WOOD HEART, PLAY HARD รักไผ่ให้เป็น ต้องเล่นให้หนัก

/ การทำงานไม้ไผ่ของผมมีที่มาจากความรัก 30 เปอร์เซ็นต์
และอีก 70 เปอร์เซ็นต์ เป็นความคะนองติดเล่นของเราช่วงวัยรุ่น /

“การทํางานไม้ไผ่ของผมมีที่มาจากความรัก 30 เปอร์เซ็นต์ และอีก 70 เปอร์เซ็นต์ เป็นความคะนองติดเล่นของเราช่วงวัยรุ่น” คุณตั๊บ – ธนพัฒน์ บุญสนาน สถาปนิกหนุ่มไฟแรงเจ้าของบริษัท ธ.ไก่ชน จํากัด ผู้รับออกแบบก่อสร้างสถาปัตยกรรมจากไม้ไผ่ และผลิตไม้ไผ่ที่ผ่านกระบวนการป้องกันมอดและแมลงต่าง ๆ บอกกับเราอย่างนั้น เมื่อถามถึงสาเหตุที่ทําให้อดีตเด็กหนุ่มที่ไม่คุ้นเคยกับความลําบากตัดสินใจ ออกมาใช้ชีวิตปอนปอนที่เชียงใหม่อยู่หลายเดือนเพื่อเรียนรู้วิธีการทํางานไม้ไผ่

รักแรกพบของคุณตั๊บกับงานไม้ไผ่ไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเริ่มต้นเมื่อไหร่ รู้ตัวอีกทีก็ทํางานเป็นสถาปนิกได้กว่า 2 ปีแล้ว และค้นพบว่าตัวเองชอบสอดแทรกงานไม้ไผ่ไว้ในงานออกแบบเสมอ แต่พอถึงเวลาต้องลงลึกเพื่อก่อสร้างจริง กลับไม่สามารถทําได้ เพราะไม่รู้ทั้งแหล่งวัตถุดิบและข้อมูล เขาจึงไปเรียนต่อปริญญาโทเพิ่มเติม แต่ก็ยังไม่ตรงตามโจทย์ที่ต้องการ จึงตัดสินใจแบกเป้ขึ้น เชียงใหม่เพื่อไปเวิร์คชอปงานไม้ไผ่กับ Bambooroo ก่อนไปขอเรียนรู้วิธีการทํางานไม้ไผ่กับ Chiangmai Life Construction (CLC) โดยอาศัยการสังเกต พูดคุย และคลุกคลีกับช่างกว่า 3 เดือน

“ตลอดเวลาที่ขึ้นไปดูวิธีการทํางานไม้ไผ่ที่เชียงใหม่ เราไม่เคยคิดว่าไปเรียนหรือทํางานเลย เพราะถ้าคิดแบบนั้น เมื่อไม่ได้ค่าตอบแทน จะรู้สึกท้อและเหนื่อย ตอนนั้นจึงรู้สึกเหมือนตัวเองได้ไปเที่ยวเล่น อยากตื่นเช้าไปดูช่างทํางานไม้ไผ่ อยากไปเล่นกับช่าง เราถูกชะตา เราสนุกและได้ความรู้ ซึ่งไม่คาดคิดมาก่อนว่าวันหนึ่งจะมาเปิด บริษัทรับทําโปรเจ็กต์ที่มีไม้ไผ่เป็นวัสดุหลักจนถึงปัจจุบันแบบนี้”

อาคารต้อนรับของ Cool Downs Resort คืองานไม้ไผ่งานแรกของคุณตั๊บ ซึ่งถือเป็นงานที่ใหญ่และยากมากสําหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้น แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะใน วัย 26 ปี เขาเป็นเด็กหนุ่มที่มีพลังล้นเหลือ บวกกับได้รับความช่วยเหลือจากสถาบันอาศรมศิลป์ การเริ่มต้นใหม่ทั้งหมดจึงเป็นเรื่องสนุก

