ไม่หยุด “คิด” กับ สมคิด เปี่ยมปิยชาติ ผู้บุกเบิกวิชาชีพถ่ายภาพสถาปัตยกรรมในไทย

จากผู้บุกเบิกวิชาชีพถ่ายภาพสถาปัตยกรรม สู่บรรณาธิการสำนักพิมพ์ (+ นักวาดนิยายภาพ)

 “ สมคิด เปี่ยมปิยชาติ ” ไม่ใช่คนทำงานที่โผล่มาหน้าฉากบ่อยครั้ง แต่เป็นผลงานของเขาเองซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างดีในวงการทำหนังสือ กับหน้าที่หลักอย่างการเป็นบรรณาธิการอำนวยการสำนักพิมพ์ Fullstop Books”

“เรียกพี่คิดก็ได้” เขากล่าวอย่างเป็นกันเองเมื่อรับสายโทรศัพท์ และตอบรับคำขอเดินทางไปสัมภาษณ์ของเรา

“พี่คิด” เรียนจบด้านสถาปัตยกรรม แต่หลังจากนั้นเขาพบว่าตัวเองได้จับงานออกแบบอย่างจริงจังด้วยมือตัวเองน้อยมาก เมื่อเทียบกับการที่เขาถ่ายทอดความงามและแง่มุมของสถาปัตยกรรมผ่าน จนได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกวิชาชีพ “นักถ่ายภาพสถาปัตยกรรม” ของประเทศไทย เป็นเหตุผลให้เราต้องขอเดินทางไปพูดคุยกับเจ้าตัว ซึ่งเป็นโอกาสไม่บ่อยครั้งนักที่นิตยสารจะได้เล่าถึงวิชาชีพนี้อย่างจริงจัง วิชาชีพที่ถึงแม้จะไม่ใช่ของใหม่ แต่ก็อาจยังไม่ชินหูใครหลายคน และเป็นวิชาชีพที่สำคัญอย่างยิ่งในวงการสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะในเวลาปัจจุบัน…

อย่างไรก็ตามกิตติศัพท์ที่ผู้คนยกย่องนั้นอาจดูเล็กน้อยไปถนัด หากเทียบกับหลายสิ่งในชีวิตที่เขาเคยผ่าน

จากการจับกล้องถ่ายภาพสถาปัตยกรรมโดยเฉพาะ เขาเริ่มเบนเข็มไปสนใจแฟชั่นและศิลปะ จนเกือบจะได้ไปเรียนต่อด้านภาพยนตร์ที่นิวยอร์ก แต่เมื่อเสนอพล็อตหนังร่วมกับรุ่นพี่ที่เมืองไทยผ่าน จึงทำให้ต้องกลับมาสานฝันอีกฝันอย่างกะทันหัน แต่ไม่ทันไรอุบัติเหตุก็เกิดขึ้นกับตัวเองหลังจากการโหมงานหนัก ทำให้เขาต้องเริ่มตั้งคำถามกับสิ่งที่ทำอยู่ แล้วเปลี่ยนตัวเองอีกครั้งด้วยการมุ่งหน้าออกเดินทาง และทำสิ่งที่ตนเองรัก ซึ่งค้นพบมานานแล้วว่านั่นคือ การถ่ายภาพ

ถ่ายจนได้นิตยสารท่องเที่ยวของตัวเองมา 1 หัว ในชื่อ Summer Magazine”

หลังจากนิตยสารนี้ปิดตัวล่าสุดเขาได้การก้าวมาเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์ Fullstop Books” ซึ่งมีนิยามและคำจำกัดความในสิ่งที่กำลังลงมือทำอย่างลึกซึ้ง “ธรรมชาติของเราคือความนิ่ง เหมือนไปตกปลา ไปรอแสง เหวี่ยงเบ็ดไปแล้วตั้งกล้องรอ” เขากล่าวถึงสิ่งที่ถนัดผ่านการทำงานที่ต้องใช้เวลาและความพิถีพิถัน

การได้ถ่ายภาพเป็นสิ่งที่ทำให้เขามีความสุข ควบคู่ไปกับงานบริหารภายใต้สำนักพิมพ์ของเขาเอง นั่นคือการเป็น “นักเล่านิยายภาพ” โดยปัจจุบันสำนักพิมพ์ Fullstop Books เป็นแหล่งผลิตลายเส้นของนักเล่านิยายภาพที่คุ้นตาใครหลายคน มาแล้วหลายต่อหลายเล่ม

