พระโกศจันทร์

สุดฝีมือเพื่อพ่อ : พระโกศจันทน์และหีบพระบรมศพจันทน์

พระโกศจันทร์
พระโกศจันทร์

“พระโกศ” ภาชนะเครื่องสูงที่มีรูปทรงเป็นทรงกรวยยอดแหลม โดยแบ่งได้ 2 ประเภทตามวัตถุประสงค์การใช้งานคือ พระโกศสำหรับทรงพระบรมศพและพระโกศพระบรมอัฐิ

พระโกศจันทน์

พระโกศสำหรับทรงพระบรมศพนั้นหมายถึงที่ใส่พระศพนั่งของพระมหากษัตริย์ มี2 ชั้น ชั้นนอกเรียกว่า “พระลอง” ทำด้วยโครงไม้หุ้มทองปิดทองประดับอัญมณี ส่วนชั้นในเรียกว่า “โกศ”  ทำด้วยโลหะทองแดงหรือเงินแล้วปิดทอง แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ในปัจจุบันมักนิยมเรียกสลับ “พระลอง” เป็น “พระโกศ”  จนคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นสิ่งเดียวกัน

พระโกศนั้นปรากฏอยู่ในพิธีศพในราชสำนักไทยมายาวนาน เห็นได้จากมีการใช้พระโกศในงานพระบรมศพของพระมหากษัตริย์จากหนังสือไตรภูมิพระร่วงตั้งแต่สมัยสุโขทัย ตามโบราณราชประเพณี  พระบรมศพจะสถิตอยู่ในพระโกศโลหะปิดทองซ้อนด้วย “พระโกศทองใหญ่” (หรือจริงๆ คือพระลองทองใหญ่) ทำจากไม้แกะสลักปิดทองประดิษฐานเหนือพระแท่นสุวรรณเบญจดล ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร 9 ชั้น และหลังจากอัญเชิญพระโกศทองใหญ่ขึ้นพระมหาพิชัยราชรถถึงยังท้องสนามหลวงแล้ว เจ้าพนักงานจะเปลื้องพระโกศทองใหญ่ออก และหุ้มพระโกศโลหะชั้นในด้วย “พระโกศจันทน์” แทนเพื่อถวายพระเพลิง

พระโกศจันทน์สร้างขึ้นจากไม้จันทน์อันเป็นไม้มงคล มีกลิ่นหอมซึ่งจะใช้เป็นเชื้อเพลิงในเวลาถวายพระเพลิงเพื่อดับกลิ่นพระศพโดยในพระราชพิธีครั้งนี้มีการจัดสร้าง “หีบพระบรมศพ” หุ้มด้วย“หีบพระบรมศพจันทน์”อีกชั้น วางเป็นฐานของพระโกศจันทน์ตามพระอิสริยยศ ซึ่งแตกต่างจากโบราณราชประเพณี แต่รูปแบบการจัดสร้างหีบพระบรมศพจันทน์นั้นมีมาตั้งแต่ครั้งพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีแล้ว

ในอดีตพระโกศจันทน์จะถูกเผาไปพร้อมกับพระบรมศพ แต่ในปัจจุบันเมื่อมีการใช้เตาเผาไฟฟ้าจึงเปลื้องพระโกศจันทน์ออกเมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนการวางดอกไม้จันทน์ก่อนถวายพระเพลิงพระบรมศพ เพื่อให้พระโกศจันทน์ที่จัดสร้างอย่างประณีตบรรจงนี้คงอยู่เป็นแบบอย่างแก่ช่างฝีมือรุ่นหลัง

ฉลุไม้จันทน์ให้เป็นลวดลายตามแบบ
โครงสร้างหีบพระบรมศพจันทน์ ทำจากเหล็กเชื่อมให้เป็นรูปทรง

ในสมัยโบราณมีการสันนิษฐานว่าพระโกศจันทน์นั้นทำจากไม้แกะสลักแต่เมื่อมีเครื่องมืออย่างเลื่อยฉลุใช้กันแพร่หลาย จึงหันมาใช้เทคนิค “ศิลปะงานซ้อนไม้” เพื่อจำลองงานแกะสลักให้เหมาะสมกับงานสถาปัตยกรรมชั่วคราวอย่างพระเมรุมาศมากยิ่งขึ้น

ขั้นตอนการจัดสร้างเริ่มจากการนำแบบขยายมาปรับให้เหมาะกับการจัดสร้างจริงโดยเลือกลวดลายให้เหมาะกับสีสันที่มีโทนสีเข้ม –อ่อนไม่เท่ากัน รวมถึงความหนาของไม้ที่มีตั้งแต่ 2-8 มิลลิเมตร จากนั้นจึงค่อยแปะกระดาษแบบลงบนแผ่นไม้ ใช้เลื่อยฉลุทีละชิ้นก่อนนำชิ้นไม้เหล่านั้นมาติดซ้อนกันด้วยกาวลาเท็กซ์เพื่อให้ได้ลวดลายนูนต่ำตามแบบแล้วนำลวดลายซ้อนไม้แต่ละชุดมาผูกติดด้วยเส้นลวดเข้ากับโครงสร้างเหล็กขึงตาข่าย และปิดทองคำเปลวตามแบบ โดยใช้ช่างฝีมือ 10 คน จิตอาสา 80 คน

พระโกศจันทน์
การปิดทองเทพนมไม้แกะสลักมีการทาสีรองพื้นก่อนจึงค่อยติดทองคำเปลว
ลวดลายกลีบบัวจงกลและเทพนมบนพระโกศจันทน์
ดอกไม้ไหวและบัวถลาบนฝาหีบพระบรมศพจันทน์

พระโกศจันทน์
• สูง 227 เซนติเมตร
• ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางฐาน 90 เซนติเมตร
• ลวดลาย 41 รูปแบบ
• ชิ้นส่วนไม้จันทน์กว่า 10,000 ชิ้น
หีบพระบรมศพจันทน์
• กว้าง 155 เซนติเมตร
• ยาว 285 เซนติเมตร
• สูง 130 เซนติเมตร
• ลวดลาย 26 รูปแบบ
• ชิ้นส่วนไม้จันทน์ กว่า 30,000 ชิ้น

ติดลวดลายซ้อนไม้เข้ากับโครงสร้างพระโกศ

 

ติดตามเรื่องราว #สุดฝีมือเพื่อพ่อ ทั้งหมดได้ในนิตยสาร room ฉบับเดือนตุลาคม 2560 ที่ room ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการบันทึกหน้าประวัติศาสตร์ไทย ผ่านทุกกระบวนการสร้างสรรค์พระเมรุมาศ รวบรวม เรียงร้อย และสรุปแนวความคิดการออกแบบ ความร่วมมือร่วมใจของงานช่างไทยหลากหลายสาขาที่ทุ่มเทสุดฝีมือเพื่อถ่ายทอดความทรงจําและความรักด้วยการถวายงานแด่พ่อหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นครั้งสุดท้าย

อ่านต่อ :โปรเจ็กต์สุดฝีมือเพื่อพ่อ

สุดฝีมือเพื่อพ่อ : งานประติมากรรม ในการจัดสร้างพระเมรุมาศ

สุดฝีมือเพื่อพ่อ : งานจิตรกรรมประกอบพระเมรุมาศ

เรื่อง กรกฎา, monosoda
ภาพปก วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์
ภาพ ศุภวรรณ, ศุภกร, อภิรักษ์, อนุพงษ์, นันทิยา, สรวิชญ์
ภาพประกอบ patit