“เราได้เรียนรู้ตั้งแต่การทํางานกับช่างจํานวนมาก การทําโรงงานตามคําชวนของ อาศรมศิลป์และวิจัยร่วมกัน ผลงานนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าคุณน้าของเพื่อน (คุณนุช เจ้าของรีสอร์ต) ไม่เปิดโอกาสให้ผมทําโปรเจ็กต์นี้ เราคงได้แค่เขียนแบบในกระดาษ ไม่มีทางเข้าใจการทํางานที่หน้างานจริงๆ เช่น ไม้ไผ่ประเภทนี้มีความสําคัญอย่างไร แต่ก่อนเราไม่มีความรู้เลยว่าไม้ไผ่แต่ละพันธุ์เหมาะกับงานประเภทใด นํามาใช้อย่างไร แต่พอได้ทําจริงทําให้เราได้เรียนรู้แทบทุกอย่างที่เกี่ยวกับงานไม้ไผ่ตั้งแต่ต้น สําหรับเด็กคนหนึ่งที่เริ่มต้นจากศูนย์ ผลงานชิ้นนี้จึงไม่ง่ายเลย”

แม้จะเริ่มต้นด้วยผลงานที่ดูมีความซับซ้อนและมีความเป็นออร์แกนิกฟอร์มสูง แต่ในอนาคตเขาพยายามที่จะออกแบบรายละเอียดให้เข้าใจง่ายขึ้น เพื่อให้งานไม้ไผ่เป็นสิ่งใกล้ตัวที่ไม่ว่าใครก็สามารถทํางานไม้ไผ่ได้ แถมยังได้สนุกกับการทดลองผสมผสานวัสดุสมัยใหม่อื่น ๆ เข้ากับงานไม้ไผ่อยู่ตลอด อย่างงานไม้ไผ่ของเขาที่ปรากฏในงานสถาปนิก ’58 และอุโมงค์ดอกไม้ในงาน Japan Expo 2015

จากผลงานที่ผ่านมาและผลงานที่กําลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ตลอดจนการถูกจับตามองจากสื่อต่าง ๆ ในฐานะสถาปนิกรุ่นใหม่ผู้กล้ากระโดดลงมาทํางานไม้ไผ่ซึ่งเป็นงานที่คนไทยมองว่าธรรมดาและล้าสมัย วันนี้เขาได้พิสูจน์ให้วงการออกแบบเห็นแล้วว่า งานไม้ไผ่นั้นไม่ธรรมดา เขาสามารถนําไม้ไผ่มาเป็นส่วนหนึ่งของงานออกแบบได้อย่างไม่น่าเชื่อ ถือเป็นการผูกโยงธรรมชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ากับงานดีไซน์ได้อย่างกลมกลืน

“เราทํางานไม้ไผ่มา 3 ปี รู้เลยว่าตอนนี้ ธ.ไก่ชนมีตัวตนอยู่ได้ทั้งในแง่ธุรกิจและในฐานะบริษัทสถาปนิกผู้นำไม้ไผ่มาใช้ใน งานออกแบบ จากสิ่งธรรมดาที่หลายคนเคยมองข้าม วันนี้เราสามารถนําไม้ไผ่มาเพิ่มคุณค่าและสร้างเอกลักษณ์ขึ้นใหม่ได้ ส่วนเด็กรุ่นใหม่หรือคนในสังคมจะเห็นความสําคัญหรือไม่ ไม่ต้องไปแนะนํา เราไม่ต้องการไปเปลี่ยนหรือบอกอะไรสังคม เราเชื่อว่าสังคมมีความคิดเป็นของตัวเอง เขาเปลี่ยนแนวคิดของเขาเองได้ ขอแค่ตัวเราไม่เปลี่ยนก็พอแล้ว”

 

เรื่อง : ploythinkp+
ภาพ : นันทิยา
คอลัมน์ : People
Room Magazine : September 2015 No.151