภาพไม่ชัด องค์พระปรางค์วัดอรุณฯ คือสถาปัตยกรรมที่เล่าเรื่องราวได้อย่างแจ่มแจ้ง ด้วยแนวคิดในการสร้างที่ตามหลักคติจักรวาลที่เปรียบมีองค์พระปรางค์ตั้งอยู่แกนกลางรอบข้างด้วยพระปรางค์องค์เล็กทั้ง 4 มุม ประกอบกับการเรียงร้อยเรื่องราวประวัติการสร้างพระเมรุมาศในประเทศไทยตั้งแต่รัชกาลที่ 5 จวบจนปัจจุบัน เชื่อมโยงสู่พระเมรุมาศในหลวงรัชกาลที่9 ขนาดย่อส่วน 1: 50 ที่จัดแสดงให้ชม

ส่วนที่ 2 เรื่องราวของ“โรงขยายแบบเท่าจริง ศิลปกรรม และศิลปะสำหรับงานสถาปัตยกรรม”  รายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ ที่แตกต่างจากพระเมรุ และการเปลี่ยนไปของวัสดุที่ใช้ก่อสร้างตามยุคสมัย โดยมีสิ่งหนึ่งที่ยังคงถูกรักษาสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนั่นคือ ศิลปกรรมประดับโดยรอบ ผ่านฝีมือช่างศิลป์ของกรมศิลปกร ทั้ง ศิลปะการซ้อนไม้พระโกศจันทน์และบันบนเรือนยอด อีกหนึ่งงานศิลป์ที่หาชมได้ยากแต่ถูกรวบรวมไว้แล้วในนิทรรศการครั้งนี้ หน่วยย่อยขยายความถอดแบบให้เราได้เห็นขั้นตอนในการสร้าง ตั้งแต่แกะไม้ วางทับซ้อน ประกอบร่างให้เกิดเป็นบันบนเรือนยอด แบบร่างขนาดเท่าของจริงและตัวบันเรือนยอดของจริงจัดวางให้เห็นอย่างเข้าใจง่าย

 

ศิลปะการซ้อนไม้
บันบนเรือนยอด

ชมส่วนประกอบอื่นๆที่หน้า 2