 

“ในชีวิตประจำวันพี่คิดทำอะไรบ้าง วาดรูปทุกวันหรือเปล่า?” เราถามด้วยความใคร่รู้ในความสนใจและการทำงานที่หลากหลายเกินจะนับ
เขาส่ายหน้าเบา ๆ แทนคำตอบ
“ส่วนใหญ่ผมจะ…คิด” น้ำเสียงและสายตาเรียบนิ่ง เหมือนเป็นลายเซ็นประจำตัว
“ทุกวันนี้ส่วนใหญ่จะคิด คิด…คิด…คิด คิดตลอด เราจะต่อยอดอะไรได้บ้าง นั่งอยู่นี่ก็คิด”
ในตอนท้ายของการสนทนา เขาสรุปวิชาชีพของตัวเองว่าเป็น “นักทำหนังสือ” แต่นอกจากนั้นเราน่าจะเรียกเขาได้ว่าเป็น “นักคิด” ตัวฉกาจของเมืองไทย และหน้ากระดาษถัดจากนี้ คือ “ความคิด” ที่น่าสนใจยิ่งจาก “นักคิด” ผู้นี้

สมคิด เปี่ยมปิยชาติ
“คนรุ่นใหม่สร้างอะไรที่มากกว่าได้ยิ่งดี เราเห็นมาตรฐานหรือCriteria มาหมดแล้ว ยิ่งยุคนี้เราก็เห็นของดีมาทั่วโลกแล้วเราต้องทำของดีร่วมไปกับโลกด้วย ไม่ทำแค่มาตรฐาน” สมคิด เปี่ยมปิยชาติ

rm: บรรยากาศของการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมในยุคของพี่คิดเป็นอย่างไร

SP: “สมัยก่อนต้องยอมรับว่ายากมาก มันไม่มีตัวอย่าง ไม่มีที่เรียน แต่ก่อนการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมต้องจ้างช่างภาพจากอิตาลี ญี่ปุ่น สถาปนิกต้องกลั้นใจ ลงทุน ถ่ายเพื่อทำโปรไฟล์ บริษัทสถาปนิกต้องให้งบประมานสำหรับส่วนนี้ ไม่บริษัทใหญ่ก็เป็นบริษัทเล็กที่ต้องการฝ่าฟันไปประกวดงาน เพื่อใช้ภาพพวกนี้สร้างแบรนด์ ยุคนั้นมันอยู่ที่เครื่องมือล้วน ๆ สมัยก่อน กล้องเล็กคือกล้องฟิล์ม 135 เนี่ย! ถ่ายสถาปัตยกรรมไห้สวยยาก เพราะมีปัญหาเรื่องเส้นเพอร์สเป็คทีฟ ต่อให้รอแสงดีอย่างไรก็เจอสกัดดาวรุ่งด้วยกล้องเล็กที่ไม่มี “เลนส์ Shift” ที่มีคุณสมบัติเพียงพอเพื่อแก้ปัญหา การจะแก้ปัญหาเรื่องเส้นตั้งให้ตรงในงานถ่ายภาพสถาปัตยกรรมให้สวยได้นั้น เรื่องแรกที่ต้องเล่นคือเส้นเพอร์สเป็คทีฟ”

rm: จุดเริ่มต้นของการมาเป็นช่างภาพ

SP: “ตอนทำแรก ๆ ผมเป็นสถาปนิกมาก่อน 3 ปี จนพี่เต้ย – คุณนิธิ สถาปิตานนท์ อยากให้เราไปช่วยถ่ายงานสถาปัตยกรรมให้เพื่อทำเป็นผลงาน ตอนนั้นเริ่มถ่ายรูปแล้วโดยใช้กล้องเล็ก แต่เราก็รู้แล้วว่ามันแก้ปัญหาเรื่องเส้นเพอร์สเป็คทีฟไม่ได้ ก็เลยบอกว่าถ้าจะให้ดีต้องลงทุนนะพี่ อุปกรณ์กล้องกลาง กล้องใหญ่ และอื่นๆ รวมทั้งหมดเป็นล้าน นั่นคือจุดเริ่มต้น พี่เต้ยชวนร่วมลงทุนเปิดสตูดิโอถ่ายภาพสถาปัตยกรรมกัน เลยชื่อ สกายไลน์สตูดิโอ (Skyline Studio)

