รวมจุดซ่อมเองได้ภายในบ้าน

คุณเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้บ้างไหม อาทิ สีทาผนังลอกล่อน สนิมกินรั้วบ้าน รวมถึงเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ต่างๆในบ้านใช้การไม่ได้ เรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่บ้านแสนรักของเราต้องเจอะเจอ บางสิ่งแม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่หากปล่อยให้ลุกลามก็อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ ทว่ายุคนี้เป็นยุคแห่งการประหยัด อะไรที่ซ่อมเองได้ก็เป็นสิ่งที่ดีที่ควรทำ ไล่ตั้งแต่หน้าประตูบ้านกันเลย อย่าช้า…เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมแล้วมาเริ่มลงมือซ่อมกันดีกว่า ซ่อมเองได้

ซ่อมเองได้

1. แก้ปัญหาสนิมกินรั้วบ้าน

คู่อริตลอดกาลของเหล็กก็คือ “สนิม” ส่วนใหญ่มักเกิดกับบริเวณที่อยู่ภายนอกซึ่งโดนความชื้น บริเวณที่เปียกสลับแห้งจะเกิดสนิมได้เร็วกว่าบริเวณที่เปียกหรือสัมผัสน้ำตลอดเวลา สำหรับวิธีบำรุงรักษาเจ้ารั้วเหล็กมีดังนี้

ขั้นตอนการทำงาน

ซ่อมเองได้

1 ใช้กระดาษทรายขัดเหล็กหรือแปรงลวดขัดบริเวณที่เป็นสนิมออกให้มากที่สุด จากนั้นทำความสะอาดพื้นผิวที่ให้ปราศจากคราบไขมัน ฝุ่น และสิ่งสกปรกต่างๆ

 

2 ใช้น้ำยาแปลงสภาพสนิมมาทาให้ทั่วพื้นผิว ทิ้งไว้ประมาณ 10-15 นาที น้ำยาจะเปลี่ยนสนิมเป็นสีดำเพื่อยับยั้งการเกิดสนิมขึ้นใหม่ จากนั้นทาสีทับหน้าตามสีสันที่เราชื่นชอบ

2. ทำอย่างไรดีทางเดินภายนอกและภายในบ้านลื่น

พื้นภายนอกบ้าน เช่น พื้นกระเบื้องบริเวณซักล้าง ระเบียงปูหินแกรนิต หรือแม้กระทั่งพื้นภายใน เช่น พื้นห้องน้ำ พื้นห้องครัว ซึ่งต้องเปียกชื้นเป็นประจำ เป็นพื้นที่ที่ควรคำนึงถึงความปลอดภัยมากกว่าบริเวณอื่น แม้จะเป็นพื้นที่ปูวัสดุผิวหยาบซึ่งมีคุณสมบัติกันลื่นแล้วก็ตาม แต่ในการใช้งานจริงเมื่อพื้นเปียกก็มีโอกาสที่จะเกิดการลื่นล้มได้ง่าย ยิ่งบ้านไหนมีเด็กหรือคนชรา ก็ควรพิจารณาข้อนี้มากเป็นพิเศษ

ขั้นตอนการทำงาน

ซ่อมเองได้

  • ทำความสะอาดพื้นภายนอกหรือพื้นภายในให้ปราศจากคราบสกปรก แล้วปล่อยให้แห้ง จากนั้นใช้น้ำยาหรือสเปรย์น้ำยากันลื่น เช่น Crocodile Anti Slip บนพื้นผิวที่ต้องการกันลื่น แล้วปล่อยทิ้งไว้ตามระยะเวลาที่ได้ทดสอบ จากนั้นให้ล้างออกด้วยน้ำสะอาดก็ใช้งานได้ทันที และหมั่นทดสอบอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 6 เดือนครั้ง หากพบว่าประสิทธิภาพกันลื่นลดลงให้ทำซ้ำอีกครั้ง
TIP

ควรลองสเปรย์น้ำยากันลื่น ในพื้นที่เล็กๆก่อน เพื่อทดสอบว่าน้ำยาทำปฏิกิริยากับสีของกระเบื้องหรือไม่ เมื่อได้ผลเป็นที่พอใจแล้ว จึงสเปรย์น้ำยาในพื้นที่ที่ต้องการ หากต้องการความฝืดมากขึ้น ให้เพิ่มระยะเวลาออกไป เช่น ทิ้งไว้ 30 นาที สำหรับกระเบื้องทั่วไป จนถึง 1 ชั่วโมง สำหรับกระเบื้องที่มีความเงามาก

