สุดฝีมือเพื่อพ่อ : พระเมรุมาศยุคใหม่

“แต่ก่อนมาถ้าพระเจ้าแผ่นดินสวรรคตลงก็ต้องปลูกพระเมรุใหญ่ ซึ่งคนไม่เคยเห็นแล้วจะนึกเดาไม่ถูกว่าโตใหญ่เพียงใด เปลืองทั้งแรงคน แลเปลืองทั้งพระราชทรัพย์ ถ้าจะทำในเวลานี้ก็ดูไม่สมกับการที่เปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง…”

พระเมรุมาศยุคใหม่

พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แสดงให้เห็นถึงพระราชดำริในการสร้างพระเมรุมาศที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากของเดิมนั้นสิ้นเปลืองทั้งแรงงานและกำลังทรัพย์

เมื่อคติแบบเดิมไม่เหมาะกับยุคสมัยที่กำลังเปลี่ยนแปลง ประกอบกับการเข้ามาของความรู้และวิทยาการจากโลกอีกฟากฝั่ง จึงทำให้โลกทัศน์ของชนชั้นนำที่มีต่อประเพณีและวัฒนธรรมบางอย่างเปลี่ยนแปลงไปด้วย

จึงขอให้ยกเลิกงานพระเมรุใหญ่นั้นเสีย ปลูกแต่ที่เผาพอควรในท้องสนามหลวง…” จากพระราชดำรินี้จึงทำให้พระเมรุมาศของพระองค์ถูกลดทอนครั้งใหญ่ คงเหลือไว้แต่ส่วนประกอบที่ใช้ประกอบพิธี จริง ๆ คือพระเมรุทองภายในสะท้อนความเชื่อของชนชั้นนำที่เริ่มมองโลกอย่างเป็นสัจจะคิดถึงประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก

พระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) นายช่างผู้ออกแบบพระเมรุมาศรัชกาลที่ 5 เริ่มใช้โครงสร้างเหล็กแทนไม้บางส่วน และใช้โครงสร้างไม้ถัก (Truss) แทนการใช้ไม้ซุงขนาดใหญ่ โดยมีสถาปนิกและวิศวกรฝรั่งเข้ามามีส่วนร่วมในการก่อสร้างด้วย

“…พระเมรุมีขนาดเล็กลง และมีผังที่เป็น มาตรฐานมากขึ้นขนาดผังแทบจะเท่ากันผู้ออกแบบจึต้องคิดออกแบบพระเมรุให้มีดีไซน์ยักเยื้องแตกต่างกัน สอดคล้องกับองค์เจ้านายผู้วายชนม์…”

ผศ. ดร.พีรศรี ไพวาทอง อาจารย์ประจำ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวไว้ในงานเสวนา สถาปัตยกรรมพระเมรุในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9” ถึงลักษณะและวิธีสร้างพระเมรุของเจ้านายโดยทั่วไป ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 6 ดร.พีรศรียังได้อธิบายว่า ในยุคนี้ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ยังเป็นผู้เริ่มใช้การ เขียนแบบกับการออกแบบพระเมรุอย่างจริงจัง

องค์ความรู้ต่าง ๆ ส่งต่อมาถึงยุคสมัยปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากพระเมรุ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2551 ที่ออกแบบโดย พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่นสถาปนิกผู้นิยมทดลอง กับนวัตกรรมและวัสดุสมัยใหม่ ท่านได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการก่อสร้างจากโครงไม้มาใช้เหล็กรูปพรรณทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีการนำ “เตาเผา” เข้ามาใช้ประกอบพิธีถวายพระเพลิงพระศพเป็นครั้งแรกอีกด้วย นับแต่สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงอันเป็นที่รักยิ่งของประชาชนชาวไทยเสด็จ สวรรคตเมื่อวันที่13 ตุลาคม 2559 งานก่อสร้างพระเมรุมาศก็เริ่มต้นขึ้นโดยมีระยะเวลาก่อสร้างเพียง 1 ปี เท่านั้น การทำงานใหญ่ที่มีรายละเอียดมากให้เสร็จทันเวลาที่กำหนดจึงเป็นเรื่องยาก แต่ด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งรัฐบาล เอกชน ช่างฝีมือแขนงต่าง ๆ ตลอดจนจิตอาสาทุกคนก็ทำให้งานนี้สำเร็จลุล่วงด้วยดี

พระเมรุมาศมีการวางผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้าง 60 เมตร ยาว 60 เมตร สูง 50.49 เมตร เป็นพระเมรุมาศทรงบุษบก 9 ยอด บนฐานชาลา 3 ชั้น ออกแบบโดย คุณก่อเกียรติ ทองผุด มือขวาของ พลอากาศตรี อาวุธเงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับกลางบุษบกประธานประดิษฐานพระจิตกาธาน พระเมรุมาศประดับด้วยเทวดาและสัตว์หิมพานต์ มีแนวความคิดในการตีความเชิงสัญลักษณ์ตามผังภูมิจักรวาล ที่มาจากปรัชญาและคติความเชื่อของไทย สร้างด้วย เหล็กรูปพรรณทั้งหมด ทำเป็นโครงสร้างถัก (Truss) เพื่อช่วยให้อาคารมีความแข็งแรง สามารถถอดไปใช้ งานอื่นๆ ต่อได้ ฐานรากใช้การเทคอนกรีตเสริมเหล็ก โดยยังคงหลีกเลี่ยงการตอกเสาเข็ม เพราะด้วยความที่เป็นอาคารชั่วคราวและเป็นธรรมเนียมของการสร้าง พระเมรุบนพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างสนามหลวง

ร่วมด้วยการประยุกต์ใช้วัสดุต่าง ๆ อย่างไม้อัด สังกะสี และวัสดุชั่วคราวอื่นๆ ร่วมกับเทคโนโลยีการก่อสร้างทั้งทางสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมมาประยุกต์ เห็นได้จากลวดลายประดับที่ใช้เทคนิค การซ้อนไม้ด้วยไม้อัดแทนการแกะสลัก ช่วยให้ลวดลายของ สถาปัตยกรรมมีมิติตื้นลึก และประยุกต์เทคโนโลยี เครื่องตัด CNC มาใช้แทนการใช้เลื่อยฉลุธรรมดา

ยอดและส่วนประดับที่มีลักษณะเป็น 3 มิติ ใช้การหล่อแบบเรซินซึ่งมีความคงทนกว่าเทคนิคการ สานโครงไม้ไผ่แล้วปะด้วยกระดาษแบบดั้งเดิม

เมทัลชีท ไม้อัด ซีเมนต์บอร์ด และกระจก คือ วัสดุใหม่ที่นำมาใช้ประกอบอาคารในพิธีโดยรอบ เป็นผลจากการทดลองใช้วัสดุให้เข้ากับยุคสมัย ทำให้การก่อสร้างอาคารในเวลาอันจำกัดสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว และงดงามสมพระเกียรติ

จากสัดส่วนที่เดิมเคยวัดด้วยสายตา เมื่อมาถึงยุคสมัยปัจจุบันที่มีการใช้มาตรฐานทางคณิตศาสตร์ เข้ามามีส่วนช่วยในการออกแบบผลงาน บวกกับสิ่งที่คนรุ่นก่อนเคยทำและจดบันทึกไว้ จึงยิ่งช่วยให้การส่งต่อองค์ความรู้ด้านสถาปัตยกรรมเป็นไปอย่างมีมาตรฐาน คนรุ่นใหม่สามารถเรียนรู้ศาสตร์ด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมไทยดั้งเดิมจากรุ่นสู่รุ่น ควบคู่ไปกับนวัตกรรมที่ได้รับการพัฒนา เกิดเป็นการสร้างสรรค์ผลงานที่ประณีตได้ในเวลาจำกัด ทั้งยังมีความละเอียดลออ เพราะมีเทคโนโลยีซึ่งคิดค้นโดยคนรุ่นใหม่มาช่วยเสริมเทคนิคต่าง ๆ ให้มีความงดงามสมจริง

นอกจากมรดกของชาติที่ยังคงได้รับการสืบสานจากรุ่นสู่รุ่น เราเชื่อว่าเหตุการณ์นี้จะยังประทับอยู่ในใจคนไทยทุกคนไปอีกนานเท่านาน…

 

เมษายน – พฤษภาคม 2560

ผ่านวันยกเสาเอกพระเมรุมาศเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560 จนถึงเดือนพฤษภาคม ภาพรวมการจัดสร้างพระเมรุมาศและอาคารประกอบมณฑลพิธีได้แล้วเสร็จไปราว 40 เปอร์เซ็นต์ ส่วนโครงสร้างเหล็กขององค์พระเมรุมาศได้จัดสร้างแล้วเสร็จครบ 100 เปอร์เซ็นต์

