คานเรือศรีเจริญ

อู่ต่อเรือไม้โบราณ คานเรือศรีเจริญ

คานเรือศรีเจริญ
คานเรือศรีเจริญ

ในอดีตจังหวัดพระนครศรีอยุธยาถือเป็นแหล่งการค้าและเป็นชุมทางสำคัญ ด้วยมีแม่น้ำไหลผ่านหลายสายกิจการค้าขายทางน้ำจึงมีบรรยากาศคึกคัก ซึ่งเป็นผลพลอยให้เกิดธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องตามมาอีกมากมายหนึ่งในนั้นคืออู่ต่อเรือ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันจนติดปากว่า “คานเรือ” นั่นเอง ครั้งนี้เรามีโอกาสมาเยือน คานเรือศรีเจริญ ซึ่งที่นี่ยังคงใช้กรรมวิธีดั้งเดิมในการต่อและซ่อมเรือ ปัจจุบันผู้ดูแลคานเรือแห่งนี้ก็คือ คุณชัชวาลย์ ศรีเปลี่ยนจันทร์ เจ้าของและผู้จัดการใหญ่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด คานเรือศรีเจริญ

จากอดีต

“ผมน่าจะเป็นรุ่นที่สองต่อจากรุ่นแรกคือคุณพ่อของผมกับ คุณชูศักดิ์จามรมาน” คุณชัชวาลย์เริ่มต้นเล่าให้เราฟัง

“แต่เดิมนั้นเป็นธุรกิจที่ริเริ่มโดยคุณแม่ของคุณชูศักดิ์  เมื่อคุณชูศักดิ์กลับมาจากเมืองนอก  ด้วยความชอบเรื่องเรือ  ชอบการผจญภัย  ผนวกกับเล็งเห็นว่าที่เมืองไทยเรายังขาดคานเรือใหญ่ๆ แบบเมืองนอก  ก็เลยเริ่มพัฒนาสร้างคานเรือแห่งนี้ขึ้นมา”

คานเรือเป็นคำเรียกอู่ต่อเรือแบบที่คนไทยเคยใช้เรียกกัน ด้วยลักษณะของการยกเรือขึ้นพาดคานไว้ เพื่อความสะดวกในการซ่อมแซมและเข้าถึงส่วนต่างๆของเรือได้นั่นเอง อยุธยาได้ชื่อว่าเป็นเมืองน้ำ ธุรกิจรับต่อและซ่อมเรือของคานเรือศรีเจริญจึงเจริญเติบโตงอกงามสมชื่อ

“ตรงนี้เป็นที่ที่แม่น้ำสามสายไหลมาบรรจบกัน  ใครผ่านเมืองอยุธยาก็เลยต้องมาแวะซ่อมเรือที่คานเรือแห่งนี้  ชุมชนน้ำเป็นคนเรือ  ชุมชนบกเป็นคนโรงไม้เกิดเป็นชุมชนขนาดใหญ่  มีทั้งบ้าน  ร้านค้า  และร้านอาหาร  คนมาแวะพักผ่อนได้ครอบครัวบ้าง  มีเรื่องกันบ้าง  คานเรือก็เหมือนเป็นคนดูแลไม่ให้ใครเขามีเรื่องกันจนเลือดตกยางออก  แต่ก่อนนั้นมีเรือเข้ามาเกือบ 400 ลำต่อเดือนเลยทีเดียวไม่นับที่ต่อใหม่  ผมรู้เพราะผมเริ่มเข้ามาช่วยคุณพ่อดูคานเรือที่นี่ตั้งแต่อายุ 16 ปีในสมัยที่คานเรือคึกคักมาก  พ่อผมทำงานเป็นผู้จัดการของคานเรือแห่งนี้  เรารับหมดไม่ว่าจะเป็นเรือไม้หรือเรือเหล็ก  เอาจริงๆ เราแทบจะเรียกได้ว่าเป็นผู้ริเริ่มต่อเรือโป๊ะเลยก็ว่าได้  เพราะคุณชูศักดิ์ศึกษาและนำเทคโนโลยีจากต่างประเทศเข้ามาใช้กับคานเรือของเรา  คานเรือแห่งนี้จึงมีเรือเกือบทุกประเภท  ตั้งแต่เรือไม้ไทยๆเรือลากจูง  เรือเหล็ก  เรือโป๊ะ  ไปจนถึงเรือยอช์ตอย่างฝรั่งกันเลยทีเดียว”

ระหว่างนั้นคุณชัชวาลย์ก็พาเราเดินดูบริเวณคานเรือ โรงช่างกลางแจ้งขนาดใหญ่นั้นเป็นพื้นที่ริมน้ำที่มีเรือตั้งลอยอยู่บนคานสูงจากพื้นหลายเมตรเป็นบรรยากาศที่ดูแปลกตาและไม่ค่อยจะได้พบบ่อยนัก