“จังหวะนั้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เป็นช่วงที่ Art4D กำลังเปิดหัวใหม่ ผมก็อยู่ในกรุ๊ปด้วยเรียกว่าจับพลัดจับผลูมากกว่า ตอนนั้นก็เริ่มเครียดนะเพราะไปหาที่เรียนไม่มี เราจึงไปฝึกกับสตูดิโอที่เขาถ่ายแฟชั่น โฆษณา ฝึกอยู่หลายเดือน พร้อมกับอ่านหนังสือเองบ้างแล้วมาฝึกถ่ายจริงงานของ A49 อีกหลายเดือน หลังจากนั้นก็ลุยถ่ายงานจริงต่อที่ Art4d เลย ก็ค่อย ๆ คล่องขึ้นเรื่อย ๆ ไม่นานต่อมา Elle Decoration มาเปิด เขาหาช่างภาพถ่ายอินทีเรียร์จึงเรียกเราเข้าไปคุย ให้ศึกษางานถ่ายภาพแนวอินทีเรียร์ ซึ่งมันมีเรื่องของอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องค่อนมาก ต่างจากงานสถาปัตยกรรม หลังจากดูแนวได้สักพักเราก็ซัดงานแรกเลย เรียกว่าใช้ความขยันเข้าสู้คือไปตั้งแต่ตีห้ากลับสามสี่ทุ่มไปหลายวัน แสงทุกเม็ดต้องเก็บให้หมด หลังจากนั้นก็ยาว”

ภาพ “ในที่สุดก็ได้ยินเสียง และได้พบความเคลื่อนไหวใน ที่นิ่ง”

rm: เรียนรู้จากของจริง งานจริง

SP : “เพราะไม่มีรุ่นพี่ให้ถาม ไม่มีงานให้ดู แต่ช่วงที่กำลังฝึกถ่ายอยู่มีข่าวว่าช่างภาพสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นเข้ามาถ่ายภาพในเมืองไทย  ซึ่งเขาใช้กล้องตัวเดียว ถ่ายแล้วสวยด้วย เป็นกล้องตัวเดียวที่ยังไม่ได้แก้ปัญหาเรื่อง “Shift” เลย แต่เขากลับหามุมจนสามารถโชว์เส้นเพอร์สเป็คทีฟออกมาได้อย่างสวยและมืออาชีพ ตอนแรกเราคิดว่าเราถ่ายเซียนระดับหนึ่ง เรารู้แล้วตรงไหนแสงดีที่สุด มุมนี้สเปซตรงไหนดี แต่พอไปหาข้อมูลมากขึ้น เขาบอกว่าต้องจัดไฟ เราก็ขาดความมั่นใจ เฮ้ย…หรือว่าเราไม่มืออาชีพแล้ว เริ่มกังวลว่างานนี้อาจจะยากกว่าที่คิดก็ได้ แต่พอมาเจอช่างภาพคนนี้ก็ทำให้เรารู้ว่าต้องผ่อนคลาย แล้วจึงค่อย ๆ จับทางได้ จนสามารถให้เครื่องมือหรือกล้องกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย ตอบสนองตามสิ่งที่คิดหรือต้องการได้ง่ายดายขึ้น”

rm : ช่วงแรก ๆ ไม่คิดว่าจะเลิกหรือ มันไม่มีใครทำ ทำไมเราต้องทำต่อด้วย

SP: “เรียกว่าผูกพันกับสิ่งที่เราชอบโดยเฉพาะการชอบเดินทาง ตอนที่เป็นสถาปนิกก็มีความเครียด พอได้ถ่ายภาพก็เหมือนคลายเครียด เสาร์อาทิตย์เริ่มรับจ๊อบจนรู้สึกว่าเราเริ่มสนุก แล้วพอดีกับมีโอกาสดี ๆ เข้ามา ถ้าจะทำก็ต้องจริงจัง ต้องลงทุน ไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้ว มาทำ Art4d ก็ถือเป็นโอกาสที่ดี มีคนเริ่มพูดถึงมากขึ้น ช่วยให้เรามั่นใจขึ้น ทำอยู่ประมาณ 3 ปี เราก็เริ่มชำนาญ เครื่องไม้เครื่องมือถือเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย ไม่ยากแล้ว ความยากกลับตกไปอยู่ที่ความต้องการของเราที่สูงขึ้น  เช่น มันจะแตกต่างมากกว่านี้ได้อย่างไร จึงเริ่มต้องพึ่งนางแบบ ซึ่งในที่นี้เราหมายถึงตัวสถาปัตยกรรม ก็ต้องยอมรับว่า งานสถาปัตยกรรมในช่วงนั้นของบ้านเรา ภาพรวมยังเร้าใจเราน้อยมาก ภาพถ่ายที่ถ่ายออกมาก็ชวนกันไปไม่ถึงที่สุด

