EASE คราฟต์ใหม่ในอุตสาหกรรมเก่า

ดีไซน์จากประสบการณ์

วนัส: “คราฟต์กับเรื่องวิถีชีวิตและวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกันทั้งหมด เมื่อวัฒนธรรมได้รับการขับเคลื่อน งานคราฟท์ก็ควรต้องพัฒนาตามไปด้วย แม้คนบางกลุ่มอยากจะอนุรักษ์ไว้เพราะเขามีประสบการณ์แบบนั้น แต่สำหรับเราต้องรู้ว่าอะไรคือความพอดี เพราะเราไม่ได้ออกแบบมาเพื่อวางในพิพิธภัณฑ์ แต่อยากทำอะไรบางอย่างที่สามารถก้าวไปพร้อมกับยุคสมัย สามารถใช้งานได้จริง ไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม งานที่ออกมาจึงมีความร่วมสมัยเข้ากับยุคปัจจุบันมากขึ้น

ณิชภัค: “อย่างตะกร้าหวายหรือผ้าขาวม้าเราไม่ได้ใช้งานมาตั้งแต่เด็ก ๆ จึงไม่รู้ที่มาที่ไปหรือวิธีการใช้งานจริง ๆ เห็นได้แค่จากร่องรอยที่เหลือในพิพิธภัณฑ์ เราจึงเลือกเก็บเฉพาะดีเทลที่ชอบ จุดที่สนใจจริง ๆ ว่าสิ่งนั้นมันคืออะไร แล้วนำมาใช้กับงานออกแบบของเรา ไม่แปลกที่คนรุ่นที่โตกว่าจะยังคงพยายามอนุรักษ์งานคราฟต์รูปแบบดั้งเดิมให้คงอยู่ เพราะเขาเติบโตและมีประสบการณ์แบบนั้น แต่สำหรับเรา ช่วงเวลามันห่างออกมาระยะหนึ่งแล้ว งานก็เลยออกมาเป็นแบบร่วมสมัยและเป็นปัจจุบันมากขึ้น”

EASE
งานรีดีไซน์เก้าอี้แขนโค้งล้านนาจากโปรเจ็กต์ Anonymous Chair ในเชียงใหม่ดีไซน์วีค ตัวเก้าอี้ทำจากอะลูมิเนียมโครงสร้างจึงเบาต่างจากเก้าอี้ยุคเก่า สานทับด้วยเส้นหวายเทียม ตัวสีแดงเกิดจากงานสานของช่างยุคเก่า ส่วนสีดำเป็นฝีมือของช่างสานยุคใหม่ที่ลดทอนลวดลายให้เรียบง่ายดูโมเดิร์น สะท้อนศักยภาพของงานคราฟต์ที่สามารถสร้างความแตกต่างให้งานอุตสาหกรรมได้จริง

คนคราฟต์ต้องบ้าพอ

ณิชภัค: “บางเรื่องที่เขาหยิบมาทำเวิร์คชอปคือเรื่องที่มีมานานแล้ว เป็นสิ่งดีที่จะได้รับการถ่ายทอดให้คนรุ่นใหม่หันกลับมาสนใจในรูปแบบผลงานที่ทันสมัยขึ้น กระแสนี้อาจช่วยต่อลมหายใจให้งานคราฟต์ได้จริง ๆ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงและน่าระวังก็คือความสมัยใหม่อาจเข้าไปทำลายเสน่ห์ของงานเก่า ฉะนั้นเราต้องหาวิธีการที่จะไม่ทำลาย เคารพ และต่อยอดมากกว่า”

วนัส: “ผมว่าเสน่ห์อย่างหนึ่งของงานคราฟต์ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่แค่ไหน คือถ้าเราทำอะไรด้วยมือของเราเองก็จะเกิดความภาคภูมิใจ แต่เวลาเราเรียนรู้อะไรสักอย่างมันต้องบ้ามากพอ ถ้าไปดูแค่ผิว ๆ แล้วหยุดอยู่แค่นั้นก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการต่อยอด ที่ผ่านมาเรามีแต่เวิร์คชอปขั้นพื้นฐานค่อนข้างเยอะ แต่ยังขาดเวิร์คชอปขั้นแอดวานซ์ เพราะไม่ค่อยมีใครกล้าเปิดสอน อย่าง การลงรักปิดทอง ซึ่งช่างผู้เชี่ยวชาญมองว่าเป็นของมีครูไม่ใช่ใครจะเรียนก็ได้ ซึ่งผมมองว่าคงดีกว่านี้ถ้าทุก ๆ อย่างได้รับการเปิดกว้างมากขึ้น”

คุณค่าจากผู้บริโภค

วนัส: “คราฟต์อาจเป็นมากกว่ากระแส ถ้าผู้บริโภคให้คุณค่ากับงานคราฟต์มากกว่านี้ สำหรับในไทยอาจยังไม่มีคนที่เห็นคุณค่าของงานคราฟต์มากมายเท่าต่างประเทศ เพราะสินค้าที่เป็นงานคราฟต์ในบ้านเราเป็นสิ่งที่ซื้อหาได้ค่อนข้างง่ายอยู่ ดังนั้นการให้ความเคารพถึงกระบวนการคิดและกระบวนการทำงานจึงน้อยจนเราตกใจ ถึงสตูดิโอ ease จะไม่ได้มีประสบการณ์มานานมาก แต่สิ่งที่ได้พบเจอคือคำถามว่าอันนี้เท่าไหร่ ทำไมแพง แต่คนที่ต่างประเทศจะถามว่าอันนี้คืออะไร ทำไมจึงออกแบบอย่างนี้ สุดท้ายแล้วเราก็ชื่นใจที่เขาสนใจ ซึ่งเรื่องแบบนี้เราว่ามันก็ต้องพัฒนาทั้งระบบ”

EASE
ร่วมงานกับ ERNEST W. BAKER แบรนด์แฟชั่นจากปารีสในคอลเล็คชั่น Fall/Winter 2016 เป็นการผสมผสานกันระหว่างการปักแบบคราฟท์กับการปักแบบอุตสาหกรรม

Studio Visit : Trimode C.

TRIMODE C คราฟต์คือภาษาสากล

คราฟต์ นิดๆอย่างมีรสนิยม

SACICT Craft Trend 2018 : หมุดหมายเทรนด์หัตถศิลป์ใหม่ของปี 2018


เรื่อง : Monosoda
ภาพ : นันทิยา, เอกสารประชาสัมพันธ์