CONSCIOUS DESIGN ออกแบบด้วยจิตสำนึก

ความต้องการที่ไม่มีที่สิ้นสุดของมนุษย์ เป็นแรงผลักดันให้เกิดนวัตกรรมและเครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ตอบสนองการพัฒนาความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตอยู่เสมอ ตั้งแต่การถักทอเครื่องนุ่งห่ม ก่อร่างที่พักอาศัย ประดิษฐ์ยานพาหนะ จนถึงการสร้างนวัตกรรมล้ำยุคใด ๆ ก็ตาม เครื่องมือและนวัตกรรมเหล่านี้ ต้องผ่านกระบวนการหลอมรวมแนวความคิด และสร้างสรรค์ออกมาเป็นสิ่งประดิษฐ์อย่างเป็นระบบ สิ่งนี้เราเรียกโดยรวมได้ว่าคือ “การออกแบบ”

ทว่าตลอดระยะทางของการสร้างสรรค์ ก็ดูเหมือนว่าเราไม่เคยลังเลที่จะทำลายบางอย่าง เพื่อให้ได้มาซึ่งบางอย่างที่เราต้องการเสมอ ทรัพยากรธรรมชาติ ความสมดุลย์ของระบบนิเวศน์ หรือแม้แต่ชีวิตมนุษย์ด้วยกัน ถูกโค่นล้มและกลืนกินอย่างง่ายดาย ในนามของ “การพัฒนา” ที่มนุษย์ไม่สามารถหยุดยั้ง

“จิตสำนึกในการออกแบบ” จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรตระหนักและให้ความสำคัญ ทั้งงานออกแบบที่เอื้อประโยชน์ให้กับมนุษย์พร้อม ๆ กับสร้างสัมพันธ์อันดีกับสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และธรรมชาติ รวมไปถึงงานออกแบบที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของมนุษย์ทุก ๆ คน ที่ไม่ใช่เพียงคนกลุ่มใด หรือใครคนใดคนหนึ่ง เมื่อนั้น “การพัฒนา” หรือการสร้างสรรค์งานออกแบบใด ๆ ก็น่าจะดำเนินต่อไปได้ อย่างสมดุล และยั่งยืน

ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมานี้ จะเห็น # Conscious Design หรือที่แปลตรงๆ ได้ว่า ออกแบบด้วยจิตสำนึก ในหลายๆ โพสต์ที่แฟนเพจ room เราจะขอพาทุกท่านทำความรู้จักความหมายของการออกแบบด้วยจิตสำนึกให้มากขึ้น โดยผ่านงานโปรดักต์ดีไซน์ ทั้ง 5 ชิ้น ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้

 

Rush Chair

Conscious Design

เก้าอี้จากกิ่งไม้และเชือกผักตบชวา จากอยุธยาคือต้นแบบชิ้นแรกของโปรเจ็กต์ Rush Chair ที่ทำหน้าที่เป็น สื่อกลาง ที่ถ่ายทอดแนวคิดหรือคุณค่าบางอย่างสู่สังคมในวงกว้าง ของจุฑามาส บูรณะเจตน์ และปิติ อัมระรงค์ สองดีไซเนอร์จาก o-d-a (Object Design Alliance) ที่มีความเกรงใจต่อธรรมชาติ โดยเลือกตัดเฉพาะกิ่งไม้มาใช้งาน เพื่อให้ต้นไม้ใหญ่ยังได้เติบโตต่อไป และเราก็เราได้เก้าอี้นั่ง

เก้าอี้รูปแบบเรียบง่ายสไตล์ดั้งเดิมจากฝั่งตะวันตก ถักสานส่วนที่นั่งด้วยเชือกหรือเส้นใยพืช ทั้งยังสามารถปรับ-เปลี่ยนเลือกใช้กิ่งไม้หรือเชือกชนิดอื่นได้ตามพื้นที่ และยังมุ่งสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนทำเก้าอี้ของตัวเอง ด้วยการประกอบข้อต่อง่าย ๆ ที่ไม่ซับซ้อนใช้เครื่องมือน้อย เสียก็ซ่อมเองได้ หรือจะปล่อยทิ้งไปให้มันย่อยสลายเองได้

อ่านต่อ : RUSH CHAIR by o-d-a : เก้าอี้ตัวนี้เกิดจาก “ความเกรงใจต้นไม้”

 

 STATIONERY 

ภาพ : www.grey-ray.com

เครื่องเขียนแบรนด์ไทย ตัวจริงในเรื่อง Eco Design ถึดถือคอนเซ็ปต์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่กระบวกการคิดสู่การออกแบบที่เน้นฟังก์ชั่น GREY RAYและจุดเริ่มต้นให้คนไทยมีวัฒนธรรมเครื่องเขียน นำไปสู่ความภาคภูมิในสินค้า Made in Thailand ผ่านการศึกษาพฤติกรรมผู้ใช้ ก่อนออกมาเป็น EE Defender ดินสอ EE ที่คนทำงานศิลปะ จะต้องรู้ดีว่ายิ่งเหลาแหลมเท่าไหร่ยิ่งเขียนดี แต่ข้อเสียของมันคือหักง่าย งานดีไซน์ชิ้นนี้จึงเป็นการออกแบบปลอกพลาสติก PP มาห่อหุ้ม ทำให้ไม่ต้องเสียกราไฟต์ไปโดยเปล่าประโยชน์ และยังได้รับรางวัล DEmark กับ GOOD DESIGN AWARD ปี 2013