 

มิถุนายน – กรกฎาคม 2560

เดือนมิถุนายนภาพรวมการจัดสร้างพระเมรุมาศและอาคารประกอบแล้วเสร็จไปราว 50 เปอร์เซ็นต์ ปลายเดือนกรกฎาคมเริ่มกรุผิวพระเมรุมาศ โดยเริ่มจากล่างขึ้นบน (ฐานสู่ยอด) แล้วประดับตกแต่งเครื่องยอดบุษบกองค์พระเมรุมาศ มีความคืบหน้ากว่า 60 เปอร์เซ็นต์

 

สิงหาคม – กันยายน 2560

พระเมรุมาศยุคใหม่

เมื่อภาพรวมของงานสถาปัตยกรรมใกล้แล้วเสร็จ งานภูมิสถาปัตยกรรมก็เริ่มสานต่ออย่างต่อเนื่องภาพรวมเหลือการติดตั้งประติมากรรมตกแต่งสระอโนดาต สวนแสดงพระราชกรณียกิจ และประดับตกแต่งลวดลายทางสถาปัตยกรรมให้แก่องค์พระเมรุมาศและอาคารประกอบอีกราว 25 เปอร์เซ็นต์


Source : หนังสือพระเมรุมาศ พระเมรุ และเมรุ สมัยรัตนโกสินทร์ โดย ศ. พล.ร.ต.สมภพ ภิรมย์ / หนังสือสถาปัตยกรรมพระเมรุในสยาม โดย ม.ร.ว.แน่งน้อย ศักดิ์ศรี / หนังสือการเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรมสยามสมัยไทยประยุกต์ชาตินิยม โดยชาตรี ประกิตนนทการ / ศิลปะสถาปัตยกรรมคณะราษฎร โดยชาตรี ประกิตนนทการ / บทความ “เกร็ดความรู้จาก ประวัติศาสตร์งานพระเมรุจากเอกสารสมัยอยุธยา” โดยสุทธิพันธ์ ขุทรานนท์ / บทความ “คติไตรภูมิกับ การสร้างพระเมรุและพระเมรุมาศ” โดยณรงค์กรรณ รอดทรัพย์, ภูศิษย์ แสวงกิจ, นิพัทธพงศ์ พุมมา / บทความ “พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” โดยคณะกรรมการฝ่าย ประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีถวายพระเพลิง พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (kingrama9.net) / บทความ “โครงสร้าง พระเมรุมาศ” โดยกลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร (finearts.go.th) / เล่าเรื่อง สถาปัตยกรรมไทย โดยชาริณี อรรถจินดา (facebook.com/จด-และ-หมายเหตุ-เล่าเรื่อง สถาปัตยกรรมไทย) / คลิปงานเสวนา ASA Seminar 2017 : สถาปัตยกรรมพระเมรุในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่9 โดย สมาคมสถาปนิกสยามฯ (youtu.be/aX6pVBUvgpo) / คลิปการบรรยายพิเศษ “พระเมรุกลางเมือง” โดย ศ.พิเศษธงทอง จันทรางศุ (youtu.be/i9WN9TXs N40)

ติดตามเรื่องราว #สุดฝีมือเพื่อพ่อ ทั้งหมดได้ในนิตยสาร room ฉบับเดือนตุลาคม 2560 ที่ room ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการบันทึกหน้าประวัติศาสตร์ไทย ผ่านทุกกระบวนการสร้างสรรค์พระเมรุมาศ รวบรวม เรียงร้อย และสรุปแนวความคิดการออกแบบ ความร่วมมือร่วมใจของงานช่างไทยหลากหลายสาขาที่ทุ่มเทสุดฝีมือเพื่อถ่ายทอดความทรงจําและความรักด้วยการถวายงานแด่พ่อหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นครั้งสุดท้าย

อ่านต่อ :โปรเจ็กต์สุดฝีมือเพื่อพ่อ

สุดฝีมือเพื่อพ่อ : สถาปัตยกรรม พระเมรุมาศ – พระเมรุ – เมรุ


เรื่อง กรกฎา, monosoda
ภาพปก วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์
ภาพ ศุภวรรณ, ศุภกร, อภิรักษ์, อนุพงษ์, นันทิยา, สรวิชญ์
ภาพประกอบ patit