3. สีทาผนังบ้านภายนอกบริเวณชายล่างลอกล่อน เกิดจากอะไรกันแน่

เคยสังเกตไหม ตามบริเวณชายล่างของบ้านซึ่งเป็นผนังปูนทาสี โดยเฉพาะที่สัมผัสกับดินโดยตรง มักเกิดการหลุดลอกของสี สาเหตุเกิดจากความชื้นที่ซึมขึ้นมาจากชั้นดินสู่ผนังและดันผิวสีจนเกิดการบวมหลุดลอกในที่สุด

ขั้นตอนการทำงาน

ซ่อมเองได้

1 ใช้เกรียงโป๊ขูดฟิล์มสีที่เสื่อมสภาพหรือหลุดลอกออกให้หมด จากนั้นล้างทำความสะอาด แล้วปล่อยให้แห้ง

2 ทาน้ำยารองพื้นปูนเก่าเพื่อป้องกันความชื้นหนึ่งเที่ยว ปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 2-4 ชั่วโมง แล้วจึงทาน้ำยารองพื้นปูนเก่าเพื่อเสริมการยึดเกาะ หลังจากนั้นใช้สีน้ำอะคริลิกมาทาทับหน้าอีกสองรอบ

 

4. พื้นห้องน้ำรั่วซึม ต้องซ่อมแค่ไหนกัน

คนส่วนใหญ่มักคิดว่าการผสมน้ำยากันซึมในคอนกรีตและการใช้ยาแนวคงเพียงพอสำหรับการป้องกันน้ำรั่วซึมแต่ในความเป็นจริงแล้วระหว่างการใช้งานยาแนวก็ยังมีโอกาสชำรุดหลุดล่อน หรืออาจมีช่องว่างในเนื้อคอนกรีตที่ไม่ได้รับน้ำยากันซึม ปัญหาห้องน้ำรั่วจึงมีให้พบเห็นอยู่บ่อยครั้ง วิธีแก้ไขก็ไม่ยุ่งยากอย่างที่คิด ตามไปดูกัน

ขั้นตอนการทำงาน

ซ่อมเองได้

1 เลาะกระเบื้องบริเวณที่จะซ่อมแซมออก โดยให้กินพื้นที่มากกว่าบริเวณที่รั่วซึมประมาณ 15 เซนติเมตร รอบรอยรั่ว

2 ใช้แปรงทาวัสดุกันซึมอย่าง WaterBloc หนึ่งเที่ยว แล้วปล่อยทิ้งไว้ราว 24 ชั่วโมง

3 ใช้แปรงทาวัสดุกันซึมซ้ำอีกรอบ แล้วปล่อยทิ้งไว้อีก 24 ชั่วโมง ก่อนปูกระเบื้องให้เรียบร้อยตามเดิม

5. ซ่อมและทำสีให้เก้าอี้ไม้เก่ามีวิธีการอย่างไรบ้าง

เก้าอี้ไม้เก่าที่เนื้อไม้บิ่นหรือแตกร้าวซึ่งถูกทอดทิ้ง ต่อแต่นี้ไปจะไม่อยู่อย่างเดียวดายแล้ว เพราะเรามีวิธีซ่อมแซมอย่างง่ายๆให้เก้าอี้ตัวเก่ากลับมาใช้การได้ดีอีกครั้ง

ขั้นตอนการทำงาน

ซ่อมเองได้

1.ใช้น้ำยาลอกสีและเกรียงโป๊ขัดลอกสีเก่าและสิ่งสกปรกต่างๆให้หลุดออกไป จากนั้นซ่อมชิ้นส่วนที่เสียหาย เช่น ตีตะปูเสริมเพื่อให้โครงเก้าอี้มีความแข็งแรงยิ่งขึ้น หรือถ้าเนื้อไม้มีรอยร้าวเล็กน้อย ให้ใช้กาวร้อนที่มีคุณสมบัติคล้ายกาวช้าง คือ ใส แห้งไว แต่อุดรอยรั่วได้ดีกว่ามาหยอดที่รอยร้าวของเนื้อไม้