และอีกหนึ่งงานออกแบบที่แสดงให้เช็ดชัดว่า GREY RAY ใส่ใจสิ่งแวดล้อม คือ 2cm+ จากมุมมองที่เห็นว่าดินสอส่วนใหญ่ไม่เคยถูกใช้จนหมดแท่ง จึงเป็นที่มาของการเอาไส้กราไฟต์ออก 2 ซม. โดยความยาวที่ลดทอนออก สามารถนำไปสร้างมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้อีก ส่วนยางลบ NATURE MADE ECO ERASER ที่ทำมาจากสารธรรมชาติ จนสามารถเคี้ยวได้เลยทีเดียว

 

PiN Metal Art

ภาพ : www.pinmetalart.com

IR-ON hotel

The Creative Item ต่อยอดเศษชิ้นส่วนจากการผลิตในโรงงานเหล็ก เพิ่มมูลค่าสู่ผลงานศิลปะสร้างของแต่งบ้านดีไซน์เก๋ ของปิ่น-ศรุตา เกียรติภาคภูมิ ศิลปินและนักออกแบบเจ้าของแบรนด์ PiN (พิน) ทายาทเจ้าของโรงงานเหล็ก ที่อยากเบาภาระของโรงงานด้วยแนวทางของตัวเอง และมองเห็นความงามภายใต้เศษเหล็กเหลือทิ้ง ก่อนค่อยรังสรรหมุดเล็กที่ละชิ้นผ่านความปราณีตสู่หลากหลายไอเดียของแต่งบ้าน อาทิโคมไฟ เชิงเทียน กระจก และชิ้นงานตกแต่งผนัง

จากมูลค่าหลักสิบต่อยอดไปจนถึงกว่าร้อยเท่า และสวยไม่ต่างจากงานประติมากรรมชิ้นไหนๆ เพราะเหล็กเหลือทิ้งมีทั้งแพตเทิร์นต่างๆ อันเป็นเอกลักษณ์ ทั้งยังดัดได้ด้วยมือ ทำลวดลายสวยงามเฉพาะได้ ที่สำคัญงานดีไซน์ของเธอยังมีส่วนในการหล่อเลี้ยงและโอบอุ้มโรงงานแห่งนี้ไปด้วยกัน

 

DROP BY DROP

ภาพ : dezeen
ภาพ : dezeen

แรงบันดาลใจจากคำกล่าวที่ว่า Drop by Drop, Fills an Ocean นี้ได้กลายเป็นที่มาให้ Pratik Ghosh สร้างสรรค์ผลงานที่มีชื่อว่า  Drop by Drop เพื่อค้นหาความสัมพันธ์ของมนุษย์และน้ำ จนออกมาเป็นเทอราเรียมดีไซน์เฉียบสะท้อนความดิบที่แฝงไปด้วยความหรูในลุคมินิมัลปนสไตล์สตรีมพังค์ งานดีไซน์คูล ๆ ที่สมควรตั้งอยู่ในห้องนั่งเล่นสวย ๆ แทนการซ่อนอยู่ใต้อ่างล้างจาน

ผลงานนี้ได้รับอิทธิพลจากทฤษฎี Biotic Pump หรือกลไกการสร้างฝนที่มีป่าเป็นตัวแปรสำคัญ ซึ่งกล่าวถึงวิธีการที่พืชดึงน้ำจากดิน ก่อนจะคายน้ำออกสู่ชั้นบรรยากาศ ควบแน่น แล้วกลั่นตัวเป็นหยดน้ำฟ้าตกลงสู่พื้นดิน โดยเครื่องกรองน้ำนี้ก็ใช้หลักการเช่นเดียวกัน และภายใน 12 ชั่วโมง Drop by Drop สามารถทำให้เกิดน้ำสะอาดได้ 1 แก้ว เรียกว่าใสบริสุทธิ์ถึงหยดสุดท้ายแน่นอน

 

Freitag

Conscious Design

IMG_2732

Freitag ได้ชื่อว่าเป็นแบรนด์รักษ์โลกจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพราะผลิตจากวัสดุเหลือใช้ เช่น ผ้าใบรถบรรทุกเก่า สายเข็มขัดนิรภัยที่นำมาเป็นสายสะพาย หรือไส้ยางในรถจักรยานที่นำมาตัดเป็นตัวขอบของกระเป๋า มีให้เลือกหลากหลายสีสันและรูปแบบ ซึ่งแต่ละใบจะมีเอกลักษณ์ชัดเจนจากผ้าใบที่นำมาใช้เป็นวัสดุหลัก ในหมู่ของผู้นิยมแบรนด์นี้มักพูดกันติดปากว่าเป็นกระเป๋าที่มีใบเดียวในโลก

ซึ่งการตั้งราคาไว้สูงของแบรนด์ไม่ใช่แค่เพราะมูลค่าทางการตลาด แต่เพราะขั้นตอนการผลิต วัสดุที่หามา ค่ากระบวนการรีไซเคิล ช่างฝีมือก็เลือกใช้ช่างชาวยุโรปมากกว่าจะส่งไปทำในเอเชียซึ่งค่าแรงถูกกว่า แต่จะเป็นการสร้างมลภาวะให้โลกเพิ่มขึ้นอีกจากการขนส่งนั่นเอง

อ่านต่อ-Freitag Pop-up Store BKK Now Open!

 

อ่าน Conscious Design อื่นๆ ต่อได้ที่

สามพรานโมเดล ต้นแบบความยั่งยืน ผลผลิตจากสวนสู่ PATOM ORGANIC CAFE

Panyaden International School ศูนย์กีฬาสถาปัตยกรรมไม้ไผ่


เรื่อง korakot, pari
ภาพ แฟ้มภาพนิตยสาร room