rm : เปรียบเทียบจากตรงไหนที่บอกว่ายังไม่สุด

SP : “อาจเป็นเพราะว่าเรามีโอกาสได้เดินทางบ่อยจึงเห็นสถาปัตยกรรมเด่น ๆ ดูนิทรรศการ ดูหนังเยอะ หนังที่ไม่มีฉายทั่วไปก็ต้องหาวีดีโอมาดูช่วยให้ไอเดียของเราแตกแขนงไปไกล  อีกอย่างคือการที่เราเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่าหรือต้องถ่ายอย่างอื่นด้วยเพื่อให้เกิดความแตกต่าง เช่น ถ่ายแฟชั่น ถ่ายหนัง จึงมีช่วงหนึ่งที่พี่ไปทำงานถ่ายงานโฆษณา และถ่ายแฟชั่นด้วย หลังจากที่ถ่ายภาพมาได้ประมาณ 3 ปี จึงตัดสินใจไปเรียนภาษาที่ Santa Barbara แล้วได้ไปเรียนภาพยนตร์ที่ NYU ตอนแรกก็กะว่าจะปิดสตูดิโอสักพัก แต่พอดีมีน้องคนหนึ่งเข้ามาชื่อแป๊ะ – วิสันต์ ตั้งธัญญา เพิ่งเรียนจบแล้วบอกว่าอยากถ่ายภาพขอให้เราช่วยสอน  เทียบกับสมัยแรกที่หัดถ่ายภาพ เราฝึกใช้เครื่องมือเองประมาณ 3 เดือน แต่สำหรับแป๊ะฝึกให้เดือนเดียวเป็นเลย เรียกว่าตอนนั้นฝึกทุกอย่าง จนเขาได้มาทำที่ Art4D ต่อ”

ภาพ “เพราะคณะในขณะ และขนาด”

rm : นอกจากพี่คิดแล้ว ในวงการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมยุคแรก ๆ ยังมีใครที่ทำงานเหมือนเราบ้าง

SP: “ไม่รู้เลยครับ ผมว่าไม่ชัดนะ เพราะว่าถ้ามีต้องได้คุยกันบ้าง ตอนนั้นไม่รู้จะไปปรึกษาใคร แต่อย่างน้อยความเป็นสถาปนิกก็ช่วยได้ เพราะคนที่พยายามจะมาถ่ายสถาปัตยกรรมเหมือนกันนั้นมีไม่มาก พอถ่ายมาประมาน 10 ปี ผมก็เริ่มอิ่มตัวแล้ว เราไม่รู้จะเล่นอะไรแล้ว ช่วงนั้นก็พอดีเจอเด๋ย-ภิรักษ์ อนุรักษ์เยาวชน ซึ่งเขาเขียนอยู่ที่ Art4D เป็นอีกคนที่สนใจงานถ่ายภาพสถาปัตยกรรม เข้าอยากเรียนถ่ายภาพ ผมจึงถามว่าเอาจริงไหม ถ้าเอาผมจะไปทำอย่างอื่นแล้วนะ  เพราะเชื่อลึกๆ ว่าตัวเองผ่านมาได้ ถ้าคนเราได้ทำจริง แล้วมีสนามรองรับเดี๋ยวก็เก่ง แป๊ะมาแล้ว เด๋ยก็มาได้ ทุกคนถามว่าผมไม่เสียดายหรือ ผมบอกไม่เสียดาย เดี๋ยวว่ากัน เพราะว่าเราก็อยากทำอย่างอื่นแล้ว คือไม่ห่วงแล้ว เพราะมีน้อง ๆ มาต่อยอด เราว่ามันยั่งยืนแล้ว พอคนที่อยากถ่ายเป็นสายสถาปนิกด้วยกัน ทั้งภาษาและฐานความคิดพอมันเท่ากัน งานจึงออกมาสมน้ำสมเนื้อ งานพี่มาสเตอร์ ผมก็ถ่ายมาสเตอร์นะ มูลค่าของผลงานจึงตามมา