2.หากเนื้อไม้มีรอยแยกหรือปริแตกแต่ไม่กว้างนัก ให้ใช้ผงขี้เลื่อยผสมกับกาวคลุกเคล้าให้เป็นเนื้อเดียวกัน แล้วนำไปอุดรอยปริแตกของเก้าอี้ เพื่อกันน้ำซึมเข้าเนื้อไม้ แต่ถ้าเนื้อไม้แตกหรือบิ่นไปมาก ให้หาเศษไม้ที่มีขนาดใหญ่กว่ารอยแตกมาเสริม ยึดติดด้วยตะปูตัวเล็กหรือกาวอุดไม้ แล้วใช้กระดาษทรายขัดเพื่อเก็บงานให้เรียบร้อย

3.ถ้าต้องการทำสีให้เก้าอี้ไม้ก็ทาสีรองพื้น 1-2 รอบก่อน เพื่อเป็นฟิล์มป้องกันยางไม้ซึมออกมา จากนั้นจึงลงสีทับหน้าตามความชอบส่วนตัว

 

6. ทำอย่างไรดี ขาโต๊ะ ขาเก้าอี้โยกเยก

กรณีขาโต๊ะหรือขาเก้าอี้โยกเยก มีเสียงดังเอี๊ยดอ๊าดน่ารำคาญ อาจเกิดจากสกรูว์ยึดไม้คลายตัว เราสามารถใช้ไขควงขันสกรูว์ให้แน่นได้ แต่ถ้าเกิดจากเดือยไม้หลวมเพราะผ่านการใช้งานมานาน โดยเฉพาะเก้าอี้ไม้ซึ่งพบมากตรงบริเวณขาด้านหลังของพนักพิง เราสามารถซ่อมให้ดีดังเดิมได้ด้วยวิธีง่ายๆ ดังนี้

ขั้นตอนการทำงาน

1 นำระดับน้ำมาวัดระดับเพื่อกำหนดตำแหน่งที่จะติดตั้งเหล็กฉากเพื่อเสริมความแข็งแรงให้ขาโต๊ะหรือเก้าอี้ไม้ ใช้ดินสอทำเครื่องหมายไว้ที่บริเวณจุดติดตั้งเหล็กฉากแล้วใช้สว่านเจาะรูตาม

2 ใช้ตะปูเกลียวยึดเหล็กฉากให้แน่น แต่ถ้าต้องการให้มีความแข็งแรงเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเก้าอี้ก็ให้ติดยึดเหล็กฉากทั้งด้านล่างและด้านบน

7. รอยด่างดวงบนฝ้าเพดาน…ซ่อมได้ไหม

หากเราเป็นคนช่างสังเกตและลองเงยหน้าขึ้นดูฝ้าเพดานของบ้านสักหน่อย อาจพบคราบสกปรกที่ไม่พึงประสงค์บนฝ้าเพดานสีขาวๆก็เป็นได้ บางรายอาจเจอหนักกว่านั้น มีทั้งเชื้อราและมอสส์สีเขียวๆพาเหรดกันขึ้นเต็มฝ้าไปหมด เมื่อเห็นอาการแบบนี้ไม่ต้องตกใจ เพราะเราแก้ไขได้

ขั้นตอนการทำงาน

1 หาสาเหตุว่าฝ้าเพดานที่เป็นรอยด่างดวงนั้นเกิดการรั่วซึม ณ จุดใด เช่น ถ้าหลังคารั่วหรือแตกร้าวก็จัดการซ่อมแซมจุดบกพร่องดังกล่าวให้เรียบร้อยก่อน กรณีฝ้าเพดานเป็นแบบทีบาร์ แนะนำให้รื้อฝ้าในส่วนที่เสียหายออกแล้วเปลี่ยนเป็นแผ่นใหม่แทน แต่ถ้าฝ้าเพดานเป็นแบบฉาบเรียบก็ต้องใช้คัตเตอร์หรือเลื่อยเจาะฝ้าเจาะในส่วนที่เป็นเชื้อราหรือบวม

2 ตัดแผ่นยิปซัมชิ้นใหม่หรือใช้แผ่นซ่อมยิปซัมมาปิดแทนได้ โดยให้ขอบของแผ่นกว้างกว่าช่องว่างเล็กน้อย แล้วใช้อะคริลิกอุดโป๊อุดรอยต่อ จากนั้นทำความสะอาดพื้นผิวแล้วทาสีตกแต่งให้ใกล้เคียงกับของเดิม

 


เรียนรู้ทำความเข้าใจ ระบบน้ำในบ้าน

ดูเรื่องซ่อมในบ้านที่คุณทำได้เอง