ช่างทำเรือแต่ละคนจะมีหน้าที่ของตัวเอง แต่ทุกงานนั้นจำเป็นต้องใช้แรงของทุกคน เพราะความใหญ่ของเรือ ดูจะเป็นความหาญกล้าของมนุษย์ตัวเล็กๆที่พยายามจะสร้างสิ่งยิ่งใหญ่

“ความชำนาญพิเศษของเราก็คือเรื่องเกี่ยวกับเรือไม้  เพราะเรายังใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมในการต่อเรือและซ่อมแซมเรืออยู่จนถึงปัจจุบัน  ทั้งการเข้าไม้ดัดไม้  และการตอกหมันทำยาชัน  สิ่งเหล่านี้เป็นภูมิปัญญาที่สั่งสมมาจากช่างเรือชาวจีน  และเทคโนโลยีเดิมของชาวฮอลแลนด์  ซึ่งวัสดุสมัยใหม่นั้นไม่สามารถทดแทนวัสดุดั้งเดิมเหล่านี้ได้เลย”

สู่ปัจจุบัน

แล้วเมื่อมาถึงยุคของคุณชัชวาลย์เอง เป้าหมายของเขาในการนำพาคานเรือแห่งนี้ให้ไปต่อนั้นคืออะไร คุณชัชวาลย์ยิ้มกว้างและบอกกับเราว่า

“ผมอยากส่งผ่านความรู้ให้ผู้สนใจ” ความรู้ที่ว่าคือการต่อและซ่อมแซมเรือเพราะไม่ว่าจะเป็นเรือเล็กหรือเรือใหญ่ก็มีพื้นฐานการต่อเรือไม่ต่างกัน ทั้งการเข้าไม้ ดัดไม้ และกันรั่ว อีกอย่างการต่อเรือนี้เป็นสิ่งที่แตกต่างจากการสร้างรถหรือเครื่องบิน เพราะว่าเรือเป็นงานช่างซึ่งผู้ต่อเรือสามารถทำเองได้หมดทุกขั้นตอนจนสำเร็จออกมาเป็นเรืออย่างดี

“ผมอยากจะสร้างโรงเรียนสอนต่อเรือ  พวกเรือเล็กๆ อย่างเรือใบหนึ่งที่นั่งให้ผู้สนใจและมีใจรักได้มาหัดต่อเรือ  เพราะสภาพพื้นที่แถวนี้เหมาะกับการเล่นเรืออีกทั้งคานเรือก็มีอุปกรณ์เพียบพร้อม  ตอนนี้ผมก็ได้เริ่มพูดคุยกับวิทยาลัยที่สอนเกี่ยวกับการต่อเรือ  เพื่อให้นักศึกษาได้มาเรียนรู้ภูมิปัญญาการต่อเรือแบบโบราณจะได้นำไปประยุกต์ใช้ได้ต่อไป  หากผมทำสำเร็จ  ความรู้เรื่องการต่อเรือแบบโบราณก็จะไม่หายไปอย่างแน่นอน”

ศาสตร์โบราณสู่อนาคต

“คนที่สนใจเรื่องการต่อเรือก็แค่ไม่รู้วิธีการที่ถูกต้อง  เหมือนไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไร  ผมเชื่อว่าหากจัดทำวิธีการต่อเรือแบบโบราณนี้ออกมาเป็นหลักสูตรผู้คนน่าจะสนใจกันมากขึ้น  สิ่งนี้อาจทำให้เกิดเป็นการท่องเที่ยวที่แตกต่างออกไปเพราะปัจจุบันอยุธยาก็มีแต่เรื่องของโบราณสถาน  ที่จริงเรือก็เป็นประวัติศาสตร์เหมือนกัน  อยุธยาเป็นเมืองที่โดดเด่นด้านการค้าขาย  เราจึงมีเทคโนโลยีต่อเรือที่มีคุณภาพมากในสมัยโบราณ  ผมจะส่งลูกชายไปเรียนที่โรงเรียนสอนต่อเรือในอังกฤษ  เพื่อไปเรียนรู้ว่าพวกเขาเก็บรักษาองค์ความรู้เหล่านั้นและถ่ายทอดกันอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร 

“เวลาที่เอาเรือขึ้นมาซ่อมบนคานจนสำเร็จแล้วกลับลงไปแล่นอยู่ในน้ำได้อย่างสง่างามก็เหมือนการชุบชีวิตบางสิ่งบางอย่างให้ไปต่อได้” คุณชัชวาลย์กล่าวทิ้งท้ายกับเราด้วยสายตาที่แฝงความภาคภูมิใจอย่างเต็มเปี่ยม

ห้างหุ้นส่วนจำกัด คานเรือศรีเจริญ42 หมู่ 4 ถนนวัดพนัญเชิง – บางปะอิน ตำบลคลองสวนพลู อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, โทรศัพท์0-3524-2503, 08-1422-6050

อ่านต่อ : งานอาสาฯเด็กไทย…ห้องสมุด ที่ไม่ธรรมดา