“อีกอย่างเมื่อก่อนการคิดค่า Fee ค่อนข้างยาก ไม่มีมาตรฐาน แต่เดี๋ยวนี้มาตรฐานเริ่มสูงขึ้น เห็นได้จากมีช่างภาพสถาปัตยกรรมเยอะ แต่ละคนต่างก็มีคาแร็คเตอร์ชัดเจน ช่วยให้สถาปนิกเริ่มให้คุณค่ากับงานตรงนี้ พร้อมจะลงทุน ถ้าถ่ายงานดี สถาปนิกไปประกวดก็ได้รางวัล ผมว่าช่างภาพสถาปัตยกรรมน่าจะยั่งยืนแล้วในบ้านเรา น้องมาใหม่ก็มีที่เรียนแล้วด้วย จะสายไหนล่ะ ถ้าสายนิ่งไปหาพี่คนนี้ ถ่ายวังไปหาพี่คนนี้ สถาปัตยกรรมโมเดิร์นไปหาคนนี้ ถ้าแต่ก่อนนี่มาที่ผมหมดเลย เพราะบางทีแค่คุยคอนเซ็ปต์กันรู้เรื่อง ถ่ายหมาถ่ายแมวก็มาหาผม”

rm : เรียกว่าถึงจุดอิ่มตัวกับงานสถาปัตยกรรมแล้ว

SP : “ต้องยอมรับว่าถ้าเป็นงานมาสเตอร์จริง ๆ ตื่นเต้นนะ  ที่ตื่นเต้นเพราะเห็นกระบวนการคิดเยอะ ต้องไปดูของจริง แสงมาจริง ๆ ได้ตื่นเต้นกับสเปซจริง ๆ ต้องยอมรับว่าตอนที่เริ่มถ่ายภาพสถาปัตยกรรม งานในบ้านเรามันกระชากไม่พอ เข้าไปก็จะเจอกับมุมเดิม ๆ มีแค่กรุงเทพฯ บางทีเดือน ๆ หนึ่งถ่ายบ้านได้แค่หลังหนึ่ง เราก็อยากให้มีอะไรมากกว่านี้ สถาปัตยกรรมระดับมาสเตอร์ก็ยังเร้าใจอยู่ เพราะมีความประณีต ความท้าทายเวลาที่เข้าไปถ่ายภาพ เวลาเราไปถ่ายก็จะไปดูก่อนว่าเขาถ่ายอะไรกันไปบ้าง ถ้าเขาถ่ายแล้วเราจะได้ไม่ต้องถ่ายซ้ำ เราไม่ต้องถ่ายเป็นข้อมูลแล้ว แต่ต้องหาทีเด็ดและแนวทางของเราเอง”

ภาพ “ค้นหาแสงนอกเวลา”

rm : แต่เราก็ยังปฏิเสธไม่ได้อยู่ดีว่าคนต้องการข้อมูล หรือทำอย่างไรให้เขารู้ว่าทำไมจึงต้องมีช่างภาพสถาปัตยกรรม หรือแม้แต่ภาพถ่ายสถาปัตยกรรมที่ดี

SP : “ในฐานะที่เราเป็นสื่อก็ต้องทำหน้าที่แนะนำตั้งแต่ต้น บอกรายละเอียดไม่ให้ไกลเกินไปจนกลายเป็นงานอาร์ตที่ยากเข้าใจ ปัจจุบันผมว่ามีช่างภาพสถาปัตยกรรม 10 – 20 คน ถ้าถามผมช่างภาพสถาปัตยกรรมก็ต้องไม่ปิดตัวเอง ต้องศึกษาเทคนิคและความรู้ต่าง ๆ เพิ่มเติมเพื่อจะได้คุยกับช่างภาพแฟชั่นได้ หรือช่างภาพอาร์ตได้ แล้วแลกเปลี่ยนกัน ทำให้บรรยากาศโดยรวมมีทางเลือกมากขึ้น พอมีทางเลือกมันจะเป็นอาวุธทำให้ภาพมีเรื่องราวและจุดเด่นน่าสนใจ”

อ่านต่อหน้า 2 คลิก